“อวิชชา” ที่มาแห่งความประมาท และความเชื่อมั่นในตนเอง (อย่างผิดๆ)


ทั้งๆที่ เรื่องบางเรื่องที่ทำไป ก็มีตัวอย่างแห่งความผิดพลาดให้เห็น ก็ยังเชื่อมั่นว่าตัวเองจะทำได้ และอาจจะทำได้ดีกว่าคนที่พลาด และตัวเองไม่น่าจะพลาดขนาดนั้น

 

วันนี้ ผมได้มีโอกาสสร้าง พื้นที่ว่าง ของระบบชีวิต และลองมาทบทวน ทั้งด้านความผิดพลาด และความสำเร็จในระยะหลายปีที่ผ่านมา

 

ผมได้กรองประเด็นต่างๆ จนมาถึงสาเหตุแห่งความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตและกิจกรรม ทั้งในส่วนตัว และที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อสังคมทั้งหมด

 

ผมพบว่า ในกระบวนการทำงานที่บริสุทธิ์ใจและทุ่มเทเต็มที่นั้น ก็ยังมีมากมายที่ทำไปด้วยความประมาท

 

และความประมาทนี่เอง เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความมั่นใจ (แบบผิดๆ) ว่า เรื่องนี้เราต้องทำได้แน่นอน

 

ทั้งๆที่ เรื่องบางเรื่องที่ทำไป ก็มีตัวอย่างแห่งความผิดพลาดให้เห็น ก็ยังเชื่อมั่นว่าตัวเองจะทำได้ และอาจจะทำได้ดีกว่าคนที่พลาด และตัวเองไม่น่าจะพลาดขนาดนั้น

 

เหมือนกันกับที่ผมฟังรายการสัมภาษณ์วัยรุ่นนักซิ่งมอเตอร์ไซค์ ที่ทั้งที่ประสพอุบัติเหตุพิการ ก็มาจากสาเหตุเดียวกัน ที่มั่นใจในตัวเอง และ นำไปสู่ความประมาท

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ผม และหลายท่านที่ทำงานด้วยกัน ผิดพลาด

 

ทำให้ผมพยายามค้นหายาแก้ คิดไปคิดมาก็แวบมาได้ว่า น่าจะเป็นหลัก กาลามสูตร ที่จะทำให้เราลดความมั่นใจในความเชื่อของตนเอง แบบ อวิชชา ที่เป็นเหตุแห่งความประมาท

 

ผมคิดว่าอย่างไรก็คงแก้ไม่หมด เพราะระบบคิดนี้ฝังลึกในระบบคิดของคนทั่วไป

 

ทำให้

·       คิดว่าตัวเองทำถูก

·       คิดว่าตัวเองรู้แล้ว จึงไม่คิดจะเรียน เลยไม่มีโอกาสจะรู้

·       น่าจะเป็นที่มาของการ ไม่เรียน แม้จะมีความผิดพลาดให้เห็นชัดๆ ก็ไม่พยายามจะเข้าใจ

 

เพราะ อวิชชา บังตานี่เอง

 

แล้วจะลดหรือกำจัดได้อย่างไร

 

อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ

 

แต่ ผมก็กำลังใช้หลักกาลามสูตร เป็นตัวแก้ไขอยู่ครับ  ไม่ทราบจะได้ผลหรือเปล่า

 

หวังว่าท่านผู้รู้ จะช่วยชี้แนะครับ

หมายเลขบันทึก: 169865เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เริ่มเอะใจ  อิอิ  เริ่มสงสัยว่าที่ทำมามันใช่ไหม ?  มีวิธีดีกว่านี้ไหม ?
  • เริ่มทบทวน  ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี
  • แต่ถ้าร่วมคิด  ร่วมทบทวน  กับคนอื่นด้วย  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น  เริ่มเปิดใจฟังจริงๆ   ( เริ่มอ่านบล็อกคนอื่นก็เหมือนการฟังที่คนอื่นกำลังเล่า  เริ่มแสดงความคิดเห็นและตอบความเห็นผู้อื่นด้วยหัวใจ เป็น Virtual Dialogue )  ก็จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ  ไม่มีที่สิ้นสุดครับ  อิอิ
  • ใน G2K ก็มีให้เรียนรู้เยอะแยะไปหมด  ใครบอกก็คงไม่เชื่อง่ายๆ ( กาลามสูตร” )    ต้องปฏิบัติเอง  ปิ๊งเอง  คลิกเอง  แว๊บเอง  อิอิ

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเองก้ทำอะไรผิดพลาดมาไม่น้อยค่ะ สาเหตุอาจเพราะเรายังคงเป็น มนุษย์ธรรมดามั๊ง และตอนที่ทำผิด ก็นึกว่า ทำถูกแล้วเสียอีก

แต่จากประสบการณ์นะคะ  การเรียนรู้จากความผิดพลาดของเรา  จะเกิดขึ้นได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เป็นส่วนตัว ทำผิดพลาดแล้วไม่มีใครมาตำหนิติเตียนให้เสียหน้า แต่เรารู้ตัวแล้วว่า ทำผิด

มันจะเกิดความมุมานะอย่างเต็มที่ในการที่จะหาสาเหตุ และวิธีการแก้ไขความผิดพลาด  ไม่มีความน้อยอกน้อยใจที่เกิดจากคำติเตียนจากสารพัดทิศ

สังเกตไหมคะว่า เด็กๆ เรียนรู้จากความผิดพลาดในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ได้ดี ในขณะที่เมื่ออยู่ในห้องเรียนแล้วโดนครูดุ อายเพื่อน จึงไม่เกิดความมุมานะที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง 

ดิฉันเองมีประสบการณ์มาพอควรว่า  ถ้าจะทำให้คนเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ ต้องเริ่มต้นด้วย การฝึกให้คนๆ นั้น เผชิญหน้ากับความผิดพลาด ที่สามารถควบคุมความเสียหายได้ไว้ก่อน

แล้วจึงให้คำแนะนำ วิธีการแก้ไขความผิดพลาด ในจังหวะที่คนๆ นั้นกำลังพบความผิดพลาดพอดี บางทีไปแนะนำอะไรก่อนเกิดความผิดพลาด    ไม่ได้ผลค่ะ

 

ขอบคุณครับ

ดูเหมือนจะเป็นสัจจธรรมจริงๆ ที่เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง คนอื่นสอนเรา เราก็ยังอาจนึกว่าเขาไม่เข้าใจ มีเจตนาไม่บริสุทธฺิ์กับเราเสียอีก

หรือ.......

 เราจะไม่มีวิธีอื่นเลยหรือครับ

จริงๆแล้ว ก็คิดว่า เราไม่ได้คิดว่า คนอื่นมีเจตนาไม่บริสุทธิ์กับเรา เวลาสอนเรานะคะ

แต่มันเป็นเรื่องของ การยึดแน่นในอัตตาน่ะค่ะ เลยพาลไม่อยากเรียนรู้เสียอย่างนั้น

 สิ่งนั้นคือภาพลักษณ์ที่ไม่ต้องการให้เกิด (Undesired  Image) ค่ะ แม้แต่เด็กๆ ก็ไม่ชอบให้เราตำหนิเขาต่อหน้าคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวนะคะ นี่เป็นปกติของมนุษย์มากๆ

ไม่มีใครชอบ  อยู่ในสถานการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดหรือจุดอ่อนในความสามารถ บุคลิกภาพ หรือความมุ่งมั่นของเรา แม้อาจะนานๆเกิดขึ้นสักครั้ง

ถ้าจะให้นักศึกษาหรือใครๆ ลดอวิชชาที่บังตาอย่างอาจารย์ว่า

คงต้องให้โอกาสเขาฝึกตัวเองอีกค่ะ ค่อยๆแกะอวิชชาออกไปค่ะ  คงไม่เร็วนักค่ะ อาจารย์ก็คงต้องช่วยฝึกค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท