แค่ .. อิฐสองก้อน .. (แพ้ได้ แต่ไม่ยอม)


อย่าให้ความผิดพลาดของ "อิฐที่ไม่ดี" เพียง "๒ ก้อน" ทำให้เราต้องทำลายกำแพงดี ๆ จนพัง

ช่วงนี้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ (ไม่น่าเชื่อ) เป็นหนังสือที่ผมไม่เคยสนใจมาก่อน และไม่คิดว่า จะสนุกอย่างนี้

หนังสือชื่อ "แพ้ได้ แต่ไม่ยอม (ฟาสต์ฟู๊ดธุรกิจ ๙)" เขียนโดยคุณ "หนุ่มเมืองจันท์"

ปกสีส้มเชียว .. มีน้องยืมมาจากห้องสมุดแพทย์ ของชมรมห้องสมุดฯ มหาวิทยาลัยช้าง

เป็นหนังสือให้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยด้านการตลาด โฆษณา (ผมถึงไม่ค่อยสนใจในตอนแรก)

สำนวนของคุณหนุ่มเมืองจันท์ ขอบอกว่า เขียนได้ฮามาก ๆ นำเกร็ดความรู้มาปะติดปะต่อกันอย่างแนบเนียน อ่านไปหัวเราะไป (จนคนอื่นที่เขาสังเกตอยู่นึกว่า ผมบ้า เล่นหัวเราะคนเดียว)

ประทับใจอยู่หลายตอน หลายเรื่อง ... แต่บันทึกนี้ ขอนำตอนที่ชื่อว่า "อิฐสองก้อน" มาให้ท่านลองอ่านดู ไม่ได้นำมาทั้งหมดครับ นำมาเฉพาะเรื่องเล่าภายในที่เป็นข้อคิด

เริ่มล่ะนะครับ :)

 

อาจารย์พรหม หรือ พระวิสิทธิสังวรเถร เป็นชาวอังกฤษ เป็นลูกศิษฐ์หลวงปู่ชา (เกจิอาจารย์ที่ท่านอาจารย์กมลวัลย์นับถือเป็นอย่างมาก :)  ก่อนจะไปก่อตั้งวัดป่าโพธิญาณใกล้เมืองเพิร์ธ ที่ออสเตรเลีย

ช่วงก่อตั้งวัดป่าโพธิญาณเมื่อปี ๒๕๒๖ พระอาจารย์พรหม เล่าว่า หลังจากซื้อที่ดินแล้วเงินก็แทบไม่เหลือ ต้องสร้างวัดด้วยมือของตัวเอง

ตั้งแต่ผสมปูนจนถึงการก่อกำแพงอิฐ

ท่านเล่าว่า ตอนที่ลงมือทำก็รู้สึกว่า ได้ทำอย่างประณีตที่สุด จนกระทั่งกำแพงอิฐเสร็จสิ้นลง

แต่พอถอยออกมายืนดู ก็พบว่า ก่ออิฐพลาดไป ๒ ก้อน

อิฐกำแพงเรียงเรียบสวย แต่มีอยู่ ๒ ก้อนที่เอียง ๆ

พระอาจารย์พรหมขอเจ้าอาวาสทุบกำแพงทิ้งเพื่อก่อใหม่ แต่เจ้าอาวาสไม่ยอม

จากนั้นเป็นต้นมาทุกครั้งที่พระอาจารย์พรหมพาแขกเยี่ยมวัดท่านจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่พาแขกเดินผ่านกำแพงบริเวณนี้

เพราะอายที่ก่ออิฐผิดพลาดไป ๒ ก้อน

จนกระทั่งวันหนึ่ง พระอาจารย์พรหมกำลังเดินกับผู้มาเยี่ยมวัดคนหนึ่ง

เขาเห็นกำแพงอิฐนี้แล้วก็เปรยขึ้นมาว่า "กำแพงนี่สวยดี"

พระอาจารย์พรหมถามด้วยอารมณ์ขันว่า "คุณลืมแว่นสายตาไว้ที่รถหรือเปล่า คุณไม่เห็นหรือว่ามีอิฐ ๒ ก้อนที่ก่อผิดพลาดจนกำแพงดูไม่ดี"

แต่แล้ว ผู้มาเยี่ยมชมคนนี้ก็เอ่ยประโยคที่ทำให้พระอาจารย์พรหมเปลี่ยนแปลงทัศนคติทั้งหมดที่เคยมีต่อกำแพงนี้

พร้อมกับเปลี่ยนแง่มุมที่มีต่อชีวิต

ผู้เยี่ยมชมคนนั้นบอกว่า "ผมเห็นอิฐที่วางไม่ดีสองก้อนนั้น แต่ผมก็ได้เห็นด้วยว่า มีอิฐอีก ๙๙๘ ก้อนที่ก่อไว้อย่างสวยงาม"

"นับเป็นครั้งแรกในรอบ ๓ เดือนที่อาตมาสามารถมองเห็นอิฐก้อนอื่น ๆ บนกำแพงนั้น นอกเหนือจากเจ้า ๒ ก้อนที่เป็นปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นอิฐที่อยู่ด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวาของเจ้าอิฐ ๒ ก้อนนั้นล้วนแต่เป็นอิฐที่ก่อไว้อย่างดีไม่มีที่ติ

ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนอิฐที่ดีมีมากกว่าเจ้าอิฐไม่ดี ๒ ก้อนนั้น"

 

ช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา สายตาของพระอาจารย์พรหมเฝ้ามองแต่อิฐ ๒ ก้อนนั้น ท่านยอมรับว่า สายตาของท่านมืดบอดต่อสิ่งอื่น ๆ

ท่านอยากทลายกำแพง เพราะมองเห็นแต่อิฐ ๒ ก้อนที่ผิดพลาด

แต่ทันทีที่ความรู้สึกเปิดกว้าง มองเห็นอิฐก้อนดี ๆ จำนวนมากบนกำแพงนี้

กำแพงเดิมที่อยากทลายก็กลับงดงามขึ้นมาทันที

"ใช่ ... กำแพงนี้สวยดี"

พระอาจารย์พรหมหันไปบอกกับผู้มาเยี่ยมคนนั้น

จนถึงวันนี้ พระอาจารย์พรหมก็นึกไม่ออกแล้วว่า อิฐก้อนที่ผิดพลาด ๒ ก้อนนั้นอยู่ตรงไหนของกำแพง

ทัศนคติในการมองโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อิฐ ๒ ก้อนนั้นเลือนหายจากความทรงจำ

 

พระอาจารย์พรหมเปรียบเปรยว่า คู่ชีวิตที่ตัดสัมพันธ์ หรือ หย่าร้างกันก็เพราะทั้งคู่เพ่งมองแต่ "อิฐที่ไม่ดี ๒ ก้อน" ในตัวคู่ชีวิตของเขา

คนที่คิดท้อแท้ อยากฆ่าตัวตายก็เพราะเรามองเห็นแต่ "อิฐ ๒ ก้อน" ในตัวเราเอง

ทั้งที่ในความเป็นจริง นอกจาก "อิฐ ๒ ก้อน" ที่ผิดพลาดแล้ว ยังมี "อิฐก้อนที่ดี" และ "อิฐก้อนที่ดีจนไม่มีที่ติ" มากมายอยู่ในตัวเรา

เพียงแต่เรามองไม่เห็นเท่านั้น

ท่านอาจารย์พรหมเตือนสติว่า อย่าให้ความผิดพลาดของ "อิฐที่ไม่ดี" เพียง "๒ ก้อน" ทำให้เราต้องทำลายกำแพงดี ๆ จนพัง

:)

 

"แค่ ... อิฐ ๒ ก้อน" ในบันทึกนี้ คุณได้รับข้อคิดอะไรบ้างหรือไม่ครับ ?  

บุญรักษา ทุกท่านครับ :)

หมายเลขบันทึก: 167546เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2008 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

หนังสือที่มติชนที่แนะนำเคยติดตามอ่านหลายเล่มไม่เคยผิดหวังเลยค่ะ  เจ้าของนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์เคยอ่านหลายเล่มเหมือนกัน   ความคิดยังคมเหมือนเดิม  ขอคอนเฟริมค่ะ

·     สวัสดีครับ

·     เข้ามาทักทาย คงสบายดีนะครับ

·     ผมช่วงนี้ไม่ค่อยสบายเท่าไหร เหมือนจะเป็นหวัด อาจจะเป็นเพราะว่า ที่แม่สอดตอนนี้ร้อนมาก

·     ขอให้รักษาสุขภาพกาย สุขภาพกายด้วนนะครับ

 

ขอบคุณ คุณ ครูข้างถนน  นะครับ ... โปรดรักษาสุขภาพด้วยครับ ครูมีลูกศิษย์รออยู่นะครับ :)

แก้ไขหน่อยครับ

·     ขอให้รักษาสุขภาพกาย สุขภาพกายด้วนนะครับ

 แก้เป็น

·     ขอให้รักษาสุขภาพใจ สุขภาพกายด้วนนะครับ

 

ขอบคุณครับ

ไม่ได้เข้ามาหลายวัน วันนี้แวะมาไม่เสียดายเวลา...เลย

อ่านจบแล้ว กำลังมองเพ่งมอง อิฐารมณ์ ในตัวเองอยู่ครับ...เห้อ

สวัสดีครับ  อ. Was

เป็นการพลิกมุมคิด ปรับมุมมอง อย่างง่ายๆนำไปใช้ได้เลย

ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึกดีๆ :)

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • วันนี้ผมล้าพิกล ไม่เกิน 2 ทุ่ม คงต้องกลับไปพักแล้วล่ะครับ
  • ถ้าบันทึกมีประโยชน์ ... นั่นแหละเป้าหมายเลยล่ะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

:)

เหนื่อยนักพักก่อนครับ

ดูแลสุขภาพด้วยครับผม

มาใช้สิทธิพาดพิง อิอิ ^ ^

เคยอ่านเรื่องอิฐสองก้อนนี้มาใน forward mail แล้วครั้งหนึ่ง อ่านอีกก็ประทับใจอีก

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนมักจะสังเกตเห็นสิ่งที่ไม่มีคุณภาพได้ง่าย มองเห็นข้อบกพร่องต่างๆ ได้ง่าย แต่ที่แย่คือคนส่วนใหญ่มักมองเห็นแต่สิ่งไม่ดีของคนอื่น แต่มองไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง แต่พระอาจารย์พรหมเห็นข้อบกพร่องของตนเองและพยายามจะแก้ไข  เรียกว่าพระอาจารย์มีจิตใจอยู่อีกระดับหนึ่ง แต่พระอาจารย์ก็ยังได้เรียนรู้และสอนให้เราเรียนรู้ต่อจากบทเรียนนี้ได้ว่า ถึงแม้จะมีข้อผิดพลาดอยู่ ก็ยังมีสิ่งที่ดีๆ มากมายอยู่ด้วย เรียกได้ว่า "ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบในสายตาของคนแต่ละคน" แต่สิ่งที่สมบูรณ์แบบและเป็นจริงเสมอก็คือข้อความข้างต้นใน "..." นั่นแหละค่ะ อิอิ

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • วันนี้ผม OK แล้วครับ มาคุมสอบตามปกติ
  • ขอบคุณมากนะครับ

บุญรักษา ครับผม :)

สวัสดีข้ามโลกครับ อาจารย์กมลวัลย์ :)

  • ผมเห็นรูปใหม่ของอาจารย์ นึกว่า เอ นักศึกษาที่ไหนหว่า
  • ที่แท้ ... ท่านอาจารย์กมลวัลย์นี่เอง หุ หุ
  • อาจารย์ต้องมีคำอธิบายนะครับว่า รูปนี้ถ่ายที่ไหน อิ อิ
  • การพาดพิงนั้น ทำให้อาจารย์แวะมาตอบได้ครับ แบบนี้ต้องพาดพิงตลอดครับ
  • "ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบในสายตาของคนแต่ละคน" จริง ๆ ด้วยครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ที่มาเติมเต็มในข้อคิดของบันทึกนี้ครับ

บุญรักษา อาจารย์ครับ :)

ขอบใจมากครับ คุณครูธีรภัทร์ :)

ขอบคุณค่ะอาจารย์

อิฐสองก้อนบอกว่า มองข้ามเรื่องบางอย่างไปซะ มองข้ามให้เยอะๆ แล้วจะสุขใจค่ะ

ได้แต่หวังว่าจะทำได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท