อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ... (วันเยาว์ของคนใหญ่)


ผมอยากยกตัวอย่างจากหนังสือ "วันเยาว์ของคนใหญ่" ที่เล่าเรื่องโดย "ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช" ที่เพิ่งออกมาใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน

เป็นประวัติในวัยเยาว์ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ ที่มาของระเบิดปรมาณู

 

นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลก ไอน์สไตน์

คะแนนฟิสิกส์ก็แย่ คะแนนเคมีก็ห่วย จนครูว่าโง่

 

เชิญติดตามอ่านได้ครับ

 

 

(http://ffden-2.phys.uaf.edu/211_fall2004.web.dir/George_Walker/Albert_Einstein_by_Yousuf_Karsh.jpg)

 

 

 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

Albert Einstein

(พ.ศ.๒๔๒๒ - ๒๔๙๘/ค.ศ.๑๘๗๙ - ๑๙๕๕)

 

นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ หรือ Theory of Relativity ซึ่งเปลี่ยนโลกด้วยสมการ E=MC2 หรือพลังงานเท่ากับมวลของวัตถุ คูณด้วยความเร็วของแสงกำลังสอง

การปฏิวัติวิชาฟิสิกส์ทำให้เขากลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกและได้รับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ.๒๔๖๔ แต่เยอรมนีสมัยฮิตเลอร์ยึดทรัพย์สินทั้งหมดของไอน์สไตน์ซึ่งเป็นยิว เขาจึงย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันที่มหาวิทยาลัยพรินซตันในอเมริกา และเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน

เชื่อกันว่าไอน์สไตน์มีส่วนในการกระตุ้นให้สหรัฐอเมริกาสร้างระเบิดปรมาณูขึ้นก่อนเยอรมัน และเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามโลกครั้งที่สอง

 

วันเยาว์

เขาเป็นลูกยิวที่เกิดในเยอรมนี เมืองที่ครั้งหนึ่งผู้คนไม่ชอบหน้ายิวเอาเสียเลย

เมื่อแรกเกิดเขาเป็นทารกหัวโตเบ้อเริ่ม บรรดาญาติโยมเห็นแล้วตกใจ แม้กระทั่งแม่ยังนึกว่าเขาผิดปกติ หรือพิการ (ภายหลังมีการพิสูจน์ว่าสมองของไอน์สไตน์นั้นขนาดปกติ แต่มีความหนาแน่นของเซลล์มากกว่าสมองคนทั่ว ๆ ไป)

นอกจากขนาดของศีรษะแล้ว อะไรอื่นเกี่ยวกับหนูน้อยอัลเบิร์ตก็ดูจะปกติดี

มาไม่ปกติอีกทีก็ตรงที่เขาไม่พูดเมื่อถึงอายุที่หนูน้อยควรจะพูดได้แล้ว เขาเป็นเด็กเงียบเฉย ชอบมอง หรือทำท่าคิดอะไรนาน ๆ และไม่ค่อยซน ทั้ง ๆ ที่สามารถทำอะไรได้เหมือนเด็กปกติ

เป็นธรรมดาอยู่เองที่พ่อแม่จะต้องวิตก

อัลเบิร์ตพูดครั้งแรกเมื่ออายุเมื่อเกือบสี่ขวบ

มีเรื่องเล่าเชิงขำขันว่า ประโยคแรกที่เขาพูดคือ

"ซุปมันร้อนเกินไป"

พอแม่ถามว่าพูดได้แล้วทำไมไม่พูดอยู่ตั้งนาน หนูอัลตอบว่า

"ก็เมื่อก่อนแม่ไม่ทำซุปร้อนลวกปากอย่างนี้"

ความที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เป็นอัจฉริยะ และมีอะไรไม่เหมือนคนอื่น ใคร ๆ ก็ชอบแต่งเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับเขาขึ้นมาไว้เล่าเพื่อความสนุกปาก เรื่องซุปร้อนไปนี่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นก็ได้

 

เมื่อเขาอายุได้ห้าขวบ อัลเบิร์ตได้เข็มทิศเป็นของขวัญจากพ่อ ตัวเขาเล่าเอาไว้ว่า การทำงานของเข็มทิศน่าสนใจจนทำให้เขาเริ่มคิดถึงอะไร ๆ ในทางวิทยาศาสตร์นับแต่บัดนั้น

พ่อกับลุงจาคอบของอัลเบิร์ตทำธุรกิจด้วยกัน ลุงเป็นนักประดิษฐ์ที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ต่าง ๆ แถมยังใจดี ช่างเล่า ช่างสอน เวลาลุงสอนเลขให้หลานอัล ลุงก็ทำให้สนุกเหมือนเล่นเกม อัลเบิร์ตจึงเรียนได้เร็วจนลุงแปลกใจ

ครอบครัวไอน์สไตน์มีความสุข เพราะพ่อแม่ใจดี แถมยังไม่เคร่งศาสนาอย่างชาวยิวทั่วไป ทั้งพ่อและแม่ชอบอ่านหนังสือ พ่อชอบภาษาและบทกวี ส่วนแม่เป็นนักเปียโน จึงมีหน้าที่เล่นเปียโนให้คนในครอบครัวร้องเพลงตาม

ความที่แม่รักดนตรี จึงให้อัลเบิร์ตเรียนไวโอลิน แม้จะไม่ชอบให้ใครมาสอน แต่เจ้าหนูก็ทนเรียนเพราะรักแม่ แต่แล้วในที่สุดเขาจะเล่นไวโอลินในยามพักผ่อนเพื่อคลายเครียดไปตลอดชีวิตโดยไม่เคยทิ้งเลย และได้ชื่อว่าเป็นนักไวโอลินฝีมือดีคนหนึ่ง

 

แม้จะมีความสุขที่บ้าน แต่ความทุกข์ของหนูอัลเบิร์ตอยู่ที่โรงเรียน เขาไม่ชอบกฎเข้มงวดของโรงเรียน ไม่ชอบการสอนเข้มงวดของครูแผนโบราณ ที่ให้เด็กท่องจำอย่างเดียวโดยไม่ยอมให้คิดเอง

โรงเรียนเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วเป็นอย่างนั้นแทบทุกมุมโลก แต่ครูเยอรมันดูจะนำวิธีของทหารมาใช้ เด็ก ๆ ต้องเชื่อฟัง ซ้ายหัน-ขวาหัน-ห้ามหือ ทุกอย่างต้องเป้นไปตามที่ครูสั่ง

อัลเบิร์ตซึ่งชอบเรียนเอง คิดเอง จึงไม่ชอบครู

ไม่ใช่แต่เจ้าหนูอัลเบิร์ตจะไม่ชอบครู ครูก็ไม่ชอบอัลเบิร์ตเหมือนกัน พวกครูว่าเขาเป็นเด็กโง่ ไม่สนใจเรียน โตขึ้นคงไม่ได้ดี

 

ครูคนเดียวที่อัลเบิร์ตชอบ คือ นักศึกษาแพทย์ที่เป็นครูพิเศษของเขา ครูจะเอาหนังสือเรียนของครูมาให้เขาอ่านและอธิบายให้ฟัง แต่อ่านไปไม่นาน อัลเบิร์ตซึ่งมีอายุเพียง ๑๐ ขวบก็เข้าใจตำราพวกนั้นแจ่มแจ้งยิ่งกว่าครูเสียอีก เลยไม่รู้ว่าใครเป็นครูพิเศษของใครกันแน่

เมื่ออัลเบิร์ตอายุ ๑๕ ปี ธุรกิจของพ่อและลุงก็ขาดทุน ต้องขายทุกอย่างใช้หนี้ แล้วเอาเงินที่พอมีเหลืออยู่อพยพครอบครัวไปตั้งตัวกันใหม่ในอิตาลี น้องสาวก็ได้ไปด้วย แต่พ่อแม่กลับฝากอัลเบิร์ตไว้กับญาติ ให้เรียนต่อในเยอรมนีจนจบ

อัลเบิร์ตไม่อยากอยู่ เพราะไม่ชอบทั้งประเทศเยอรมนีและคนเยอรมัน เขาแกล้งป่วยพร้อมหาเรื่องให้โรงเรียนไล่เขาออก พอทำสำเร็จก็แล่นปร๋อไปหาพ่อแม่ที่อิตาลี แม้ว่าจะไม่มีประกาศนียบัตรจากโรงเรียนติดมือไปเขาก็ไม่แคร์

พ่อแม่และลุงอ้าแขนรับอัลเบิร์ตอย่างดี ไม่ดุ ไม่เอ็ด หรือต่อว่าแม้แต่คำเดียว

 

อัลเบิร์ตมีความสุขมากที่ได้อยู่พร้อมหน้ากับทุกคนที่เขารัก ได้ช่วยลุงและพ่อทำงาน เขาชอบคนอิตาเลียนซึ่งใจดีและเป็นมิตร ชอบประเทศสวยงามและอบอุ่นแห่งนั้นด้วย

อัลเบิร์ตเข็ดเยอรมนีเสียจนขอให้พ่อช่วยดำเนินการถอนสัญชาติเยอรมันของเขา ในวัยนั้นดูเหมือนเขาอยากจะเป็น "พลเมืองของโลก" หรือ citizen of the world มากกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง

เป็นความคิดที่รุนแรงพอดูสำหรับเด็กที่อายุไม่ถึง ๑๖ ปี

 

เมื่อได้ยินว่า ในสวิตเซอร์แลนด์มีโรงเรียนโพลีเทคนิคชั้นเลิศที่รับนักศึกษาเข้าไปไม่ต้องมีประกาศนียบัตรจากโรงเรียนใด ๆ เพียงแต่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ให้ได้เท่านั้น อัลเบิร์ตก็ไปสอบผ่านทั้ง ๆ ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์เกือบสองปี

แต่โรงเรียนไม่ให้เรียนเพราะภาษาอื่น ๆ เขาไม่ดี คล่องแต่ภาษาเยอรมันเท่านั้น อัลเบิร์ตจึงต้องไปเรียนที่โรงเรียนธรรมดาก่อนหนึ่งปี

ระยะที่ต้องเรียนอย่างเบื่อ ๆ ในโรงเรียนนี้เองที่อัลเบิร์ตเริ่มคิดเรื่องความเร็วแสง

หากครูที่โรงเรียนนี้เห็นอนาคตว่านักเรียนที่ไม่เอาไหนชื่อ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" จะกลายเป็นนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ครูคงเป็นลมเพราะคะแนนฟิสิกส์ของเขาแย่ คะแนนเคมีก็ไม่เข้าท่า คะแนนจะไปสูงได้อย่างไรในเมื่อเขาเกลียดการสอบ แต่ถึงกระนั้น ผลสอบเขาดีพอที่จะกลับไปโพลีเทคนิคได้ตามต้องการ

เพียงไม่กี่ปีต่อจากนี้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เด็กที่เบื่อห้องเรียน เบื่อครู และเบื่อการสอบ ก็จะทำให้โลกเห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของเขา

ไม่มีใครทราบว่า ครูที่เรียกเด็กยิวคนนี้ว่า "เด็กโง่" รู้สึกอย่างไร หากครูได้เห็นเขาขึ้นไปรับรางวัลโนเบลเมื่อ ค.ศ.๑๙๒๑

 

..............................................................................................................

 

ความอัจฉริยะของเด็กเป็นไปไม่ได้เลย หากครูมองไม่เห็น พ่อแม่ไม่สนใจ หาว่าลูกตัวเองไม่เหมือนลูกคนอื่น

วิธีการสอนของครูที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ชื่อชอบนั้น คือ การสอนเด็กรู้จักคิดเอง วิเคราะห์ตามความสนใจ โดยมีครูคอยเป็นผู้ให้คำแนะนำและปรึกษา เพื่อให้เขาเดินทางไปในทิศทางที่เป็นตัวเขาให้ได้

ไม่ใช่ ครูคิดเองว่า เด็กต้องเป็นไปตามที่ครูคิด ... และหากเด็กจะหนีออกจากโรงเรียน เพราะไม่ชอบวิชาเลข วิชาภาษาอังกฤษ ครูก็อย่ามาแปลกใจว่า ควรพิจารณาตัวครูหรือตัวนักเรียนก่อน

อัตชีวประวัติของอัจฉริยะของโลกมันสอนเรา สอนครู สอนพ่อแม่

จะมีประโยชน์ ถ้าโปรดนำไปใช้จริง

 

ขอบคุณที่ติดตามครับ

หากสนใจหนังสือเล่มนี้ เชิญแวะที่ร้านหนังสือได้นะครับ

สนับสนุนคนเขียนดีกันครับ ;)

 

..............................................................................................................

ขอบคุณหนังสือดี ๆ จาก

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช.  วันเยาว์ของคนใหญ่.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.

 

หมายเลขบันทึก: 305300เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ชอบความคิดนี้ที่สุดค่ะ

ในวัยนั้นดูเหมือนเขาอยากจะเป็น "พลเมืองของโลก" หรือ citizen of the world มากกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง

เคยดูรายการเกมที่เด็กทั่วโลกมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และทำภารกิจหนึ่ง จะสังเกตได้เลยว่า เด็กเค้าถูกปลูกฝังให้รู้จักคิด เพื่อโลก ประเทศ สังคม ชุมชน ครอบครัว ตนเอง ตามลำดับ

 ขอบคุณka

ขอบคุณมากครับ คุณ poo ที่มาเยี่ยมเป็นคนแรกเลย ;)

  • "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"  นั่นคือคำคมของไอน์สไตน์
  • ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ที่มีประโยชน์อ่านแล้วสร้างแรงบันดาลใจได้ดีค่ะ

ขอบคุณมากครับ คุณ ธรรมทิพย์ ที่ได้แวะมาเยี่ยมบันทึกนี้ ;)

ขอบคุณสำหรับสาระดีดีมีประโยชน์

ดิฉันชอบอ่านหนังสือ จึงมาเยี่ยมชม

หนังสือดีๆมีสาระอย่างนี้ อ่านแล้วได้แง่คิด

ขอบคุณครับ คุณ ครูจิ๋ว ... ในสมุดเล่มนี้มีอีกหลายเล่มครับ ;)

ตรอบครัวของเขาเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีจัง มิน่าอะไรๆก็เป็นไปได้สำหรับเขา

สวัสดีค่ะ

ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านจากที่เล่า น่าสนุกค่ะ

มีคนบอกว่า อัจฉริยะกับวิกลจริต มีเส้นแบ่งเพียงบาง ๆ ....

ความจริง ความโง่ กับ อัจริยะอาจอยู่ข้าง ๆ กันก็ได้จริงไหมคะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

ดีใจที่ได้อ่านข้อมูล ลูกสาวคนเล็กเป็นสมาธิสั้นชอบคิดเองทำเอง

แต่เป็นเด็กน่ารัก อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เรียนดีแต่ไม่ชอบเขียน

หนังสือ ชอบแต่อ่านหนังสืออย่างเดียวอ่านไวและจำข้อมูลที่อ่านได้

มีปัญหาในห้องเรียนเหมือนกันไม่ชอบเขียนเลยไม่มีงานส่งคุณครู

ตอนแรกกลุ้มใจค่ะ แต่พอได้อ่านบทความนี้แล้วทำให้สบายใจมาก

รู้ว่า "ความสำเร็จอยู่ที่ความอบอุ่น ความเข้าใจ กำลังใจของครอบครัว"

ขอบคุณมากค่ะ

จริงครับ คุณ คนไม่มีราก ;) ... ห่างกันนิดเดียวเอง

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณ moddang ;)

อยากกำลังใจจังเลยครับ ... ผมว่า คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้การสังเกตเยอะ ๆ ครับ และหาช่องทางให้การศึกษาที่ถูกทางกับเค้า

ผมว่า แบบนี้ "อัจฉริยะ" นะครับ ทางการศึกษาเรียกว่า "เด็กปัญญาเลิศ" ครับ

เหมือนทางกระทรวงศึกษาฯ จะมีสถาบันที่ดูแลเด็กลักษณะนี้อยู่ ลองไปปรึกษาดูนะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)

  • สวัสดีค่ะท่านอ.Wasawat Deemarn
  • เข้ามาอ่านชีวประวัติ ท่านอัลเบิรติไอสไตน์ อัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์ 50 คนใหญ่ของโลก
  • เป็นเครื่องยืนยันว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เราต้องมีความมุ่งมั่น และฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้น
  • "การสอนเด็กรู้จักคิดเอง วิเคราะห์ตามความสนใจ โดยมีครูคอยเป็นผู้ให้คำแนะนำและปรึกษา เพื่อให้เขาเดินทางไปในทิศทางที่เป็นตัวเขาให้ได้ ไม่ใช่ ครูคิดเองว่า เด็กต้องเป็นไปตามที่ครูคิด ... และหากเด็กจะหนีออกจากโรงเรียน เพราะไม่ชอบวิชาเลข วิชาภาษาอังกฤษ ครูก็อย่ามาแปลกใจว่า ควรพิจารณาตัวครูหรือตัวนักเรียนก่อน"
  • เป็นสิ่งที่ สพฐ. ให้คุณครู และผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนัก เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ จะมีจุดอ่อนในเรื่องของการคิดวิเคราะห์
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ ศน.เอื้องแซะ ครับ ;)

หวังว่า ครูคงเป็นประโยชน์และสอนเด็ก ๆ ด้วยความรักจริง ครับ ;)

แวะมาเยี่ยมครับ

เมื่อวานได้คุยกับคุณเอก

นินทาอาจารย์ด้วยครับ...

ขอบคุณท่าน หนานเกียรติ ที่มาแจ้งให้ทราบครับ ฮึ ฮึ คุณเอก จ๊าก ;)...

สวัสดีครับ อาจารย์ จินตนาการ ก่อเกิด ผลงานทางความคิด ยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ แต่ต้องหามาอ่านเป็นอาหารสมองแล้วครับ

อาจารย์ สบายดีน่ะครับ

สบายแป๊บ ๆ ครับ ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า ;)

จันทร์หน้าก็เปิดภาคเรียนแล้ว ... ทำหน้าที่ของคุณครูต่อไปครับ อิ อิ

หนังสือใหม่ น่าจะหาง่ายครับ

ขอบคุณมากครับ ;)

อ.เสือ ที่ร้ากกกก......

       เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้....ไม่แน่ใจว่าข้อมูลเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนนะครับ....

       พี่นำหลักฐานผลการเรียนของไอน์สไตน์มาให้ ฟิสิกส์ได้เกรด 6 ส่วนเคมีได้เกรด 5 จากสเกลเต็มๆ คือ 6 นะครับ 

              

                              บันทึก : ผลการเรียนของไอน์สไตน์วัยเยาว์

        สำหรับชื่อทฤษฎีนี่ ขอแก้นิดหนึ่ง เรียกว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) ครับ (สัมพันธภาพ = Relationship)

        บันทึกอื่นๆ เกี่ยวกับไอน์สไตน์ที่พี่เคยเขียนไว้ อยู่ที่นี่ครับ

                   http://portal.in.th/buncha/pages/2350/

 

------------------------ จบเรื่องไอน์สไตน์ (ชั่วคราว ;-)) ----------------------

            มาชวน อ.เสือ ไปร่วมเขียน ร่วมแก้ไข

                  พจนานุกวน - ศัพท์ GotoKnow (ร่าง)   

            โดยเฉพาะความหมายของคำว่า "พรวน" น่ะครับ

ขอบคุณคร้าบบบ....พี่ชิวเอง

 

แฮะ แฮะ ขอบคุณมากครับ พี่ชิว ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท