บทเรียนจากนักเรียนชาวนา: บทที่ ๑ การทำคันนา


นาที่ดีจะต้องมีคันนาขนาดใหญ่ ที่สามารถเก็บน้ำได้ดี

 

ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ผมได้รับการสอนจากพ่อแม่ว่า

นาที่ดีจะต้องมีคันนาขนาดใหญ่ ที่สามารถเก็บน้ำได้ดี

ฝนมาทีไร ได้ทั้งน้ำทั้งปลา

Na010

น้ำท่วมนา ๒๗ เมษายน ๒๕๕๑ จากการทำและดูแลคันนาใหญ่

009

ส่วนหนึ่งของปลาที่จับได้ ในช่วงน้ำท่วม

(เช่น ปีนี้ตั้งแต่ เมษายนที่ผ่านมา คนอื่นที่นาติดกันไม่มีน้ำทำนา ไม่มีปลาบริโภค  แต่น้ำท่วมนาผม ๕ ครั้งแล้ว ได้ปลาร้า ๓ ไห และปลาทำกับข้าวเกือบทุกวัน)

และยังอาจใช้เพื่อการปลูกพืช ผัก หรือพืชต่างๆ ตามความต้องการของเจ้าของนา

ในกรณีของบ้านเกิดผมนั้น เป็นประเพณีที่นับถือกันต่อมาว่า

จะดูชาวนาว่าขยันหรือไม่ ให้ดูที่ขนาดของคันนา

ตัวอย่างเช่น

มีอาของผม ท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่ทำงานขยันขันแข็งมาก ท่านมีนาอยู่ในเขตแห้งแล้ง(นาโคก) ทำคันนาด้วยแรงงานในครอบครัว ได้สูงถึง  ๓ เมตร ยาวเป็นร้อยเมตร เป็นคันดักน้ำที่หลากมาไว้ จนทำให้เกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เหนือพื้นที่นาของท่าน และเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่บริเวณนั้น ทำให้มีการใช้ที่นาได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกปี แม้กระทั่งในปีฝนแล้ง

อีกกรณีหนึ่ง เวลาจะไปขอลูกสาวใคร พ่อแม่เขาจะสืบว่า บ้านที่ไปขอลูกสาวนั้นมีคันนาแบบไหน ซึ่งแสดงถึงความขยันของหนุ่มที่จะมาสมัครเป็นลูกเขย

ดังนั้น ผมได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ ตั้งแต่สมัยเด็กๆ และยังมีความเชื่อฝังใจว่า นาที่ดีต้องคันนาใหญ่ เก็บน้ำได้ดี

Na0603

สภาพคันนาเดิมในนาที่ผมซื้อใหม่ๆ ปี ๒๕๔๙

ที่เล็กมากสูงไม่เกินคืบ (เก็บน้ำไม่ได้)ก่อนที่ผมจะปรับปรุงเป็นคันนาใหญ่

(แต่..เป็นขนาดคันนาปกติที่ชาวนาแปลงข้างๆผมใช้อยู่กันทุกวันนี้)

ผมจึงเน้นการพัฒนาพื้นที่นาของผมให้มีคันนาขนาดใหญ่ ดักน้ำ คล้ายๆกับที่อาผมทำไว้เป็นตัวอย่าง (แต่สูงเพียง เมตรครึ่ง ไม่เท่ากับของอาผม)

Na004

คันนาใหญ่ ทำให้ผมมีน้ำทำนาได้เร็ว

ข้าวผมสูงเป็นเมตรแล้ว ขณะแปลงข้างเคียงเพิ่งเริ่มทำ เพราะ "รอน้ำ"

(หว่านข้าวตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ วันพืชมงคล)

รูปนี้ถ่าย ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑

เทคนิคที่สำคัญที่ผมค้นพบมา ในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมานั้น มีหลายขั้นตอนด้วยกัน

·       ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้งการวางคันนา จะต้องเป็นจุดที่ควบคุมน้ำได้ดี สามารถทำประตูน้ำหรือทางระบายน้ำได้สะดวก

·       และที่สำคัญเป็นบริเวณที่สะดวกในการหาวัสดุมาซ่อมแซมคันนาในภาวะที่คันนาขาด หรือต้องเสริมให้คันนาแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

·       ชนิดของดินที่เหมาะแก่การทำคันนานั้น ควรจะเป็นดินชั้นล่าง ที่มีความสามารถในการเกาะตัวกันได้ดี เพราะดินชั้นบนจะร่วน เมื่อถูกน้ำก็จะพังได้ง่าย ไม่ว่าดินนั้นจะเป็นดินเหนียวหรือดินทราย

·       และยิ่งถ้าเป็นการปั้นคันนาช่วงที่มีความชื้นสูง หรือมีน้ำแช่ขัง จะปั้นได้ไม่แน่น แต่ถึงแม้จะปั้นในช่วงที่ไม่มีน้ำ ก็จะดูเหมือนแน่น แต่จะพังได้ง่ายมาก เมื่อมีฝนตกหรือมีน้ำไหลหลาก

ดังนั้น

·       ควรเลือกเวลาที่ดินมีความชื้น พอปั้นเป็นก้อนได้พอดี

·       มีการขุดเอาดินหน้าที่ร่วนออกก่อน แล้วนำดินชั้นล่างที่อัดตัวกันแน่นดีแล้วมาเป็นตัวสำคัญในการปั้นคันนา

·       ซึ่งอาจจะทำเป็นแกนกลางไว้ก่อน แล้วเสริมด้วยดินชั้นบนก็ได้

·       เพราะเมื่อดินชั้นล่างเกาะกันเป็นกำแพงแกนกลางแล้ว ก็จะพังได้ยาก ถึงแม้จะมีดินชั้นบนทับอยู่ด้านนอก ก็ไม่ทำให้เกิดความอ่อนแอมากนัก

·       และการใช้ดินชั้นบนโปะอยู่ด้านนอกนั้น จะช่วยให้การปลูกพืชต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี

ในการทำนาเพื่อการดักปลา ควรจะคิดถึงขนาดของคันนา โดยเฉพาะความกว้างด้านบน ที่สามารถขุดหลุมดักปลาได้โดยไม่ทำให้คันนาพังได้ง่าย

และโดยเฉพาะการทำหลุมดักปลาบนคันนา ควรจะทำใกล้กับท่อระบายน้ำ ตรงจุดที่เป็นรอยต่อของท่อ ๒ ท่อ เพื่อให้มีรูระบายน้ำ ในกรณีที่ฝนตก เพื่อจะทำให้ปลาหนีออกจากบ่อดักไม่ได้

รูระบายน้ำดังกล่าว จะทำหน้าที่เป็นรูเติมน้ำให้บ่อ ในกรณีที่ฝนตกน้ำหลาก และปลาติดอยู่ในหลุมดัก ปลาก็จะไม่ตาย

ฉะนั้น รูระบายน้ำดังกล่าวจึงทำหน้าที่ทั้งเติมน้ำ และระบายน้ำออกจากหลุมดักปลาในขณะเดียวกัน

และถ้าเป็นไปได้ ควรมีตาข่ายกั้นที่ปากหลุม เพื่อกันปลากระโดดข้ามหลุม ก็จะได้หลุมดักปลาที่มีประสิทธิภาพ บนคันนาที่แข็งแรงอีกทีหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม คันนาที่แข็งแรง เป็นพื้นฐานที่สำคัญ และเรายังสามารถใช้หลุมดักปลาเป็นจุดหรือร่องอัดรูรั่วของคันนาได้อีกทางหนึ่ง

ดังนั้น การทำหลุมดักปลาบนคันนา จึงมีประโยชน์หลายด้านด้วยกัน กล่าวคือ

·       ดักปลาที่โดดข้ามคันนา และ

·       เป็นจุดอัดรูรั่วของคันนาในกรณีที่มีน้ำซึมไหลผ่านคันนา

นี่คือวิธีการที่ผมค้นพบในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา หลังจากที่พบว่าคันนาใหญ่ของผมพังซ้ำแล้วซ้ำอีก

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า แม้จะค้นพบวิธีการทำคันนาบ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องเรียนรู้อีกต่อไป ในอีกหลายๆ เรื่องครับ ว่า ทำอย่างไร จึงจะไม่ต้องซ่อมคันนาบ่อยๆ อย่างที่ผมทำอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น ทุกครั้งที่ฝนตก ผมจะต้องรีบไปนาเพื่อซ่อมคันนา ที่น้ำเริ่มซึม หรือดินเริ่มพัง เพราะมิเช่นนั้น จะเป็นงานใหญ่ในวันต่อๆไป เมื่อคันนาพังเป็นช่องกว้าง จะแก้ไขและซ่อมแซมได้ยากมาก

นี่คือ หน้าที่ของชาวนา

และผมได้ตระหนักว่า ชาวนาจำเป็นต้องไปนาบ่อยๆ มิเช่นนั้น งานเล็กๆ ก็จะกลายเป็นงานใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องคันนาพัง เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากจริงๆ

เช่นในครั้งหนึ่ง ผมไม่ได้ไปนาเพียง ๓ วัน เพราะติดประชุมต่างจังหวัด พอกลับมาอีกที ต้องเสียเวลาอุดคันนาเกือบทั้งวัน จึงสามารถอุดรูรั่วรูเดียวได้สำเร็จ

ชาวนาทั้งหลายครับ...ต้องไปนาทุกวันนะครับ มีงานรอท่านอยู่เสมอครับ

ถ้าท่านทิ้งนา นาก็จะทิ้งท่าน ในเวลาไม่นาน

นี่คือบทเรียนที่ผมได้ฟังมาจาก ท่านครูบาสุทธินันท์ บรรยายในการฝึกอบรมเมื่อสักสองเดือนมาแล้ว ครับ.

หมายเลขบันทึก: 194346เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2008 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • ที่บ้านทำคันนาใหญ่เหมือนกันครับ
  • แต่ปัญหาที่พบคือ หนูและปู ชอบมาเจาะคันนา
  • ทำให้น้ำรั่วได้
  • สงสัยต้องไปทำเพิ่ม
  • เดี๋ยวนี้คงไม่มีแบบนี้แล้วนะครับ
  •  เวลาจะไปขอลูกสาวใคร พ่อแม่เขาจะสืบว่า บ้านที่ไปขอลูกสาวนั้นมีคันนาแบบไหน ซึ่งแสดงถึงความขยันของหนุ่มที่จะมาสมัครเป็นลูกเขย

สุดยอดครับท่านอาจารย์

ชาวบ้านนิยมสมัยนี้ไม่ยอมเสียเวลาปั้นคันนาเท่าไหร่

ต้องหันมาเบิ่งแล้วจริง ๆ

  • ที่บ้านสมัยก่อน คันนาเล็กครับ แต่จะมีใหญ่เฉพาะที่เป็นส่วนของการแบ่งแดนหรือสำหรับเป็นทางเดินครับ
  • สงสัยผมจะไปขอใครๆ เขาก็คงไม่ยอมยกลูกสาวให้แน่เลยครับ อย่าว่าแต่คันนาเลยครับ นาสักแปลงหนึ่งก็ยังไม่มีเลย ฮือฮือ

ได้เรียนรู้จากผู้ลงมือทำเองอย่างนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากค่ะอาจารย์ ความรู้เหล่านี้แทบจะไม่มีใครพูดถึงกันแล้ว หากไม่มีผู้มาลงมือเรียนรู้ไป ปรับปรุงไป เช่นอาจารย์อีกหน่อยคงไม่มีใครรู้เลยนะคะ

ได้อ่านบันทึกที่แล้วของอาจารย์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า ควรนำสิ่งที่ได้ไปเรียนรู้มาจากปราชญ์ที่ระยองในการใช้สมุนไพรกับการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ทำได้ผลยอดเยี่ยม แม้เกษตรกรข้างๆจะยังคงใช้สารเคมีอยู่ก็ตาม นำมาเล่าในบล็อกเสียที กำลังเรียบเรียงให้ไม่ยาวเกินไปอยู่ค่ะ

ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจ

ผมกำลังจะเขียนไปเรื่อยๆ เท่าที่มีเวลาครับ

บทเรียนมีมาก เวลามีน้อยครับ

แต่คิดว่าจะนำเรื่องที่สำคัญๆ มานำเสนอก่อนครับ

สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ อ.แสวง

แม้น้ำท่วมนา แล้วจับปลาได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีค่ะ

อ.แสวง อยากรบกวนให้อ.ช่วยบอกหนูเกี่ยวต้นกระบองเพชรว่าทำไมบางต้นออกดอก บางต้นปลูกตั้งนานไม่เห็นออกดอกเลยค่ะ ดอกสีชมพูสวยดีหนูเคยเห็นดอกกระบองเพชรแล้วค่ะ

รบกวนอ.ตอบที่บล็อกของหนูค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ

  • สมกับที่รอคอย
  • จุใจ ชัดเจน เนื้อๆ
  • ความรู้บนดิน ความรู้คู่ธรรมชาติ ความรู้คู่ชีวิต
  • ขอบคุณมาก และ คิดถึงครับ

สวัสดีครับ

เป็นคันนาที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากพอสมควรแต่ปัญหาแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป จะเลียนแบบเลยก็ไม่ได้ต้องนำไปประยุกต์ให้ใช้ได้กับนาตัวเองให้ลงตัวที่สุด ไม่แน่อาจจะพบวิธีที่ดีกว่านี้ใครจะรู้ใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับสำหรับความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง

สวัสดีค่ะ

พอดีกำลังริเริ่มทำนา (ไร่นาสวนผสม ไม่ใช้สารเคมี) เป็นครั้งแรกในชีวิต

จากที่ไม่เคยมี และไม่เคยทำนามาก่อนเลย

อาศัยเพื่อนๆ ให้คำแนะนำบ้าง

ตอนนี้ต้นกล้าโตดีแล้ว คาดว่าจะปักดำกันอาทิตย์หน้าค่ะ

ที่นาที่ทำอยู่ ปั้นคันนาสูงประมาณ 1 เมตรค่ะ

แต่ไม่ได้ทำบ่อดักปลา เพราะไม่รู้จักว่าเป็นยังไง

เลยอยากจะรบกวนขอความรู้เพิ่มเติมค่ะว่าจะต้องทำอย่างไร

 ขอบพระคุณมากค่ะ

 

หลุมดักปลาผมทำโดยบังเอิญครับ

อันเนื่องจากคันนารั่ว ผมก็เจาะดินอุดกลางคันนา แล้วยังขนดินใส่ไม่เต็ม จึงยังเป็นหลุม วันที่ฝนตก ปลาโดดมาติด ก็เลยได้แนวคิด

แต่อีกวันน้ำฝนขังเต็มหลุม ปลาออกได้ ก็เลยได้แนวคิดว่าต้องมีรูระบายน้ำ ไปทางใต้น้ำ

อีกวันดินแห้งปลาตาย เสียรสชาติ ก็ได้แนวคิดว่ากันหลุมต้องรักษาน้ำไว้ ก็ได้แนวคิดอีก

จึงสรุปว่า

๑. ทำหลุมบริเวณที่ปลามักจะโดดข้าม

๒. หลุมต้องขังน้ำได้นิดหน่อย ไม่เกิน ๒ นิ้ว

๓. หลุมต้องมีทางระบายน้ำเวลาฝนตกหนัก

๔. หลุมต้องกว้างหรือไม่ก็มีที่กันปลาโดดข้ามได้ (ใช้ตาข่ายตั้งกันเอาไว้)

 

วันหลังจะเขียนและเอารูปมาลงครับ

ที่ถ่ายไว้ไม่ชัดสักที

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

จะลองไปทำดูนะคะ

ได้ผลอย่างไรจะมาเรียนให้ทราบอีกทีค่ะ

ผมขอร่วมด้วยคนนะครับ ว่าด้วยหลุมดักปลา เมื่อตอนผมยังเด็ก ผมเคยทำร่วมกับผู้ใหญ่ แต่ในกรณีนี้ของผมเขาทำกันฤดูหนาวเมื่อเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว น้ำจะแห้งเหลือตรงนั้น ตรงนี้นิดหน่อย พอยังมีปลาหลงเหลืออยู่บ้าง ปกติปลาจะลงไปกลับน้ำเวลาน้ำลดลงช่วงปลายฤดูฝน ที่เหลืออยู่มันคงกลับไม่ทัน ทำตอนเย็นนะครับ ที่ผมทำก็จะขุดหลุมเป็นรูปวงกลมในที่นาเลยล่ะครับ กว้างประมาณ 1 ฟุต ลึกประมาณช่วงแขนหนึ่ง(แขนล้วงถึงก้นหลุม) เอาน้ำจากแหล่งน้ำอื่นจากลำคลองหรือลำห้วยก็ได้มาเทใส่หลุมประมาณ 2 นิ้ว ผู้ใหญ่บอกว่าเพื่อให้ปลาได้กลิ่นน้ำใหม่ และทำปากหลุมแฉะเป็นทางลงของปลาไว้ด้วย เอาฟางบังแดดที่ปากหลุมไว้บางด้วยเผื่อเรามาเอาปลาสายปลาจะได้ไม่โดยแดดเผา แค่นี้ตอนเช้าก็จะได้ปลาไม่น้อยเลย ขอบคุณครับ ถ้าผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนะครับผม เพิ่งจะเคยเขียน ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

สวัสดีค่ะ อ.แสวง

คันนาที่แปลงนาที่บ้านใหญ่พอสมควร มีวิธีการดักปลาและระบายน้ำแบบง่ายๆมาเล่าให้ อ.แสวงฟังค่ะ คือที่บ้านจะวางท่อที่ทำด้วยปูนซีเมนต์ ขนาดไม่ต้องใหญ่มากนะคะ บริเวณคันนาเพื่อระบายน้ำ ป้องกันคันนาพังเสียหาย ในช่วงเวลาที่ต้องการกักน้ำไว้ ก็จะนำเศษผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว (ขอชิ้นใหญ่ๆ หน่อยนะคะ) มาอุดที่ท่อระบายน้ำไว้ ใช้ดินช่วยนิดหน่อย เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องการระบายน้ำออกก็จะดึงเอาเศษผ้าออก จะให้น้ำไหลช้า ไหลเร็ว ขึ้นอยู่กับจำนวนเศษผ้าที่ดึงออกมา ด้านปลายของท่อน้ำ ก็จะเอาตุ้มดักปลามามารองรับไว้ น้ำก็ระบายไปสู่นา ปลาก็เข้ามาในตุ้ม

ดีมากครับ

ถ้าผ่านไป จะหาโอกาสไปเยี่ยมครับ

อยากได้เครือข่ายมากๆครับ

ขอบคุณครับอาจารย์แต่ผมอ่านบทความนี้ช้าไป แหะๆ

คันนาผมเล็กๆ น้ำมาก็พังไปกับน้ำ

แถมยังโดนขุดรูหาปู หาหอยอีกเฮ้อ

เหนื่อย

สวัสดีค่ะ...อ.แสวง กำลังจะเป็นชาวนาอีกคนค่ะ อาชีพหลักเป็นข้าราชการ มีที่นาประมาณ 20 ไร่ เมื่อก่อนให้แฟนทำ แต่ตอนนี้แยกทางกันเลยคิดว่าจะทำเอง แต่เป็นห่วงในเรื่องหัวคันนามากค่ะ เพราะมีอยู่จะหนึ่ง เวลาหน้าฝนน้ำมา หัวคันนาตรงบริเวณนี้ ขาดที่ประมาณ 1-2 เมตรได้ เพราะมันทางน้ำผ่านพอดี ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไงเลยค่ะ เมื่อตอนน้ำมาบางทีข้ามหัวคันเลยค่ะ รบกวนตอบด้วยนะค่ะ หรือคนอื่นจะแนะนำบ้างก็จักเป็นพระคุณยิ่งเลยค่ะ

ถ้าเป็นผมจะใช้หลักตอก เฝือกกั้นแล้วดินอัดข้างในผสมกับเศษถุงปุ๋ยเก่าๆ จะช่วยได้มากเลยครับ และถ้าไม่ลำบากมากปลูกไผ่ไว้สักกอ อยู่แน่นอนครับ

ขอบคุณมากค่ะ อ.แสวง ปลูกไผ่ความคิดดีมากเลยค่ะเดียวจะไปเล่าให้แม่ฟังค่ะ ที่บ้านมีต้นไผ่พอดีจะได้เอาไปปลูก ทำนาถ้าใช้ปุ๋ยขี้ไก่ดีหรือเปล่าค่ะ ถ้าขี้วัวกลัวว่าดอกหญ้าในขี้วัวจะเกิดขึ้นเกรงจะเป็นการขยายพันธุ์หญ้านะค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์แสวง เดิมที่หนูเป็นนาเก่า แล้วเจ้าของเก่าถมที่เพื่อปปลูกลำใย ตอนนี้หนูจะทำเป็นนา แต่ปัญหาคือหนูไถที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ดินละเอียดมากค่ะ แล้วจะเปลี่ยนมาทำนา จะสามารถทำคันนาได้มั้ยค่ะ การทำคันนาต้องใช้คนทำหรอค่ะ ใช้รถไถทำได้มั้ยค่ะ ควรทำช่วงไหนดีค่ะ เพราะว่าบางคนบอกว่าทำช่วงหน้าฝนจะดีกว่า รบกวนตอบด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท