“ชาใบหม่อน” เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่ยากจะปฏิเสธ? 1/


เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่ยากจะปฏิเสธ

ชาใบหม่อนเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่ยากจะปฏิเสธ?

 

โดย วิโรจน์  แก้วเรือง 1/

 

                                                ชาใบหม่อน สมุนไพรจากใบหม่อน เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน ตั้งแต่ปี พ.. 2540 และเปิดหลักสูตรการทำชาใบหม่อน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นมาทำให้ชาหม่อนหรือชาใบหม่อนแพร่หลายเพราะรสชาติและคุณสมบัติที่ดีของหม่อนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งดื่มได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น

                                                เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าใบหม่อนมีสารดีอ็อกซิโนจิริมายซิน (Deoxynojirimycin) ซึ่งสารนี้มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด มีสาร กาบา (GABA – gamma amino butyric acid) ที่มีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต และสาร ฟายโตสเตอรอล  (Phytosterol) ที่มีประสิทธิภาพในการลดความระดับคอเลสเตอรอล ที่กล่าวนี้เป็นผลงานวิจัยของ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไทย อังกฤษ โรมาเนีย และอินเดีย ต่อมานักวิทยาศาสตร์ชาวไทยและชาวญี่ปุ่นยังพบว่าใบหม่อนมี แร่ธาตุ และวิตามิน ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยรวมสูงกว่าใบชา อาทิ แคลเซียม โปแตสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม เหล็ก  สังกะสี  วิตามินเอ วิตามินบี อีกทั้งยังมี กรดอะมิโน ที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด ชาวอีสานได้ใช้ใบหม่อนปรุงอาหารแทนผงชูรส และเป็นส่วนประกอบของอาหารพื้นบ้านได้หลายชนิด เช่น ต้มยำ แกงอ่อม และผักเคียง ฯลฯ มาเป็นเวลาช้านานแล้ว ปัจจุบันชาใบหม่อนได้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เช่น ไอศกรีมชาเขียวใบหม่อน เค้กชาใบหม่อน คุกกี้ใบหม่อน บะหมี่ใบหม่อน

                                                ใบหม่อนยังมีประโยชน์อีกมาก  ดังจะเห็นได้จากมีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อยมา  ตั้งแต่ชาใบหม่อนได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันโดยทั่วไป เกษตรกร และผู้ประกอบการ สามารถยึดเป็นอาชีพได้ อีกทั้งสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของหลาย ๆ จังหวัด มีการเติบโต อย่างต่อเนื่องทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ใบหม่อนหรือชาใบหม่อนได้กว้างขวางมากขึ้น ผมและคณะผู้ร่วมวิจัยทั้งจากสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ และ ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ อาจารย์รัตติยา สำราญสกุล จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้วิเคราะห์หาสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ ที่มีสรรพคุณทางเภสัชศาสตร์ ในปี พ.. 2543 – 2545 พบว่า ในใบหม่อนมีสาร เควอซิติน (quercetin) และ เคมเฟอรอล (kaempferol) ซึ่งเป็นสารกลุ่ม  ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่มีคุณสมบัติดังนี้

 1.      ป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก

2.      ทำให้กระแสเลือดหมุนเวียนดี  และหลอดเลือดแข็งแรง

3.      ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด  มะเร็งเต้านม  และมะเร็งลำไส้ใหญ่

4.      ลดอาการแพ้ต่าง ๆ และยืดอายุเม็ดเลือดขาว

5.      สารทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้เล็กและไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ

6.      พืชใช้สารเหล่านี้เพื่อให้ทนต่อลม ฝน  แสงแดด  ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ต้องอาศัยจากพืช

                     นอกจากนั้นยังพบสารโพลีฟีนอลโดยรวม  (polyphenols) ซึ่งมีฤทธิ์ด้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสำคัญ 2 ชนิด  ที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นที่น่าสังเกตว่า  สารสำคัญเหล่านี้จะพบมากในใบหม่อนส่วน ยอด  มากว่า  ใบอ่อน  และพบในใบอ่อนมากกว่าใบแก่  ดังนั้นการจำหน่ายชาใบหม่อนที่ทำจากส่วนยอดควรมีราคาสูงกว่าชาใบหม่อนที่ทำจากใบอ่อน และใบแก่ตามลำดับ การปลูกหม่อนในสถานที่ต่างกันก็ทำให้สารสำคัญที่ได้แตกต่างกัน เช่นเดียวกับพันธุ์หม่อน ปัจจุบันพบว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 (บร.60) และพันธุ์นครราชสีมา 60 (นม.60) เป็นพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูงกว่าหม่อนพันธุ์เมือง การผลิตชาใบหม่อนในรูปของชาเขียวทั้งการผลิตแบบครัวเรือนและโรงงานจะให้ปริมาณสารเควอซิติน เคมเฟอรอล และโพลีฟีนอลโดยรวมสูงสุด ดังนั้นการผลิตชาใบหม่อนควรผลิตด้วยกระบวนการผลิตชาเขียว และใช้วิธีการนึ่งหรือผ่านไอน้ำเดือดเป็นเวลา 1 – 2 นาที แทนวิธีการเดิมที่เคยแนะนำให้ลวกน้ำร้อน 20 วินาทีแล้วจุ่มน้ำเย็นทันที เนื่องจากวิธีนี้สารออกฤทธิ์ในใบหม่อนจะสูญเสียไปส่วนหนึ่ง

                 การชงชาใบหม่อน ด้วยน้ำร้อน 80 – 90 องศาเซลเซียส จะรักษาปริมาณสารออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด แล้วทิ้งไว้ 6, 12, 30 และ 60 นาที พบว่าน้ำชาที่ชงทิ้งไว้นาน เช่น 60 นาที จะมีสารเควอซิตินและเคมเฟอรอล  มากกว่าการชงชาใบหม่อนในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ปริมาณโพลีฟีนอล ไม่แตกต่างกันอีกทั้งการชงชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนจะทำให้สารสำคัญละลายออกมาได้ดีกว่าการชงด้วยน้ำเย็น ดังนั้นถ้าจะดื่มชาใบหม่อนควรชงชาใบหม่อนไว้นานอย่างน้อย 6 นาที ก่อนดื่ม จะได้คุณค่าทางโภชนาการและเภสัชวิทยา

                   ต่อมา พ.. 2545 นางสาวสิริพรรณ  ตั้งสิริกุลชัย และนางสาวอัญชลี  ทิมเสถียร  นักศึกษา  ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร  ลาดกระบัง  พบว่าชาใบหม่อนมีปริมาณสารโพลีฟีนอลโดยรวมน้อยกว่าใบหม่อนสด  ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเกิดออกซิไดซ์หรือโพลีเมอร์ไรซ์  ของสารประกอบฟีนอลลิค  ขณะผ่านกระบวนการผลิต ได้มีการนำน้ำชาที่ได้จาก  ชาเขียวใบหม่อน ไปทำการฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอไรเซชั่น (Pastrurization) ที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แล้วนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 0,3,6,9,12 และ 15 วัน พบว่าน้ำชาใบหม่อนพร้อมดื่มทั้งหมดยังคงมีความใส แสดงว่าการพาสเจอไรซ์ที่ระดับนี้ สามารถทำลายเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้นานอย่างน้อย  15  วัน

               น้ำชาเขียวใบหม่อนที่เก็บรักษาไว้  3 วัน  มีคุณภาพดีเช่นเดียวกับน้ำชาที่ชงเสร็จใหม่ ๆ (0 วัน)ทั้งด้าน สี กลิ่น รสชาติ และความใส ส่วนที่เก็บไว้ 6 วัน ยังคงมีสภาพค่อนข้างดี ไม่แตกต่างจาก 0 วัน และ 3 วัน มากนัก  แต่ที่เก็บไว้  9  วัน  เป็นต้นไป  มีคุณภาพไม่ค่อยดีเนื่องจากน้ำมีสีเข้มขึ้น แต่กลิ่นน้อยลง เช่นเดียวกับปริมาณสารสำคัญในชาเขียวใบหม่อนพร้อมดื่มที่เก็บไว้ 0 – 6 วัน มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยและที่มีอายุการเก็บรักษาไว้นาน 9 วัน ก็ยังคงมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นชาเขียวใบหม่อนพร้อมดื่มควรมีอายุการเก็บรักษาไม่เกิน 9 วัน ผู้วิจัยได้แนะนำว่าการผลิตชาเขียวใบหม่อนพาสเจอไรซ์พร้อมดื่มเพื่อจำหน่ายเป็นการค้าควรปรับปรุงคุณภาพด้านกลิ่น โดยสกัดกลิ่นแยกออกมาก่อน แล้วน้ำกลิ่นไปเติมภายหลัง และปรับปรุงคุณภาพด้านสีด้วยการเติมวิตามินซี เพื่อช่วยไม่ให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้สีไม่เข้มขึ้น

                ในปีเดียวกัน นางสาวรัตนาภรณ์ บุญจรัส  นักศึกษา  สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาถึงการยับยั้งฤทธิ์การกลายพันธุ์ของแมลงหวี่ ที่เกิดจาก         ยูรีเทน ด้วยชาใบหม่อน ทั้งการผลิตแบบ  ชาเขียว  ชาจีน  และชาฝรั่ง  พบว่า  การสกัดสารจากชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนแล้วนำไปผสมกับอาหาร + ยูรีเทน (สารก่อการกลายพันธุ์) ก่อนใช้เป็นอาหารของหนอนแมลงหวี่ พบว่า ชาใบหม่อน  แบบ ชาเขียว ชาจีน  และชาฝรั่ง ลดการก่อกลายพันธุ์ได้  61.01% 59.23% และ56.99%  ตามลำดับ  และอีกการทดลองหนึ่งให้หนอนแมลงหวี่กินอาหาร + น้ำชาใบหม่อนก่อนที่จะให้กินอาหาร + ยูรีเทน เปรียบเทียบกับอาหารปกติ พบว่าลดการก่อการกลายพันธุ์ได้  35.57%  25.36% และ 15.73%  ตามลำดับ  จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า ชาใบหม่อนมีศักยภาพในการลดฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ได้ แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100%  ก็ตาม ดังนั้น ชาใบหม่อน จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในด้านการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้

                ปี 2546 คุณระพีพร พรหมเกตุ นักศึกษาปริญญาโท คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น พบว่า สารสกัดจากหม่อน มีคุณสมบัติลดการเกิดแผลและยับยั้งการไหลของเลือดในกระเพาะหนู ลดการเกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลายชนิดดังได้กล่าวมาแล้ว     อีกทั้งไม่มีผล ข้างเคียงเมื่อให้หนูบริโภคในปริมาณมากกว่าปกติ

                จากการประชุมวิชาการประจำปี 2547  ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ไพโชค ปัจจะ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร   คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี ได้รายงานว่า การเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ด้วยอาหารสำเร็จรูป และเสริมชาใบหม่อนที่ระดับ 2 % ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดไก่และในไข่ไก่ลดลง จากระดับ 134.5 มก./ดล. เหลือ 110.5 มก./ดล. และ 93.0 มก./ดล. เหลือ 78.0 มก./ดล. ตามลำดับ อีกทั้งไตรกลีเซอไรด์ก็ลดลงด้วยเช่นกัน จากระดับ 75.5 มก./ดล. เหลือ 58.5 มก./ดล. และ 834.0 มก./ดล. เหลือ 739.0 มก./ดล. ตามลำดับ ดังนั้นการเสริมชาใบหม่อนหรือใบหม่อนในอาหารไก่ จึงเป็นการลดอันตรายจากคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อไก่และไข่ไก่ได้อีกทางหนึ่ง

 

  ปี พ.ศ. 2548 นายวิโรจน์ แก้วเรือง และคณะจากสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิม    พระเกียรติฯ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าในหม่อนที่นิยมปลูกในเมืองไทย เช่น คุณไพ บุรีรัมย์ 60 นครราชสีมา 60 น้อย  มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระทุกพันธุ์ เช่นโพลีฟีนอล (total polyphenol) และรูติน(rutin) ในยอดสูงกว่าใบอ่อนและในใบอ่อนมากกว่าใบแก่ อีกทั้งยังพบปริมาณสาร ดี เอ็น เจ (DNJ= 1- deoxynojirimycin) ที่เป็นสารมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในปริมาณสูงอีกด้วย โดยยอดจะมีปริมาณ ดีเอ็นเจ มากกว่าใบอ่อนและใบแก่ ประมาณ 2-5 เท่า อีกทั้งหม่อนพันธุ์คุณไพมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณโพลีฟีนอลโดยรวมและดีเอ็นเจ สูงกว่าพันธุ์อื่น

      นอกจากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วยังมีผลการวิจัยทางสังคมศาสตร์อีกหลายเรื่อง แต่จะขอนำผลงานการศึกษาของ นางสาววราพร วงค์ละคร นักศึกษาหลักสูตรปริมาณบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เรื่องความคิดเห็นที่มีต่อชาใบหม่อนของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร  ซึ่งให้ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยอันเป็นประโยชน์ดังนี้

                1.    ด้านผลิตภัณฑ์  ควรมีการวางแผนและกระตุ้นผู้บริโภคที่เป็นเพศชายให้ทราบและรับรู้ถึงสรรพคุณ และประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนมากขึ้น เนื่องจากผลงานวิจัยพบว่าผู้บริโภคที่เป็นเพศชายมีความคิดเห็นเรื่องผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนว่าเหมาะสมน้อยกว่าผู้บริโภคที่เป็นเพศหญิง

                2.   ด้านราคา  ควรมีการกำหนดราคาที่เหมาะสมต่อปริมาณที่บรรจุ และขนาดบรรจุห่อ 50 กรัม ควรมีราคา 30 – 40  บาท ไม่ควรแพงกว่านี้

              3. ด้านการจัดจำหน่าย ควรมีสถานที่จัดจำหน่ายที่มีความสะดวกซื้อและจำหน่ายแพร่หลายทั่วไปและควรให้สถานที่จัดจำหน่ายสะอาดมากที่สุด

               4. ด้านการส่งเสริมการตลาด ควรมีการโฆษณา ควรใช้สื่อโทรทัศน์ พนักงานของเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้และสามารถตอบข้อซักถามได้ดี มีอัธยาศัยที่ดี และมีมนุษยสัมพันธ์ควรมีการส่งเสริมการขายโดยให้มีการลดราคาจากเดิมที่จำหน่ายอยู่และควรมีการให้ข่าวและการประชาสัมพันธ์ ถึงคุณค่าและประโยชน์ของชาใบหม่อนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

              นับว่าชาใบหม่อนเป็นสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ผลิตจากพืชที่ปลูกได้ง่าย ราคาไม่แพง รสชาติดี ทำให้ขณะนี้ ชาใบหม่อน และใบหม่อนได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น การนำชาใบหม่อนชนิดผงบดละเอียดหรือชนิดละลายน้ำ มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เป็นส่วนผสมไอศกรีม  ขนมคุกกี้  บะหมี่  และเครื่องปรุงรส    ส่วนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มีการการสกัดสารบางชนิดจากใบหม่อนใช้เป็นส่วนผสมของ ครีมผิวขาว (whitening cream) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ชาใบหม่อนยังคงครองใจผู้บริโภคได้เป็นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

ไพโชค ปัจจะ. 2547. ผลของการเสริมชาใบหม่อนลงในอาหารไก่ไข่ต่อผลผลิต คุณภาพ และปริมาณโคเลสเตอรอลของไข่. ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี.  7 หน้า

ไพโชค ปัจจะ. 2547. ผลของการเสริมชาใบหม่อนลงในสูตรอาหารต่อความสามารถในการเจริญเติบโตและคุณภาพซากของไก่กระทง. ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี.  8 หน้า

วราพร  วงค์ละคร. 2546. ความคิดเห็นที่มีต่อชาใบหม่อนของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์หลักสูตรบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.

วิโรจน์   แก้วเรือง. 2543. ชาหม่อน . สถาบันวิจัยหม่อนไหม  กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ .พิมพ์ครั้งที่  2. 40 หน้า

วิโรจน์   แก้วเรือง, สถาพร วงศ์เจริญวนกิจ, พินัย ห้องทองแดง และกรกนก อิงคนินันท์. 2548 . ศึกษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในใบหม่อนพันธุ์ต่างๆ. รายงานผลการดำเนินงานหม่อนไหมประจำปี 2548. สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 301 หน้า 

วิโรจน์  แก้วเรือง,  สุรพจน์  วงศ์ใหญ่,  สถาพร  วงศ์เจริญวนกิจ,  รัตติยา  สำราญสกุล และทิพรรณี เสนะวงศ์. 2545. วิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในชาใบหม่อน. การประชุมวิชาการหม่อนไหม ประจำปี 2545. สถาบันวิจัยหม่อนไหม  กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.  292 หน้า

สิริพรรณ  ตั้งสิริกุลชัย และอัญชลี  ทิพเสถียร. 2545. การศึกษาคุณสมบัติด้านอนุมูลอิสระในชาเขียวใบหม่อนพร้อมดื่ม.  ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. 40 หน้า

Rapeeporn Phromgate. 2003. Antioxidant activity of Morus alba L. Master of  Science Thesis in Pharmacology Graduate School, Khon Kaen University.

Rattanaporn Boonjarat. 2002. Protection by Extraction from Mulberry Herb Tea Strain Burirum 60 Against Somatic Genotoxicity Induced by Urethane in Drosophila. Faculty of Graduate Studies Mahidol University. 74 pp.

 

คำสำคัญ (Tags): #ชาหม่อน
หมายเลขบันทึก: 176052เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (48)

ความรู้ดีๆ ขออนุญาตนำไปรวมครับ  ขอบคุณมากครับ........................รวมตะกอน

สุดยอด จะหามาดื่ม

ได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ เพราะสนใจที่จะนำมาดื่ม

ใบหม่อนใช้ลดน้ำหนักได้ไหมคะ

ครับผมดื่มทุกวันได้เกือบสองปี ผมที่เห็นสุขภาพดี และลดความอ้วน และสายตาดี

สวัสดีค่ะ

ดื่มชาใบหม่อนเป็นประจำ

แต่ไม่ทราบว่ามีสรรพคุณมากขนาดนี้

ต่อไปต้องลองทิ้งไว้ 6 นาทีก่อนดื่มด้วย

ขอบคุณค่ะ

มีอัญชันมาฝาก

ดื่มใบหม่อน ทุกวันเหมือนกันค่ะ

วันละ 4 ซอง ดื่มทั้งวัน

ป้องกันคอเลสเตอรอล

เบาหวาน ไปตรวจประจำปี

ไม่เคยมีคอเลสเตอรอล

เบาหวานเลยค่ะ

น้ำหนัก ก็ไม่เคยขึ้น

กินชาใบหม่อนยี่ห้อ เรนองที

หาซื้อง่ายด้วย

เดี๋ยวนี้เห็นมีบอกว่าซื้อได้ที่ เซเว่น แล้ว

ไม่ได้ดื่มชาใบหม่อนเองค่ะ แต่เห็นคุณพ่อดื่มเป็นประจำ เพราะท่านเป็นเบาหวานมา 10 กว่าปีแล้ว ต้องทานยาจากคุณหมอตลอดเพื่อคุมระดับน้ำตาลในเลือดไว้ และเห็นคุณพ่อบอกว่าชาสมุนไพรนี้ช่วยได้เยอะ ทำให้ไม่ต้องทานยาหมดตลอด ซึ่งตอนนี้คุณพ่อก็ไม่ได้ทานยาแล้ว เพราะระดับน้ำตาลในเลือดลงมาปกติ แต่ยังดื่มชาใบหม่อนอยู่ เพื่อคุมอาการไว้ เคยคิดจะทานเองเหมือนกันค่ะ แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองทำงานออฟฟิศไม่มีเวลาว่างมากที่จะมาจิบชาร้อนๆ ตลอดทั้งวัน ก็มีนานๆ บ้าง ที่จะได้ดื่มอยู่ที่บ้าน แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ไม่ต้องพึ่งยาจากแผนปัจจุบันมาจนเกินไป เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่าว่าแผนปัจจุบันถ้าทานนานเป็น 10 ปี ต้องมีพิษสะสมจนก่อให้เกิดโรคข้างเคียงเหมือนกัน เพราะคุณปู่ก็เสียชีวิต เพราะโรคเบาหวาน จนทำให้มีผลต่อไต และหัวใจในเวลาต่อมา ซึ่งยาแผนปัจจุบัน ก็รักษาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ดิฉันว่ามันขึ้นอยู่กับการบริโภคของแต่ละคนด้วยค่ะ

จึงเห็นด้วยถ้าเราคิดจะเลือกเครื่องดื่มร้อนเพื่อสุขภาพอย่างชาใบหม่อนมาดื่มค่ะ

ขอให้คนไทย ช่วยกันส่งเสริม และอนุรักษ์สินค้าไทยค่ะ

ดื่มได้ ไม่นานแต่ก็ร้สึกว่าร่างกายดีนะครับตอนนี้ก็เลิกเหล้ามาดื่มชาใบหม่อนผสมใบเตยแทนแล้วครับทำเองด้วยโดยหาสมุนไพรที่มีอยู่ตามบ้านมาหันแล้วก็นำไปตากแดดแล้วก็นำมาชงแค่นี้สบายมากๆเลยครับโดยไม่ต้องเสียต้นทุนแม้แต่บาทเดียว(ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ว่าจะหาสมุนไพรอะไรมาชงชาต่อไปดี) หากใครจะแนะนำชาสมุนไพรดีๆก็นี้เลยนะครับ [email protected] ขอบพระคุณมากครับ ----- คอชาใหม่ -----

รู้จักสรรพคุณมานานแล้วค่ะ แต่ก็ไม่ได้ดื่มเป็นประจำ เพราะยุ่งกับงาน บางทีชงไว้แล้วก็ลืมดื่มจนเย็นไปเลย แต่พอมาตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อ พ.ค.53 คลอเรสเตอรอลสูงเกินกว่ามาตราฐานมาก จึงตั้งใจดื่มเป็นประจำทุกวัน วันละประมาณ 5-6 ถ้วยกาแฟแทนน้ำคิดว่าได้ผลค่ะ

อยากจะปลูกใบหม่อนขายจังเลย คงจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจนะ

ตอบ คุณณัฐรดา

เมื่อดื่มชาใบหม่อนได้ผลเป็นอย่างไร ส่งข่าวมาบ้างนะครับ ขอบคุณครับ

ตอบ คุณเอมมี่

ผมดีใจด้วยครับ บริษัทเรนองทีเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดการผลิตชาใบหม่อนจากเราเป็นรุ่นแรก

ตอบ คุณjuice

ขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำ และข้อเสนอแนะ อีกทั้งเห็นด้วยกับเรื่องการใช้สมุนไพร

ตอบ คุณ jojo

ผมขอส่งวิธีการทำชาใบหม่อน(ตามอีเมลล์ที่ให้มา) เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีคุณภาพ เนื่องจากการตากแดดจะได้สารที่มีประโยชน์น้อยกว่าวิธีการที่ส่งมาให้ ถ้าต้องการเพิ่มเติมติดต่อมาที่ผมได้ ที่เบอร์ 089-4476600 และต้องขออภัยด้วยครับที่เข้ามาตอบช้า

เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบ

ขอบคุณมากครับ

ตอบ คุณ aoy

ต้องขออภัยที่เข้ามาตอบช้าครับ การดื่มชาใบหม่อนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรดื่มพร้อมรับประทานอาหารหรือ ก่อน/หลัง ทันที สมุนไพรทุกชนิดอาจออกฤทธิ์ดีกับอีกคน แต่ไม่ได้ผลกับอีกคน ได้ผลอย่างไรส่งข่าวให้ทราบบ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

ตอบ คุณไม่แสดงตน

ต้องขออภัยที่เข้าตอบช้า ถ้าสนใจปลูกหม่อนเพื่อผลิตใบ หรือเพื่อผลิตผล กรุณาโทรมาสอบถามได้ที่เบอร์ 02-5793118 ต่อ 26 มือถือ 089-4476600

ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ

เคยดื่มเมื่อนานมาแล้ว ก็ดีมากเลยค่ะ

ฟันไม่ผุ สายตาก็ดี หัวก็ไม่ปวด

แต่พอดีก็ไม่ดื่ม

แล้วพอกลับมาดื่มอีก

รู้สึกถ่ายท้องมากค่ะ (ประมาณ 3 ครั้ง/วัน)

ไม่ทราบว่าจะเป็นนานไหมคะ

สวัสดีครับ

ยังไม่เคยมีรายงานว่าดื่มชาหม่อนแล้ว ถ่ายวันละ 3 ครั้ง มีเพียงช่วยให้ถ่ายคล่องและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

หวังว่าท่านคงถ่ยตามปกติแล้วนะครับ

วิโรจน์

ตอนนี้เป็นปกติแล้วค่ะ

ขอบคุณที่กรุณามาตอบนะคะ ^/l\^

อยากทราบว่าคนตั้งครรภ์สามารถดื่มชาใบหม่อนได้ไหมคะ เพราะตรวจพบเพิ่งเริ่มเป็นเบาหวาน ระดับ 140 กว่า

รบกวนผู้รู้ตอบด้วยนะคะ

เรียน ท่านอาจารย์วิโรจน์

กลับมาอ่านสาระน่ารู้ของท่าน อ. วิโรจน์อีกครั้ง รู้สึกดีใจจังเลยค่ะ ที่อาจารย์ท่านเข้ามาตอบกระทู้เอง ตัวต้องเองเป็นผู้เขียนข้อความเรื่อง "ชาใบหม่อน" ในข้อมูลของสารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย ใช้นามแฝงว่า Siwattinun น่ะคะ ถ้าอาจารย์ว่างหรืออาจารย์สะดวก รบกวนอาจารย์ช่วยอ่านในข้อความ "ชาใบหม่อน" ในวิกิพีเดียให้นิดนะคะ เพราะบางทีอาจจะมีบางข้อมูลที่ต้องลงไปแล้วผิดพลาด และไม่อยากให้ผู้ที่สนใจเรื่องชาใบหม่อนนั้นรับรู้ข้อมูลที่ผิดพลาดตามไปด้วยนะค่ะ

สำหรับตัวต้องเองทำงานอยู่ในบริษัท ของท่านอาจารย์บูรพา เป็นบริษัทที่ทำเครื่องดื่มชาใบหม่อนด้วย อยู่ในแบรนด์ของ "ชาสมุนไพรใบหม่อน ละอู" ค่ะ ไม่ทราบว่าอาจารย์พอรู้จักหรือเปล่า และตัวอาจาย์บูรพาท่านเอง ก็เป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง ดื่มชา ฆ่ามะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ อีกด้วยเหมือนกัน ต้องอยากได้ความรู้เพิ่มเติมจากท่านอาจารย์วิโรจน์ ถ้ามีปัญหาหรือข้อสงสัย อย่างไรรบกวนโอกาสหน้า ต้องขอรบกวนปรึกษาอาจารย์ด้วยนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ

ต้องหฤทัย ชัยชมภู

เรียน คุณต้องหฤทัย ชัยชมภู

ขอบคุณครับที่สนใจผลงานการวิจัยของเรา หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เมล์สอบถามได้

[email protected] หรือโทร 089-4476600 ครับ แล้วผมจะเข้าไปดูเรื่องราวของ Siwattinun

ในวิกิพีเดีย

ขอบคุณครับ

เรียน คุณจำเริญสุข

ขออภัยที่ตอบช้าครับ

ยังไม่มีรายงานการทดลองกับคนที่ตั้งครรภ์ ว่าดื่มได้หรือไม่ แต่จากการทดลองให้หนูกินใบหม่อนมากกว่าปกติถึง 200 เท่า ไม่มีผล

ข้างเคียงกับสัตว์ทำลอง

ขอบคุณครับ

ตอนนี้ปลูกหม่อนที่บ้านและเก็บใบมาทำใบชา ได้ทดลองกับตัวเองช่วยความดันให้เป็นปกติได้ผลดีมากค่ะ อาการปวดเติบๆที่ท้ายทอยหายหลังจากดื่มชาใบหม่อนประมานสามสิบนาที รู้สึกแจ่มใส อาการมืนๆ เวียนๆในหัวหายไปด้วย ตอนนี้ดื่มชาใบหม่อนทุกวัน ความดัน 130 กว่า แต่ก่อนเกิน140

สวัสดีครับคุณโสภา

ดีใจครับที่ชาใบหม่อนช่วยให้คุณมีสุขภาพดีขึ้น

แล้วเขียนมาคุยใหม่นะครับ และขอให้คุณมี

สุขภาพแข็งแรงยิ่งๆขึ้นไป

วิโรจน์ แก้วเรือง

ผมเพิ่งเริ่มดื่มครับไว้ได้ผลอย่างไรจะมาบอกครับ

ขอบพระคุณสำหับข้อมูลนะค่ะ

ขออนุญาตนำไปทำรายงานนนะค่ะ

ผมสนใจชาใบหม่อนคับ เพราะตอนนี้คุณพ่อท่านเป็นเบาหวาน 2ปีแล้ว เลยอยากหาพวกสมุนไพรมาลองดูบ้าง

ไม่ทราบว่า ทางกรมหม่อนไหมมีผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนจำหน่าย ป่าวคับ หรือมีที่ไหนที่จำหน่ายชาใบหม่อนที่มีคุณภาพบ้างคับ

รบกวนช่วยตอบทางเมล ด้วยนะคับ ขอบพระคุณคับ

เรียน คุณ tonmai

1. ชาใบหม่อนมีจำหน่ายในทอปส์ ซูปเปอร์มาร์เก็ต เซเว่นอีเล็ฟเว็น หลายยี่ห้อ

2. กรมหม่อนไหมก็มีจำหน่ายครับ

ขอบคุณครับ

ได้รับประโยชน์จากบทความนี้มาก ขณะนี้ดิฉันได้ปลูกหม่อนและทำชาใบหม่อนดื่มกันทั้งครอบครัว และญาติมิตรที่รักกันได้ชงดื่มทุกวัน ช่วยให้ความดันเป็นปกติจากที่เคยมีภาวะความดันค่อนข้างสูงเห็นผลชัดเจน

อยากทราบว่าทำไม่มีการผลิตน้ำชาใบหม่อนพร้อมดื่มขายละครับ ผมอยากทำมากเลยแต่ขาดความรู้ครับ รบกวนอธิบายด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆล่วงหน้าครับ

เรียน คุณจักรพันธุ์

  เคยมีการผลิตน้ำชาใบหม่อนพร้อมดื่ม โดยบริษัทเจเนอรัลฟาร์ม แต่ไม่ได้รับความนิยมขณะนั้น จึงเลิกผลิต ผลิตแต่ชาใบหม่อนสำหรับชงเพียงอย่างเดียวในปัจจุบัน
แต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา บ.ทิปโก้ สนใจจะผลิตชาใบหม่อนพร้อมดื่มเอง แต่ยังหาใบหม่อนที่ต้องการใช้ผลิตวันละ 1 ตัน ยังไม่ได้ จึงศึกษาช่องทางการตลาดไปก่อน
 การทำน้ำชาใบหม่อนพร้อมดื่มแบบครัวเรือน แนะนำว่าควรผลิตและจำหน่ายภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะสารออกฤทธิ์จะเสื่อมคุณภาพ ภายใน 15 วัน ถ้าไม่เก็บไว้ในภาชนะทึบแสง

ขอบคุณครับ วิโรจน์

จักรพันธ์ ปัดถาวะโร

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล เรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมหน่อยครับ 1 บ.ทิปโก้ เขาต้องการวันละ 1 ตัน แบบที่เป็นใบชาแห้ง หรือ ใบสดครับ 2 ถ้าผมผลิตและบรรจุในภาชนะทึบแสงน่าจะอยู่ได้นานกี่วันครับ 3 ราคาปัจจุบันของชาใบหม่อน สดและแห้ง อยู่ที่ กก.เท่าไหร่ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ รบกวนเวลาของอาจารย์

เรียน คุณจักรพันธ์

    ต้องขออภัยที่ตอบช้าครับ
  1. บ.ทิปโก้ ต้องการใบหม่อนสด วันละ 1 ตัน ทำเป็นชาใบหม่อนได้ ประมาณ 200 กิโลกรัม
  2. ถ้าบรรจุในภาชนะทึบแสงน่าจะรักษาคุณค่ามากกว่า 70 % นานกว่า 3 เดือน
  3. ใบหม่อนสดรับซื้อหน้าโรงงาน กิโลกรัมละ 10-12 บาท ส่วนราคาใบหม่อนแห้ง ประมาณ 250-400 บาท ถ้าบรรจุซองขนาด 1-2 กรัมต่อซอง ราคาประมาณ 2-3 บาท

ขอบคุณครับ

ใบม่อนตากแห้งแล้วนำมาบดเลยชงดื่มแล้วจะเป้นใรใหมค่ะ


ช่วยตอบหนูด่วนนะคะ  เพราะบดใว้แล้วจะทิ้งก็เสิยดาย


เป็นเบาหวานก่อนแล้วมาตั้งครรภ์น้ำตาลหลังอาหารยังสูงอยู่ 180 กว่าปรับยา2-3วันยังไม่ลดค่ะเมื่อเช้าลองชงชาใบหม่อนทานไป2แก้ว หลังอาหารเที่ยงตรวจน้ำตาลลดเหลือ 122 แต่อยากทราบว่ามีผลกระทบกับคนท้องอย่างไรบ้างพยายามหาข้อมูลทางเน็ตแล้วไม่พบข้อมูลค่ะที่จริงอยากทานต่อเพื่อช่วยคุมน้ำตาลด้วยค่ะ


ตอบ คุณออมสิน

       จากการวิจัยของกรมหม่อนไหม ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่พบผลข้างเคียงกับสัตว์ทดลอง (หนู) แม้ให้เกินอัตราที่เหมาะสม 200 เท่า แต่การดื่มชาใบหม่อนจำนวนนี้ น้ำตาลก็ไม่น่าลดมากขนาดนี้ กรุณาสอบถามแพทย์อีกครั้ง

ขอบคุณครับ

วิโรจน์ แก้วเรือง

ชาใบหม่อนหาซื้อได้ที่ไหนคะ

ดิฉันมีชาใบหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ค่ะ หอมมากค่ะเพราะชาวบ้านทำจากเตาถ่าน

อยากหาที่ขายส่งให้กับชาวบ้านเพราะผลผลิตเยอะกว่าที่ตลาดต้องการ

ราคาย่อมเยามากค่ะ  082-9693691

ซื้อเรนองที ชาเขียวผสมใบหม่อนมา ช่วยลดน้ำหนักได้ไหมค่ะ

เรียน คุณกิ๊ก

เนื่องจากว่ายังไม่มีทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่สามารถให้รายละิเอียดในเชิงลึกได้ครับ

ขอบคุณครับ

ถ้าเราชงชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนก่อน แล้วค่อยใส่น้ำแข็งเเหมือนเครื่องดื่มเย็นๆ จะทำให้สรรพคุณที่ดีของใบหม่อนหายไปมั้ยคะ

อยากทราบ นิยาม ที่เกี่ยวชาใบหม่อนค่ะ ว่ามันคืออะไรคะ?

อ.วิโรจน์ คะมีวิธีทำ ชาใบหม่อน ที่สะดวก ง่าย และถูกหลักอนามัยไหมคะ

อ.วิโรจน์ คะมีวิธีทำ ชาใบหม่อน ที่สะดวก ง่าย และถูกหลักอนามัยไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท