บทเรียนจากนักเรียนชาวนาบทที่ ๑๓ : ความยากของการทำนา ยังคงอยู่ที่การเกี่ยวข้าว


การไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยา ไม่ใช้สารพิษใดๆ ผมทำได้หมดแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียว คือ ถ้าไม่เกี่ยวข้าว จะทำอย่างไร

ในสมัยเด็กๆ บ้านผมมีนาเพียงสี่ไร่ (เท่าๆกับแปลงที่ ๑ ที่ผมกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน) ทำให้ข้าวไม่พอรับประทานในครอบครัว ๘ คน

บางปีพ่อผมก็ไปขอเช่านาเขาทำไกลๆ ที่ต้องขนมารวมกันที่บ้าน

ตอนนั้นผมเรียนชั้นประถม ประมาณปีที่สาม น้ำหนักตัวประมาณไม่เกิน ๒๐ กก. (เพราะตอนประถมปีที่ ๕ ผมไปโรงเรียนใกล้สถานีรถไฟ ไปแอบชั่งเป็นครั้งแรกในชีวิตได้ ๒๕ กก.) ผมต้องช่วยพ่อแม่หาบข้าวไปรวมกันนวดที่ลานนวด แค่ครั้งละ ๔ ฟ่อน ด้วยไม้คันหลาวที่ทำจากต้นหมาก

เป็นการทำงานที่ทรมานที่สุด ผมย้อนคิดว่า อาจเป็นเพราะไหล่ผมตอนนั้นไม่มีกล้ามเนื้อ ไม้คันหลาวเลยกดลงไปบนหนังหุ้มกระดูก เจ็บทรมานมาก วางพักก็ไม่ได้ เพราะข้าวจะร่วง ต้องทนหาบจากนาไปถึงลานนวดเป็นระยะทางจากแปลงนา น่าจะประมาณกิโลเมตรกว่าๆ

เป็นความฝังใจ ที่ผมกัดฟันพูดกับตัวเองว่า ยังไงผมต้องหนีจากชีวิตที่ทรมานนี้ให้ได้ จึงมุมานะเรียนหนังสือ มาจนพ้นวงจรที่ผมคิดว่าลำบากดังกล่าว

วันนี้ผมกลับมาทำนาเอง ง่ายกว่าเดิมมาก ไม่ต้องหาบเพราะมีรถขน

แต่ก็ยังยากอยู่กับช่วงเกี่ยวข้าวเช่นเดิม

การไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยา ไม่ใช้สารพิษใดๆ ผมทำได้หมดแล้ว

เหลือเพียงอย่างเดียว คือ ถ้าไม่เกี่ยวข้าว จะทำอย่างไร

ปีแรก ใช้วิธีลงแขก ก็ต้องรบกวนพรรคพวกพอสมควร สนุกดี แต่ก็เกรงใจ

ปีที่ ๒ ให้คนมาเกี่ยวแบ่งกัน ก็สะดวกดี แต่ก็เสียข้าวไปมาก

ปีที่ ๓ ให้นักศึกษามา “ฝึก” เกี่ยวข้าว ก็ได้ครึ่งเสียครึ่ง แถมมีนักศึกษาบางคนบ่นว่าหนักไป ไม่อยากเรียนกับผม ก็เลยคิดว่าจะไม่ทำอีก

ปีนี้ ปีที่ ๔ จะทำอย่างไรดี

มันเป็นช่วงที่ต้องหาทางออกอีกแล้ว

เกี่ยวเองคงไม่หมด เพราะ บังเอิญมีนามากเกินไป ทำแบบเมามัน

ตอนทำให้เกิด จนได้ผลผลิต มันง่าย แต่ ตอนเกี่ยวมันยาก

ผมเคยคิดว่าตอนเกี่ยวข้าวจะง่ายและสนุกที่สุด แต่ไม่ใช่เลย

กลับเป็นช่วงที่ผมยังหาทางออกดีๆ ง่ายๆ ไม่ได้

จะใช้รถเกี่ยวก็จะทำให้ดินเละเสียหาย (นอกเหนือจากข้าวจะร่วงแบบครึ่งต่อครึ่งแล้ว)

ถ้าดินเละ ก็ต้องไถปรับใหม่ ที่ต้องเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ ของการไถพรวนอีก

ก็อาจจะต้องจ้างคนช่วยมั้ง

ทำให้ผมมองเห็นขีดจำกัดของการทำนาแบบที่ผมทำ ว่า คนที่ขี้เกียจเกี่ยวข้าว หรือไม่มีแรงงานเกี่ยวข้าว จะทำไม่ได้ ต้องไปจ้างรถเกี่ยว

ผมคิดว่าผมได้หลุดพ้นวงจรของความยากลำบากในฤดูเกี่ยวข้าวมาแล้ว แต่วันนี้ผมก็ยังคงค่อนข้างลำบากเช่นเดิม

นอกเสียจากผมจะต้องยอมทำตัวเป็น “คนมีเงิน” หาจ้างคนเกี่ยวข้าวช่วย

ที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด

เพราะ ปรัชญาการทำนาของผม ที่ต้องการทำเป็นตัวอย่าง ก็คือ

มีแค่ที่นากับแรงตัวเอง ไม่มีรถไถ ไถนาไม่เป็น ไม่มีเงินจ้าง ไม่มีปุ๋ย ไม่มียา ไม่มีสารเคมีปราบศัตรูพืช ไม่มีแรงงานเพิ่ม ไม่มีทุน ก็ทำนาได้”

แบบลดต้นทุน แต่ไม่ลดผลผลิต

สงสัย คงต้องยอมหน้าแตกไปอีกสักปี ปีต่อปี ไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะหาคำตอบ ว่า จะไม่ต้องเกี่ยวได้อย่างไร ข้าวจึงจะมาเข้ายุ้งเอง

ใครคิดออกช่วยบอกเอาบุญด้วยเถิดครับ

หมายเลขบันทึก: 303543เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2009 01:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เรียน ท่านอาจารย์แสวง ผม กะจะ ทำนาตามแบบแนวคิดอาจารย์บ้าง (ผมประกอบการณ์เลี้ยงชีพด้วยการซ่อมโทรศัพท์มือถืออยู่ตลาดสี่มุมเมือง) เพิ่งซื้อที่นาใหม่ ๗ไร่เมื่อต้นปีนี้เอง ที่ อ.กุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ได้แรงบันดาลใจจากข้อมูลที่อาจารย์เขียนไว้หลายๆหัวข้อ(ติดตามอ่านจนเกือบครบแล้ว) ทำให้อยากลองทำดูบ้าง ก็เลยไปซื้อที่ห่างจากบ้านหลายกิโลเมตร ได้พ่อเป็นแรงสนับสนุนช่วยดูแล ที่นามูล นา มรดก ทำไม่ได้โดนห้าม แม่กลัวทำแล้วไม่ได้ผล ชาวบ้านจะหัวเราะเอา

ผมยังมีคำถามมากมายอยากถามอาจารย์ เช่น ปลากินพืชที่จะเลี้ยงในนาข้าว จะหาซื้อได้ที่ใหน แล้วมีปลาชนิดไดที่กินพืช ที่จะหาซื้อได้ง่ายๆใกล้บ้านบ้าง ถ้าปล่อยในนาข้าวแล้วจะมีปัญหาปลากัดต้นข้าวใหม พันธุ์ปลา หรือ ลูกปลาเฉาฮื้อ ซื้อได้ที่ใหน และขี้นตอนการทำนาอย่างอาจารย์ ต้องทำอะไรก่อน อะไรหลัง ต้องระวังเรื่องอะไร ต้องเน้นอะไร และอีกสารพัดคำถามฯลฯ

ผมอยากได้ข้อมูลละเอียดกว่านี้ อาจารย์มีแหล่งข้อมูลที่แนะนำใหมครับ (ผมคิดว่าคงเป็นรายแรกในอำเภอ หรือ อาจจะเป็นชาวนารายแรกในพื้นที่ระดับจังหวัดที่จะลองทำนาแบบเกษตรธรรมชาติ แปลกจากวิถีเดิมๆ จึงอยากได้แนวทางจากอาจารย์ ช่วยชี้แนะด้วยครับ)

ประสบการลูกชาวนา หาบข้าว ถอนกล้า ดำนา ผม ไม่เคยลืมลำบากจริงๆ

เรื่องการเก็บเกี่ยวแนวใหม่นี้ ผมจะคงยังไม่มีความเห็น จะคอยติดตามคำตอบ และแนวทางเสนอแนะดีๆๆ อย่างตั้งใจรอนะครับ

นางสาว มยุวรรณ สำโรงแสง

นางสาวมยุวรรณ สำโรงแสง นิสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เอก สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ปี 3

ดิฉันอยากทำได้เหมืชาวนาอนอาจารย์จังเลย ที่บ้านดิฉันก็ประกอบอาชีพทำนา ก็เคยประสบปัญหาเหมือนอาจารย์แต่ก็ไม่มีวิธีการ

แก้ไขที่ดีและการทำนาแต่ละปี่ก็ต้องลงทุนเยอะ เริ่มจากการดำนา ใส่ปุ๋ย และเกี่ยวข้าว จะเห็นได้ว่าการเกี่ยวข้าวในสมัยก่อนจะไม่มี

รถเกี่ยวข้าวจะใช้วิธีการลงแขก แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เห็นบรรยากาสแบบนี้แล้ว และการที่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ก็มีทั้งเรื่องดี

เรื่องเสีย เรื่องดีอาจจะทำให้ประหยัดเวลา รวดเร็ว แต่เรื่องเสียอาจทำให้หน้าดินเกิดความเสียหาย ต้องมาปรับหน้าดินให้สมำเสมอ

ซึ่งอาชีพการทำนานี้เป็นอาชีพที่ต้องมีความอดทนสูง เป็นอาชีพที่มีความลำบาก

"ไม่มีรถเกี่ยวข้าวที่ดัดแปลงจากรถไถเดินตามบ้างหรือครับ"

น่าจะน้ำหนักเบาทำให้หน้าดินเสียหายน้อยลง แถมยังช่วยหยียบตอ ซังข้าวให้ล้มได้อีก

น่าจะมีการดัดแปลงเครื่องจักรการเกษตรเหล่านี้ มาใช้ร่วมในบางขั้นตอนได้

แม้จะมีรถ ก็ยังไม่ใช้คำตอบครับ

เพราะต้องใช้ทุนที่ "คนจน" ไม่มี

ใช้เป็นตัวอย่างไม่ได้ครับ

การทำนาแบบนี้มีวิธีการที่บันทึกไว้เป็นระยะๆ

ไปอ่านแล้วตรงไหนงง ก็ถามมาได้ครับ

เรื่องนี้ผมกะพี่ที่ทำงานคิดกันมาหลายตลบแล้วก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่พอใจเช่นกันครับ

สรุปตอนนี้ของพี่ เขาใช้วิธีจ้างคนมาเกี่ยวแล้วลอมข้าวไว้ แล้วใช้คนฟาดในครุ (ทำนาที่เชียงใหม่)

ส่วนของผมมีความคิดว่า ใช้รถเกี่ยวขนาดเล็กไปก่อน เช่น Kubota joy ตัวเล็ก ๆ มือสองก็อาจได้แสนกว่า ๆ หรือ จูลี่ช้างไทย เป็นรถไถเดินตามเกี่ยวข้าวราคาใหม่น่าจะ 2 แสนกว่า ของญี่ปุ่นเหมือนกันครับ แล้วเอาข้าวที่มาความชื้นมาใส่กระสอบป่านตากแดดทั้งกระสอบใช้วิธีนี้แก้ปัญหาไปก่อน คิดออกวิธีที่ดีกว่าค่อยว่ากัน

ปัญหาของเราก็คือ เราสูญเสียวัฒนธรรมการเอาแรง ลงแขกเกี่ยวข้าวไป ก็เลยทำให้ต้นทุนการเก็บเกี่ยวบานตะไทอย่างนี้ครับ

ผมว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่การทำนาข้าวของเราที่ต้องมีแรงงานที่พอเพียงกับขนาดของแปลงนา แต่ผมก็ยังเชื่อว่าวันข้างหน้าหากเรายังไม่ยอมให้กับความท้าทายในเชิงความคิดแบบนี้ เราก็จะพบกับนวัตกรรมการเก็บเกี่ยวด้วยต้นทุนต่ำเป็นแน่แท้ครับอาจารย์ วันหน้าอาจารย์ค้นพบผมจะมาขอความอนุเคราะห์รับไปใช้บ้าง หากผมมีไอเดียจะมารบกวนให้อาจารย์ช่วยรีวิวให้ครับ

ขอบคุณครับ

นี่คือความเครียดที่เหลือตอนปลายฤดูปลูกข้าว "ทุกปี"

นี่แหละความทุกข์ของคนทำนาเกินกำลังตัวเอง

สมน้ำหน้าตัวเองทุกวันเลยครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

หายหน้าไปนาน เนื่องจากภาระเรื่องนา และสวน และงานประจำ หนักหนาพอสมควรค่ะ

เรื่องเกี่ยวข้าว.... ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเล็กน้อยค่ะ

คุณอาที่อยู่ชลบุรีเคยเล่าให้ฟังว่า ...
เมื่อก่อนเขาจะเกี่ยวด้วยมือ (อาจจะลงแขก หรือจ้าง ก็แล้วแต่) แล้วตากไว้ก่อนในที่นาเลย (แต่คงต้องดูว่าที่นาหนูชุมหรือเปล่า ไม่งั้นก็เสร็จ (หนู)โจร)
จากนั้น พอข้าวแห้ง ก็เอารถเข็นคันเล็กใส่ครุ หรือถังไม้ใบเตี้ยๆ แต่กว้างหน่อย เอาไม้กระดานพาดในครุ เตรียมถุงใส่ข้าวใส่ในครุไปด้วย เข็นรถไปตามที่ๆ เราตากข้าวไว้
ทยอยเข็นไปตามกองฟ่อนข้าวที่กองๆ ไว้ จากนั้นตี (หรือนวด) ให้เม็ดข้าวตกลงในครุไปเรื่อยๆ พอได้เมล็ดข้าวเต็มครุ ก็เอาบรรจุใส่กระสอบ กองไว้ที่คันนา หมดวันก็มาขนไปเก็บในยุ้ง
ส่วนฟางก็กองไว้แถวๆ คันนา อยากเอาไปทำอะไรก็ค่อยมาทยอยขนไปวันหลัง
คุณอาบอกว่า วิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องขนข้าวออกจากนา เมล็ดข้าวไม่ร่วงหล่นเสียหายระหว่างทาง แต่เป็นการนวด เอาเฉพาะเมล็ดข้าวออกไปเลย ลดขั้นตอนการขนย้าย ไม่เปลืองแรงมาก
ดูเป็นแบบที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ง่ายๆ + พอเพียงได้ทางหนึ่งนะคะ

ติดตามกระทู้มาจากพันธุ์ทิพย์ครับอาจารย์ ปัญหาการไม่ต้องจ้างคนเกี่ยวข้าว หรือจ้างรถ หากทำนาไม่มากคงไม่เกิดปัญหา แต่หากทำมากเกิดปัญหาแน่นอน เพราะฉะนั้นหากเราหาวิธีที่สามารถควบคุมให้ข้าวเหลืองไม่เท่ากันก็คงช่วยได้นะครับอาจารย์ และคงจะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก โดยการทำข้าวเป็นรุ่น ๆ ครับ รุ่นที่ 2 ห่างจากรุ่นแรกกี่วันก็ว่าไป

สมมุตินะครับ..(หากเราควบคุมน้ำได้อย่างอาจารย์ว่า)

1. จะหว่านกล้า หรือไม่หว่านตามที่อาจารย์ว่าก็ตามเป็นรุ่นแรกก่อน โดยคำณวนดูว่ารุ่นนี้เราจะปักดำกี่ไร่ และปักดำแล้วเสร็จภายในกี่วัน

2.ทิ้งช่วงการหว่านกล้า จากข้อ 1 สักระยะ แล้วทำตาม 1

3. เมื่อควบคุมทั้งอย่างตามที่อาจารย์ว่ามา เมื่อถึงตอนข้าวสุกเมล็ดแก่ ข้าวก็จะแก่ไม่เท่ากันถูกมั๊ยครับ..เพราะฉะนั้นเราก็ค่อย ๆ เก็บเกี่ยวไปเองได้ด้วยกำลังคนที่มีอยู่ ไม่ต้องไปจ้างคนเกี่ยวทีเดียว หรือจ้างรถ

..หากเราสามารถควบคุมน้ำ ควรคุมทุกอย่างตามที่อาจารย์ว่ามา ผมว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วนะครับ สำหรับการเกี่ยวข้าว หรืออาจารย์ว่ายังไงครับ.

การแก่พร้อมเกี่ยวอยู่กับพันธุ์ข้าวครับ

คงจะยากสักหน่อยครับ

โดยเฉพาะถ้าเราไม่ชอบก็จะยากหน่อย แต่ถ้าเลือกได้ และวางแผนได้ ก็น่าสนใจอยู่ครับ

ใช้เครื่องตัดหญ้าครับ

http://www.youtube.com/watch?v=U1GEXptxvC

เอาคลิปนี้ไปดูครับ น่ารองใช้ดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท