001 : รู้ได้อย่างไรว่า เอลนีโญ (El Nino) กำลังมาเยือน?


แม้ว่าเอลนีโญจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะบางบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปได้แทบทั่วโลก ไม่ว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมในเปรู หรือ ความแห้งแล้งและไฟป่าในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

บ้านเราเจอปัญหาภัยแล้งเป็นระยะ อย่างเมื่อปี 2545 ก่อนก็โดนเข้าไปถึง 47 จังหวัด และยิ่งถ้าปีไหน เอลนีโญมาเยือนด้วยแล้วล่ะก็ จะสร้างความเสียหายให้แก่ภาคการเกษตรได้ในระดับหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว (พอ ๆ กับค่าโง่’ ของอภิมหาโครงการต่างๆ เชียวนะครับ...แหะ..แหะ)

เอลนีโญ (El Nino) เป็นปรากฏการณ์ที่ผิวน้ำทะเลทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน (แถบชายฝั่งประเทศเปรูและเอกวาดอร์ในอเมริกาใต้) อุ่นขึ้นกว่าปกติ และน้ำอุ่นนี้แผ่ขยายกว้างไกลออกไปถึงกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนและคงอยู่เป็นเวลานาน

เงื่อนไขการเกิดเอลนีโญ

ประเด็นที่น่าฉงนก็คือ แม้เอลนีโญจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะบางบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปได้แทบทั่วโลก ไม่ว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมในเปรู หรือ ไฟป่าและความแห้งแล้งในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ส่วนบ้านเราก็อาจโดนหางเลขเข้าไปด้วย เพราะเอลนีโญจะทำให้ปริมาณฝนโดยรวมลดลง และทำให้ทุกภาคร้อนขึ้น               

เอลนีโญ เป็นภาษาสเปน แปลว่า เด็กชาย (The Boy Child ) กำเนิดของชื่อนี้มาจากการที่ชาวประมงในแถบชายฝั่งของอเมริกาใต้ต้องการบ่งถึงพระเยซู (The Christ Child) เพราะเอลนีโญมักจะเกิดในช่วงคริสต์มาส

เอลนีโญจะเกิดทุกๆ 4 ปี โดยเฉลี่ย (แต่อาจหดเหลือแค่ 2 ปี หรือยืดออกไปถึง 7 ปี ก็เป็นไปได้) และจะอยู่ต่อเนื่องประมาณ 12-18 เดือน โดยสภาพการเปลี่ยนแปลงจะวงจรสลับไปสลับมาระหว่าง เอลนีโญ  สภาวะปกติ และลานีญา (ลานีญา (La Nina) เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ กล่าวคือ ผิวน้ำทะเลบริเวณแถบตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเย็นลงกว่าปกติ)

ประเด็นสำคัญที่มักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ นักวิทยาศาสตร์รู้ล่วงหน้าได้ยังไงว่าเอลนีโญ (หรือลานีญา) กำลังมาเยือนอีกครั้งหนึ่งแล้ว?

การตรวจจับสัญญานเอลนีโญและลานีญานี้มีองค์กรหลายแห่งเกาะติดสถานการณ์อยู่ แต่องค์กรระดับแนวหน้าเห็นจะเป็น องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Ocean and Atmospheric Administration) หรือ โนอา (NOAA) ของสหรัฐอเมริกา               

ระบบที่ NOAA ใช้เป็นกลุ่มทุ่นลอยประมาณ 70 ทุ่น ตรึงอยู่กับที่ และครอบคลุมพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิก ระยะความลึกจากผิวน้ำถึงก้นมหาสมุทรของแต่ละทุ่นจะอยู่ในช่วง 2-5 กิโลเมตร กลุ่มทุ่นตรวจจับสัญญาณเหล่านี้ มีชื่อเรียกว่า TAO/TRITON Buoy Array

ทุ่นลอยตรวจจับสัญญาณเอลนีโญ TAO array ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ทุ่นแต่ละทุ่นจะคอยตรวจวัดอุณหภูมิใต้ผิวน้ำ ทิศทางของกระแสน้ำทะเล รวมทั้งทิศทางและความเร็วลมเหนือผิวน้ำ แล้วส่งข้อมูลที่ได้ไปยังระบบดาวเทียมที่ชื่อว่า อาร์กอส (Argos satellite system) วันละหลายครั้ง ดาวเทียมกลุ่มนี้มีเส้นทางโคจรผ่านขั้วโลกเหนือ-ใต้ของโลก

นอกจากนี้ ยังมีระบบ AVHRR ซึ่งใช้ดาวเทียม 4 ดวงของ NOAA คอยตรวจวัดอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเล และดาวเทียม TOPEX ของ NASA ซึ่งสามารถวัดระดับความสูงของผิวน้ำทะเล มาประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น               

ดาวเทียม TOPEX

ภาพข้อมูลจากดาวเทียมแสดงสภาวะเอลนีโญ 

ส่วนการตรวจวัดแบบอ้อมๆ นั้น จะใช้ข้อเท็จจริงที่ว่า เอลนีโญ มีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่เรียกว่า เซาท์เทิร์นออสซิลเลชัน (Southern Oscillation) (คำว่า southern = ทางตอนใต้ + oscillation = การสั่น) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศ ณ ระดับน้ำทะเลในแถบเขตร้อน กล่าวคือ ถ้าความกดอากาศแถบตอนกลางของมหาสมุทร (เช่น แถว ๆ เกาะตาฮิติ) สูงขึ้น ความกดอากาศของแถบตะวันตก (เช่น แถว ๆ ออสเตรเลียตอนเหรือ) ก็จะลดลง และสวนทางกลับกันไปมาอย่างนี้ โดยจะพูดถึงด้วยดัชนี้ที่เรียกว่า SOI (Southern Oscillation Index) ซึ่งถ้าค่า SOI ติดลบมาก  ๆ ก็จะสอดคล้องกับเอลนีโญ

การจับสัญญานเอลนีโญแบบธรรมมดาไม่ต้องพึ่งไฮเทคก็มีนะครับ อย่างชาวประมงเปรู ซึ่งจะมีปลาแอนโชวี่ (anchovies) ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจเป็นตัวบ่งชี้ เพราะถ้าน้ำอุ่นขึ้น ปลาชนิดนี้จะไม่ชอบ เนื่องจากอาหารลดลง และจะหนีไปบริเวณที่น้ำเย็นกว่า เรียกว่า หนีร้อนไปพึ่งเย็นก็คงจะพอกล้อมแกล้มไปได้ ชาวประมงก็จะถือโอกาสช่วงนี้ซ่อมแห อวน และเรือของตน        

ส่วนนักวิชาการที่ศึกษาระบบนิเวศในมหาสมุทร ก็อาจจะสังเกตสภาพของปะการัง โดยเมื่อไรที่เกิดเอลนีโญ น้ำทะเลก็จะอุ่นขึ้นและทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังเกิดการฟอกขาว (อย่างไรก็ดี การฟอกขาวของปะการังอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น โดนรังสียูวี หรือน้ำจืดมากขึ้นเพราะมีฝนตกในปริมาณ เป็นต้น)

อลนีโญมาทีไรก็เป็นประเด็นร้อนๆ ที่ไม่แพ้ประเด็นทางการเมืองแน่นอนครับ

 

ที่มา : หนังสือ Know How & Know Why ลมฟ้าอากาศ เขียนโดย บัญชา ธนบุญสมบัติ, สนพ. สารคดี 

หนังสือ Know How & Know Why ลมฟ้าอากาศ

หมายเลขบันทึก: 73442เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ไม่มีคนมาดูเลยสงสัยไม่อยากฉลาด น่าสนใจขอบคุณสำหรับข้อมูลงับ

สวัสดีครับ คุณ 'คนดูคนที่ 1'

          ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม และทิ้ง comment เอาไว้นะครับ

          อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีการอ่านไปทั้งหมด 121 ครั้งแล้วครับ (ดู สถิติที่ใต้ภาพหนังสือ ลงมาอีก 2 บรรทัด) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่มากเท่าไร

          ถ้าอยากรู้ หรืออยากเล่าเรื่องอะไรก็ลองเขียนมาบอกหรือมาแลกเปลี่ยนกันได้เสมอครับ :-) 

แล้ว เอลนีโญ ของทาทา อ่ะคะ เหมือนกันรึเปล่าคะพี่ชิว

อำเล่นนะคะ

เรื่อง แสงเหนือแสงใต้ ก็น่าสนใจนะคะพี่ชิว

เป็นปรากฎการณ์ที่น่าทึ่งอีกอย่างนึง แต่เสียอย่างเดียวบ้านเรามองไม่เห็น

เรื่องแสงเหนือ-แสงใต้ (aurora) นี่ภาพสวยมากครับ ไว้จะหาโอกาสพูดถึงซะหน่อย

เอ...หรือ เอ๋ จะลงมือลุยเอง? ^__^ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท