Copy and Paste เทคนิคหนึ่งที่ทำลายคุณภาพคน และการพัฒนา


หรือว่าเรายังไม่ได้พัฒนาความรู้ มีแต่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบภายนอก มากกว่าที่พัฒนา “กระบวนการเรียนรู้” และ “การพัฒนาจิตใจ”

ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เน้น ทั้งเชิงวิชาการ เชิงการพัฒนา และเชิงนโยบาย

ที่พบว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ความฝันที่เราอยากจะเห็น กับความจริงที่เกิดขึ้นนั้น ค่อนข้างจะห่างถึงห่างมาก

นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของ

·        “ยิ่งพัฒนา ยิ่งเสื่อมโทรม”

·        “ยิ่งมีการศึกษาสูง ยิ่งทำอะไรไม่เป็น”

·        “ยิ่งมีกองทุนพัฒนาชนบทมาก ชาวบ้านยิ่งเป็นหนี้มากขึ้นทุกวัน”

·        “ยิ่งมีความเจริญทางวัตถุมาก ยิ่งเกิดความเสื่อมทางจิตใจ”

และอีกร้อยแปดพันประการ ที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ (ผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ)

ทำไมจึงเกิดขึ้นได้ ทั้งที่ไม่อยากให้เกิด

ผมขอยืมคำพูดของครูบาสุทธินันท์มาใช้ “น่าจะเกิดจากความรู้ไม่พอใช้”

อ้าว ไหนว่าเราพัฒนาการศึกษากันมากมาย แล้วทำไมความรู้ไม่พอใช้สักที

ข้อนี้ต้องกลับมาพิจารณาว่า

ที่ว่าเราพัฒนาการศึกษานั้น จริงๆแล้ว เราทำอะไรบ้าง

เท่าที่เห็นชัดๆ นะครับ

·        มีโรงเรียนเพิ่มขึ้น

·        อาคารเรียนใหญ่ขึ้น

·        มีครูเพิ่มขึ้น

·        ตำแหน่งครูสูงขึ้น

·        ครูเงินเดือนสูงขึ้น (แต่ก็เป็นหนี้มากกว่าครูสมัยโบราณ)

·        มีหนังสือเรียนมากขึ้น

·        ครูจบการศึกษาสูงขึ้น

·        มหาวิทยาลัยมีมากขึ้น

·        อาจารย์มีมากขึ้น

·        ทุนการศึกษา และเงินกู้ยืมมีมากขึ้น

·        อาจารย์มีวุฒิสูงขึ้น

·        เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น

·        การเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารมีมากขึ้น

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนมีความรู้มากขึ้น

แต่ ทำไมเรายังมีความรู้ไม่พอใช้

รือว่าเรายังไม่ได้พัฒนาความรู้ มีแต่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบภายนอก มากกว่าที่พัฒนา กระบวนการเรียนรู้” และ “การพัฒนาจิตใจ”

ิ่งที่สะท้อนชัดๆออกมาในระบบการศึกษาของเราก็คือ

นักเรียน นักศึกษาใช้วิธีการ copy and paste ในการทำรายงานส่ง ที่แทบเรียกได้ว่า ไม่เคยอ่านเลยว่าสิ่งที่ตัวเองทำส่งนั้นมีเนื้อหาสาระว่าอะไร หรือมีประโยชน์อะไร

ครู อาจารย์ที่ขอตำแหน่งทางวิชาการ อย่างน้อยจำนวนหนึ่งที่ผมตรวจผลงานอยู่ ก็ใช้วิธีเดียวกัน copy and paste ในการรายงาน และเอกสารขอตำแหน่ง หรือแม้แต่จ้างคนอื่นทำแทน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ โดยทางผู้บริหารระดับสูงก็ทำเป็นไม่รู้ เพราะอาจถือว่าไม่อยากแกว่งเท้าหาเสี้ยน

การทำงานทางวิชาการ งานที่ปรึกษา ก็ใช้วิธีเดียวกัน copy and paste ในการเขียนรายงานเพื่อวางแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

นี่คืออาการที่ปรากฏในระบบการพัฒนาของเรา อย่างแทบไม่มีใครสนใจ

แม้แต่ชาวบ้านเอง ก็ยังนิยมทำตามอย่าง โดยไม่สนใจว่าจะเกิดความเสียหายอะไรกับตัวเอง ครอบครัว และลูกหลาน

ก็คิดได้แค่ “ขอรอดวันนี้ไว้ก่อน ปัญหาอื่นๆ ไว้แก้ไขในวันข้างหน้า”

และ ไม่มีใครมีโอกาสแก้ไขในวันข้างหน้า

เพราะเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าก็เต็มไปหมด เวลา และทรัพยากรที่ใช้ก็ไม่พออยู่แล้ว จึงเป็นการสั่งสมปัญหาไว้อย่างต่อเนื่อง

นี่น่าจะเป็นลักษณะการปฏิบัติตัวที่เรากำลังทำกันอยู่

แล้วเราจะทำแบบนี้กันไปอีกนานไหมครับ

บางคนกลับบอกว่า “ไม่มีทางเลือก”

ที่ไม่น่าจะจริงเท่าไหร่

เพราะทางเลือกมีเสมอ และหลายทางด้วย อยู่ที่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือก เท่านั้น

ทางเลือกที่ง่าย และทุกคนได้เรียน ได้รู้มาแล้วทั้งนั้นก็คือ

อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

คำว่า “ทุกข์” แปลว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ที่บางคนนำไปปนกับคำว่า “ความทุกข์” ที่แปลว่า ความลำบาก ความไม่สบาย

ดังนั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุ จะแก้ไขต้องแก้ที่เหตุ จึงไม่มีข้ออ้างว่าไม่มีทางเลือก อย่างที่ชอบอ้างกัน

ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ แต่กลับหมักหมม ปัญหาซ้อนปัญหาไปเรื่อยๆ ทางเลือกก็จะเหลือน้อยลงไปเรื่อย เป็นธรรมดา

แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่า “การพัฒนาการศึกษา” คือทางออกจริงๆ

และแน่นอนครับ ไม่ใช้การแก้แบบภายนอก และไร้สาระอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

แต่ต้องพัฒนา “กระบวนการเรียนรู้” ให้ได้

อย่างน้อยที่สุดต้องยกเลิกหรือ ไม่ยอมรับ เทคนิค copy and paste

·        ครู อาจารย์จะต้องไม่ยอมรับผลงานดังกล่าว

·        ผู้บริหารต้องไม่ยอมรับผลงานของครู อาจารย์ และนักวิชาการที่ทำแบบนั้น

·        คณะกรรมการพิจารณาการขอตำแหน่งต้องไม่ยอมให้ผู้ขอผ่านเกณฑ์ประเมิน

·        สังคมต้องประณามทุกคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น

นี่คืออีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาคน และการศึกษาของประเทศครับ

จะทำ หรือไม่ อยู่ที่เราทุกคนครับ

ถ้าไม่ทำ เรามีทางเลือกอื่นไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 278255เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 01:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีค่ะอาจารย์มาเป็นเพื่อนรอบดึกค่ะ ลงเวรบ่าย...

มาเห็นด้วยกับอาจารย์ ทำผลงานแต่ copy เขามา...

แล้วจะได้อะไร ...เงินเหรอ...

 

ต้องถามต่อว่า

"ประเทศชาติ ได้อะไรจากท่าน"

ถ้าไม่มีคำตอบ ก็ไม่ควรจะได้เงินครับ

ไม่งั้นไม่มีทางออกจริงๆครับ

สถานการณ์เลวร้ายลงทุกวัน

และสังคมไทย ก็นิ่งเฉยกับพฤติกรรมแบบนี้ จนเกือบจะเป็น "เรื่องธรรมดา" ไปแล้วครับ

น่ากลัวจริงๆครับ

  • ยโส ลัทธา น มัชเชยยะ
  • เมายศ
  • เมาศักดิ์
  • เมาบารมี
  • เมาอำนาจ
  • เมาทรัพย์
  • เมาเกียรติ
  • ยุคนี้คนมียศเยอะแยะ
  • วิทยฐานะ
  • ตำแหน่งแห่งที่ แย่งชิงกัน ถ้าพูดให้ไพเราะก็คือมีได้แต่ ไม่พึงเมา บาลีที่อาตมายกมาเป็นนิกเขปบทเบื้องต้น นั้นแปลว่า ได้ยศแล้ว อย่าพึงเมา
  • อาตมานึกแบบชาวบ้านสมัยก่อนใครจะเป็นอะไรเขามาขอร้องใ้ห้เป็น เช่น เจ้าอาวาส มีบารมี มีความดีมากจนชาวบ้านขอร้องให้เป็น ผู้ใหญ่ กำนันก็เหมือนกัน ถูกขอร้องให้เป็น แต่สมัยนี้แย่งกันเป็น ชาวบ้านทะเลาะกันอีกพอเลือกตั้งเสร็จ ญาติไม่เผาผีกันก็มี
  • สังเกตดู ดงขมิ้นก็มียศเยอะ ยศช้างขุนนางพระก็เพียบเลย คนเก่าเล่าให้ฟังว่า จะบวชลูกหลานต้องไปหามอุปัฌชาย์มาจากต่างอำเภอ สองสามวัน แล้วบวชก็บวชจริง ๆ อย่างน้อยเป็นปี
  • ยุคเราไม่มีคนบวช มีแต่ผู้ให้บวช(อุปั็็ฌชาย์) ครูมีเยอะแต่นักเรียนไม่มี จึงต้องยุบโรงเีรียนทีละโรงสองโรง ขอบ่นร่วมด้วยกับโยมอาจารย์สักวัน เอวัง

phramahalae

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

โลกเราทุกวันนี้อ่อนแอทั้งกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคม ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตสักอย่างเราก็เข้าใกล้จุดคับขัน/วิกฤตของชีวิตมาทุกขณะ กระผมคิดอย่างนั้น แต่ที่น่าแปลกเราทำตัวเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวเท่าไหร่  โลกนับวันก็มีแต่เสื่อมจนหาจุดวกกลับได้ยาก เพราะคนที่ตั้งใจทำมีน้อย เมื่อเทียบกลับคนที่เกิดมาส่วนใหญ่มีคุณลักษณะเป็น  “นักบริโภคนิยมที่เน้นการแสวงหาความสุขใส่ตัวเอง (self-indulgent consumer)”  เท่าที่ผมประเมินในใจผม คิดๆไป-มาสรุปได้ว่า คงเพราะเราออกจาก ตัวตน (I-ego) และอวิชชา (dark ignorance) ไม่ได้ กระผมหวังว่า สักวันคงจะมีผู้มีบุญบารมีและลงมาจุติ เพื่อพัฒนามนุษย์เพื่อเข้าสู่ยุคแห่งปัญญา เป็นการรวมศาสตร์ทุกๆศาสตร์อย่าง บูรณาการ และมีเป้าหมายเพื่อความเป็นมนุษย์ ที่อยู่กับธรรมชาติบนความพอประมาณของชีวิต เพราะที่ผ่านมา เหมือนเรายิ่งแก้ปัญหามากเท่าไหร่ แต่ยิ่งแก้เรายิ่งเหมือนวัวพันหลักลงทุกวัน ยิ่งทำมากแต่ผลลัพธ์ที่ดีก็ยิ่งน้อยลง เพราะทรัพยากรเสื่อมโทรมหลายมิติรวมไปถึงจิตวิญญาณ โดยความรู้แบบแยกส่วนจึงทำให้ทุกอย่างเข้าสู่ความหายนะ เราจะหาทางออกได้ยากขึ้นทุกวัน  เราต้องถามตัวเองว่าระบบการศึกษาที่สร้างคนมาเพื่ออะไร และตั้งคำถามว่าเราผลิตบัณฑิตประเภทไหน ทุกวันนี้กระผมมองว่าเราผลิตบัณฑิตที่ไม่รู้จักพอเป็น  สร้างนักแสวงหาสุขใส่ตัวเองที่เน้นการบริโภคนิยม หรือเปล่า นี่คือ การแก้ปัญหาด้วยปัญญาหรือด้วยอวิชชา กระผมได้แต่ตั้งคำถามในใจ หากมองประวัติศาสตร์ให้ยาวนาน โดยหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์กล่าวว่า จุลินทรีย์อยู่บนโลกนับพันล้านปี ไดโนเสาร์นับร้อยล้านปี บรรพบุรุษมนุษย์มีอายุ 5 ล้านปี แต่มนุษย์หลังตั้งตรง (erect type) อายุ 2 หมื่นปีเศษ แต่หลังจากมียุคเครื่องจักรไอน้ำมา โลกเสื่อมลงไม่ชัดเจน ครั้นมาถึงยุคอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมถึงคราเสื่อมหนัก ซึ่งอยู่ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ผมเคยตั้งคำถามว่าเราเนี่ยมีปัญญาน้อยกว่ากว่าแบคทีเรีย หรือไดโนเสาร์ไหม ถ้าเอาเวลาเป็นมาตรฐานในการวัดเวลาที่คาดว่าจะอยู่ได้บนโลก หากคนในโลกส่วนใหญ่ทำเพียงเพื่อสนองกิเลสมากกว่า กระผมไม่อยากจินตนาการเลยว่าหากลูกหลานเกิดมาในยุคต่อไป เขาคงต้องถามว่าบรรพบุรุษ เราสร้างระบบให้เขาอยู่ลำบากโดยมีวัตถุมากมายแต่ทิ้งแต่ซากไว้ให้ หาความสมบูรณ์และชีวิตชีวาไม่มี และเต็มไปด้วยความน่ากลัวภัยพิบัติและโรคภัยตลอดชั่วอายุไขของเขา ผมไม่อยากจินตนาการเลยลูกหลานเรา จะสาบแช่งบรรพบุรุษเขาเองหรือเปล่าเนี่ย แล้วคุณจะตอบลูกหลานคุณๆท่านๆว่ายังไง จริงไหมที่เราเรียกว่า บรรพบุรุษกับพ่อแม่รังแกฉัน ในเวอร์ชั่นการมองในมิติที่ใหญ่กว่าคือระดับมวลมนุษยชาติของโลก บางทีบ่นมากๆกระผมก็เหมือนคนวัยทอง ทุกวันนี้กระผมจึงทำตามสติปัญญาที่ได้ตรองและมองให้ผ่านหลายมิติหลายมุม อย่างไรก็ตามปัญหาปัจจุบันซับซ้อนมากเป็น เชิงระบบที่มีความสับสนและยุ่งเหยิงมากๆ บางทีก็ได้แต่ทำใจให้สงบกับสภาวะปัจจุบันและทำหน้าที่ตัวเองให้ดี ตามสมควร

เรียนแสดงความคิดเห็นด้วยความเคารพครับกระผม

     นิสิต

 

 

 

 

อรุณสวัสดิ์ครับท่านอาจารย์

  • บันทึกนี้เป็นบันทึกที่สุดยอดจริง ๆ ครับท่านอาจารย์ อยากให้ครู นักการศึกษา และนักบริหารการศึกษาได้อ่านกันมาก ๆ (เผื่อจะเกิดสำนึกดีขึ้นมาได้บ้าง)
  • เมื่อวานนี้ได้เสวนากับนักการศึกษาท่านหนึ่งเกี่ยวกับปัญหา "การจ้างทำผลงาน" และปัญหาวัฒนธรรม "สุราและการพนันเพื่อความก้าวหน้า" พบว่า ต้นเหตุบางส่วนเกิดจากการกระจายอำนาจที่ผิดพลาดและรีบร้อนออกมา กล่าวคือ แทนที่จะสร้างต้นแบบแห่งความดี แล้วกระจายอำนาจออกมา แต่กลับปล่อยวัฒนธรรมแย่ ๆ แล้วกระจายออกมาครับ

 

อัตลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง การยอมรับในความเป็นตัวตนของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม กรอบประเพณี ระเบียบกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้น เพื่อบีบเค้นคนให้ต้องอยู่ในกรอบหนึ่งๆ จนเกิดความกลัว กลัวสารพัด จนต้องยอมจำนน เพื่ออยู่รอด แม้จะขายกาย และวิญญาณก็ตาม

ขออนุญาต ท่านอาจารย์

 

สวัสดีครับ

P

 

 

 

 

 

ใครก็ตามที่ทำเช่นนี้

เขากำลังทำลายอนาคตของตัวเอง  และประเทศชาติครับ

ขอยืมวลีในหนังสือเรียน ป ๒ ที่ผมเคยเรียน

"แต่ก่อนคนเรายังโง่"

(เดี๋ยวนี้กลับโง่กว่าเดิมครับ)

อนิจจัง อนิจจา

อัตลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง การยอมรับในความเป็นตัวตนของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม กรอบประเพณี ระเบียบกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้น เพื่อบีบเค้นคนให้ต้องอยู่ในกรอบหนึ่งๆ จนเกิดความกลัว กลัวสารพัด จนต้องยอมจำนน เพื่ออยู่รอด แม้จะขายกาย และวิญญาณก็ตาม

เขาเล่าให้ฟังอาทิตย์ที่แล้วนะโยมอาจารย์ ตอนนี้ thailIS อนุญาตให้โหลดวิทยานิพนธ์ได้วันละ ๕ เล่ม เพราะคนในวงการศึกษาโหลดไปขายเล่มละหลายบาทอยู่เหมือนกัน เขาเล่ามาก็เอานำมาเล่าต่อ อาตมาเคยคิดว่าสถาบันการศึกษานำลูกหลานชาวบ้านไปไหนไปทำอะไร ทำเสร็จแล้วส่งกลับสู่อกพ่อแม่ ส่งกลับบ้าน แต่กลับบ้านไม่ถูก ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่เป็น ไม่สู้งาน คือไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ใครทำให้ลืม ไม่รู้จะโทษใครดี

โทษทุกคนว่ามีส่วนทำให้เป็นอย่างนี้ ถ้ายอมรับก็จะแก้ไขได้ง่าย ถ้าโทษกันไปมาคง

แก้ลำบาก โยมมักจะบอกหลวงพ่อว่าช่วยอบรมลูกให้ทีเถอะ สั่งสอนมาตั้งยี่สิบกว่าปีแล้วไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น หลวงพ่อตอบว่า โยมสอนตั้งยี่สิบปีได้แค่แนี้ แล้วจะมาฝากความหวังไว้กับหลวงให้ช่วยเสกช่วยสอนอบรมประมาณ ๗ วันบ้าง ๑๕ บ้าง แล้วเป็นคนดีคนสุกเป็นบัณฑิต(เป็นทิด)ภายในพริบตา มันทำได้หรือแบบนั้น ไม่มีหรอกจะบอกให้

ก็ขอให็โยมอาจารย์ได้มีกัลยาณมิตรทางวิชาการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมที่ดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ขอเจริญพร

phramaha Lae

มีแต่ข่าวเศร้าๆนะครับ

มีข่าวดีบ้างไหมครับ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยครับ

ต้นแบบเป็นอย่างไรผลผลิตก้ออกมาอย่างนั้น

เผลอๆด้อยกว่าต้นแบบอีกต่างหากครับ

อันนี้คงต้องเริ่มจากคิดให้เป็น ทำให้ถูกต้อง ป้องกันการลดคุณภาพตนใช่หรือเปล่าครับ

ต้องอยู่กับธรรมชาติ และความเป็นจริงครับ

ไม่งั้นสังคมล่มสลายแน่นอนครับ

ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม

ระบบการศึกษาของไทยทุกอย่างล่มสลายไปหมดแล้วค่ะ...ทองแท้ถูกฉาบด้วยโคลน...โคลนตมก็นำมาหุ้มด้วยทองแท้...เรามองกันแค่เปลือกภายนอก...ได้นักเรียนเก่งแต่ไม่มีคุณธรรม...เพราะคุณธรรมมันหายไปจากคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นครูไม่ว่าจะเป็นครูในระดับการศึกษาชั้นไหนๆ ต้นแบบที่บิดเบี้ยวก็ย่อมได้เยาวชนที่บิดเบี้ยวเช่นกัน...นับวันคนแบบนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้นๆ ความรับผิดชอบในสังคมไม่มีอีกต่อไปแล้ว...นอกจากรู้จักรับผิดชอบให้ตนเองอยู่รอดและอยู่ดีเพื่อเหยียบคนอื่นๆ ไม่ให้ดีเท่าหากไม่ใช่พวกพ้อง ของตนเอง...ไม่อยากคิดว่าต่อไปประเทศของเราจะเป็นอย่างไร...หรือนี่คือธรรมชาติและความเป็นจริงในสังคมทุกวันนี้...

นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเลยครับ

ผมว่า ท่าน ดร. พูดถูกครับถ้าเราไม่เอา ธรรมและหลักศาสนา มายึดจิตใจไว้วันข้างหน้าประเทศเราจะไม่เหลืออะไรเลยครับ

ผมก็พยายามชี้ให้เห็น แต่ไม่ทราบว่าจะมีใครเห็นหรือเปล่านะครับ

เส้้นทางที่อาจารย์เล่า

จะนำไปสู่วิกฤติศัทธามากขึ้นๆ

สุดท้ายก็ประเมินอะไรไม่ได้ไม่ออก

กำลังจะแบ๊ะกันทั้งบาง

ไม่รู้จะกู่ยังไง นอกจากบ่นๆกันไป รอวันเจ๊ง!

สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด...และสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเห็น...ความคิดที่เราคิดว่าถูกต้องก็อาจไปทำร้ายคนดีๆ อีกหลายหลายคน...และกลับสร้างคนที่ไม่ดีให้มีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้นในขณะที่คนดีๆ อ่อนแรงลงไปทุกๆวัน...เพราะปัญหาที่แก้ไม่ ถูกจุดอย่างแท้จริง...การศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะมันมากกว่าคำว่าสอนให้ได้ความรู้...มีนักเรียนมากมายที่ได้ดีเพราะ ไม่ได้เป็นคนเก่งในเรื่องของวิชา...ในขณะที่นักเรียนที่เรียนเก่งที่สุด...ก็อาจตกต่ำได้หากไร้ซึ่งคุณธรรม...แน่ใจแล้วหรือว่าระบบที่วางไว้ล้อมกรอบคนดีเอาไว้จริง ๆ ในขณะที่ปล่อยให้คนที่ไม่รับผิดชอบในสังคมเดินเพ่นพ่านอยู่เต็มไปหมดอย่างอิสระ...คำว่าครูดี ควรเป็นนักเรียนเป็นผู้ตัดสินและประเมินเพราะว่าเขาสัมผัสกับผู้สอนโดยตรง...จริงๆ ไม่ต้องใช้หลักวิชาการให้มากมาย...ในสมัยปู่ของปู่ของปู่ไม่เห็นต้องมีการประเมินผลที่ยุ่งยาก...แต่ทุกคนเมือรู้ว่ามีครูดีนักเรียนจะวิ่งเข้าไปหาและอยากเรียน...แล้วผลผลิตที่ได้คือนักเรียนทำไมถึงเก่งจริง ดีจริง ฉลาดจริง แต่ทุกวันนี้เอกสารครูมีมากมาย...นักเรียนกลับเก่งไม่จริง ดีไม่จริง และฉลาดไม่จริงทุกคนหันหลังกลับเดินถอยหลังห่างออกจากครูไปเรื่อยๆ โดยมีครูคอยวิ่งตามว่านักเรียนอยากเรียนแบบไหนและอย่างไร...แล้วสิ่งที่ได้คือเราได้เยาวชนที่นับวันจะหาความรับผิดชอบได้น้อยลงไปทุกวันๆ ...และครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีน้อยลงๆทุกวัน...หรือนี่คือความว่างเปล่าและสูญเปล่าของการศึกษา...

ทางออกอยู่ที่การหันหน้ามาคุยกัน

เอาจริงกับประเด็นที่เป็นปัญหาที่กล่าวข้างต้น

ทางออกควรจะเริ่มประมาณนี้ครับ

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

ครูแอ้ได้มาพบบันทึกนี้เพราะกำลัง search หางานวิจัยที่จะแก้ปัญหาเรื่อง copy and paste ของนักศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัยในชั้นเรียน

พบว่าในต่างประเทศก็มีปัญหานี้เช่นกันและก็มีมุมมองเกี่ยวกับ pragiarism

แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ครูแอ้กำลังมองหาวิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้
ซึ่งอาจจะเป็นวิธีง่าย ๆสำหรับการสอนนักศึกษา คือ

- ให้ใช้ลายมือเขียนแทน (งานไม่เกิน 3 หน้ากระดาษรายงาน ต้องกะเวลาในการเขียนให้เค้าด้วยเพราะคงไม่ได้มีแต่งานของครูแอ้คนเดียว) แต่ถ้าเป็นงานกลุ่มก็ให้ช่วยกันเขียน (ยอมทนอ่านลายมือซักหน่อย)

- สอนวิธีการอ้างอิงจากอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องเพื่อให้นักศึกษาไม่รู้สึกเคว้งคว้างที่จะต้องเขียนอ้างอิงและเมื่อสอนแล้วก็จะสามารถตัดคะแนนได้หากไม่ปฏิบัติ

- เตือนนักศึกษาเสมอ ๆ ว่าการนำเอาข้อความของใคร ๆ มาใช้โดยไม่เคารพในความคิดของเขาหรือไม่ขออนุญาตหรือไม่บอกกล่าวก็ถือว่าผิดศีลข้อ 2

จากการให้นักศึกษาเขียนด้วยลายมือ พบว่า นักศึกษาเขียนคำตก ๆ หล่น ๆ สะกดคำบางคำผิด เขียนสระผิดที่ ใช้คำเชื่อมประโยคไม่เป็น ทำให้ครูแอ้มีสิ่งที่ต้องสอนเพิ่มขึ้นเป็นของแถมและนอกเหนือจากเนื้อหาในรายวิชา และหลัง ๆ ก็พบว่าหลายคนใช้ความพยายามเขียนหนังสือให้สวยขึ้นด้วย

นั่นซีนะ...ถ้าครูแอ้ไม่ลองแก้ปัญหาเอาแต่บ่นว่าจะพบสิ่งที่ต้องชี้แนะแก่นักศึกษาเหล่านี้หรือไม่และถ้าไม่ปลูกฝังกันในโรงเรียนจะไปบอกเค้าได้ที่ไหนหรือเมื่อไร เค้าก็คงจะเป็นคนที่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

ขอบคุณท่านอาจารย์ที่มีประเด็น Copy and paste ค่ะ

 

 

ดีมากครับ

ต้องทำจึงรู้ อย่างนี้แหละครับถูกต้องแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท