006 : พายุ 'นาคเล่นน้ำ' : สะพานเชื่อมนภา & วารี


 

พายุนาคเล่นน้ำที่เกาะหวาย ถ่ายโดยนักท่องเที่ยวชาวไทย(ภาพจาก forwarded e-mail - กำลังสืบหาที่มา)

แวะชมภาพฉบับเต็มได้ที่

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=noumy&date=13-04-2007&group=1&gblog=40 หรือที่

 http://fwmail.teenee.com/strange/2686.html หรือที่

http://picpost.mthai.com/view_picpost.php?cate_id=36&post_id=321407

 

 

New!

Movie Clips : นาคเล่นน้ำ 


 

 

 

ใครที่อยู่ใกล้ทะเล หรือไปเที่ยวทะเลบ่อยๆ อาจจะเคยเห็นปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจที่มักเรียกกันว่า "พายุงวงช้าง" อย่างในช่วงสงกรานต์ปี 2548 ก็มีปรากฏการณ์นี่เกิดขึ้นและเป็นข่าวในบ้านเรา โดยข่าวระบุว่า

 



ที่มา : นสพ. ไทยรัฐ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17251  วันศุกร์ที่ 15 เมษายน 2548 หน้า 1

 “พายุงวงช้าง ที่เกิดขึ้นกลางทะเลอันดามัน ห่างชายฝั่ง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กม. ถูก 2 ช่างภาพสมัครเล่นบันทึกภาพเหตุการณ์ระทึกขวัญเอาไว้ได้ … โดยมีนักกอล์ฟที่สนามกอล์ฟค่ายรัตนรังสรรค์เห็นเหตุการณ์หลายสิบคน โดยนายอำนวย เจริญวิภาสเจต อายุ 52 ปี  ระบุว่า เห็นท้องฟ้ามืดครึ้ม จึงมองออกไปในทะเล พบเส้นสีเทาหมุนเป็นเกลียวพุ่งจากท้องฟ้าลงไปในทะเล เกิดเป็นเกลียวหมุนอย่างรวดเร็วดูดน้ำทะเลขึ้นไปบนอากาศแบบเดียวกับพายุทอร์นาโดในสหรัฐอเมริกา ทำเอาคนในสนามกอล์ฟพากันวิ่งหนีจ้าละหวั่น แต่ก็มีนายพรชัย เอี่ยมโสภณ และนายสรายุทธ สุทธิวงษ์ ผู้ดำเนินรายการของสถานีวิทยุชุมชมระนอง บันทึกภาพปรากฏการณ์พายุงวงช้าง ซึ่งกินเวลานาน 20 นาทีไว้ได้ โดยพายุดังกล่าวไม่ได้พัดเข้าสู่ชายฝั่ง และสลายตัวไปในอากาศเอง”

(ข่าวจาก นสพ.และเว็บไซต์ของไทยรัฐ)

 

เท่าที่ผมทราบจากผู้ที่เคยเห็น และอ่านจากเว็บ เข้าใจว่าเคยมีคนเห็นอีกหลายแห่ง เช่น ในทะเลจังหวัดตราด และได้นำไปโพสต์ไว้ในเน็ต โดยเรียกว่า ‘พายุงวงช้าง’ เหมือนข่าวจากหนังสือพิมพ์ครั้งนี้

อย่างไรก็ตามผมขอให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่า พายุหมุนแบบนี้จะเรียกว่าพายุงวงช้างก็ไม่ผิด แต่ชื่อเรียกที่ชัดเจนกว่าคือ นาคเล่นน้ำ หรือ พวยน้ำ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า waterspout
        

‘นาคเล่นน้ำ’ มาจากไหน? ทำไมจู่ๆ จึงเกิดท่อเชื่อมผืนฟ้าและพื้นน้ำขึ้นมาได้? 
        


นักอุตุนิยมวิทยาบอกว่า นาคเล่นน้ำมี 2 แบบ ได้แก่

แบบแรก : เป็นพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ (ซึ่งอาจจะเป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแอ่งน้ำใดๆ) โดยพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ (supercell thunderstorm) และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone)  พายุนาคเล่นน้ำแบบนี้จึงเรียกว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (tornadic waterspout) ซึ่งใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง ทวิสเตอร์ (Twister) คงพอจะนึกภาพออก เพราะมีอยู่ฉากหนึ่งที่มีทอร์นาโดหลายงวงอาละวาดอยู่ในน้ำ
 

แบบที่สอง : แบบนี้เกิดบ่อยกว่า และน่าจะตรงกับกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา (เพราะตามข่าวดูเหมือนจะไม่มีฝนฟ้าคะนองร่วมด้วย) เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูง และไม่ค่อยมีลมพัด (หรือถ้ามีก็พัดเบาๆ เอื่อยๆ) ผลก็คือ อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป แบบนี้เรียกว่า นาคเล่นน้ำของแท้ (true waterspout) หรือ นาคเล่นน้ำที่เกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร (fair-weather waterspout)


จุดแตกต่างระหว่างนาคเล่นน้ำทั้งสองแบบนี้ก็คือ

นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโดจะเริ่มจากอากาศหมุนวน (ในบริเวณเมฆฝนฟ้าคะนอง) แล้วหย่อนลำงวงลงมาแตะพื้น คือ อากาศหมุนจากบนลงล่าง

ส่วนนาคเล่นน้ำของแท้นั้น จะเริ่มจากอากาศหมุนวนบริเวณผิวพื้นน้ำ แล้วพุ่งขึ้นไป คือ อากาศหมุนจากล่างขึ้นบน

 

ในช่วงที่อากาศพุ่งขึ้นเป็นเกลียววนนี้ หากน้ำในอากาศยังอยู่ในรูปของไอน้ำ เราจะยังมองไม่เห็นอะไร แต่หากอากาศขยายตัวและเย็นตัวลงถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นท่อหรือ ‘งวงช้าง’ เชื่อมผืนน้ำและเมฆ
 

  

ซ้าย :ในการก่อตัวระยะแรก จะยังไม่เห็นลำของพายุ แต่จะปรากฏบริเวณสีเข้ม (dark spot) บนผืนน้ำ

ขวา : เมื่อก่อตัวเต็มรูปแบบ จะเห็นเป็นลำอย่างชัดเจน เนื่องจากไอน้ำควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ สังเกตการหมุนวนของพื้นผิวน้ำเป็นเกลียว ในภาพเป็นพายุนาคเล่นน้ำที่เกิดที่ฟลอริดา คียส์ (Florida Keys) ในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1969

 
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ลำพายุจะเอียง และมีฝนตกไล่ตามมาทางด้านหลัง ทำให้อากาศเย็นลง และนาคเล่นน้ำจะสลายไปอย่างรวดเร็ว

 

พายุนาคเล่นน้ำส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่ยาวมากถึง 600 เมตร ก็เคยพบ เส้นผ่านศูนย์กลางก็ตั้งแต่เล็กๆ แค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร

ในนาคเล่นน้ำแต่ละตัว อาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที (ลองเปรียบเทียบกับพายุทอร์นาโดซึ่งมักจะยาวประมาณ 100-300 เมตร และหมุนวนเร็วกว่าคือ 40-150 เมตรต่อวินาที) กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย
 

 
ภาพวาดแสดงเรือใบ Trombes ขณะกำลังเผชิญอันตรายจากพายุนาคเล่นน้ำที่มากันโขยง
(ภาพจาก Les Meteores, Margolle et Zurcher, 3rd Ed., 1869)

ภาพวาดแสดงขั้นตอนการเกิดพายุนาคเล่นน้ำจากตำราอุตุนิยมวิทยาสมัยก่อน ชื่อ A Treatise on Meteorology โดย Elias Loomis, New York, Harper & Brothers, 1880

(สังเกตว่า ความเข้าใจกลไกการเกิดพายุนาคเล่นน้ำในสมัยนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะภาพนี้ทำให้เข้าใจไปว่า อากาศหมุนจากเมฆด้านบนลงสู่พื้น แต่ภาพนี้แสดงให้เห็นว่า ฝรั่งบันทึกความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว)

 

นอกจากหมุนวนรอบตัวเองแล้ว นาคเล่นน้ำยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับชาวเรือว่า ให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม (ซึ่งอาจโชคดีหนีได้ทัน)

อย่างไรก็ดี พายุนาคเล่นน้ำมีอายุไม่ยืนยาวนัก คืออยู่ในช่วง 2-20 นาที (แต่นานถึง 30 นาทีก็เคยพบ) และหากนาคเล่นน้ำขึ้นฝั่ง ก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว

นาคเล่นน้ำมักจะเกิดพร้อมๆ กันคราวละหลายตัว คือ มากันเป็นครอบครัว ตามสถิติที่ค้นได้พบว่า เคยเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 7 ตัว ที่เกรทเลคส์ (Great Lakes) ตามแนวพรมแดนระหว่างแคนาดากับอเมริกา ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า เหตุการณ์นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 (The Great Waterspout Outbreak of 2003) เพราะมีนาคเล่นน้ำปรากฏโฉมถึง 66 ตัว (เป็นอย่างต่ำ) ในช่วงเวลามหัศจรรย์ 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม ค.ศ. 2003
       
        
     
นาคเล่นน้ำอาจมาเป็นคู่ (หรือมากกว่านี้ก็มีบ่อยๆ)
       

        
        แผนผังแสดงตำแหน่งที่เกิดนาคเล่นน้ำที่เกรทเลคส์ ในช่วงที่เหตุการณ์นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี ค.ศ. 2003

 

ส่วนในเขตประเทศอเมริกาเองนั้น นาคเล่นน้ำมักจะเกิดแถวๆ ฟลอริดาในบริเวณที่เรียกว่า ฟลอริดาคียส์ (Florida Keys) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ทำให้บางคนสันนิษฐานว่า นาคเล่นน้ำอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินและเรือจำนวนมากสูญหายไปในบริเวณสามเหลี่ยมลึกลับนี้ก็เป็นได้
   
 
รู้จักนาคเล่นน้ำกันไปแล้ว เลยอยากแถมพายุงวงช้างอีกแบบหนึ่งที่เคยเกิดในบ้านเรา เพราะมีบันทึกอยู่บนปกของวารสารวารสารอุตุนิยมวิทยาฉบับหนึ่ง (โปรดดูภาพประกอบ) โดยในหน้าสารบัญ ให้ข้อมูลสั้นๆ เพียงว่า “พายุฤดูร้อนรูปงวงช้าง ที่ก่อตัวขึ้นกลางท้องนา จังหวัดพิษณุโลก”

 
ปกวารสารอุตุนิยมวิทยา ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2546

ในกรณีนี้ ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้

  • หากพายุนี้เกิดขึ้นพร้อมกับพายุฤดูร้อนจริง พายุนี้ก็ควรเรียกว่า พายุทอร์นาโด เหมือนในต่างประเทศ เพราะเมฆที่ให้กำเนิดพายุจะต้องเป็นเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) หรือ เมฆฝนฟ้าคะนอง แต่จะต้องเป็นฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก และเกิดเมโซไซโคลน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว (แต่ดูเหมือนจะไม่มี)
  • แต่หากไม่ใช่พายุทอร์นาโด ก็ต้องดูพื้นผิวของบริเวณที่เกิดงวงช้าง ซึ่งถ้าเป็นผืนน้ำ พายุนี้ก็คือ พายุนาคเล่นน้ำของแท้นั่นเอง แต่หากเป็นพื้นดิน พายุนี้จะเรียกว่า แลนด์สเปาท์ (landspout) (ผมค้นชื่อไทยไม่พบ แต่จะเรียกว่า นาคเล่นดิน ก็ยังไงๆ อยู่) 

พายุแลนด์สเปาท์มีกลไกคล้ายกับนาคเล่นน้ำของแท้ กล่าวคือ เกิดจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนที่ผ่านพื้นดินที่ร้อนจัด เพราะถูกแดดแผดเผา อากาศก็เลยยกตัวลอยขึ้นไปและหมุนวนเป็นเกลียว (ดูจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ผมขอเดาว่า พายุบนปกวารสารเล่มนี้น่าจะเป็นแลนด์สเปาท์ เพราะไม่เห็นพื้นน้ำในภาพ)

ใครโชคดีมีโอกาสได้พบเห็นพายุนาคเล่นน้ำนี้ ก็ช่วยเล่าสู่กันฟังบ้าง และหากถ่ายภาพไว้ได้ ก็ลองส่งมาให้เพื่อนๆ ชมกันบ้างครับ

 


แนะนำขุมทรัพย์ทางปัญญา

  • ขอแนะนำบทความ  Water Twisters เขียนโดย Keith C. Heidon, PhD ใน The Weather Doctor Almanac 2002 ที่ http://www.islandnet.com/~see/weather/almanac/arc2002/alm02oct.htm 
  • สำหรับกรณีศึกษาในการเกิดเหตุการณ์นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 โปรดอ่านเรื่อง The Great Waterspout Outbreak of 2003 เขียนโดย Wade Szilagyi ใน Mariners Weather Log Vol. 48 No. 3 December 2004 ที่ http://vos.noaa.gov/MWL/dec_04/waterspout.shtml

 

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารสารคดี
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ Know How & Know Why กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน G2K เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการอภิปรายประเด็นนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

บันทึกที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

 



ประวัติของบทความ


คำสำคัญ (Tags): #waterspout#นาคเล่นน้ำ
หมายเลขบันทึก: 101100เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (39)

สวัสดีครับพี่ชิว

  • โห..ค้นได้สุดยอดเลยครับ
แต่...
  • ถ้าปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้น แล้วภาคเหนือ-อีสานร้อนกว่าที่เคยเป็นมา อาจได้เห็นกันบ่อย
  • แบบนั้นคงน่ากลัวนะครับ..

ขอบคุณครับ

ยังไม่เคยเห็นสักที 

แวะมาขอบพระคุณครับ...

  • ได้ยินมาว่า โลกเราจะมีพายุต่อปีมากขึ้น
  • ต่อไปเราอาจจะเห็นนาคเล่นน้ำ + นาคเล่นดินมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นได้
เพิ่งรู้จักชื่อนะคะเนี่ย เคยเห็นกับตาเลย ที่กลางทะเลค่ะ อืมม์ ประมาณ 4 ปีก่อน ระหว่างทางที่จากท่าเรือคุระบุรี ไปหมู่เกาะสุรินทร์ ด้วยเรือเร็ว ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. พอเรือออกไปได้สักครึ่งทาง เพื่อนสะกิดถามว่านั่นอะไรน่ะ  มองไป โอ้โห...นึกว่าทอร์นาโด จริงๆ นะคะ แต่เป็นสายยาวๆ ไม่ได้เป็นกรวยค่ะ ระยะไกลอยู่ เป็นสายจากพื้นน้ำจรดฟ้า จนมันสลายไปเองค่ะ ตื่นเต้นมาก เพิ่งรู้จริงว่าเขาเรียกว่า นาคเล่นน้ำ หรือ พายุงวงช้าง  ตอนนั้น ยังไม่มีกล้องดิจิตอลเลยค่ะ ถึงถ่ายก็คงมองไม่ชัดเพราะไกลพอสมควรค่ะ  ดีใจจังเคยมีประสบการณ์วิทยาศาสตร์ แบบทวิสเตอร์ (ชอบเรื่องนี้มากๆ )
อ้อ..ตอนเห็นเหตุการณ์ ฟ้าใส อากาศดีมากๆ ค่ะ ไม่มีฝนฟ้าคะนองใดๆ ทั้งสิ้น

สวัสดีครับพี่ชิว

  • ข้อมูลเพียบเลยครับ สุดยอดครับพี่
  • เห็นแล้ว จินตนาการไปถึง ปลาบินในระหว่างที่นาคาเล่นน้ำนะครับ
  • น่าจะลองทำการจำลองดูนะครับ คงน่าสนุกมากๆ ครับ
  • หากเราไม่มีป่าไม้เอาไว้เป็นกันชนพายุ ไม่มีป่าไม้ไว้เป็นฟองน้ำซับน้ำที่ไหล่บ่าลงมา
  • เราก็เจอปัญหาหลายๆ อย่างตามมา เช่น แกนภูเขา เพราะดินถูกชะล้างหมดครับ
  • หากต้องมีจำนวนพายุเพิ่มขึ้นต่อไป ป่าไม้เท่านั้นครับ ที่จะช่วยได้ ไม่ให้คนตายมากเกินไป ตอนนี้เรามีป่าไม่กันน้อยมากครับ
  • ต้นไม้คงช่วยอะไรไม่ได้มากเท่าป่าไม้ครับ แต่หากมีต้นไม้หลายๆ ต้นก็รวมๆ กันได้ครับ หวังว่าวันหนึ่งคงเห็นความสำคัญของป่ามากขึ้นครับ
  • ขอบคุณมากครับพี่

สวัสดีด้วยความระลึกถึงอย่างสูงค่ะ  อาจารย์บัญชา

อาจารย์เล่าเรื่องพายุงวงช้างด้วยถ้อยคำและภาพอย่างน่าระทึกใจมากเลยค่ะ    แค่ "อ่าน"  ดิฉันยังรู้สึกหวั่นๆเลย  จำได้ว่าเคยอ่านผ่านตา แต่ในกระดาษมันไม่เร้าใจเท่ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์ : )

คนตั้งชื่อภาษาไทยของพายุนี้ก็ช่างเก่งจริง  ตั้งชื่อเห็นภาพเลย....

ดิฉันติดใจอยู่ประโยคนึงค่ะอาจารย์

          "ฝรั่งบันทึกความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว..." 

ดิฉันอยากเห็นหนังสือฝรั่งหลายเล่มๆ  ที่ดิฉันจะมีโอกาสได้อ่านในวันหน้า  เขียนไว้อย่างนี้บ้างว่า 

          "คนไทยได้บันทึกความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว...."

ขออภัยที่ชาตินิยมจนออกนอกหน้าไปนิดอะค่ะ   : )

ข้อมูล ยอดจังเลย ค่ะ อาจารย์ รูปก็สวย

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับทุกท่าน

         รู้สึกดีใจที่ชอบบทความนี้ครับ ถ้าใครเคยเห็นและถ่ายรูปไว้ได้ก็ส่งมาให้ดูกันมั่ง :-)

         อาจารย์สุขุมาล (ดอกไม้ทะเล) :

         ผมลืมเขียนต่อไปในบทความว่า 'จริงๆ แล้วการที่คนไทยตั้งชื่อพายุนี้ว่า นาคเล่นน้ำ ก็แสดงว่าคนโบราณเคยเห็น และให้ความสำคัญระดับหนึ่ง'

         อย่างไรก็ดี ผมยังอยากจะเห็นหลักฐานเป็นบันทึกข้อความ หรือภาพวาด ที่อาจจะปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ คำบอกเล่า เรื่องเล่า หรือเพลงพื้นบ้าน เกี่ยวกับเรื่องนี้

         น้องเม้ง : จริงๆ แล้วมีคนทำ computer simulation ไว้แล้ว เป็นพายุ landspout แต่ตอนนี้เปิดดูไม่ได้ครับ ที่ 

          http://severewx.atmos.uiuc.edu/index.18.html

แล้วดูช่อง 2 และ 3 จากบน

         หุย : ถ้าคราวหน้าเจออีก อย่าลืมคว้ากล้องถ่ายไว้ เอาเป็น video clip ไปเลยครับ ;-)

 

ผมลืมเพิ่มไปอีกนิดว่า....

      กรณีเหตุการณ์ที่ฝนตกเป็นปลา กบ หรือสัตว์ตัวเล็กๆ นั้น มีคนสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นเพราะพายุนาคเล่นน้ำนี้หมุนพัดหอบสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ขึ้นไป เมื่อพายุอ่อนกำลังลง สัตว์เหล่านี้จึงตกกลับลงมาพร้อมฝน

      ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า บริเวณที่ฝนตกเป็นปลา หรือสัตว์ต่างๆ นั้น มักจะอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ (ที่อาจจะเกิดพายุนาคเล่นน้ำมาก่อนหน้านี้นั่นเองครับ)

      ใครมีคำอธิบายแบบอื่น ข้อมูลเสริม / ข้อมูลขัดแย้ง ก็เชิญมาร่วมวงได้ครับ ;-) 

  • มาทักทายพี่ชิวครับผม
  • พี่ชิวครับผมเคยเจอ ปลา และกบตกมาจากท้องฟ้า นานมาแล้ว
  • จำได้ว่าลมแรงและฝนตกลงมามากเลยครับผม
  • ขอบคุณครับ
ตามมาจากtktครับ   อยากเรียนถามว่าwater spout มันแรงแค่ไหนครับ  เรือตังเกไม้จะสู้ไหวมั้ย  เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กจนโตตอนออกทะเลไม่เกิน10ลูก      ไม่เคยโดนงวงจังๆ       ทุกครั้งที่เห็นแป๊บเดียว(10-20นาที)ก็สลายตัว    ระยะห่างก็ไม่มากคงซัก1-2ไมล์ทะเล(ยืนบนเรือประมงความสูงสายตาผมก็10ฟุตดังนั้นระยะขอบฟ้าก็3.6ไมล์ทะเลเห็นงวงห่างระยะค่อนๆเกือบถึงขอบฟ้า)พรรคพวกก็ไม่เคยพูดว่ากลัว       แต่ผมชักกลัว 

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต

         ใช่แล้วครับ เราจะเคยเห็น หรือเคยได้ยินแต่ปลา หรือกบ (อยู่ในน้ำ และตัวเล็กๆ) ตกลงมาจากฟ้า แต่จะไม่มี แมว หมู ม้า ช้าง หรือสัตว์ใหญ่ๆ ตกลงมาเลย ;-)

สวัสดีครับ คุณ boonrat

         ตามข้อมูลที่ผมค้นได้ และอ้างไว้ในบทความ

         "กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย"

         จึงคิดว่า หากเป็นช่วงที่นาคเล่นน้ำมีกำลังสูงสุด เรือขนาดไม่ใหญ่มากนัก ก็ไม่ปลอดภัยแน่นอนครับ

ขอบคุณครับ  ว่างจะมาเยี่ยมอีกครับ

ขอบคุณครับคุณบัญชา (ชื่อเดียวกันเลย) ผมยินดีให้มีการอ้างอิงภาพจาก Blog ของผมอย่างเต็มใจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนครับ

เจ้าของภาพถ่ายที่ลงอยู่หน้า web ชื่อ ๏ เ สี่ ย ๏ (n8m) อยู่ห้องกล้อง Pantip.com ครับ

ขอบคุณมากครับ คุณบัญชา (Noumy) (ชื่อเดียวกันเลย ^__^)

        เดี๋ยวผมจะลองตามไปดูใน pantip.com นะครับ

มีคำถามมาถามอาจารย์ชิวครับ

ผมอยู่ภาคตะวันออก ช่วงนี้ฤดูฝนมีโอกาสสังเกตุเมฆฝนได้บ่อยๆ จากที่สังเกตุเมฆฝนหลายๆ ครั้งที่มาเป็นกลุ่ม ถ้าเมฆฝนก้อนนั่นอยู่ตรงกับที่เราอยู่ฝนจะยังไม่ตกลงมา แต่พอเมฆฝนเคลื่อนตัวออกไปริมขอบๆ เมฆก็จะมีฝนตกลงมาเกือบทุกครั้ง บางครั้งเมฆฝนเคลื่อนตัวออกไปแล้วก็ยังมีฝนตกอีกสักพักหนึ่งไม่เกิน 10-20 นาทีแล้วแต่ความรุ่นแรงของพายุ ทำไมฝนถึงต้องตกตอนขอบๆ เมฆด้วยครับ ตอนแรกผมมาคิดดูน่าจะเป็นเพราะลมในช่วงที่อยู่ระหว่างเมฆกับพื้นดินพัดเม็ดฝนไปทำให้ฝนตกลงมาช้า แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นลมต้องพัดแรงมากจนองศาของเม็ดฝนทำมุมกับพื้นโลก แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอ บางครั้งเม็ดฝนก็ตกลงมาตรงๆ เฉยๆ เลยต้องหาคำตอบต่อไปครับ

สวัสดีครับ

         ตามความเข้าใจของผม เมฆฝนนี่อยู่สูงจากพื้นไม่มาก คือ ราวๆ 2 กิโลเมตรครับ แต่หากลมแรงในระยะจากฐานเมฆถึงพื้น ก็เป็นไปได้ครับที่ฝนจะตกลงมาเฉียงๆ

โห น่าตื่นเต้นจัง

ข้อมูลสุดยอดเลยค่ะ

แต่ที่บอกว่าเจอ 66 ตัวเนี่ย โห มากันทั้งตระกูลเลยนะคะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ค่ะ

^___^

สวัสดีครับพี่ชิว

  หวังว่าคงสบายดีนะครับ ไม่ได้ทักทายพี่ชิวเสียนานเลย เปิดร้านกาแฟแล้วยุ่งมากเลยครับ แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ

    เห็นหัวข้อบันทึกนี้แล้วเลยแอบมาดู เลยเห็นว่าธรรรมชาตินี่สร้างงานศิลปะชั้นยอดเสมอๆ ดูแล้วสวยไปอีกแบบครับ แต่ให้ไปอยู่ดูใกล้ๆคงขอตัวครับ อิอิ

    หวังว่าพี่ชิวคงสบายดีนะครับ ขอให้มีความสุขมากครับ แล้วจะแวะมาใหม่นะครับ

Hello เดอ

           ไม่ได้คุยกันนานเชียว ร้านกาแฟเป็นไงมั่งครับ มีเด็ก (หมายถึง ลูกน้อง น่ะ) ช่วยกี่คน หรือชงไปเก็บตังค์ไปครับ ;-)

            ตอนนี้พี่ก็คิดจะเปลี่ยนงานเช่นกัน ไว้ถ้าเป็นจริงขึ้นมาเมื่อไร จะเล่าให้ฟังครับ ^__^

P
สวัสดีค่ะ
ไม่เคยเห็นภาพอย่างนี้เลยค่ะ สวยมาก น่าชมมาก มหัศจรรย์จริงๆ

สวัสดีครับ คุณ sasinanda

         คนที่เคยเห็นมีอยู่จำนวนหนึ่งครับ ผมเคยคุยด้วยอยู่ 2 คน คนหนึ่งเป็นนักเดินทางที่ชอบไปเที่ยวทะเล เห็นมากกว่า 1 ครั้ง และให้ข้อมูลได้ละเอียดมาก

         อีกคนหนึ่งตอนเด็กๆ มีบ้านอยู่ติดทะเลครับ เป็นนักศึกษาสุภาพสตรีที่ ม. หอการค้าไทย เธอบอกว่าชาวบ้านแถบนั้นเห็นกันบ่อย แสดงว่า คนที่อยู่แถวๆ ชายทะเลบางแห่งน่าจะคุ้นเคยกันพอสมควรครับ

ผมอยากเห็นของจิงจังเลยครับ

  • น่ากลัวจัง
  • อยากเห็นจัง
  • อยากสร้างพายุเองจัง

อยากได้รูปเยอะๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ตามมารับความรู้เพิ่มเติมค่ะ
  • เห็นภาพแล้ว อยากเห็นของจริงสักครั้งในชีวิต แต่ไม่ดีกว่า กลัวความเสียหายที่จะตามมานะคะ
  • แต่จุดประกายให้อยากกลับไปมีเวลาอ่านนิยายวิทยาศาสตร์อีกแล้วค่ะ(โดยส่วนตัวแล้ว เรื่องหนักๆ ที่ถ่ายทอดผ่านนิทาน นิยาย จะซึมลึกได้ดีกว่าเรื่องที่เป็นสาระล้วนๆ นะค่ะ) สมัยเด็กๆ จะชอบอ่านเรื่องลึกลับที่มีการยืนยันว่าพิสูจน์ แต่จริงไหมไม่รู้นะคะ อย่างเรื่องในนิตยสารต่วยตูน และชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์นะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับ น้องกวิน

        เคยเห็นแต่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) ครับ ได้ถ่ายภาพและคลิปวิดีโอไว้ด้วย (แต่ดุเหมือนจะเล่นใน G2K ไม่ได้) ส่วนน้องๆ ราชมงคลที่ก็เก่งจัง สร้างเองได้ด้วย

        ข้อมูลที่ทางราชมงคลเขียนเอาไว้มาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ครับ เพราะทอร์นาโด (tornado) เกิดจากเมฆแบบพิเศษที่เรียกว่า ซูเปอร์เซลล์ (supercell) เป็นเมฆคิวมูโลนิมบัสหลายๆ อันมาเรียงต่อก้น

        ส่วนข้อแตกต่างระหว่างทอร์นาโด (tornado) และนาคเล่นน้ำ (waterspout) ก็คือ

        ทอร์นาโดหมุนจากเมฆลงแตะพื้น

        นาคเล่นน้ำหมุนจากพื้นขึ้นสู่ฟ้าครับ

        เอาไว้จะหาภาพเปรียบเทียบให้ดูอีกที

สวัสดีครับ คุณ P ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

        เกือบลืมตอบ...เพราะข้อมูลของน้องกวินบังเอาไว้...แหะ..แหะ

        ผมก็เป็นแฟนต่วย'ตูนพิเศษ เหมือนกันครับ ส่วนนิตยสารวิทยาศาสตร์ที่อ่านมากหน่อยก็ ทักษะ มิติที่สี โลกวิทยาศาสตร์ โนวา ฯลฯ

สวัสดีค่ะอาจารย์
ลิงค์ที่เข้าไปดูแจ้งไม่พบค่ะ
(New! Movie Clips : นาคเล่นน้ำ)

  • ตามมาดูนาคอีกที ติดใจมากเลยค่ะ
  • นาคมาเป็นคู่ เค้าน่ารักดีค่ะ ถ้ามีหัวใจแปลว่าคู่แท้นะคะ

สวัสดีครับ

         เรื่องลิงค์นี่ ขอเวลาสักพักจะเข้าไปแก้ไขให้นะครับ สงสัยต้นทางอาจจะเอาออกไปแล้ว (อาจจะหาลิงค์ใหม่ให้)

         นาคเล่นน้ำนี่มักจะมาพร้อมกันทีละหลายๆ ตัวครับ คือ มาเป็นครอบครัวเลย แต่คนที่เคยเห็นของจริงบอกว่า จะอยู่นานไม่เกิน 1/2 ชั่วโมงครับ

         ผมเองก็อยากเห็นนาคเล่นน้ำจริงๆ เหมือนกัน

น่ากลัวมากเลยค่ะอยากเห็นภาพที่น่ากลัวกว่านี้ได้ไหมค่ะ

ภาพเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 เกิด17.05-17.35 น. หาดบานชื่น จ.ตราด

http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=tmet20&id=964

สวัสดีครับ

        คุณ kco : ไม่มีภาพที่น่ากลัวกว่านี้ครับ...แหะ..แหะ

        คุณจักรพงษ์ : ได้แวะไปชมแล้ว ยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ ถ่ายไว้ได้หลายภาพเลย

Thankyou for yet another amazing article. The spot may simply anybody get that kind of advice such an perfect way of creating? I’ve got a demonstration every week, also I’m looking for this particular advice.I’m very satisfied to get visited your page and then anticipate so a lot more interesting times . Thank you for the information

http://www.lavoroecarriere.net/why-use-a-web-site-block-in-your-company/

I recommend only good and reliable information, so see it:

http://www.lavoroecarriere.net/why-use-a-web-site-block-in-your-company/

I recommend only good and reliable information, so see it:

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท