“หญ้า” พืชสัญลักษณ์ของผู้สร้าง ผู้เสียสละ และอดทน


วันที่ “หญ้า” จะจากไปด้วยความสมัครใจ (อย่างชั่วคราว หรือถาวร ก็แล้วแต่สถานการณ์) ก็จะให้คืนธาตุอาหารให้ทันที พร้อมดอกเบี้ยเป็นอินทรียวัตถุ ทั้งในดินและบนดิน พร้อมช่วยปรับโครงสร้างดินให้พืชอื่นได้พึ่งพาอาศัย ช่วยกันพัฒนาฟื้นฟูต่อไป

ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ผมได้เป็นที่ปรึกษาโดยธรรมชาติให้กับนัก “โต้วาที” สมัครเล่นที่ถามผ่านมาทาง gotoknow

ที่มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายเสนอเข้ามาถามในเรื่องเดียวกันก็มีบ่อย

วันนี้ผมก็เลยลองตั้งประเด็นเล่นๆให้กับพืชที่คนทั่วไป และเกษตรกร “ไม่ชอบ” และมองว่าเป็นปัญหา ต้องกำจัด ต้องทำลาย ให้จงได้ จนอาจเรียกได้ว่า “อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้” ประมาณนั้นเลยครับ

การปฏิบัติการ “จองล้างจองผลาญ” รุนแรงและต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี

จนเป็นที่มาของความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรเกษตร จากการไถพรวนปราบหญ้า แบบทำแล้วทำอีก จนโครงสร้างดินเสียหาย และจากการพ่นยาสารพิษ สารเคมีปราบ “หญ้า” ทำให้มีการปนเปื้อน และสารพิษต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

แบบที่อาจพูดในทางลบสุดๆ ได้ว่า

ถ้าไม่มี “หญ้า” เสียอย่างเดียว สภาพแวดล้อมคงไม่ถึงกับเสื่อมโทรมมากขนาดนี้

แต่ผมกลับทำกลับทางกับเกษตรกรทั่วไป โดยปล่อยให้หญ้าขึ้นตามสบาย ตามบทบาทหน้าที่ของเขา คือ

ผู้สร้าง ผู้เสียสละ และผู้มีความอดทนต่อทุกเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นแห้งแล้ง น้ำท่วม ดินจืด ดินเค็ม

แต่พืชนี้จะไม่ทนอยู่อย่างเดียว ก็คือ “ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่”

แต่ถ้า....ที่ใดเสื่อมโทรม มีปัญหา ไม่มีผู้ดูแล “หญ้า” จะรับอาสาทันที

อยู่ดูแล อย่างต่อเนื่อง อย่างอดทน จนถึงขีดที่ทนไม่ได้เท่านั้นจึงจะจากไปแบบ “ชั่วคราว” ด้วยซ้ำ

แบบ “พร้อมเมื่อไหร่ จะกลับมาทันที” เพียงขอแบ่งน้ำ ยืมธาตุอาหารเพียงเล็กน้อย ก็อยู่ได้

เมื่อถึงวันที่ “หญ้า” จะจากไปด้วยความสมัครใจ (อย่างชั่วคราว หรือถาวร ก็แล้วแต่สถานการณ์) ก็จะให้คืนธาตุอาหารให้ทันที พร้อมดอกเบี้ยเป็นอินทรียวัตถุ ทั้งในดินและบนดิน พร้อมช่วยปรับโครงสร้างดินให้พืชอื่นได้พึ่งพาอาศัย ช่วยกันพัฒนาฟื้นฟูต่อไป

แต่ แม้จะจากไป ก็จะยังคอยดูว่า ที่ดินตรงไหน

ที่ใดต้องการความช่วยเหลือ ก็จะรีบกลับมาทันที (เหมือนภาพยนตร์เรื่อง “ซูเปอร์แมน” อย่างไรอย่างนั้นเลยครับ)

เมื่อ “หญ้า” เขาดีกับเราขนาดนั้น แล้วเราทำไมจึงไปเน้นตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขามากขนาด “ยอมทำลายทุกอย่างแม้นำสารพิษเข้าตัวเอง ก็เพียงเพื่อจะกำจัดหญ้า”

แต่ก็ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติ และไม่เข้าใจ “หญ้า” ว่าทำไมต้องมีหญ้า และทราบว่าหญ้ามีหน้าที่อะไร จุดอ่อนจุดแข็งของหญ้า คืออะไร

นี่คือที่มาของคำพูดที่ผมประกาศในที่ประชุมในหลายวาระว่า

“เราจะเอาชนะหญ้าได้ ก็ต่อเมื่อสมองเราใหญ่กว่าหญ้า”

รู้ว่าหญ้าเก่งอย่างไร ไม่เก่งอย่างไร และที่สำคัญ

หญ้ามีหน้าที่อะไรในโลก เราจะพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างไร

ผมจึงปล่อยให้หญ้าขึ้นตามสบาย ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าดินดี ได้อินทรียวัตถุ และโครงสร้างดิน เป็น “ดอกเบี้ย” ค่าน้ำ ที่ใช้ไป แต่ธาตุอาหารเขาคืนให้หมด แบบไม่เอาไปไหนเลย แถมเก็บหอมรอมริบรวบรวมไว้ให้เรา และผู้รับมรดกที่จะขึ้นตามมา เป็นอย่างดี

แต่หญ้าจะไม่ยอมไปไหน จะไถ จะฆ่าอย่างไรก็จะกลับมาดูแล “พระแม่ธรณี” จนกว่าจะมีผู้รับมรดก และผู้ดูแลแทน ที่ดีกว่า ที่เป็นที่รู้กันว่า ต้นไม้ต่างๆ

ในสถานที่ราชการที่มีต้นไม้ดูแลแล้ว หญ้าก็พยายามจะปล่อยวาง และจากไป แต่หน่วยงานเหล่านั้นกลับพยายาม “ยื้อ” ให้หญ้ายังคงอยู่ แบบอาลัยอาวรณ์ โดยการ “ตัดสาง ถางป่า และเก็บใบไม้ร่วงออกให้หมด” ทำให้หญ้า “ไม่กล้า” ที่จะจากไป

นี่คืออีกมุมหนึ่งของการจัดการ ที่จะดึงไม่ให้ “หญ้า” จากไปตามธรรมชาติ

ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจ “หญ้า” เราก็จะอยู่แบบพึ่งพาอาศัยหญ้าอย่าง “ไม่ทุกข์”

ปล่อยให้เขาอยู่เพื่อดูแลเรา อย่ามองเขาเป็นศัตรู เพราะมองว่าเป็นศัตรูเมื่อไหร่ เราจะลำบากทันที มีตัวอย่างให้เห็นชัดๆในทุกมุมโลก

แต่ควรจะมองว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

ที่ที่เขาอยู่ไม่ได้ หรือมีผู้ทำหน้าที่แทนแล้วเขาก็จะไม่อยู่

งานที่ผมทำไปแล้ว และกำลังทำอยู่ ก็คือ

ปล่อยให้เขาอยู่บนคันนา ดูแลคันนา ปรุงดินให้พืชอื่นขึ้นได้ พอพืชอื่นขึ้นแล้ว เขาก็จากไปโดยดุษฎี ไม่ต้องไปฆ่า ไม่ต้องไปไถ ไม่ต้องไปพรวนให้เปลืองทรัพยากร แรงงาน และพ่นสารพิษใส่ธรรมชาติ ที่จะย้อนกลับมาหาเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน

ที่ๆเรา จะปลูกข้าวก็ใช้ร่องน้ำล้อมไว้ แบบ “นากับคันนาอย่าให้ติดกัน” มีปลาเป็นพยาน แค่นี้ข้าวกับหญ้าก็ไม่ทะเลาะกันให้เราต้องเหนื่อยแรง

ฝนตกมาทีไรก็ขังน้ำไว้ หญ้าก็จะวางใจ ไม่ลงมาก้าวก่ายในนา

จะหยั่งเชิงมาริมน้ำบ้าง เดี๋ยวปลาที่รักษาแนวกันชนก็จัดการดูแลให้

นาที่ผมทำมา ๔ ปี จึงเริ่มจากมีหญ้าน้อย แล้วมีหญ้ามาก และกำลังจะน้อยลงๆๆๆ ตามลำดับ

ตอนนี้แปลงที่ ๑ ที่เคยมีหญ้ามาก แต่ปัจจุบันปลอดหญ้าแล้ว บนคันนาก็ต้นไม้ดูแล

แปลง ๒ ยังมีหญ้าตามคันนาอยู่มาก แต่อีกไม่นานน่าจะหมดไป เมื่อต้นไม้โตกว่านี้

แปลง ๓ หญ้ากำลังจะ “งาม”  เพราะดินกำลังฟื้นตัว

ผมเดินดูหญ้า “ช่วยงาน” พัฒนาพื้นที่นาให้ผม “อย่างมีความเข้าใจ และ อดทน”

ใครจะว่าผมขี้เกียจ ปล่อยให้นารก แบบบ้าๆบอๆ ก็ไม่เป็นไร

ผมเชื่อว่า

วันหนึ่งเขาอาจจะต้องมาเรียนรู้ และทำความเข้าใจ ว่า พืชในกลุ่มของ “หญ้า” นี้มีความดีอย่างไรบ้าง

และเราจะให้เขาช่วย หรือพึ่งพาอาศัยกันในเรื่องอะไร

นี่คือแนวทางการ “โต้วาที” ว่า “รกหญ้า ดีกว่า ไม่มีหญ้า” ครับ

ขอให้นักโต้วาทีทั้งหลาย นำไปปรับใช้ได้ทันทีครับ

ผมเป็นนักจัดการความรู้เพื่อชีวิต และไม่ชอบเป็นนักโต้วาทีครับ

ถ้าจะถามมาก็พอจะตอบได้ประมาณนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 297056เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

มาเก็บแนวคิดค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับ

ด้วยความยินดีครับ

สวัสดีครับ ประโยชน์แบบฟรีๆของหญ้าอีกอย่างคือ อาหารสัตว์ครับนอกจากปลา แล้วมีทั้ง วัว ควาย ไก่ เป็ด ฯลฯ ไม่ต้องซื้อต้องหา

นั่นก็อีกมุมที่ทุกคนรู้ ผมเลยไม่เน้นครับ

ขอบคุณครับ

 

- สวัสดีครับอาจารย์

- เรียนถามอาจารย์ครับ หญ้า (อาหารสัตว์) กับวัชพืช(ประเภทใบเลี้ยงคู่) จะจัดการอย่างไรครับ

- ขอบคุณครับ

อาจใช้วิธีการตัดที่ระดับความสูงพอเหมาะ อย่าให้วัชพืชได้ติดเมล็ด

หญ้ามักแตกกอหนีได้

ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป

หาจุดอ่อนแล้วจี้ไปตามนั้นครับ

ถ้าเมื่อใดสมองเราใหญ่กว่าหญ้า ไม่ต้องกลัว จัดการได้

ที่ทำไม่ได้เพราะขนาดสมองเล็กไปครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท