แตกต่างอย่างลงตัว ... (ว.วชิรเมธี)


เคยสังเกตไหมว่า ดอกไม้สวย ๆ กับแจกันที่รองรับช่อดอกไม้อยู่นั้น มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่...ทั้ง ๆ ที่สองสิ่งนี้มีความแตกต่าง ทว่าในที่สุดแล้วกลับอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

นอกจากนั้นแล้วยังช่วยขับเน้นให้อีกฝ่ายหนึ่งดูดีมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิมอีกต่างหาก เช่น ดอกไม้ หากวางไว้ที่ไหนสักแห่งหนึ่งตามธรรมดาคงดูไม่โดดเด่น แต่หักปักไว้ในแจกัน ความโดดเด่นของดอกไม้กลับเป็นที่แจ่มชัด แจกันหากวางไว้เฉย ๆ โดยไม่มีดอกไม้ประดับ คุณค่าของแจกันก็ไม่สะท้อนออกมาเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้พบเห็น อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ในความแตกต่างมีความงามและเอกภาพอันสมบูรณ์

 

"การยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง และเปิดใจกว้างยอมรับความต่างของคนอื่นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า" คือคำตอบ

 

คนทุกคนย่อมมีทั้งข้อดีและข้อด้อยอยู่ในตัวเอง ไม่มีใครในโลกนี้ที่เกิดมาพร้อมกับความสมบูรณ์ในทุกเรื่อง แม้แต่คนที่ดูเหมือนว่าจะสมบูรณ์ที่สุดอย่างพระพุทธเจ้า พระองค์ยังทรงเป็นลูกกำพร้าตั้งแต่แรกประสูติได้เพียง ๗ วัน

ธรรมชาติของมนุษย์ก็คือ ไม่มีใครสมบูรณ์ที่สุด คนที่พยายามมองหาความสมบูรณ์แบบจากคนอื่น สุดท้ายจะผิดหวัง และมองข้ามสิ่งที่ดีของคนที่อยู่ตรงหน้าเราไปอย่างน่าเสียดาย

 

พระพุทธศาสนาสอนวิธีรับมือกับความไม่สมบูรณ์แบบเอาไว้ว่า

๑. ต้องตระหนักรู้ความจริงให้เท่าทัน ว่าธรรมชาติของมนุษย์ก็คือ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง

๒. เมื่อรู้เท่าทันความจริงแล้ว ควรฝึกยอมรับในความไม่สมบูรณ์นั้นอย่างมีสติ ไม่ใช่ยกเอาความไม่สมบูรณ์นั้นมาเป็นจุดอ่อนเพื่อทำลายตนเองหรือคนอื่น

๓. หัดมองโลกในแง่ดี กล่าวคือ มองหาแง่ดีแง่งามของทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องเอาไว้เสมอ อย่ามองคนในมิติเดียวเท่าที่ตาเห็น หูได้ฟัง หรือกายได้สัมผัส แต่ควรมองคนให้เป็นแบบสามมิติที่มีทั้งมุมลึก กว้าง และยาว แล้วเราจะค้นพบว่า ใครบางคนที่เราเห็นว่าเขาเป็นคนแย่ ๆ นั้น บางทีเขาก็มีข้อดีอยู่ตั้งมากมาย

๔. ในชีวิตการครองเรือนครองรัก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ศิลปะในการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างสูงนั้น จำเป็นต้องฝึกมองโลกในแง่ดีเอาไว้เสมอ หากเราแสวงหาความสมบูรณ์จากคนที่เรารักไปเสียทุกเรื่อง สุดท้ายเมื่ออยู่ด้วยกันไป เราก็จะพบว่าคนที่เราเลือก นับวันดูขาดเสน่ห์ ส่วนคนที่เรายังไม่ได้เลือกกลับดูดีขึ้นทุกวัน ๆ ขืนคิดอย่างนี้กันบ่อย ๆ ไม่นานนัก รักก็จาง เสน่ห์ก็หาย และอาจลงเอยที่ทางใครทางมัน

๕. ศิลปะการมองโลกในแง่ดี ท่านพุทธทาสภิกขุประพันธ์เป็นกวีนิพนธ์เอาไว้อย่างไพเราะดังต่อไปนี้

 

"เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย

จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง"

 

คนที่เข้าใจความจริงของโลกและชีวิตมักเป็นคนที่อยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข แม้จะครองเรือนในฐานะหัวหน้าครอบครัวก็มีความสุข หรือแม้ขณะอยู่ในช่วงครองรักเพื่อร่วมกันสร้างครอบครัวแสนสุข ชีวิตก็ไม่ตึงเครียด สุดโต่งเกินไป

คนที่มองเห็นคุณค่าของความแข็งแกร่งจากแจกันท่ามกลางมวลดอกไม้ คนที่รู้ว่าดอกไม้จะงาม หากปักอยู่ในแจกันที่แตกต่างอย่างเหมาะสม คือ คนที่มีโอกาสครองเรือนครองรักได้อย่างยั่งยืน

ส่วนคนที่อยากให้แจกันอ่อนโยนเหมือนดอกไม้ และคนที่อยากให้ดอกไม้หลอมละลายเป็นเนื้อเดียวกับแจกัน ชีวิตแต่งงานจะอายุสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 

 


 

การมีความรัก การครองเรือน ย่อมต้องมีศิลปะเป็นของตัวเอง

รักกันไม่ใช่เรื่องยาก แต่การรักษาความรู้สึกที่ดีเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดยากกว่า

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;) 

 


ขอบคุณหนังสือดี ๆ

 

 

ว.วชิรเมธี.  ธรรมะทอรัก.  พิมพ์ครั้งที่ 12.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2551.

 

หมายเลขบันทึก: 429715เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2011 02:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

รักนั้งต้องช่วยกันต่อเติมครับ ไม่ใช่สร้างเงื่อนไชจากความแตกต่างมาต่อรอง .. สาธุๆ

เป็นบันทึกที่ให้ประโยชน์ชีวิต สร้างปัญญาในการมองโลกอย่างเข้าใจ

ขอบคุณคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

  • "การยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง และเปิดใจกว้างยอมรับความต่างของคนอื่นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า"
  • ความต่างสร้างความสมดุลย์ ....
  • ตามกลิ่นหนังสือมาชื่นชมความต่างอย่างลงตัวค่ะ
  • ช่วงนี้ห้องสมุดบ่อย ๆ หาหนังสือเก่า ๆ มาอ่านค่ะ  เปิดอ่านไปจามไป คงเพราะหนังสือเก่ามาก ฝุ่นเยอะ กระดาษเหลืองกรอบ
  • กำลังคิด ๆ อยู่ว่าหนังสือเก่าที่มีคุณค่ามีวิธีจัดเก็บอย่างไรที่ไม่ให้เสื่อมคุณค่า กระดาษอาจสิ้นสภาพตามกาลเวลาแต่ข้อความเนื้อหาไม่ควรตกหล่น ขาดหาย จริงไหมคะ
  • ขอหารือกับคนรักหนังสืออย่างท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ อย่างน้อยก็นำมาใช้กับตัวเอง ห้องสมุดเราอาจจะเข้าไปจัดการวุ่นวายไม่ได้ก็ตามค่ะ

 

สวัสดีครับอาจารย์

เข้ามาทักทาย นานแล้วที่ไม่ได้มาทักทาย

และขอบคุณสำหรับการแนะนำหนังสือดีๆ

ขอบคุณครับ คุณ แม่เจ้าภูข้าว ที่เข้ามาเยี่ยมเยือน ;)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ของผม ;)...

"การยอมรับความต่าง" นั้น เป็นเรื่องของการเปิดใจ เลือกใช้มุมมองในการมอง ทำให้เราสามารถเลือกที่เข้าไปทำงานหรือมีปฎิสัมพันธ์ จะเกิดความสุขใจในทุก ๆ ฝ่าย ;)

วิธีการรักษาหนังสือเก่า ๆ นั้น หากเป็นบรรณารักษ์ผู้ดูแลห้องสมุด เขาจะร่ำเรียนถึงกระบวนการรักษาหนังสือเก่า ๆ อยู่อย่างน้อยก็สัก ๑ รายวิชา

เช่น ...

  • ตรวจสอบว่า หนังสือเล่มนี้มีการพิมพ์ครั้งต่อไปไหม และสามารถจัดซื้อใหม่ได้หรือไม่ (เพราะเป็นเนื้อหาเดียวกัน แต่พิมพ์คนละปี)
  • แยกหนังสือเก่าออกเป็นลักษณะของ "หอจดหมายเหตุ" ไปเลยก็มีหลายห้องสมุดทำ เพราะจะได้มีการจัดเก็บอย่างดี ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การสร้างห้องลดความชื้น ควบคุมอุณหภูมิ ที่สิ่งอื่น ๆ ที่มีปฎิกิริยาต่อกระดาษในตัวเล่มหนังสือ
  • ใช้เครื่องสแกนเนอร์ ค่อยสแกนเก็บในลักษณะของไฟล์ดิจิทัล (เมืองนอกมีใช้ครับ)
  • ใช้กล้องดิจิทัลตั้งแท่น Copy บันทึกภาพเก็บทีละหน้า

ซึ่งสิ่งที่เราสามารถจะทำได้เหล่านี้แบบดูใหญ่โต คือ จัดทำโครงการไปเลย อะไรแบบนี้ครับ

โห ... ยาว ... ขอบคุณครับท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ ที่ทำให้ฝึกคิด อิ อิ ;)

สบายดีนะครับ คุณ ครูข้างถนน / ขุนเขา ฯ ;)...

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันเช่นเคยครับ

สวัสดีคะอาจารย์ wasawat :-)

การยอมรับและอยู่กับความต่างอย่างปกติสุข
เป็นศิลปะการดำรงชีวิตที่สำคัญจริงๆ คะ
สงคราม ความขัดแย้ง จราจล..คงไม่เกิด
หากเราต่าง..
"ยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง
 และ
 เปิดใจกว้างยอมรับความต่างของคนอื่นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า"

สวัสดีค่ะอาจารย์

รักกันไม่ใช่เรื่องยาก แต่การรักษาความรู้สึกที่ดีเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดยากกว่า

ชอบมากค่ะ

รู้ตัวว่ารักษาความรู้สึกที่ดีเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดนั้นยากมากกกกกกกกก

ก็เลยไม่มีความรู้สึกที่ดีที่จะรักษาซะงั้น

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับ คุณ Natcha Chalermklang ;)

น่าจะมีสักเรื่องนะครับที่น่ารักษาเอาไว้นาน ๆ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท