ธรรมะเพื่อชีวิต: “ความทุกข์” จากการยึดมั่นในสิ่งสมมติ


ทุกข์ คือสิ่งที่เป็นไป (Phenomena) อย่าไปยึดติด จะเกิด “ความทุกข์”

ผมเริ่มศึกษาธรรมะอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ ๒ ด้วยเหตุผลของการเป็นข้อต่อรองกับพ่อ ที่พ่อของผมอยากให้ผมบวชเมื่ออายุครบ ๒๐ปี

ผมได้ถามพ่อผมว่า จะให้บวชไปทำไม

พ่อผมบอกว่า "ก็จะได้เรียนธรรมะ"

แต่ ด้วยความที่

ผมเป็นเด็กวัดมาเจ็ดปี ตั้งแต่เด็ก จนถึงชั้นมัธยม ผมพบอะไรมากมายพอสมควรที่ทำให้ผมปฏิเสธสภาพของ “วัด” ที่ผมอาศัยมา

ที่ประเมินแล้วว่า ผมไม่เชื่อว่าจะมีประโยชน์อะไรที่ผมจะบวช ผมอาจจะเป็นพระที่ไม่ดีกว่าพระอื่นๆ ที่ผมเห็นมาก็เป็นไปได้

แต่ผมก็ไม่อยากอธิบายมาก เพราะผมยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก และไม่อยากลบหลู่สถานที่ และพระผู้มีอุปการคุณของผม ที่ช่วยให้ผมได้มีที่พัก อาหาร น้ำ ไฟ ฟรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดังกล่าว

จนทำให้ผมรอดจากความเป็นลูกชาวนาจนๆ มาจนถึงทุกวันนี้

ผมเลยขอพ่อว่า ถ้าอ่านหนังสือธรรมะแทน ศึกษาจากหนังสือ ตำรา จะพอได้ไหม

พ่อนิ่งไปพักหนึ่งแล้วก็ตอบว่า “งั้นก็ลองดู” พร้อมกับยื่นหนังสือธรรมะให้ผมสองเล่ม เล่มหนึ่งเป็นของท่าน ปัญญานันทะ วัดชลประทานรังสฤษดิ์  อีกเล่มหนึ่งเป็นของท่านพุทธทาส วัดสวนโมกข์

ผมเริ่มจากดูอย่างจริงจัง ตั้งแต่เนื้อหาที่ปก คำอธิบายต่างๆ และเนื้อหา และพยายามอ่านส่วนต่างๆ “ตามใจชอบ

ที่ผมเลือกและชอบ มีตั้งแต่ ที่ตั้งของวัด การอธิบาย การใช้คำที่กินใจ

ผมจึง “ชอบ” การอุปมาอุปมัยของท่านพุทธทาส มากกว่าของท่านปัญญานันทะ

และพยายามติดตามหาซื้อที่แผงหนังสือสนามหลวง ริมคลองหลอดทุกวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผ่านไปทางนั้น

ผมยอมรับตรงๆว่าผมติดยึดแนวคิดของท่านพุทธทาส มากกว่าแนวทางอื่นๆ

และแปลกแต่จริง ผมชอบคำที่ท่านใช้ที่ผมสรุปมาใช้อยู่คำหนึ่ง “อย่ายึดมั่น ถือมั่น จะทำให้เกิดความทุกข์”

แต่ก็เข้าใจแบบฉาบฉวย กว่าจะเข้าใจแบบซึ้งๆ ก็เกือบ ๓๐ ปี

ผมพยายามทำความเข้าใจ “ไตรลักษณ์”

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างยากเย็น

ที่ยากเพราะว่า ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ไม่ซึ้ง ไม่อยู่ในกระแสคิด กว่าจะซึ้งได้ใช้เวลากว่า ๒๐ ปี

สาเหตุหลักที่ทำให้ผมเข้าใจอย่างสับสน และคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันระหว่าง “ทุกข์” กับ “ความทุกข์” ทำให้การแยกแยะอะไรต่างๆ ทำได้ยาก กว่าจะเข้าใจได้ก็เกือบ ๔๐ ปี  ตอนนี้ผมพยายามใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการแยกแยะคำทั้งสอง ไม่ให้ปนกัน ว่า

ทุกข์ คือสิ่งที่เป็นไป (Phenomena) อย่าไปยึดติด จะเกิด “ความทุกข์”

และ ความทุกข์ คือ ความรู้สึกไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่สบาย โศกเศร้า เสียใจ (Misery หรือ Sadness)

ที่ทำให้ผมเข้าใจ “ไตรลักษณ์” ได้ดี และง่ายขึ้น

และเมื่อเริ่มซึ้งกับไตรลักษณ์ ผมก็มามองวิถีชีวิตของผมเอง ว่าบิดเบี้ยว หรือติดยึดในเรื่องอะไรบ้าง

ผมก็ค่อยๆ ปล่อยวางทีละเรื่องที่นึกออก คิดทัน

ที่คิดไม่ทัน นึกไม่ออก ก็ยังติดยึดอยู่พอสมควรทีเดียวและครับ

ผมเริ่มวางจาก

·        การติดยึดในรสอาหาร ชนิดอาหาร ยารักษาโรค สารเสพติด และของอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ทำได้ง่ายที่สุด สักประมาณ เกือบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับเกียรติ และศักดิ์ศรี ประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับความมีชีวิตของตัวเอง ญาติพี่น้อง และบุคคลต่างๆ ประมาณ ๒๐ ที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับความเคยชินตามสถานที่ เวลาต่างๆ เวลากิน เวลานอน  เวลากลางวันกลางคืน ประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับกิเลสการแต่งตัว การกิน การนอน การฉลอง ประมาณ ๕ ที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับวิถีชีวิตของตนเอง ประมาณ ๕ ปีที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับสไตล์ ของใช้ ประมาณ ๓ ปีที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับการได้รับการยกย่อง หรือรางวัล ประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมา

·        ติดยึดกับทรัพย์สมบัติ ประมาณ ๑ ปีที่ผ่านมา

แต่อย่างว่านะครับ ยังไม่มีอะไรสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นับได้แค่ว่าพอทำได้ และทุกข์น้อยลงเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ

ทำให้ผมได้ข้อสรุปบทเรียนของตัวผมเอง

แค่ คิดและทำ “ตามตำรา” ของท่านพุทธทาส

ว่า “ความทุกข์” เกิดเพราะ การติดยึดกับสิ่งสมมติ

ผมเลยเพิ่งรู้ว่าการเรียนรู้ของผมนี่ช้าจริงๆ ใช้เวลากว่า ๔๐ ปี ยังได้นิดๆ หน่อยๆ เลยไม่พ้น “ความทุกข์” จริงๆ สักที แต่ก็ดูเหมือนจะเบาลงไปมากครับ

ทำให้ผมนึกถึงความปราดเปรื่องของ พระพุทธเจ้า ที่ท่านใช้เวลาในชาติสุดท้ายของท่าน แค่ ๖ ปี ก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

แต่ท่านก็บำเพ็ญเพียรมาตั้ง ๕๐๐ ชาติ จึงได้มาขนาดนี้

แล้วคนที่อาจจะเกิดมามากกว่า ๕๐๐ ชาติ แต่ไม่บำเพ็ญเพียรล่ะ จะเป็นอย่างไร

ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดไม่ออกจริงๆ

รู้แต่ว่าเส้นทางชีวิตและจิตวิญญาณของผม ยังอยู่อีกไกลเหลือเกิน

ที่จะพ้น “ความทุกข์ ทุกข์ และ การเวียนว่ายตายเกิด

เพราะสมองผมคิด และเรียนรู้ได้ช้าเหลือเกิน

แต่อย่างไรผมก็ยังพยายาม “ติดยึด” อยู่กับทางสายกลาง

ที่

วาง แต่ไม่ปัดความรับผิดชอบที่มีต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และโลก

หลีกเลี่ยง แต่ไม่ขัดขืน ไม่ส่งเสริมสิ่งที่เป็นสิ่งสมมติทั้งหลายในโลก ทำให้เกิด "ความทุกข์"

อยู่กับธรรมชาติ และความเป็นจริงของชีวิต ทรัพยากร และสังคม

ทำบุญ ทำทาน เพื่อกรุยทางสะดวกให้ชีวิตตัวเองอยู่และตายอย่างมีประโยชน์ คุ้มค่ากับการเกิดมาแล้ว และทรัพยากรของโลกที่ผมยืมมาใช้

เพื่อทั้งโลกนี้และโลกหน้า จนกว่ามีมีบุญบารมี สะสมมากพอที่จะ "ดับ" ได้อย่างสมบูรณ์

นี่คือตัวตนจริงๆของผมในวันนี้  (๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒) ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 280312เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

  กระผมอ่านข้อมูลในเนตไปเรื่อยๆ ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน กว่าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ต้องใช้ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีเท่าไร

           ปัญญาบารมี ใช้ปัญญาในการบำเพ็ญบารมี ใช้เวลา 20 อสงไขย 100,000 กัปป์

           ศรัทธาบารมี ใช้ศรัทธาในการบำเพ็ญบารมี ใช้เวลา 40 อสงไขย100,000 กัปป์

           วิริยะบารมี ใช้วิริยะในการบำเพ็ญบารมี ใช้เวลา 80 อสงไขย 100,000 กัปป์




ระดับของบารมีมีกี่ระดับ

           บารมี 10 การบำเพ็ญบารมีเบี้องต้น อุทิศด้วยทรัพย์สมบัติและบริวารทั้งหลายที่มี เพื่อพระโพธิญาณ

           อุปบารมี 10 การบำเพ็ญบารมีขั้นกลาง อุทิศอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายของตน เพื่อพระโพธิญาณ

           ปรมัตถปารมี 10 การบำเพ็ญบารมีขั้นสูง อุทิศด้วยชีวิตของตนเอง เพื่อพระโพธิญาณ

           แหล่งข้อมูลของพระโพธิสัตว์

1 กัปป์ ประมาณ มี  ประมาณ 3.3 X 10 ยกกำลัง 30 หน่วยเป็น ปี

1 อสงไขยมีกี่กัปนั้น เป็นจำนวนที่แน่นอนง่ายๆ คือ 1 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 140 ตัว หรือ 1 X 10 ยกกำลัง140 กัปป์

แหล่งอ้างอิง

           http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/tipitaka_seek.php พระโพธิสัตว์ในพระไตรปิฏก
          

ถ้าเป็นแบบนั้นบุคคลที่จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมียิ่งใหญ่มหาศาล

 เรียนแสดงความเห็นด้วยความเคารพ

 นิสิต

 

นี่คือ quantitative information

ลองดู หรือหา qualitative บ้างซิครับ

ไม่งั้เราคงท้อกันหมด

ผมเชื่อว่า ระยะเวลา ขึ้นอยู่กับความเร็ว

และระยะเวลาที่กล่าวมาน่าจะเทียบกับความเร็วระดับต่ำ

ผมคาดว่าน่าจะมีความเร็วระดับสูง และสูงกว่า

เช่นในญี่ปุ่น มีรถไฟที่วิ่งเร็วเหมือนลูกปืน

แต่เขาก็ตั้งชื่อว่าเร็วเหมือนแสง

และสุดท้าย ก็มีเร็วเหมือนความคิด

และอาจจะมีเร็วกว่านั้นอีก

ในระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

เมื่อสิบปีที่แล้วกับปัจจุบันต่างกันกี่เท่า

ผมเลยไม่ค่อยกังวลกับเวลาเชิงปริมาณ

ผมสนใจเวลาเชิงคุณภาพมากกว่าครับ

สนุกและท้าทายกว่าครับ

ลองไปหาคำตอบมาใหม่นะครับ

ขอบพระคุณครับกระผม

 นิสิต

ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จทางธรรมของอาจารย์ครับ

กระผมก็ฝึกปล่อยวางครับ แต่ยังปล่อยวางได้เพียงบางอย่างและบางครั้งครับ

ซึ่งกระผมก็ไม่ได้ใช้ความพยายาม เพียงใช้เหตุและผลเป็นหลักในการปล่อยวาง

เอจะกลายเป็นยึดติดเหตุและผลหรือเปล่าน้า อิอิ ขอบพระคุณครับ

...ถ้าวางได้จริง..ก็ว่างได้...ถ้าว่างได้เมื่อไร...พบท่านพุทธทาสได้ทันที..ค่ะ..ยายธี...(ยายธีวันนี้..อิอิ..ไม่เคยว่างได้สักทีหกสิบปีที่รู้จักท่านพุทธทาส มา..เห้อ)

ดิฉันอ่านและทราบว่าการยึดติดทำให้ทุกข์  ความอยากได้ทำให้มีทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด

ดิฉันก็พยายามคิดว่า  ได้แค่นี้ก็แค่นี้  ไม่สะสมอะไรเกินตัว  อย่าทำอะไรเกินกำลัง  ทำให้คนที่เรารักมีความสุข  และให้รู้จักพอเพราะชีวิตเราไม่รู้จะอยู่นานแค่ไหน อาจตายวันนี้หรือพรุ่งนี้  เพราะฉะนั้น  ทำวันนี้ให้มีความสุขก็พอค่ะ  อาจจะยังมีกิเลศเยอะแต่  ก็พยายามลดละและไม่เบียดเบียนใครค่ะ

เคยอ่านเจอมีคนบอกว่า  ตื่นขึ้นมาตอนเช้ามาถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ดีใจแล้วค่ะ

ครับ ชีวิตเราก็เท่านี้แหละครับ

ท่านจึงว่า "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด วันพรุ่งนี้ไม่เคยมี เมื่อวานก็ผ่านไปแล้ว"

ประมาณนั้นครับ

ทุกวันทำมรณานุสติ (บ่อยๆ) จะเข้าใจชีวิตและปล่อยวางได้ง่ายขึ้นครับ

ผมก็สนใจธรรมะครับ ลองศึกษาสายมหายาน(แบบเซน)ดูครับ ดูๆแล้วท่านพุทธทาสก็สอนแบบมหายานเหมือนกัน(ทั้งภาพปริศนา การขบคิด สูตรเว่ยล่าง ,ฮวงโป)

ผมดูที่จิต สติติดตามจิตครับ แม้จะยาวไกล และหลงๆลืมๆ พลั้งๆเผลอๆไปบ้าง ในแต่ละวัน เวลา นาที แต่คิดว่าสายนี้ลัดสั้นที่สุด ครับ อุปมาไป กทม. เดินไป นั่งเครื่องบิน จักรยาน หรือไทม์แมชชีน ลปปรร. ครับ

ผมก็สนใจธรรมะ ตั้งแต่อายุ10 กว่าขวบ ด้วยทางบ้าน(ยาย)ชอบไปทำบุญตามวัดต่างๆ (จ.เลย) มักจะได้หนังสือธรรมะ มา เลยเอามาวางไว้ตามบ้าน(ส่วนมากสายหลวงปู่มั่น วัดป่า หรือพวกโลกทิพย์ โลกลี้ลับ ) ก็หยิบอ่านไปเรื่อยๆ สมัยเรียนป.ตรี ก็สนใจ หนังสือวิทยายุทธ โกวเล้ง เลยแตกสายมาอ่านแนวเซน แบบจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ซึ่งแนวการบรรลุจะไม่เน้นรูปแบบ (จิตล้วนๆ) ปัจจุบันอายุ 32 ปี ยังไม่ไปไม่มา แสวงหาในธรรม ในจิต ในชีวิต ในการงานต่อไป

ด้วยความเคารพ

กราบเรียนท่านอาจารย์ด้วยความเคารพจริง ๆ จากใจเลยนะครับ
ขอชื่นชมยินดี กับความตั้งใจปฏิบัติของท่านอาจารย์มาก ๆ เลยนะครับ
มีจุดเล็กน้อย เผื่อท่านผู้อื่นมาอ่าน แล้วอาจจะทำให้เคลื่อนไปบ้าง ท่านอาจารย์โปรดให้อภัยนะครับ ถ้ากระผมกล่าวไม่เหมาะสม ... คือ...
เรื่องเวลาที่พระพุทธองค์ใช้บำเพ็ญ 500 ชาตินั้น
แล้วท่านหนึ่งบอกว่านับเป็น 20 อสงไขย 100,000 กัปป์ ฯ ดังกล่าว
ตรงนี้ ...จริงๆ แล้วก็เป็น qualitative ด้วยนะครับ ไม่ใช่ quantitative information เพียงด้านเดียวนะครับ
เพราะการตั้งใจเป็นพระพุทธเจ้าประเภท สัมมาสัมพุทธะ คือจะตั้งศาสนาด้วย
จำเป็นต้องบำเพ็ญ(ฝึก)ให้ผ่านทุก ๆ จริยวัตร เช่น ทาน , ฯลฯ เป็นต้น
แต่ละจริยวัตร ต้องบำเพ็ญเป็นชาติ ๆ เลยทีเดียว เช่น พระเวสสันดร ก็ ทานบารมี ทั้งชาตินั้น
เวลาที่ยาวนานเป็นแสนเป็นล้าน ๆ ปีดังกล่าว...
ไม่ได้เพื่อให้ ชาวพุทธ ท้อ...
แต่เพื่อให้ชาวพุทธทราบในการจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ถ้าอยากจะมุ่งตรัสรู้เองและประกาศศาสนา ถ้าไม่ประกาศฯ ก็จะเป็นปัจเจกพุทธะฯ
รวมทั้งให้เห็นถึงพระกรุณาธิคุณฯ ด้วยครับ
ที่ทรงยอมลำบากบำเพ็ญนานถึงขนาดนี้ เพื่อแลกกับการตรัสรู้และตั้งศาสนาให้พวกเรานะครับ
การจะย่นย่อเวลา ตามแนววิทยาศาสตร์สัมพันธภาพ
ก็จะต้องไปตกอยู่ในกรอบอ้างอิง(Frame of reference) เสมอ ในมิติ(Dimention)นั้น ๆ
การปฏิบัติบำเพ็ญ จึงไม่ได้มุ่งที่จะทำ "เวลา" จากปริมาณ เป็น "คุณภาพ"
แต่เป็นการ"รับ"กรอบอ้างอิงนั้น แล้วบำเพ็ญไป เพราะก็เพื่อสรรพสัตว์ในกรอบอ้างอิงเดียวกันนั้น เป็นที่ตั้ง
จึงได้ทรงเป็นกฎว่า จะมาบังเกิดเพื่อตรัสรู้และตั้งศาสนา เฉพาะช่วงที่มนุษย์มีอายุระหว่าง ร้อย ถึง หมื่นปีเท่านั้น
(ยาวไป มนุษย์ไม่เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน สั้นไป มนุษย์ทำความเพียรไม่ทัน)
กระผมกราบขออภัยท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพรักและอ่านเรื่องชาวนาฯ ฯลฯ ของท่านอาจารย์เสมอ ด้วยท่านอาจารย์เป็นบุคคลในอุดมคติของกระผมครับ
ดังนั้น ที่กระผมบันทึกนี้ เพียงให้ท่านผู้อ่าน เข้าใจเรื่อง"เวลาที่ทรงใช้ในการบำเพ็ญเพียร" เท่านั้นเองนะครับ
กราบมาด้วยความเคารพดุจศิษย์มีต่อครู คือท่านอาจารย์ครับ


...ชยพร แอคะรัจน์...

สวัสดีครับ

  • เข้ามาช้าไปหน่อย แต่ตามอ่านแบบละเอียด
  • คิดว่ามองเห็นและเข้าใจตามที่สื่อมาครับ
  • ผมอาจโชคดีหน่อยที่นอกจากได้อ่าน ได้บวชเรียนและอยู่ใกล้ท่านอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่งแล้ว .. สมัยเด็กๆก็ยังได้วนเวียนอยู่แถวสวนโมกข์ ไปช่วยงาน กิน นอนอยู่ที่นั่น ได้ยินได้ฟังคำของท่านอาจารย์ และนำมาตรึกนึก และใช้ประโยชน์ได้มาตั้งแต่ชั้นมัธยม แต่ก็เป็นบางเรื่องนะครับ
  • สิ่งที่ได้ใช้บ่อยที่สุดเรื่อยมาคือคาถา "เช่นนั้นเอง" ครับ หลังๆมาก็เสริมด้วย "อตัมยตา" อีกตัวหนึ่ง ( "อตัมยตา" = กรู ไม่เอากับ มรึง แล้วโว้ย ..  มรึง  หมายถึง สิ่งอันไม่ควรยึดถือทั้งหลาย ไม่ใช่ใครที่ไหนครับ )
  • "ตถตา" หรือ "เช่นนั้นเอง" ช่วยได้มากจริงๆ  ทำให้ไม่ต้องตื่นเต้นกับปรากฏการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งซีกบวก และลบ .. ซึ่งในนั้นมันแฝง "ความไม่ยึดติด" เอาไว้ด้วยเรียบร้อยแล้ว
  • ส่วนที่ว่า .. ทำบุญ ทำทาน เพื่อกรุยทางสะดวกให้ชีวิตตัวเองอยู่และตายอย่างมีประโยชน์ .. อ่านแล้ว ทำให้นึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่ว่า การให้ทาน มี 3 แบบคือ ..
  • ทำทานเพื่อส่งเสริม "ตัวกู-ของกู" ชนิดเลว
  • ทำทานเพื่อส่งเสริม "ตัวกู-ของกู" ชนิดดี ... และ
  • ทำทานเพื่อขัดเกลาและส่งเสริมการสิ้นไปซึ่ง "ตัวกู-ของกู"
  • สวัสดี และ อิ อิ อิ ครับ

คำสอนในพุทธศาสนามีมากมาย  ธรรมฐิตเลือกปฏิบัติข้อเดียวเท่านั้นคือ..รู้เนื้อรู้ตัวกับสิ่งที่ที่ปรากฏอยู่เสมออย่างนิ่มนวล..ขอรับ

ผมบังเอิญอิงกรอบเวลาตามหลักฐานทางธรณีวิทยา ชีววิทยาของโลกด้วยครับ

และไม่มีข้อมูลโลกอื่นๆมาให้เป็นฐานคิด

ผมจึง "เชื่อว่า" เวลาเหล่านั้นเป็นสิ่งสมมติ ในเชิงเปรียบเทียบ ให้เห็นความยาก และความพยายาม ที่พึงมี

เป็นเพียงอุปมาอุปไมย

แบบ "เจ็ดปีในสวรรค เท่ากับเจ็ดวันในโลกมนุษย์" ประมาณนั้นครับ

แต่เวลาจริงๆ อาจจะสั้นกว่านั้นก็ได้ ครับ

เพราะอายุสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ก็เพียงไม่กี่พันล้านปี

ยิ่งเป็นสัตว์ชั้นสูง มี DNA สมอง และจิตวิญญาณ มาก และยาวนานพอที่จะบำเพ็ญเพียรภาวนาได้ น่าจะไม่เกินห้าร้อยล้านปี

รวมหรือคิดอย่างไรก็ไม่ถึงหนึ่งกัปป์

นี่คือระบบคิด และที่มาของคำตอบข้างบนครับ

แต่ หวังว่าผู้รู้จะช่วยทำให้ตรงนี้กระจ่างขึ้น

ผมมีความรู้และเข้าใจมาเท่านี้ จึงคิดได้แค่นี้ครับ

สวัสดีค่ะ...คุณลุงค่ะ

ตอนนี้หนูเป็นทุกข์มากค่ะ

กับเรื่องการควบคุมความคิด ขี้น้อยใจ ขี้อาย ขี้กลัวของตัวเองค่ะ

หนูไม่ทราบว่าจะแก้อย่างไรดีค่ะ

มันมีผลกระการใช้ชีวิตหนูมากๆเลยค่ะ

หนูไม่ต้องการให้มันติดตัวหนูไปตลอดอีกแล้วค่ะ

หนูเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บความรู้สึกของตัวเองเข้าขั้นว่าเก็บกดเลยก็ว่าได้ค่ะ เมื่อเวลาที่ทนไม่ได้ก็แอบร้องไห้ หนีปัญหา

หากมีปัญหาและถ้าวันไหนที่มีเรียนก็โดดเรียน ไปไหนสักที่พออารมณ์โกรธสงบก็กลับมาค่ะ

อย่างตอนนี้หนูปัญหาเรื่องคนใกล้ตัวหนูเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง อารมณ์ร้อน เวลาที่โกรธใคร ไม่พอใจใครเข้า กลับมาที่ห้องก็ทำเสียงดังต่างๆนานา หนูเองไม่ก็ไม่ชอบ เพราะหนูกลัว หนูจะปวดหัวมากเลยค่ะ และหนูก็จะคิดว่าเขาไม่พอใจอะไรหนูรึป่าวอ่ะค่ะ

หนูเองก็พยายามที่จะไม่คิดแต่ก็ทำไม่ได้เลยค่ะ จะพูดก็ไม่กล้าค่ะกลัวเขาโกรธ กล้าเขาไม่พอใจ เคยพูดอะไรกับเขาตรงๆก็เหมือนเขาจะทำหน้าไม่พอใจให้ หนูก็กลัวค่ะ อย่าหนีให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ค่ะแต่คิดดูแลถ้าหนูหนีครั้งนี้มีอีกครั้งหน้าหนีก็ต้องหนีอีกและสุดท้ายชีวิตนี้หนูคงจะต้องหนีตลอดชีวิตแน่เลยค่ะ ซึ่งหนูเองไม่อยากเป็นอย่างนั้นอีกแล้วค่ะ

ส่วนตัวหนูเป็นคนที่ไม่ชอบเสียงดังค่ะ เวลาที่เขาทำเสียงดังหนูจะนั่งอยู่เฉยๆทำเป็นไม่สนใจ

แต่ภายในใจหนูนั้นเจ็บมากค่ะ ปวดที่หัวมากค่ะ หัวใจจะเต้นแรงผิดปรกติ

เป็นเหมือนตอนที่อยู่กับคุณแม่ค่ะ เวลาที่คุณแม่โมโห หรือคุณแม่โกรธจะทำเสียงดังๆใส่หนูค่ะ

หนูไม่ชอบสถานการณ์อย่างงี้เลยค่ะ

หนูเลยอยากจะขอคำแนะนำบ้างน่ะค่ะ

ตอนนี้หนูเองก็พยายามที่จะแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาบ้างนะค่ะ

แต่ทุกครั้งที่ทำก็ดูเหมือนมันจะยากมากๆเลยค่ะ

เพราะกลัวจะทำให้คนอื่นรู้สึกที่จะไม่ดีอ่ะค่ะ

อย่างเรื่องให้คนอื่นยืมเงินหนูก็ยังไม่กล้าทวงคืนเลยค่ะแม้ว่าตัวเองจะไม่มีก็ตาม

เองก็หนูหวังเพียงแค่ว่าจะมีผู้มาเมตตาให้คำแนะนำกับหนู

ให้หนูได้พ้นจากทุกข์ที่หนูแบกเอาไว้นี้ ได้วางลงเสียทีค่ะ

สาเหตุหลักน่าจะอยู่ที่ "ความอ่อนแอ" ต่อโลกและชีวิต ทั้งของตนเอง และบุคคลรอบข้าง

ทำอะไรต้อง "แคร์" ไปหมด

ที่ลำบาก และยากตลอด

ผมไม่ทราบว่าจะแนะนำอะไรได้ นอกจากต้องพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง เป็นตัวของตัวเองให้มากไว้ก่อน วันหลังค่อยคิดที่จะอ่อนลงมาเพื่อคบกับคนอื่น

ถ้าอ่อนแออย่างนี้ จะทุกข์ทั้งชาติครับ

สำคัญที่สุด

อย่าติดยึดในสิ่งสมมติครับ

ขอบพระคุณค่ะ

แล้วหนูควรที่จะเริ่มตรงไหนดีค่ะ

ไม่รู้ว่าจุดแรกของการเริ่มจะเริ่มที่ไหนดี

มีอีกเรื่องค่ะที่หนูสงสัยเกี่ยวกับตัวหนู

หนูค่อยข้างเชื่อในเรื่องเวรกรรมที่ผูกมัดคนเราในแต่ละชาตินะคะ

คือว่าหนูกลัวสุนัขมากเลยค่ะ

ทั้งที่ก็ไม่เคยโดนกัดด้วยซ้ำ

และหนูงงมากเลยค่ะเวลาที่ไปกับเพื่อนเป็นกลุ่มแล้วเจอสุนัข สุนัขก็จะเห่าหนูอยู่คนเดียวเลย สังเกตหลายครั้งแล้วค่ะ

อย่างเวลาเจอสุนัขตามที่ต่างๆดูเหมือนเขาจะเข้ามาหาหนูตลอดเลยค่ะ หนูก็พยายามที่จะหนีแต่ก็ไม่เคยพ้นค่ะจนคนอื่นต้องเข้าช่วยค่ะ

จนทำให้บางครั้งหนูก็รู้สึกว่าไม่ชอบเขาเลย

ไม่ทราบว่ามันเกิดจากอะไรค่ะ

เริ่มที่ทำความรู้จักตนเองครับ

เราคือใคร มาจากไหน มาทำอะไร จะไปไหน ไปอย่างไร มีทางเลือกกี่วิธี แต่ละวิธีต้องมีต้องทำอะไรบ้าง

สำคัญมากเลยว่า เราจะทำได้จริงไหม

แล้วค่อยๆปรับลงมาตามทรัพากรที่มี

อยู่กับความจริงและเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง อย่าเพ้อฟัน

ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ อย่าเพิ่งเอาคนอื่นมาเกี่ยวในระบบคิดมากนัก จะติดง่ายและเร็ว

แล้วค่อยๆนำปัจจัยภายนอกอื่นๆ มาผนวกทีละอย่าง

เป็นหลักการ ปุจฉา วิสัชชนาจากภายใน

ผมใช้บ่อยและได้ผลดีครับ

สาธุครับอาจารย์ ผมเพิ่งเจอในลักษณะที่อาจารย์เป็นครับ จากที่เคยรู้แค่ผิวผ่าน และเมื่อได้อ่านหนังสือธรรมะ หลาย ๆ เล่ม หลาย ๆ ผู้ถ่ายทอดทำให้มีความแช่มชื่นขึ้นและรู้สึกเบา ๆ อย่างบอกไม่ถูกครับ และเป็นเหตุให้อ่านมากขึ้น ฟังมากขึ้น สวดมนต์และฝึกปฏิบัติ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นครับ ทำให้รู้ว่าจะต้องอยู่อย่างไร

ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาแบ่งปันครับ

สวัสดีค่ะ เมื่อพูดถึงการ ยึดมั่นถือมั่นแล้ว นึกถึงประโยคนี้ของท่านพุทธทาส

ยึดมั่นอะไร ที่ไหน ก็เป็นทุกข์ ที่นั่น เมื่อนั้น ฆราวาสก็ตาม บรรพชิตก็ตาม

ถ้าจะมีความทุกข์แล้ว ก็เกิดจากความยึดมั่น ถือมั่น ด้วยกันทั้งสิ้น

ฃอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท