บทเรียนนักเรียนชาวนา บทที่ ๘ “สมดุลแห่งอำนาจในการใช้ทรัพยากรที่ดิน”


“ไม่มีที่ว่างในโลกนี้” ทุกตารางนิ้วบนพื้นผิวโลกมีเจ้าของอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะมีมากกว่า ๑ เจ้าด้วยซ้ำ

จากประสบการณ์การทำงานในชนบทและการทดลองทำการเกษตรด้วยตนเองมาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นใหม่ๆ ประมาณ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผมได้พบสัจธรรมข้อหนึ่ง ว่า

ไม่มีที่ว่างในโลกนี้” ทุกตารางนิ้วบนพื้นผิวโลกมีเจ้าของอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะมีมากกว่า ๑ เจ้าด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปจับจองหรือไปใช้ประโยชน์ ย่อมมีการทับซ้อนในสิทธิของการเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะในทางสังคม ทางประเพณี และวัฒนธรรมที่มักจะทับซ้อนกับสิทธิทางกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อมีบุคคลใดอ้างสิทธิทางกฎหมายจึงมักมีความขัดแย้งกับสิทธิด้านอื่น ๆ อยู่เสมอ

กรณีที่ชัดเจนมากก็คือ

ผมเคยไปซื้อที่ดินติดกับชุมชน ที่มีชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ทำมาหากิน เช่น การเก็บผัก เลี้ยงสัตว์ จับปลา ตัดฟืน และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ทำให้การอ้างสิทธิ์ของผมตามกฎหมายแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะชุมชนยังรู้สึกว่า ที่ดินดังกล่าวยังเป็นของชุมชนอยู่ แม้โดยกฎหมายผมจะมีสิทธิ์ก็ตาม การอ้างสิทธิ์เช่นนี้จึงมีปัญหาค่อนข้างมาก ทำให้ผมต้องมีความขัดแย้งกับชุมชนที่ผมจะต้องไปอยู่ด้วย ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญมาก

ที่ทำให้ผมพบว่า การซื้อที่ดินใกล้ชุมชนเป็นเรื่องที่จัดการได้ยากมาก

ในทางตรงกันข้าม การใช้ที่ดินที่ไกลจากชุมชน การควบคุมดูแลในการใช้สิทธิ์ของตนเองก็ยากพอๆ กัน เพราะพื้นที่ดังกล่าวมักถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครจะเข้าไปใช้ก็ได้ จึงมีคนจากชุมชนต่างๆ เข้าไปใช้สิทธิ์เสมือนหนึ่งเป็นที่สาธารณะ ที่ชุมชนต่างๆ สามารถเข้าไปใช้ได้ ทำให้การควบคุมดูแลเป็นไปได้ยากเช่นกัน

จากบทเรียนดังกล่าวข้างต้น ผมจึงใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า ที่ดินที่เหมาะสมในการจัดการสำหรับคนที่มีเวลาน้อยอย่างผม ก็คือ

พื้นที่ที่อยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร เพื่อลดพลังแห่งอำนาจในชุมชนที่มีอยู่เดิม ทำให้ผมสร้างสมดุลใหม่แห่งอำนาจในการถือครองและสิทธิ์การใช้ที่ดินได้ง่ายขึ้น  และในขณะเดียวกัน พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ควรอยู่ไกลจากชุมชนมากจนเกินไป ที่จะทำให้ขาด “หูตา” ดูแลแทนเรา เมื่อเราไม่อยู่

บทเรียนดังกล่าวนี้ ผมถือว่า เป็นบทเรียนเกี่ยวกับการสร้างสมดุลแห่งอำนาจ เสมือนหนึ่งการนำลูกโป่งไปใส่ในถังที่มีลูกโป่งอื่นๆ อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ของถัง เพื่ออัดลูกโป่งใหม่ลงไป ขนาดของลูกโป่งจึงต้องเล็กลง ทั้งลูกใหม่และลูกเก่า อัตราการเล็กลงนั้น ขึ้นอยู่กับพลังแห่งอำนาจ ที่จะทำให้เกิดสมดุลแห่งอำนาจใหม่ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป

จากเหตุการณ์เช่นนี้ ในทางปฏิบัติ ผมได้พึ่งพาพลังแห่งอำนาจจากหลายแหล่งด้วยกัน คือ

·       พลังตั้งต้น จากสิทธิทางกฎหมาย

·       พลังหนุน จากการสร้างมิตรกับเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้เป็นหูเป็นตาแทนเราในช่วงที่เราไม่อยู่

·       พลังแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งเกิดโดยบังเอิญเมื่อมีผู้มาแจ้งว่า ที่นาของผมมีเจ้าแม่ตะเคียนทองสิงสถิตอยู่ที่ใต้ต้นมะขาม ด้านหน้าของแปลงนา ซึ่งมีคนนำธูปเทียนไปกราบไหว้อยู่เป็นประจำ

·       พลังแห่งบรรพบุรุษ โดยการนำอัฐิ ของพ่อและแม่ของผม ไปบรรจุไว้ที่ธาตุท้ายแปลงนา และประกาศให้ทุกคนทราบในที่ประชุมของหมู่บ้าน ก็ทำให้คนทั่วไปรับทราบและไม่ค่อยกล้าเดินผ่านบริเวณที่เก็บอัฐิของพ่อแม่ของผม

·       พลังส่วนตัว โดยการไปนาบ่อยๆ แบบไม่กำหนดเวลา ทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ผมจะไปนาเวลาใด และในขณะเดียวกันผมก็จะทำกิจกรรมทุกวันแบบกระจายไปทั่วทั้งแปลง เพื่อกระจายพลังส่วนตัวให้ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดความเกรงใจและไม่กล้าเข้ามาใช้สิทธิตามความรู้สึกของตนเองได้อย่างง่ายดาย

พลังทั้งหมดดังกล่าว ที่ผมใช้ในการทำนานี้ ถือว่าเป็นการสร้างสมดุลแห่งอำนาจในการใช้ทรัพยากรที่ดินที่ผมได้รับบทเรียนมาหลายครั้งหลายครา จากปัญหาการอยู่ร่วมกับชุมชน ที่ผมไม่รู้จักมาแต่เดิม และจำเป็นต้องสร้างการยอมรับให้กับชุมชน จึงจะสามารถอยู่กับชุมชนในลักษณะของการสร้างสมดุลแห่งอำนาจได้

เรื่องนี้เสมือนหนึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ

สำหรับคนบางคน เช่น เมื่อซื้อที่แล้วก็เข้าไปอ้างสิทธิ์อย่างเต็มที่ แบบไม่สนใจว่า คนในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงจะรู้สึกอย่างไร  การดำเนินการเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดความล้มเหลว

ถ้าชุมชนไม่ยอมรับ เขาก็จะกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง ที่ทำให้เรารู้สึกลำบากหรือเสียหายได้อย่างง่ายดาย

นี่คือ บทเรียนจากชีวิตตรงของผม ฉะนั้น ใครก็ตามที่คิดจะทำงานส่วนตัวในพื้นที่ต่างๆ ของโลก ผมคิดว่า ต้องเคารพสิทธิดั้งเดิมของคนในชุมชน ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเกิดจากการอนุญาตของเจ้าของเดิม ที่เป็นสิทธิสืบเนื่องกันต่อมา และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจและสร้างสมดุลแห่งอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงจะทำให้การใช้ทรัพยากรที่ดินเป็นไปอย่างมีความสุข ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

หมายเลขบันทึก: 219873เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะอาจารย์แสวง
  • อาจารย์สบายดีใช่ไหมคะ
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะ
  • ไม่น่าเชื่อว่า  การบริหารความขัดแย้งฉบับอาจารย์เนี่ยเป็นรูปธรรมจริง ๆค่ะ แล้วสามารถแยกข้อออกมาเป็นเชิงวิชาการได้
  • น่าชื่นชมจริง ๆค่ะ

สบายดีครับ ขอบคุณครับ

กำลังเรียนด้วยชีวิตอยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท