เพราะว่างเปล่าจึงเพิ่มพูน ... (ท่านชุติปัญโญ)


หากความรู้เป็นน้ำ ผมมองเห็นน้ำที่ล้นแก้วกับคนหลาย ๆ คน น้ำล้นแก้ว ความรู้ล้นตัว จนหลงคิดไปว่า ตนเองไม่จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใด ๆ อีกต่อไป เพราะเรามีมากแล้ว เยอะแล้ว แต่ที่ไหนได้ คนเหล่านั้นกำลังอาศัยอยู่ในกะลา ไม่ได้ออกไปมองโลกภายนอกว่า โลกมันกว้างใหญ่เพียงใดต่างหาก

"เพราะว่างเปล่าจึงเพิ่มพูน" เป็นข้อเขียนของท่านชุติปัญโญที่ได้แสดงให้เห็นสัจธรรมเกี่ยวกับการที่คิดว่าตนเองเก่งแล้ว สมบูรณ์แล้ว จนดูถูกคนอื่นที่ไม่มีเหมือนตัวเอง

 

ลองค้นหาสัจธรรมที่แฝงอยู่ ดังนี้ครับ

 

 

เพราะว่างเปล่าจึงเพิ่มพูน

 

คนเรามักจะคิดว่าการไม่มีคือความบกพร่อง
การมีมากคือความสมบูรณ์
การไม่มีใครรักคือความบกพร่อง
การมีคนรู้จักมาก ๆ คือ ความสมบูรณ์
การนิ่งสงบกับใจของตัวเองคือความอ้างว้างเดียวดาย
การรู้จักเรื่องราวภายนอกที่หลากหลายด้วยการจำได้
หมายรู้คือความสมบูรณ์แบบที่ชีวิตต้องการ ฯลฯ

 

คำนิยามเหล่านี้เป็นโจทย์ของชีวิตที่คนเรามักจะตั้งเป็นประเด็นในการโต้แย้งกันเป็นประจำ หรือเป็นคำถามที่ค้างคาใจ แล้วทำให้สับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยมา เพราะบางครั้งเรามัวแต่แสวงหาความสมบูรณ์แบบตามความคิดของตัวเอง จึงทำให้ไม่เห็นคุณค่าของความว่างอันเปรียบเสมือนความสุขสงบนิ่งที่แวดล้อมตัวเรา

แต่เชื่อไหมว่าอะไรก็ตามที่เต็มพร้อมในแง่ของวัตถุจะเป็นไปเพื่อการแตกสลายเสมอ หรือไม่ก็เป็นการเต็มเพื่อบกพร่อง โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นความบกพร่องอย่างไร เสมือนว่าความบกพร่องที่มีอยู่นั้นถูกกลบเกลื่อนด้วยความลวงที่เรามองไม่เห็น สิ่งที่คิดว่าน่าจะดีพร้อมจึงกลับกลายเป็นความบกพร่องแทน

เพราะชีวิตที่มีแต่เรียกร้องหาความสมบูรณ์พร้อมในขณะที่อุปกรณ์รองรับยังไม่สมบูรณ์ ความเต็มรอบแห่งสิ่งที่ต้องการจึงเป็นเพียงมายาภาพทางความคิดเท่านั้น

 

คนที่คิดว่า ตัวเองถูกเติมเต็มความสุขจนครบถ้วนแล้ว จะไม่มีโอกาสรับรู้ความสุขที่เป็นปรากฎการณ์ใหม่ในชีวิต

คนที่คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างแล้ว จะไม่มีโอกาสสัมผัสกับมิติของความรู้ที่มีอยู่อีกมากมาย เพราะเข้าใจว่าความรู้ที่ตัวเองมีนั้นเพียงพอต่อความต้องการ โลกทัศน์ที่ควรจะกว้างไกลกว่านี้จึงถูกปิดตัวลง

ยิ่งเข้าใจว่าวัตถุจะช่วยเติมเต็มชีวิตให้มีความสุขได้ แล้วใฝ่แสวงหามาโอบอุ้มตัวเองให้รู้สึกบกพร่องน้อยลงมากเท่าใด นั่นเป็นภาวะของความเต็มพร้อมที่ซ๋อนไว้ซึ่งความเปล่ากลวงด้วยความหลง จึงต้องจมอยู่กับความคิดที่ใฝ่หาความสมบูรณ์พร้อมให้กับตัวเองอยู่ร่ำไป

 

แต่หากเรียนรู้ชีวิตในมิติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจว่าอะไรคือความสมบูรณ์ที่ใช่ อะไรคือความบกพร่องที่สามารถเปลี่ยนเป็นความเต็มรอบได้ ความรู้สึกเช่นนี้ย่อมเป็นนิมิตรหมายให้เราก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ที่งามพร้อมได้ในสักวัน

เพราะเมื่อคิดว่าความบกพร่องสามารถต่อยอดเป็นความสมบูรณ์ได้ด้วยจิตใจที่เปิดรับ จิตที่เปิดกว้างและความใฝ่รู้ที่ซ่อนอยู่ภายในย่อมค้นหาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ประดับชีวิตได้ แม้ว่าในอดีตจะเคยบกพร่อง แต่แนวโน้มในอนาคตย่อมมีความสมบูรณ์พร้อมรออยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ ศิลปะอันยิ่งใหญ่ของการแสวงหาก็คือการทำตัวเองให้พร่องภายนอก เพื่อต่อยอดจากภาวะที่มีอยู่ไปสู่ความสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและจิตใจในโอกาสต่อไป ปราชญ์แห่งเต๋ากล่าวอุปมาถึง ความว่าง ที่นำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้ดำรงอยู่ด้วยความเข้าใจไว้ว่า

 

"ซี่ล้อเกวียนนำมารวมกันย่อมเป็นล้อเกวียน แต่รูตรงกลางนั้นต่างหากที่ทำให้เกวียนเคลื่อนไหว ดินเหนียวปั้นเป็นรูปหม้อ แต่ความว่างเปล่าภายในต่างหากที่ทำให้หม้อดินเกิดประโยชน์"

 

การดำรงชีวิตแต่ละขณะให้เป็นสุขก็เช่นกัน เราต้องเรียนรู้ที่จะให้ความว่างเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของจิตใจให้มาก คือ ว่างจากอารมณ์ที่ประทุษร้ายตัวเอง เพื่อให้ตัวเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกด้วยภาวะที่ไม่เป็นทุกข์จนเกินไป นั่นชื่อว่า เป็นความว่างเปล่าเพื่อเพิ่มความสุขให้กับชีวิตของเรา

เพราะหากทำความเข้าใจรายละเอียดของชีวิตที่ก้าวไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนแล้ว ปราชญ์ทุกยุคสมัยจะสอนให้เรียนรู้ชีวิตด้วยจิตที่ปลอดโปร่ง เป็นจิตที่ว่างจากอารมณ์ที่เข้ามาครอบงำใจตน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานและเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวเรา

 

เมื่อใดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยจิตที่ปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว สิ่งที่เกี่ยวข้องก็จะยกระดับให้ชีวิตเรามีความบริบูรณ์ไปในตัว เป็นเสมือนการเตรียมพื้นที่รองรับสิ่งต่าง ๆ ให้มีความพร้อม ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านเข้ามาในภาวะของความว่างนั้น ก็จะทำให้สัมผัสรู้ได้ด้วยปัญญาที่มาจากความเข้าใจ

เมื่อเกี่ยวข้องกับภาวะที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ภาวะของความวางใจได้ของจิตก็จะเข้าไปศึกษารายละเอียดว่า ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามานั้นเป็นเช่นไร มีภาวะของการขึ้นลงแห่งอารมณ์ที่ทำให้จิตฟูขึ้นหรือยุบลงได้อย่างไร แล้วจิตที่มีความแข็งแรงพอก็จะทำหน้าที่ในการฟอกอารมณ์ให้สะอาดบริสุทธิ์ หรือปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ให้ความทุกข์บีบคั้นชีวิตให้ทุกข์ทรมาน

แต่เมื่อมีความรู้สึกโปร่งเบาสบายผ่านเข้ามาในมิติของจิตที่ปล่อยวางอารมณ์ได้แล้ว จิตที่ตั้งอยู่ในความว่างจาการยึดมั่นถือมั่น ก็จะรับรู้อาการที่สัมผัสนั้นด้วยความเอื้ออารี ไม่แสดงความรู้สึกพอใจพอเกินงาม แต่จะรับรู้โดยภาวะที่เป็นกลาง ๆ แล้วก็ให้ผ่านเลยไป

 

การทำความเข้าใจภาวะของความสุขและความทุกข์ด้วยจิตที่ปล่อยวางอย่างรู้เท่าทันเช่นนี้ เป็นการเรียนรู้ด้วยปัญญาที่แจ่มชัด เพื่อจะทำให้ชีวิตรู้จักคัดสรรสิ่งต่าง ๆ มอบให้ตัวเอง กระทั่งรู้ว่า จิตที่สงบนิ่งพอนั้นสามารถอยู่ร่วมกับภาวะอื่นด้วยความสมดุลได้อย่างไร

ชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับโลกที่เราดำรงอยู่ก็เช่นกัน หากเรียนรู้ด้วยการทำความบกพร่องเพื่อรอการเติมเต็มสิ่งที่ดีกว่าได้ เราจะรู้ว่า ในความบกพร่องนั้น มีความสมบูรณ์ที่รอการเติมเต็มอยู่เสมอ

แบ่งปันวัตถุที่มีซึ่งดูเสมือนเป็นความบกพร่อง เราจะได้ความสุขใจและมิตรภาพมาเพิ่มพูนให้กับตัวเอง

มอบความรักอันเปรียบเสมือนความบกพร่องเพราะการเสียสละ แต่การแบ่งปันนั้นกลับเพิ่มพื้นที่ของความสุขใจคืนมาเสมอ

ด้วยเหตุนี้ความว่างเปล่าที่ผ่านการเรียนรู้และกลั่นกรองด้วยความใส่ใจ จึงเป็นเสมือนการเตรียมพื้นที่ของชีวิตให้มีมากพอ เพื่อการรองรับความสุขที่มากกว่าเดิม

หากรู้จักทำวัตถุให้พร่องอย่างรู้คุณค่า วัตถุที่มีอยู่จะเพิ่มกำไรของความบริบูรณ์แห่งความสุขที่ดีกว่ามอบให้เสมอ

หากรู้จักเว้นพื้นที่ให้ความรู้ตื่นเบิกบานได้เข้าไปพักพิงในเรือนใจ เราจะรู้ว่า ภาวะที่มีพื้นที่ว่างพอนั้น สามารถเติมเต็มสิ่งต่าง ๆ ที่มีค่าอีกมากมายได้เป็นทวีคูณ

เพราะว่างเปล่าอย่างรู้เท่าทัน สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเพิ่มพูนคุณค่าอย่างอเนกอนันต์

 

.......................................................................................................................................

 

ข้อเขียนนี้สอนอะไรได้บ้าง...

... อย่าคิดว่า ความรู้ที่มีอยู่ในตัว มันดูยิ่งใหญ่และเหนือใคร เพราะไม่มีใครเหนือใครในโลก

... เทความรู้ที่เป็นขยะทิ้ง นำสิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การจดจำออกไปบ้าง อาจทำให้เราพร้อมรับความรู้มากกว่านี้

... ความรู้อยู่กับทุกผู้คน อย่าไปดูถูกว่า คนอื่นต่ำต้อยกว่าเรา

... มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในโลกนี้ เท่าเม็ดทรายเท่านั้น ยังมีเม็ดทรายอีกเป็นล้าน ๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษา

... กรรมของคนที่คิดว่าตนเองเก่ง คือ จะไม่มีใครยินดีถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ และประสบการณ์ให้เขาอีกเลย เพราะนึกว่า มีเยอะแล้ว เต็มแล้ว

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ :)

 

.......................................................................................................................................

 

แหล่งอ้างอิง

ชุติปัญโญ.  ความสุขที่หายไป ตามกลับคืนได้หรือยัง?.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ: ใยไหม, 2550.

 

 

หมายเลขบันทึก: 264085เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

"เพราะว่างเปล่า จึงเพิ่มพูน"

ประโยคนี้ดีจังครับ ทำให้มองย้อนมามองตัวเองในวันนี้ ผมเองยิ่งเดินทางไกลออกไป ก็เหมืือนกับว่า น้ำเราพร่องแก้วลงทุกที เรื่องราว ความรู้ต่างๆมากมาย และเปลี่ยนแปลง จนเราตามไม่ทัน

แก้วน้ำของผมจึงพร่องแก้วเสมอ  แต่ก็ไม่ถึงกับว่างเปล่าครับ

:)

มีความสุขกับการเรียนรู้ เรื่องราวดีๆที่งดงาม และมีคุณค่านะครับ...

 

ภาพด้านบน

ผมถ่ายที่วัดพนัญเชิง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยาครับ ถ่ายเมื่อสัปดาห์ก่อนนี่เอง...

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

ไร้คำพูด ไร้ความคิด ได้แต่บอกว่าขอบคุณ และต้องกลับไปพิจารณาตนให้มากๆ เทความคิดอันแสนไร้ค่าออกไป เพราะมันบั่นทอนจิตใจ

ขอบคุณค่ะ ยังคงเป็นพี่ชายที่น่ารักเสมอไม่เปลี่ยนเลยนะค่ะ

ยังมีเมล็ดทรายรอให้นับอีกเยอะ 

ไปล่ะค่ะ  อิอิ

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์

เดี๋ยวจะกลับมาอ่านต่อให้จบนะคะ

ขอบคุณครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :)

ภาพหลวงพ่อโตงามขนาด ครับ

ขอบคุณครับ คุณครู อ้อยเล็ก :) ... เพียรทำดีกันครับ

ขอบคุณมากครับ เจ้าหนูจำไม สี่ซี่ ;) ...

คำตอบอยู่ในตัว นะครับ

ขอบคุณ "เมล็ดทราย" เพื่อน "เมล็ดมะม่วง" ครับ คุณ ครูเอ ;)

รอคุณครู อรวรรณ มาอีกครั้งครับ ;)

ขอบคุณครับ

ขอบคุณมุมมองดีๆ ที่ช่วยเตือนสติค่ะ

ขอบคุณครับ คุณ TiiPz ... สำหรับการพรวนบันทึกให้ผมได้นึกถึงอีกครา :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท