เป็น “เกษตรกร” ดังกว่าเป็น “หมอ”


“เป็นหมอ ไม่เคยได้รับการยกย่องอะไรมากมาย แต่พอมาทำเกษตรก่อนเกษียณ กลับได้รับรางวัลจากจังหวัดปราจีนบุรี ในปี ๒๕๔๙ ว่าเป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น”

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปแวะเยี่ยม เกษตรกรดีเด่น ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี ๒๕๔๙ ของจังหวัดปราจีนบุรี ท่านนั้นคือ บุคคลที่คนในพื้นที่ทับลาน เรียกขานว่า “คุณหมอบุญจันทร์ ดากลาง” ในปีนี้อายุท่านก็ย่างเข้า ๖๕ ปี แล้ว

055

คุณหมอได้มอบหมวกทำงานให้วันที่ผมไปเยี่ยม

059

และแจกมะม่วงสามฤดูให้กลับบ้าน

คุณหมอบุญจันทร์ เรียนวิชาพยาบาลที่วิทยาลัยพยาบาลวชิระ กรุงเทพมหานคร แล้วก็มาปักหลักทำงานที่สถานีอนามัยที่ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี จนเกษียณ

ก่อนเกษียน ท่านได้ใช้เงินเก็บไปซื้อที่ “โคกหญ้าคอมมิวนิสต์” ประมาณ ๖ ไร่ แต่ก็ไม่มีความรู้ทางการเกษตร เลยปล่อยทิ้งว่างระยะหนึ่ง

 

จนกระทั่งสมาชิกกลุ่ม อสม. ในพื้นที่ ได้แนะว่าน่าจะปลูกตะไคร้ขาย

ท่านจึงไปซื้อพันธุ์ตะไคร้มาปลูก แบบ “ดำนา” โดยบุกเบิก ไล่ที่หญ้าไปเรื่อย จนเต็มแปลง โดยใช้เวลาวันหยุด และเช้า เย็น เพราะไม่มีทุนจ้างคนมาช่วย เงินที่เก็บไว้บ้าง ก็ลงทุนซื้อที่ไปหมดแล้ว

พอได้ผลผลิต ท่านก็ไปติดต่อขายที่ตลาด วันละ ๑๐๐ กก. โดยใช้รถเก๋งโฟล์คเต่า ที่ท่านมีบรรทุกไปขาย เป็นที่ประทับใจของแม่ค้ามาก ว่า “หมอ” ยังมาปลูกตะไคร้ขาย

ใกล้ๆกับที่ไร่ที่ปลูกตะไคร้ มีร่องน้ำที่มีผักกูดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ แต่จะตายเมื่อน้ำท่วม และแล้ง จึงมีคนมาเก็บไปขายตามฤดูกาล  คุณหมอได้สังเกตเห็นศักยภาพของพืชนี้ จึงนำมาปลูกในแปลง และให้น้ำบ่อยๆจากแหล่งน้ำในร่อง พบว่าได้ผลดี จึงขยายมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน

053

แปลงดาหลาที่ทั้งขายดอก และทำเครื่องดื่มจากดอกแก่

พอมีรายได้ก็เริ่มพัฒนาแหล่งน้ำให้ดีขึ้น จนเป็นน้ำใช้ และเลี้ยงปลาแบบใช้ระบบน้ำหมุนเวียนได้ตลอด

เมื่อสภาพน้ำดี ท่านก็เริ่มปลูกไผ่ ดาหลา หน้าวัว ขิงแดง และเพาะเห็ดขาย จากการอ่านหนังสือ และเรียนจาก “ผู้รู้” ในด้านต่างๆ

การทำสวนแบบหลากหลายของท่าน ทำให้มีคนแวะมาเยี่ยมเยือนบ่อย ท่านจึงจัดทำโฮมสเตย์ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ทำให้มีผู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมาย

ท่านเล่าให้ฟังว่าบางคน หลังจากมาดูงานแล้ว กลับไปลาออกจากงาน กลับบ้านไปทำการเกษตรเลยทีเดียว

 056

เสียมสารพัดขนาด และรูปร่าง แสดงถึงความเป็น "เกษตรกรตัวจริง"

ท่านกล่าวว่า “เป็นหมอ ไม่เคยได้รับการยกย่องอะไรมากมาย แต่พอมาทำเกษตรก่อนเกษียณ กลับได้รับรางวัลจากจังหวัดปราจีนบุรี ในปี ๒๕๔๙ ว่าเป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น”

 

ท่านจึงกล่าวว่า

ทำเกษตรนี่ดีจริงๆ และขอแนะนำว่าคนที่อยากมีความสุขหลังเกษียณ ให้รีบมาทำเกษตร ได้ทั้งการออกกำลังกาย สิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่ต้องหวังพึ่งเงินบำเหน็จบำนาญ

น่าสนใจไหมครับ

 

หมายเลขบันทึก: 183792เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 03:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • สวัสดียามเช้าค่ะ อาจารย์แสวง น่าสนใจคุณหมอมากนะคะ เป็นเกษตรกรด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงท่าน
  • ขอบคุณมากสำหรับบันทึกดีดี เช่นนี้นะคะอาจารย์

กราบสวัสดียามเช้าค่ะ ท่านอาจารย์ดร. แสวง

* เมื่อคืนปูยัง คิดถึงๆ เลยนะคะ ว่าไม่ค่อยเห็นบันทึกอาจารย์แสวง เลย ..  

* ว่าจะประกาศถามข่าวคราวแล้วเชียวค่ะ แต่พอเช้ามา เห็นบันทึก

* ดีใจจังค่ะ ฮีโร่ดร. เกษตรปู กลับมาแล้ว หลังจากอาจารย์ออกทีวี แล้วคงงานยุ่งน่าดูเลยนะคะ

* มีพี่ที่ทำงานเค้ารู้จัก อ. ทองสุข รวยสูงเนิน ด้วยล่ะคะ .. ปูก็บอก นามสกุลเดียวกับ ท่านอาจารย์ดร. แสวง เลย  ...

* ...  เห็นภาพอาจารย์ใส่หมวก แล้วเท่ห์มากๆ ค่ะ เหมือนหนุ่มคาวบอยเลย ... คิดถึงป๋าปูจัง ป๋าชอบหมวกแบบนี้เช่นกันค่ะ

* ปูชอบน้ำตะไคร้ มากๆ ค่ะ .. ที่บ้านป๋าก็ปลูกค่ะ

* ดอกดาหลา เป็นดอกไม้ที่ทนทาน แข็งแรง นะคะ .. งามแบบพิศ มิใช่ผาด  ... เมื่อก่อนที่โรงแรมนำไปประดับในงานแต่งงาน ค่ะ 

* สนใจค่ะ ปูก็วางแผนเหมือนกันค่ะ หากปูเกษียน ก็คงจะใช้ชีวิตเรียบง่ายๆ มีเวลาไปชมสวน ...  แต่ยังทำไม่เป็นนะคะ เฮอๆ ...  

*   มีความสุขกับธรรมชาติค่ะ ท่านอาจารย์

ท่านกล่าวว่า “เป็นหมอ ไม่เคยได้รับการยกย่องอะไรมากมาย แต่พอมาทำเกษตรก่อนเกษียณ กลับได้รับรางวัลจากจังหวัดปราจีนบุรี ในปี ๒๕๔๙ ว่าเป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น”

.... น่าคิดๆ ค่ะ ....

... น่าสนใจ ขอบพระคุณค่ะ .....

ขอเกษียรก่อนวัยไปทำเกษตร จะมีใครว่าผมไม่ครับ ฮิฮิ น่าสนใจมากเลยครับเรื่องที่อาจารย์เล่า

ขอบคุณครับ

คนที่ใกล้เกษียณส่วนใหญ่มักวางแผนทำการเกษตร

แต่ มีไม่กี่คนที่ประสพผลสำเร็จในระดับคุณหมอบุญจันทร์

ผมลองคิดดูแล้ว พบประเด็นดังนี้

๑. วางแผนแบบไม่คิดว่าตัวเองจะแก่ ขับรถไกลไม่ได้ ใช้แรงมากไม่ได้ ปีนป่ายไม่ได้ และอาจอ่อนแอในบางเรื่อง ที่เราไม่รู้ล่วงหน้า

๒. ขาดความรู้ และไม่ใฝ่หาความรู้ (โดยเฉพาะคนที่เรียนด้านเกษตร มักประมาทว่าตัวเองรู้แล้ว ทั้งที่ยังไม่เคยลองทำ ไม่เคยทดสอบความรู้) คนรู็สาขาอื่นมา เขาไม่ประมาท จึงมีโอกาสประสพผลสำเร็จได้มาก

๓. ไม่จริงจังกับการทำงาน ทำทิ้งๆขว้างๆ

๔. ครอบครัวไม่ร่วมมือ อยากทำก็ทำเอง หนักคนเดียว ไปไม่ไหว ต้องหยุด

๕. วางแผนไกลเกินไป พอสถานการณ์เปลี่ยน ทำตามแผนไม่ได้ ผิดหวัง เสียกำลังใจ เลยเลิก

๖. เน้นการทำขาย พอพบปัญหาการตลาด ก็หยุด

ฯลฯ

 

ใครอยากทำ คิดดีๆนะครับ หมั่นเรียนรู้ มีทางสำเร็จได้สูงครับ

ทำเกษตรนี่ดีจริงๆ ....

  • เห็นด้วยครับเห็นด้วย
  • แต่เสียดายว่า... พี่น้องเกษตรกรโดยกำเนิด  กลับมักจะไม่เห็นด้วยกับสัจวลีนี้
  • สังเกตได้จากว่าในปัจจุบันนี้ บ้านนอกบ้านนาเราก็ยังคนฝันอยากให้ลูกเป็น"เจ้าคนนายคน"อยู่อีกมาก
  • การลงทุนแบบ"ขายนาส่ง.....เรียน" จึงยังเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเช่นเคย
  • อีกหน่อยบ้านเราเมืองเราคงมี"เจ้าคนนายคนดีเด่น"เยอะแยะแน่ๆ
  • ส่วนไร่นาสาโท เจ้าของรายใหม่จากในเมือง (ซึ่งหนีจากการไล่ล่าของห้างใหญ่) ก็จะลงมือจัดการไร่นาสวนด้วยตัวเอง โดยอาจว่าจ้าง "พ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเจ้าคนนายคน"นั่นแหละทำให้ เพราะมีแรงจูงใจจากราคาผลิตผลที่สูงอย่างในปัจจุบัน
  • ท่านคุณครูว่าเป็นไปได้ไหมครับ?
  • สวัสดีครับ

อยู่ที่ "ความภูมิใจ" ครับ

ไม่ภูมิใจ ไม่ตั้งใจ ไม่สนใจ ยากครับ

แม้ภูมิใจยังต้องพยายามพอสมควร

อยู่เฉยๆหวังฟลุ๊คถูกรางวัลที่ ๑ แบบไม่เคยซื้อล็อตเตอรี่ คนเอามาให้ก็ยังโยนทิ้ง

ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้เลยครับ

คุณหมอท่านเก่งจริง ๆ ค่ะ ขอบคุณอาจารย์นะคะที่นำประสบการณ์ดี ๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ

ครับ

แล้วคนที่จบเกษตรทำไมไม่สนใจ

หรือไปติดกรอบวิชาการจนก้าวขาไม่ออก

ลองคิดดูครับว่าทำไม  และควรจะทำอย่างไร

เมื่อเริ่มหัดปลูกต้นไม้ เพื่อนกันที่สอนปลูกต้นไม้ก็ทำจอบและเสียมส่วนตัวให้ดิฉันค่ะ

จึงเริ่มเรียนรู้บทที่หนึ่งของเกษตรกรรม ว่า tool ก็มีความสำคัญ

ถูกต้องแล้วครับ เดินหน้าต่อเลยครับ

ไม่ใช่มาตีรวน แต่อยากบอกให้รู้ว่าการทำทำไร่ ทำนา แต่จะต้องมีเงินล้านไปซื้อที่ดิน

อาชีพทำไร่ทำนานั้นมันกลายเป็นอาชีพของเศรษฐีไปแล้ว ไม่ใช่อาชีพสำหรับคนรักธรรมชาติ

ในทางกลับกัน

แสดงว่าคนมีที่ดิน เป็นต้นทุนที่สำคัญ"ไงครับ

ใครไม่มีที่ก็หนักหน่อย

ต้องปรับฐานทางเศรษฐกิจให้เท่ากับคนในชุมชนก่อน

จึงสามารถเริ่มต้นแบบนี้ได้

กรณีของคุณหมอบุญจันทร์ ท่านลงทุนไม่ถึงแสนบาท ที่จะทำตัวให้เท่ากับเกษตรกร

ต่อจากนั้นท่านก็ ลงแรง และ ความรู้" ในการทำงานพัฒนา อย่างเป็นขั้นตอน และ "รอ" ตามจังหวะเวลา

จึงจะ "สำเร็จ"

ผมว่าถ้าเราใช้เวลา และความรู้ "เงิน" อาจใช้ไม่มากครับ

นี่คือ positive thinking ครับ

มีที่ดินหลายไร่ใก้ลแหล่งน้ำแต่อยู่ห่างไกลตลาดมาก

อยากปลูกตระไค้รเพราะเบื่องานประจำอยากกลับไปทำเกษตรที่บ้านนอก

อยู่กับพ่อแม่

แต่ไม่รู้จะเริ่มทำอย่างไรดีกลัวไม่มีตลาดส่ง

รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะค่ะ

ก็ไปสำรวจตลาดก่อนซิครับ จะได้วางแผนการผลิตไม่พลาด

ทำพึ่งตนเองก่อนจะดีกว่า

กิน แจก แลก ขาย ตามลำดับ แล้วจะยั่งยืนทุกระดับ และทุกระบบรอบตัว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท