ความรักและความผูกพัน แบบไหนดี????


ในความเป็นจริงของชีวิตนั้น เรามักจะมีความรักหลายแบบต่อคนคนหนึ่ง หรือช่วงหนึ่งๆของชีวิต และจะมีการพัฒนาการไปเรื่อยๆตามเหตุการณ์ การมีข้อมูลใหม่ และตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ในโอกาสวันแห่งความรัก ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ผมได้มีโอกาสทบทวนและวิเคราะห์ประเภทของ “ความรัก” และ “ความผูกพัน” ที่ผมมีประสบการณ์ทั้งโดยตรง โดยอ้อม ทั้งที่ฟังเขามา ทั้งอ่าน และผลสรุปการวิเคราะห์ระบบชีวิตและความสัมพันธ์แบบต่างๆที่พบบ่อยในสังคมปัจจุบัน

  • ประเภทของความรักที่เริ่มต้นของชีวิตนั้น ก็เป็น แบบสายเลือดและเครือญาติ

ที่เป็นความผูกพันอย่างลึกซึ้งที่แยกกันไม่ได้ ที่พบมายาวนานมากในมนุษย์ แต่ดูเหมือนเป็นแบบชั่วคราวในสัตว์เดียรัจฉาน เป็นความรักที่แทบไม่มีเงื่อนไข และบริสุทธิ์มากที่สุด ที่อาจถือเป็นต้นแบบความรักที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะจากพ่อแม่ที่มีต่อลูก และไม่แน่นักสำหรับลูกที่มีต่อพ่อแม่ หรือระหว่างญาติพี่น้องก็ตาม ที่พอมีผลประโยชน์ขัดกันก็ยังทำลายกันได้

  • ประเภทของความรักที่พบมากในสังคม ก็คือ แบบพึ่งพาอาศัยกัน

ที่เป็นความรักแบบค่อนข้างจะเป็นแบบธรรมชาติมากกว่าแบบอื่น ไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์และอคติมาเกี่ยวข้อง ตราบใดที่พึ่งพาอาศัยกันได้ก็อยู่ด้วยกัน เมื่อพึ่งกันไม่ได้ก็แยกจากกันไปแบบปกติธรรมดา โดยไม่มีความโกรธ ดีใจ เสียใจ หรืออาฆาตมาดร้ายต่อกัน

  • ประเภทที่นิยมชมชอบกันมาก แต่กลับไม่ค่อยพบมากนัก คือ แบบอุดมคติ

ที่เป็นความรัก แบบไม่มีเหตุผล ไม่มีเงื่อนไข รักเพราะว่ารัก ที่เป็นประเด็นที่มักพูดถึงบ่อยๆ ทั้งแบบบทกวี บทเพลง หรือการแสดงต่างๆ ที่อาจจะมีอยู่จริง แต่ในสังคมจริงพบน้อยมาก เท่าที่ได้ยินมา ส่วนใหญ่เป็นเพียงการกลบเกลื่อนความคิดของตนมากกว่า แบบไม่อยากพูดความในใจให้อีกคนรู้ แต่เมื่อมีปัญหาเล็กน้อย คนที่บอกรักกับแบบนี้ก็มักเลิกรากันไปแบบไม่มีเหตุผลเช่นกัน ผมจึงคิดว่าเป็นการประเมินที่ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยเวลา ภาวะวิกฤติ และทางเลือกที่มีของทั้งสองฝ่าย เป็นตัวตัดสิน แต่ ในสถานการณ์ปกตินั้นไม่สามารถประเมินได้ว่า ความรักแบบอุดมคตินั้น เป็นจริงหรือไม่ และมีมากน้อยเพียงใด

  • ประเภทที่รักด้วยสมอง นั้น คือ แบบมีเงื่อนไข

เป็นความรักที่เกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยผล มีความชัดเจนและอธิบายได้ ทั้งแรกรัก รักมาก หรือแม้แต่จะเลิกรัก ที่ถือว่าเป็นการผ่านการพิจารณาไต่ตรองทุกขั้นตอน เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีอคติ หรือ ความหลงผิดใดๆมาครอบงำ

  • ประเภทแบบมีกิเลสนำทาง คือ แบบอยากได้อะไรบางอย่าง

เป็นความรักที่มากับความอยากได้ และการหลอกลวง หลอกทั้งตัวเอง และคนที่เขารัก เมื่อได้สมใจก็จะบอกว่ารัก เมื่อไม่ได้ก็เลิกรัก จึงมีความยั่งยืนเพียงระยะที่ได้ผลประโยชน์เท่านั้น ไม่มีแก่นสารสำคัญอื่นใด

  • ประเภทรักที่เป็นการหวังพึ่งพา แบบเป็นทรัพยากร

เป็นความรักคล้ายๆกับการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ที่เมื่อลงทุนไปแล้วก็หวังจะได้ผลประโยชน์ เมื่อได้ผลดังคาด ก็ถือว่าสมหวัง เมื่อไม่ได้ก็ถือว่าผิดหวังในความรัก

  • ประเภทรักแบบแลกเปลี่ยน แบบผลประโยชน์ต่างตอบแทน

เป็นการรักแบบใช้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นแกนนำ เมื่อมีการแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมก็จะยังรักกันได้ แต่พอมีการได้เปรียบเสียเปรียบก็จะเริ่มหมางเมินกันไป หรือไม่ได้อะไร ก็เลิกรักกัน

  • ประเภทรักแบบไม่เข้าใจความต้องการของตัวเอง และไม่เข้าใจใครๆ ที่อยู่รอบตัว ที่อาจเรียกว่า แบบ “หลง”

เป็นความรักที่ไม่มีการใช้ความคิด พินิจพิเคราะห์ใดๆ รักแบบไม่เข้าใจความต้องการของตนเอง และความจำเป็นของทั้งสองฝ่าย แบบที่เรียกว่าใช้อารมณ์ “ชั่ววูบ” ล้วนๆ ที่มีปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่พบว่าเป็นกับ “วัยรุ่น” และรักแบบ “รักแรกพบ” ที่ขาดการพิจารณาไต่ตรอง

ในความเป็นจริงของชีวิตนั้น

เรามักจะมีความรักหลายแบบต่อคนคนหนึ่ง หรือช่วงหนึ่งๆของชีวิต

และจะมีการพัฒนาการไปเรื่อยๆตามเหตุการณ์ การมีข้อมูลใหม่

และตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ดังนั้น ความรักทั้งหลายก็จะพัฒนาเป็นความผูกพันในระดับต่างๆ

ตั้งแต่

  • ความผูกพันแบบเฉพาะกิจ
  • แบบชั่วคราว
  • แบบแนบแน่น
  • แบบลึกซึ้ง และ
  • แบบถาวร

ที่เป็นที่มาของความรักแบบต่างๆ

  • ตั้งแต่แบบฉาบฉวย
  • แบบยั่งยืน และ
  • จนถึงแบบอมตะนิรันดรกาล
  • 

ที่ทุกคนก็ดูเหมือนจะบอกว่า "ต้องการแบบที่ยั่งยืน"

แต่ในชีวิตจริง

กลับไม่ให้ความสำคัญในการเลือกใช้และพัฒนาประเภทของความรักที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

โดยเฉพาะ

ประเภทที่พัฒนามาจากการใช้เหตุใช้ผล ใช้ความจริง ใช้ธรรมชาติ และความจริงใจต่อกัน แบบไม่มีอคติ ไม่ใช้อารมณ์ชั่ววูบนำทาง

ทั้งนี้แล้วแต่ว่า แต่ละคู่จะเลือกกันเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมครับ

เจริญธรรม สำนึกดี ครับ

หมายเลขบันทึก: 426036เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ใช่แล้ว แจกแจงได้ละเอียด หลากหลายดีจัง
  • รัก กับ สติ และ ปัญญา ต้องมาด้วยกัน และทันการณ์ด้วย จึงจะไม่ถูกความรักกัดเอา
  • ขอบคุณมากครับ

มา Login ย้อนหลังครับ เพื่อบอกว่าความเห็นข้างบนเป็นของผู้ได๋ .. อิ อิ อิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท