"จิตว่าง" ความมหัศจรรย์แห่งชีวิต ... (ท่านชุติปัญโญ)


โปรดทำความเข้าใจไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้เสียเลย และก็ไม่มีอะไรที่เรารู้ไปเสียทุกอย่าง ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างนี้อยู่เสมอ เราจะรู้ว่า ควรจะปัดปัญหาที่เปรียบเสมือนเส้นผมที่บังตาไม่ให้เราเห็นภูเขา คือ ความจริงที่อยู่เบื้องหน้าได้อย่างไร

ยืมหนังสือเล่มหนึ่งจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยมาหลายครั้ง ไม่เคยได้ลงมืออ่านเป็นเรื่องเป็นราวสักที

แต่คราวนี้ มีสมาธิ จิตนิ่ง กว่าปกติ จึงได้นำมาอ่านในระหว่างการทำหน้าที่เป็นกรรมการคุมสอบปลายภาค

หนังสือเล่มนี้ ชื่อ "ชีวิตที่เหนื่อยนัก พักเสียบ้างดีไหม?" เขียนโดย ท่านชุติปัญโญ (พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ)

เป็นข้อเขียนแสดงข้อคิดของชีวิต แก่นแท้ที่น่าศึกษา ใช้ภาพการ์ตูนประกอบได้น่ารัก

ผมอ่านสลับบทไปสลับบทมา มิได้อ่านแบบต่อเนื่อง

ให้ความสนใจใน บทที่ ๘ "จิตว่าง" ความมหัศจรรย์แห่งชีวิต

อยากจะลองนำเสนอให้ท่านทั้งหลายได้อ่านดูนะครับ

 

ชีวิตของคนเราบางครั้งก็ดูแปลก ๆ ที่พอได้เสริมชีวิตด้วยการอ่านและการขีดเขียนแล้ว ก็มักอุปโลกน์ตัวเองว่า เป็นคนฉลาด คนเราจึงหลงตัวเองเสมอ เมื่อรู้สึกว่า ได้ผ่านการเรียนรู้มามากมาย แต่บรรดาผู้รู้ท่านให้นิยามของคำว่า "ปราชญ์" ไว้ในทำนองที่ว่า "คนที่ชื่อว่าเป็นปราชญ์ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้ไปเสียทุกเรื่องเสมอไป แต่พร้อมที่จะศึกษาอยู่ตลอดเวลา"

 

กล่าวคือ การเข้าข้างตัวเองวา เป็นคนฉลาดนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะความจริงไม่มีใครรู้ทุกเรื่องได้ เป็นเพียงแต่กระบวนการคิดและลงมือทำว่า ใครจะมีความละเอียดอ่อนในแต่ละเรื่องมากกว่ากันเท่านั้นเอง

เมื่อใดก็ตามที่คิดว่า ตัวเองฉลาด เมื่อนั้นก็ชื่อว่าเปิดประตูให้ความเขลาเข้ามาสิงสถิตอยู่ในตัวเองอย่างเงียบ ๆ แล้ว เพราะในความเป็นจริง มีเรื่องราวอีกตั้งมากมายรอคอยการค้นหาจากเรา

การเรียนรู้ชีวิตจึงต้องพยายามทำตัวให้เหมือนกับโอ่งที่น้ำยังไม่เต็ม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรองรับน้ำได้อีก จึงเป็นการดีอย่างยิ่งที่จะทำตัวให้เป็นผู้รู้ด้วยเหตุผลที่ว่า "ฉันรู้แต่ว่า ฉันไม่รู้อะไร"

 

ในการเรียนรู้ชีวิตนั้นก็ต้องอาศัยศิลปะเป็นแนวทางประกอบอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะบางครั้งเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราเองก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ทุกเรื่องไป

ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับปัญหา และรู้ว่า ปัญหานั้นมีกี่แบบ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้โดยด่วน หรือเป็นปัญหาที่ต้องให้กาลเวลาเป็นตัวช่วยตัดสิน หรือเป็นปัญหาประเภทที่ว่าไม่สามารถแก้ไขได้เลย

 

เพราะบางปัญหาเป็นเสมือน "เส้นผมบังภูเขา" ที่เราก็แก้ไขไม่ตก ต้องคอยความเหมาะสมหรือไหวพริบทางปัญญาเข้ามาเป็นตัวช่วย ปัญหาเหล่านั้นจึงจะได้รับการคลี่คลาย

โปรดทำความเข้าใจไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้เสียเลย และก็ไม่มีอะไรที่เรารู้ไปเสียทุกอย่าง ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างนี้อยู่เสมอ เราจะรู้ว่า ควรจะปัดปัญหาที่เปรียบเสมือนเส้นผมที่บังตา ไม่ให้เราเห็นภูเขา คือ ความจริงที่อยู่เบื้องหน้าได้อย่างไร

หลวงพ่อพุทธทาสมหาปราชญ์แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวถึงการอยู่กับงานและปัญหาที่เกิดขึ้นว่า

 

"ต้องทำงานและเรียนรู้ชีวิตด้วยจิตว่าง คือ ว่างจากความรู้สึกยึดถือว่า เป็นของเรา ว่าสิ่งที่มีอยู่เราเท่านั้นเป็นเจ้าของ แต่ให้อยู่กับความรู้สึกที่เป็นกลาง ๆ ไม่ซัดส่ายความรู้สึกไปในทางที่ชอบจนออกนอกหน้าเวลาที่สมหวัง และไม่ทำตัวเองให้ตกต่ำ เวลาที่ปัญหากระหน่ำเข้ามาแล้วยังแก้ไขไม่ได้"

 

ให้รู้จักกลับมาทบทวนจิตใจของตัวเองให้ระงับจากอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ทางความรู้สึกดีใจและเสียใจก่อน เมื่อนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะได้รับการคลี่คลาย เพราะอย่างน้อยจิตใจที่มีโอกาสอยู่กับความว่างก็ได้แก้ไขตัวของมันเองไปเกือบครึ่งแล้ว

 

ในประเทศญี่ปุ่นมีวัดแห่งหนึ่งชื่อว่า โอบากุ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโต เหนือบานประตูทางเข้าวัด นอกจากป้ายบอกชื่อวัดแล้วก็จะมีป้ายหนึ่งที่ห้องเด่นตระหง่านตา ป้ายนั้นแปลเป็นใจความว่า "หลักความจริง" ซึ่งเป็นการคัดลอกอักษรที่มีขนาดใหญ่มาก ผู้ที่มีโอกาสไปที่วัดแห่งนี้ มักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับแผ่นป้ายเป็นประจำ

งานชิ้นนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า มีความงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ เจ้าของลายมือก็คือ อาจารย์ โกเซ็น แต่กว่าที่ป้าย "หลักความจริง" จะออกมาอย่างงดงามเช่นนี้ได้ก็ต้องพบอุปสรรคนานัปการเช่นกัน

อาจารย์โกเซ็นตั้งใจเขียนเพื่อที่จะให้ช่างนำไปแกะสลักบนแผ่นไม้ เพื่อเป็นหลักการสอนผู้คนที่มาศึกษาธรรมในวัดขณะที่ท่านกำลังเขียนอยู่นั้น ก็มีลูกศิษย์ที่คอยฝนหมึกให้ท่านนั่งอยู่ใกล้ ๆ ลูกศิษย์คนนี้มีความเป็นเลิศในด้านการวิจารณ์ พออาจารย์เขียนเสร็จก็จะมีประโยคแทรกเข้ามาตลอด

"แผ่นนี้ไม่สวยเลยครับท่านอาจารย์"

"แล้วแผ่นนี้ล่ะ ?"

"แผ่นนี้ยิ่งไม่ได้เรื่องเลยครับ"

"แล้วแผ่นนี้ล่ะ ?"

"แผ่นนี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่"

เป็นเสียงตอบรับกับคำถามระหว่างอาจารย์โกเซ็นและลูกศิษย์

ท่านอาจารย์โกเซ็นเขียนแผ่นป้ายรวมกันทั้งหมด ๘๓ แผ่น แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากลูกศิษย์ พอกำลังจะเขียนแผ่นที่ ๘๔ ลูกศิษย์ขอตัวไปทำธุระข้างนอก ทำให้ท่านอาจารย์ได้มีเวลาผ่อนคลาย ท่านรำพึงกับตัวเองว่า

"โอกาสนี้แหละ ที่เราคงจะพอมีเวลาหลีกจากคำติชมของลูกศิษย์บ้าง"

ท่านจึงลงมือด้วยจิตที่ปลอดโปร่งไร้ ซึ่งความกังวลที่จะมากดดันความรู้สึกจากการทำงาน คำว่า "หลักความจริง" จึงถูกบรรจงเขียนลงไปด้วยจิตที่ปล่อยวาง และว่างจากพันธการทางอารมณ์ สิ่งที่ปรากฎออกมาก็คือ

"โอ้โฮ ท่านอาจารย์ ช่างเป็นลายมือที่งามอะไรเช่นนี้ หาที่ติไม่ได้เลยครับ"

ลูกศิษย์ช่างติกล่าวด้วยความรู้สึกมหัศจรรย์ใจในความงดงามแห่งข้อเขียน "หลักความจริง" ที่เพิ่งเขียนเสร็จของอาจารย์โกเซ็น

เมื่อสามารถทำจิตให้ว่างในท่ามกลางปัญหาที่มากมี ย่อมค้นพบความงามที่เป็นครูสอนชีวิตอย่างมหัศจรรย์อีกชั้นหนึ่งเสมอ

โปรดฝึกจิตให้มีความว่างจากการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพื่อการปล่อยวางจากปัญหาที่คอยโอบล้อมตัวเราอย่างเข้าใจ

 

ท่านได้เรียนรู้เรื่องราวที่ท่านชุติปัญโญเล่าให้ท่านฟังนี้อย่างไรบ้างครับ

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ :)

หมายเลขบันทึก: 168274เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2008 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ตามมาศึกษา
  • อิจฉาคนว่าง
  • ปิดเทอมแล้วหรือครับ
  • ไม่เคยได้ลงมืออ่านเป็นเรื่องเป็นราว(ลาว)สักที
  • อิอิอิอิ
  • ถ้าอ่านแล้วเป็นลาวได้ก็ดี
  • ผมจะได้ไปเที่ยวบ้าง
  • ฮ่าๆๆ
  • มาแซวอาจารย์
  • ได้ข่าวว่า จิตว่าง
  • ผมนะจิตตก
  • ว่าจะไปเก็บเสียหน่อย
  • อิอิอิอิ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต

  • อาจารย์ไม่มีเวลาว่าง ยัง TOP 25 เลยนะครับ อิ อิ
  • วันนี้สอบวันสุดท้ายครับ แต่ยังต้องทำเกรดไปอีกหลายวันครับ ไม่เห็นว่างเลย
  • จิตใกล้ตกเหมือนอาจารย์นี่แหละครับ

ขอบคุณครับ :) ยาวขึ้นแล้วครับ อิ อิ

ถ้าจำไม่ผิด  กนกพงศ์  ฯ  นักเขียนที่ลาโลกไปแล้วกล่าวไว้ในทำนองว่า "คุยโทรศัพท์ให้น้อยลง เพื่ออ่านหนังสือให้มากขึ้น"   ซึ่งเป็นข้อความที่ผมประทับใจมาก  แต่จนแล้วจนรอดทุกวันนี้ผมก็แทบไม่มีเวลาว่างได้อ่านหนังสือตามที่ตนเองชื่นชอบ..

....

ทุกครั้งที่นิสิตไปจัดกิจกรรมกับสังคม  ผมจะย้ำเสมอว่า  มิให้ทำตัวเป็นน้ำล้นแก้ว หรือแก้วที่เต็มล้นไปด้วยน้ำ  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีทางค้นพบการเรียนรู้ใหม่ ๆ  และควรต้องตระหนักเสมอว่า  เราไปในฐานะผู้เรียนรู้ หรือร่วมเรียนรู้  อย่าอลังการ์ หรือเพลินหลงว่าตนเองเป็นผู้ไปให้..  หรือให้จนทำให้ผู้รับรู้สึกราวกับว่าเขาไม่มีศักดิ์ศรี..

...

ขอบคุณสำหรับหนังสือดี ๆ และแนวคิดดี ๆ ที่สกัดมาแบ่งปัน, นะครับ

ขอบคุณมากครับ คุณ แผ่นดิน ...

น้ำเต็มแก้ว .. เติมเท่าไหร่ก็ล้น

:)

  • สวัสดีค่ะ
  • ตามมาเรียนรู้ จิตว่าง
  •  .......................
  • ขอบคุณค่ะที่ได้อ่านบันทึกดี ๆ

 

ยินดีครับ คุณพยาบาล สีตะวัน  ... ตามร่องรอย "หอมกลิ่นหนังสือ" มาอ่านหรือครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท