บทเรียนจากนักเรียนชาวนา บทที่ ๗ การใช้พืชรักษาคันดิน และพัฒนาพื้นที่


พืชที่เหมาะสมกับการปลูกเพื่อรักษาคันดินและพัฒนาพื้นที่นั้น ควรเป็นพืชที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง ต่อสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ต่ำ และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพทั่วไป ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

         หลังจากการพัฒนาคันดิน คันนา หรือขุดบ่อ เกษตรกรทั่วไปจะประสบปัญหาการพังทลายที่ขุดใหม่ ซึ่งอาจทำให้งานที่ทำไปเสียหายได้ ทั้งในส่วนของคันดิน และในส่วนของบ่อที่ขุดขึ้นมา ที่ทำให้มีการใช้งานได้น้อย หรือระยะเวลาสั้น ดังนั้น เกษตรกรจึงมีเทคนิควิธีการในการรักษาคันดินไม่ให้พังได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ดินมีโครงสร้างแบบหลวมๆ หรือเป็นดินทรายจัด ที่พบว่ามีการพังทลายหลังจากการขุดอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ดินเหนียวหรือดินทราย การดำเนินการดังกล่าว มีทั้งการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน แผนงาน จากหน่วยงานของรัฐ หรือแม้กระทั่งการผสมผสานระหว่างชุดความรู้ต่างๆ ทั้งเพื่อการรักษาคันดินและใช้ประโยชน์แบบหลากหลายวัตถุประสงค์ ตามความต้องการของเจ้าของพื้นที่

Oa0066

 

การปลูกต้นขี้เหล็กรักษาคันดิน  ผลิตอินทรียวัตถุ และเป็นรั้วกินได้

 

ก.  เทคนิคการดำเนินการ

             การพัฒนาพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการปรับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำคันนาหรือว่าการขุดบ่อ ก็คือ การปลูกพืช เพื่อการรักษาคันดินและฝั่งบ่อ ลักษณะการจัดการเช่นนี้ เป็นชุดความรู้ที่เกษตรกรใช้ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงจากการปรับพื้นที่ที่เคยเป็นนา หรือสวน หรือไร่ เพียงอย่างเดียว ให้เป็นเกษตรผสมผสานที่สามารถพัฒนาสู่เกษตรพอเพียงหรือเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี แต่การดำเนินการดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีทรัพยากรและแรงงานสนับสนุนพอสมควร

             พืชที่เหมาะสมกับการปลูกเพื่อรักษาคันดินและพัฒนาพื้นที่นั้น ควรเป็นพืชที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง ต่อสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ต่ำ และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพทั่วไป ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย พืชที่มีลักษณะดังกล่าวได้แก่ กล้วยชนิดต่างๆ ไผ่ ไม้ผลที่สามารถใช้ต้นเป็นไม้ใช้สอยได้ดี เช่น กระท้อน  ขี้เหล็ก  สะเดา และผักยืนต้นพื้นเมืองต่างๆ

             สำหรับพืชที่ดูแลดินได้ดี ได้แก่ หญ้าแฝก ตะไคร้ และพืชตระกูลถั่วอายุยาว เช่น ถั่วมะแฮะ ที่สามารถใช้ฝักเป็นผักได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังอาจเป็นพืชไม้ดอกไม้ประดับที่สามารถใช้งานเป็นเครื่องจักรสานได้ดี เช่น ต้นเตย  ต้นปอ  ต้นคล้า บอน 

ข.   ทรัพยากรพื้นฐานที่เหมาะสม

             การปลูกพืชบนคันนาหรือคันบ่อ ในระยะแรกๆ จะต้องมีการดูแลค่อนข้างมาก เพราะดินมีความชื้นต่ำ อุดมสมบูรณ์ต่ำ และยังไม่มีโครงสร้าง ทำให้ต้องดูแลพืชที่ปลูกค่อนข้างมาก ต้องมีการคลุมดิน ช่วยรักษาความชื้น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และมีการดูแลไม่ให้ดินที่ปราศจากโครงสร้างพังทลาย จนเกิดความเสียหายกับพืชที่ปลูก ดังนั้น จำเป็นต้องมีแรงงานคอยดูแลพอสมควร มีทุนที่จะจัดหาพันธุ์พืชมาปลูก แต่ในกรณีที่เกษตรกรมีทุนทางสังคม สามารถแยกหรือขอมาจากที่อื่นได้ การลงทุนส่วนนี้ก็จะน้อยลงไป เหลือเพียงการปลูกและการดูแลเป็นสำคัญ

ค.   ระยะเวลาที่เหมาะสม

             การเริ่มปลูกพืชบนคันนา ควรจะปลูกก่อนฝนเล็กน้อย เพื่อให้พืชตั้งตัวได้ก่อนที่จะมีวัชพืชปกคลุม การปลูกก่อนนานๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องการดูแล การปลูกหลังฝนก็จะมีปัญหาเรื่องวัชพืช ทำให้ดูแลยาก

ง.    ทุน และค่าใช้จ่าย

             เกษตรกรจำเป็นต้องมีพันธุ์พืช เพื่อการปลูกที่หลากหลายและตามจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับการปลูก ซึ่งในระบบเครือข่ายจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ เพราะเกษตรกรสามารถพึ่งพากันเองได้ จะมีปัญหาก็เฉพาะเกษตรกรที่ทำแยกอยู่ต่างหากจากกลุ่มหรือเครือข่าย ที่จะต้องใช้ทุนในการจัดหาพันธุ์พืช และการดูแล

จ.   ผลประโยชน์ที่ได้รับ

             ผลประโยชน์ที่ได้รับในการปลูกพืชบนคันนา ก็ได้แก่ การเกิดระบบเกษตรผสมผสาน มีอาหารที่หลากหลาย มีพืชผักผลไม้ และเครื่องมือใช้สอยที่ผลิตจากพืชที่ปลูกบนคันนาอย่างหลากหลาย ที่สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างดี

ฉ.   ขีดจำกัดและข้อควรระวัง

             ขีดจำกัดที่สำคัญ ก็คือ ความเหมาะสมของคันนา หรือฝั่งบ่อที่ใช้ในการปลูกพืชได้ ที่จะทำให้เกิดความสะดวกในการปลูกพืชจนได้ผลสำเร็จในระยะเวลารวดเร็ว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีวัสดุคลุมดินและแหล่งน้ำมากพอที่จะปรับปรุงดินในระยะแรกๆ และยังต้องมีการปลูกพืชตามระยะเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเรื่อง "ชุดความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์")

ฉบับเต็มจะพิมพ์ออกสู่ตลาดเร็วๆนี้

 

หมายเลขบันทึก: 214455เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2008 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน  ท่านคุณครู ดร.แสวง ที่เคารพ

  • ท่านคุณครูและคุณพี่อำพร รวมถึงน้องน้อยหน่า สบายดีนะครับ  ไม่ได้ถามข่าวคราวซะนานเลย
  • ชุดความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ถ้าเสร็จเมื่อไหร่ รบกวนแจ้งทางบล๊อกด้วยนะครับ จะได้อุดหนุนสักสี่ซ้าห้าเล่ม อยากได้มาเข้าชุดกับชุดความรู้เรื่องนาป่าของโคกเพชรครับ
  • รายละเอียดนาป่าโคกเพชรมี ที่นี่ และ ที่นี่ ครับ
  • อ๋อ...ในเว็บโคกเพชร ขออนุญาตอ้างถึงท่านด้วยนะครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ อ.ดร.แสวง

หายหน้าไป เพราะช่วงนี้ปิดงบ (ปีงบประมาณค่ะ)

ที่นาก็ไม่ค่อยได้ไปดู ปล่อยให้พ่อบ้านลุยเดี่ยวไปก่อนค่ะ

เนื่องจากเป็นมือใหม่

บนคันนาที่บ้านเลยมีสารพัด

ตั้งแต่มะละกอ แค น้อยหน่า มะเม่า(เหตุผลเพราะชอบกิน)

นอกจากนั้นก็มี มะกรูด มะนาว และที่ไม่รู้ชื่ออีกหลายต้น

เพราะพ่อบ้านขยันปลูกเหลือเกิน

คาดว่าต้นที่ดูแล้วมีหนามน่าจะถูกย้ายเร็วๆ นี้

เพราะมองเห็นอนาคตที่เดินเลือดออกซิบๆ บนคันนาได้

จะเปลี่ยนมาปลูกกล้วยแทนตามที่อาจารย์แนะนำแล้วค่ะ

หวัดดีค่ะ...P
แวะมาเยี่ยม..
อาจารย์เก่งมากเลยค่ะ 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท