.....ภูมิปัญญาท้องถิ่น......


แม่เฒ่า.....เล่าให้ฟัง.....

          รอยยิ้มอย่างปราณี  ปรากฏขึ้นบนใบหน้ายับย่นของหญิงชรา  ยามดิฉันกระพุ่มไหว้  สองมือเอื้อมลูบศีรษะดิฉันด้วยความเอ็นดู  รับรู้ถึงการมาเยือนของดิฉันด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข  ร่างบาง  หยุดมือที่สาละวนอยู่กับการจีบใบพลู  มาขยับนั่งให้เข้าที่เข้าทาง หลังจากทราบว่า  ดิฉันมาขอข้อมูลบางอย่าง  เพื่อเขียนภูมิปัญญาท้องถิ่นเก็บไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับลูกหลานโดยเฉพาะ  เพลงกล่อมเด็ก  และการคลอดลูก  เลี้ยงลูกสมัยเก่า

      “ สมัยก่อน  เมื่อตั้งท้องเราก็ต้องดูแลกันเอง  มดหมอก็ไม่ได้ไปหา  หยูกยาก็ไม่ได้ใช้ใช้เฉพาะยาสมุนไพรตามบ้านที่มีอยู่  ไม่ต้องตรวจท้องกับหมอหลวงมีปัญหาอะไรก็ไปหาหมอตำแย  บ้านเราเรียกว่า  “แม่ทาน”  อาหารบำรุงครรภ์ก็ไม่มีเหมือนสมัยนี้เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองตั้งท้องก็ดูแลกันเอง  รับประทานอาหารพื้นบ้าน  เวลาปวดท้องปวดขาท้องคัดท้องแข็งขึ้นมาก็มาตามแม่ทาน  แม่ทานจะรู้และคาดคะเนได้ว่าจะคลอดลูกประมาณเดือนไหนลูกในท้องแข็งแรงมั๊ยอ้วนมั๊ย  ถ้าเด็กในครรภ์ตัวเล็กก็จะแนะนำให้กินอาหารจำพวกเนื้อปลา  ไข่  ให้มากๆ ขึ้น  ลูกก็จะโตขึ้นมาหน่อย แล้วก็แนะนำให้ดูแลตัวเองอย่าอาบน้ำตอนกลางคืน  ออกกำลังกายด้วยการทำงานบ้าน  ลูกจะได้แข็งแรงแม่ก็แข็งแรงเวลาคลอดก็คลอดง่าย  แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยแม่อ้วนมาก หรือลูกอ้วนมากก็จะคลอดลำบาก”  

        คุณยายช่วง  นาคพรหม ปัจจุบันอายุ  89  ปี  เคยเป็นหมอตำแยทำคลอดให้เพื่อนบ้านตามละแวกใกล้เคียง  ทั้งในอำเภอพะโต๊ะ  และอำเภอหลังสวน  มานับคนไม่ถ้วนเมื่อถามถึงจำนวนเด็กที่ท่านเคยทำคลอดมาท่านก็ตอบว่า

        “แม่เฒ่าเริ่มเป็นแม่ทานตั้งแต่อายุ  35  ปี  ประมาณ  30 ปีเต็ม ๆ  ที่ช่วยเหลือคนมาตลอด ถ้าถามว่าประมาณเท่าไร  ตอบไม่ได้แต่คิดว่ามากกว่า  100  คนแน่นอนเพราะเมื่อก่อนหนทางลำบาก ไม่มีรถไม่มีถนนเหมือนเดี๋ยวนี้ต้องโดยสารเรือ , แพ  การที่จะพาคนท้องแก้ใกล้คลอดไปโรงพยาบาลนั้น  ต้องไปถึงโรงพยาบาลหลังสวนหนทางไกลแล้วก็อันตรายก็ต้องคลอดกับแม่ทานเวลาเมียใครลูกใครเจ็บท้องก็มาตามแม่ทานทางเรือเพราะสมัยก่อนใช้สัญจรทางน้ำ  หยูกยาก็ไม่ได้ใช้จะใช้สมุนไพรแทนคลอดแล้วก็ให้แม่อยู่ไฟ  ถ้าท้องแรกก็ให้อยู่ไฟ  9  วัน  9  คืน  ท้องหลัง ๆ   ประมาณ  7  วัน  7  คืน”

         “การ อยู่ไฟ คืออะไร  และมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรค่ะ” ดิฉันถามเพราะสมัยนี้คำว่า “อยู่ไฟ”  ก็คงจะไม่มีใครมากนักที่รู้จัก

         “การอยู่ไฟก็คือ  การที่หญิงหลังคลอดจะต้องอยู่ใกล้ไฟตลอดระยะเวลา  7 วัน 7 คืน  หรือ 9 วัน  9 คืน  เพราะหญิงหลังคลอดใหม่ ๆ นั้น เสียเลือดมาก  อาจจะทำให้หนาวสั่นการอยู่ใกล้ไฟจะทำให้ตัวอุ่นไม่หนาว ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วช่วยขับน้ำคาวปลา  ช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้นด้วย

         มีวิธีการอยู่  2  แบบคือ  แบบใช้ก้อนส้าว   แบบใช้ก้อนส้าวก็คือจะก่อไฟได้ตลอดเวลา  แล้วนำก้อนหินขนาดเท่ามะพร้าวลูกเล็กๆ  มาเผาไฟให้ร้อนจนสุกใช้น้ำราดลงบนก้อนหิน แล้วใช้ผ้าห่อก้อนหินนำมาประคบที่ท้องน้อยไล่ไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งท้องถ้าหินเย็นก็นำไปเผาอีก  แล้วนำมาทำเหมือนเดิมจนครบกำหนดวัน

         วิธีที่  2  ก็คือ  แบบย่างทั้งตัว  วิธีการก็คือให้หญิงหลังคลอดนอนบนแคร่ไม้ไผ่ใต้แคร่ก็จะมีเตาไฟซึ่งจะต้องคอยเติมถ่านไว้ไม่ให้ไฟดับ  โดยระวังไม่ให้ไฟลุกเกินไปเพราะจะทำให้ร้อนและไหม้พองได้ดังนั้นคนในครอบครัว เช่นสามี  พ่อแม่ จะต้องคอยดูแลกันอย่างใกล้ชิดไม่ให้ไฟมอดแม้เวลากลางคืน เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมียาตำราหลวง แม่บางคนไม่สบายขณะเข้าไฟ หรืออยู่ไฟเรียกว่าไข้หน้าแคร่  แม่เฒ่าก็จะใช้  ข่า  ตะไคร้  ขมิ้นอ้อย  (ขมิ้นชัน)  กระทือ  กระชาย เครื่องสมุนไพรในครัวนี้แหละ เอาส่วนหัวหรือเหง้าของมันล้างให้สะอาด  ต้ม  เคี่ยว  ให้กินประมาณ  1  แก้วก็หาย  สมัยก่อนลำบากเรื่องการเดินทาง  ไปหาหมอหลวงก็ต้องดูแลกันเอง  คอยระวังเรื่องอาหารการกินห้ามกินของแสลงเพราะจะทำให้แสลงทั้งแม่และลูก อาหารทุกอย่างเข้าไปลูกก็จะพลอยได้กินผ่านทางน้ำนม”

        “อาหารอะไรบ้างค่ะที่หญิงหลังคลอดกินไม่ได้”

        “ก็มีอาหารหมักดอกทุกชนิด  เช่น  หน่อไม้ดอง  สะตอดอง  เอาเป็นว่าทุกชนิดจะห้ามไม่ให้กิน  และก็มีอาหารปักษ์ใต้  เช่น  สะตอ  เม็ดเหรียง  ผักเหลียง  ชะอม  ชะเนียง  แกงไตปลา  ปลาที่มีเมือก  เช่น  ปลาไหล  ผลไม้ที่แสลงแผลก็มีทุเรียน  ขนุน  ส่วนแตงโมกินได้  จะช่วยขับน้ำคาวปลาได้ดี”

         แม่เฒ่าหยุดพูดหยิบหมากที่ตำมาใส่ปากเคี้ยวแล้วเล่าต่อ

        “บางคนก็แสลงหอมแดงด้วยจะทำให้เลือดตีขึ้น  หนาวสั่นเพราะฉะนั้นถ้าห้ามก็จะไม่กินเข้าไปจะทำให้แก้ไขลำบาก  บางคนทำให้แผลคลอดอักเสบ  ลูกปวดท้องปวดสะดือ  สะดืออักเสบก็มี”

      “แล้วทำไมคนท้องสมัยก่อนอาบน้ำกลางคืนไม่ได้ค่ะ”  ดิฉันเก็บคำถามนี้ไว้ไม่ไหวเพราะแม่เฒ่าได้บอกไว้ตั้งแต่เริ่มสนทนากันใหม่ ๆ “สมัยก่อนว่าไว้ว่า  ถ้าอาบน้ำตอนกลางคืนจะทำให้ลูกแฝดน้ำในท้องแม่จะมีน้ำเยอะมากลูกจะตัวเล็กไม่แข็งแรง  เลี้ยงยาก แต่ลูกลองนึกดูดี ๆ  ซิ  สมัยก่อนคนอาบน้ำในคลองกัน คนท้องก็อาบน้ำในคลอง จะเดินจะเหินก็ลำบากมืดค่ำมองไม่เห็นไฟฟ้าไม่มี  พลาดพลั้งอาจลื่นหกล้ม  อันตรายทั้งแม่ทั้งลูกโบราณก็เลยมีวิธีการห้ามอย่างนั้น” เหตุผลของแม่เฒ่าน่าเชื่อถือได้ ดิฉันเองยังอดทึ่งในความคิดไม่ได้ โบราณสอนให้คนรู้จักคิดจะบอกกล่าวอะไร ก็บอกใบ้  ไม่ได้บอกกันตรง ๆ 

       “ตอนนี้  หนูอยากทราบเรื่อง  อาหารสำหรับแม่หลังคลอดที่ไม่แสลงมีอะไรบ้างค่ะ”         

      “อาหารหลังคลอดที่กินได้ก็คือ  ผัดเผ็ดหมูพริกไทย  น้ำพริกพริกไทยสด  ชาวบ้านเรียกว่า  น้ำพริกชุบ  แล้วก็ผักที่มีใบเขียว  เช่น  ตำลึง  ผักบุ้ง  ผักหวาน  หัวปลี  ส่วนใหญ่ก็จะให้กินอาหารเผ็ดร้อนไปก่อนจะช่วยระบายท้อง  ไม่ทำให้ท้องอืดลูกก็จะไม่ท้องอืดตามช่วยให้ลูกถ่ายขี้เทาหมดเร็วด้วย  แม่ก็มีการขับเหงื่อได้ดี  การกินพริกไทยก็จะทำให้รักษาบาดแผลได้ดีด้วย”

     “สมัยก่อน  ลูกได้กินนมจากแม่ทุกคนมั้ยค่ะ”

    “ก็ทุกคน  สมัยก่อนไม่มีนมผง  นมสำเร็จรูปเหมือนสมัยนี้  ลูกเกิดมาก็กินนมแม่ทุกคนจะเห็นได้ว่า  เด็กสมัยก่อนพูดจาไพเราะ  ว่านอนสอนง่ายกว่าเด็กสมัยนี้เยอะ  เด็กสมัยใหม่กินนมวัว  นมควาย  พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง”

      คุณยายหยุดพูด  บ้วนน้ำหมากนิดหนึ่ง 

      “แล้วถ้าแม่คลอดใหม่ๆ  น้ำนมไม่ไหลจะช่วยยังไงคะ”

     “ก็มีอาหารเร่งน้ำนม  จะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น  แล้วก็มีวิธีการนวดรั้งเต้านมเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหล  อาหารเร่งน้ำนมก็มี  หัวปลีกล้วยน้ำว้าต้มกะทิช่วยเร่งน้ำนมได้ดีมากคนสมัยก่อนก็กินกันทุกคน  หรือต้มขาหมูจะช่วยเร่งน้ำนมได้เช่นกันแม่เฒ่าก็เห็นคนสมัยก่อนมีน้ำนมเพียงพอ  ให้ลูกกินกันทุกคนลูกก็สมบูรณ์แข็งแรงดี  ไม่ค่อยเจ็บป่วยไม่มีโรคภูมิแพ้เหมือนเด็กสมัยนี้  น่าแปลกมากที่คนสมัยนี้บอกว่าน้ำนมไม่ไหลลูกไม่พอกินต้องให้ลูกกินนมผงแทน”

      “แล้วถ้านมคัดแข็งเจ็บปวดมากจะทำอย่างไรคะ”

      "ก็ต้องดูที่สาเหตุ   ว่ามาจากอะไร  อาจปล่อยให้ลูกหลับนานเกินไปไม่ปลุกให้ลูกกินนมก็จะทำให้นมคัด  เจ็บปวดมากหรือ  แม่บางคนก็ปล่อยให้ลูกกินนมข้างเดียวไม่ให้ลูกดูดนมสลับกันทั้งสองข้าง  จะทำให้เต้านมอีกข้างที่ลูกไม่ค่อยได้ดูดคัดตึง  ปล่อยนานไปจะทำให้ท่อน้ำนมอุดตันอักเสบได้  แม่เฒ่าก็จะบอกให้เขาบีบไล่เบา ๆ จากเต้านมลงมาที่ลานนม  หัวนม  โดยจะให้บีบน้ำนมทิ้งสักครู่อาการเจ็บคัดตึงเต้านมก็จะหายไปเอง” ดิฉันนึกถึงตัวเองตอนให้นมลูกอาการเจ็บคัดตึงของเต้านมมีให้แก้ปัญหาอยู่บ่อย ๆ

      “อีกวิธีหนึ่ง  ที่คนสมัยเก่าใช้ก็คือใช้หวีซี่ห่าง ๆ มาหวีกดไล่จากเต้านมด้านบนลงมาสู่หัวนม  หวีไปเรื่อย ๆ 4 – 5  ครั้ง  ซี่หวีจะไปสะกิดท่อน้ำนมที่อุดตันอยู่ให้ไหลออกมา  น้ำนมจะพุ่งออกมาจนรู้สึกร้อนวูบวาบ  จากนั้นก็บีบให้น้ำนมไหลจนอาการคัดของเต้านมทุเลาลง”

      “มีอีกวิธีหนึ่งที่คนสมัยเก่าใช้  คือ  จุดไฟด้วยกระดาษใส่ลงในแก้ว  (แก้วน้ำดื่มขนาดปกติ)  แล้วนำมาครอบที่เต้านมจะช่วยดูดน้ำนมให้ไหลออกมาได้เช่นกัน  แต่วิธีที่ดีสุดก็คือให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ และดูดสลับกันทั้งสองข้าง  คนสมัยก่อนถือว่า  น้ำนมข้างซ้ายแทนน้ำ  น้ำนมข้างขวาแทนข้าว  เพราะฉะนั้นจะต้องให้ลูกดูดทั้งสองข้างในแต่ละมื้อ”

      “แล้วคนสมัยนี้  พูดว่าน้ำนมไม่ไหลลูกไม่พอกินต้องใช้นมผสมแทนแม่เฒ่าคิดว่ามีสาเหตุมาจากอะไรค่ะ”

       “ก็อาจมีหลายสาเหตุ  อาจจะไม่ค่อยให้ลูกดูดนม  น้ำนมก็เลยไม่ถูกกระตุ้นนมก็ไม่ไหลการให้กินนมจะต้องให้ลูกกินบ่อย ๆ ถี่ๆ  น้ำนมก็ถูกสร้างออกมาเองโดยอัตโนมัติ  หรือบางทีแม่ให้ลูกกินนมผสมร่วมไปด้วย  เพราะเชื่อคำโฆษณาว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้  อยากให้ลูก  สูงโต  เหมือนฝรั่งมังค่า  ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ก็ตัวเล็ก  เด็กก็จะติดใจรสชาตินมผสมเพราะหวานมันกว่านมแม่  เด็กก็เลยไม่กินนมแม่  นานเข้าน้ำนมก็ไม่ไหลเลย”

        ดิฉันพยักหน้าหงึก ๆ  หลายคนมีปัญหาเช่นนี้  โดยเฉพาะแม่ยุคใหม่ที่ห่วงสวยไม่ให้ลูกกินนม  เพราะกลัวเต้าจะยาน  เฮ้อ!  ไม่ทราบหรืออย่างไรนะว่า  เนื้อหนังมังสายังไง ๆ  ก็ไม่มีวันต้านทานแรงโน้มถ่วงแรงดึงดูดของโลกได้

      หลายคนจึงพลาดหน้าที่หนึ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตนั่นคือ  หน้าที่สร้างสานสายใยแห่งรัก หน้าที่ที่จะต้องเสียสละเลือดเนื้อจิตวิญญาณ  และหัวใจ  ยินยอมให้ลูกดูดนมจากอก เพื่อรังสรรค์ ชีวิตน้อย ๆ  ให้เติบใหญ่ น้ำนมจากอกแม่  เป็นสิ่งที่มีค่า  เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต  ที่ลูกทุกคนภูมิใจหนักหนา  เมื่อเติบใหญ่ขึ้นและรู้ตัวเองว่า  “เติบโตมาด้วยน้ำนมแม่”

       ทำไม...ผู้หญิงบางคนจึงตัดสายสัมพันธ์  แห่งรักไปอย่างไม่รู้คุณค่า...

ดิฉันแอบถอนใจนิดหนึ่ง ก่อนจะถามคำถามสำคัญ "แม่เฒ่าคิดว่า  นมผงสำหรับเลี้ยงทารก  กับนมแม่  อย่างไหนดีกว่ากันคะ” แม่เฒ่า  หยุดเคี้ยวหมากนิดหนึ่ง  หันมามองหน้าคนถามแล้วยิ้ม

      “ฟังนะลูก...นมวัวนมควายก็มีไว้สำหรับลูกวัวลูกควาย นมคนก็มีไว้สำหรับลูกคน..  แล้วลูกคิดว่า  นมคนกับนมวัว  อย่างไหนดีกว่ากันล่ะ”

        “ก็นมคนซิค่ะ”

      ดิฉันตอบโดยไม่ลังเล  ในฐานะของคนเป็นแม่  และเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมาแล้วมีความรู้สึกเชื่อมั่นและศรัทธาว่านมคนจะต้องดีกว่าแน่นอน  และอีกฐานะหนึ่ง  ก็คือ  อาสาสมัครสาธารณสุขที่อยู่ในโครงการสายใยรักกองทัพนมแม่  ร่วมรณรงค์ให้ชาวบ้านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ความรู้สึกที่ตอบ  เลยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น

       “ใช่ลูก  แม่เฒ่าไม่รู้หรอกเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ  แต่แม่เฒ่ารู้ถึงคุณค่าทางจิตใจ  ทางสายสัมพันธ์  ว่านมคนจะต้องดีกว่าแน่นอน  คนสมัยก่อนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่ค่อยมีปัญหาในการเลี้ยงลูก  เพราะนมแม่ย่อยง่ายไม่เหมือนนมผสม  จะเห็นเด็กเดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องท้องอืด  อาหารไม่ย่อย  ท้องผูก  เจ็บป่วยบ่อย ๆ  เพราะกินนมผสม”

        “แล้ว  เมื่อก่อนถ้าเด็กปวดท้อง  ท้องผูก  เด็กบอกไม่ได้  เราจะทำอย่างไรคะ  แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กปวดท้อง”

        “เด็กจะร้องไห้ไม่หยุด  มือเท้ากำแน่น  เกร็ง  ท้องแข็งเป็นดาน  หรือท้องขึ้นอืด  เราก็เคาะท้องเด็กดู  จากนั้นจะใช้ยาสมุนไพรใบกะเพรานี่แหละ  เด็ดยอดมาสักหนึ่งกำมือ เล็ก ๆ   ขยี้น้ำใส่น้ำเล็กน้อย  ใส่ปูนแดงกินหมากเท่าหัวแม่มือ  หลังจากนั้นขยี้ให้เข้ากันจนเป็นน้ำ  เอากากทิ้ง    เอาน้ำที่ได้  ทาท้องให้เด็กลูบเบาๆ  สักพักไม่เกินห้านาที  เด็กจะ หยุดร้อง  ท้องก็ไม่อืดอีกไม่ต้องกินยาตำราหลวง”

      แม่เฒ่ายิ้มด้วยความปราณี  แล้วพูดต่อ“แม่เองก็ต้องคอยระวัง  เรื่องอาหารการกินด้วย  ในระหว่างการให้ลูกกินนมก็ไม่ควรกินของหมักของดอง เหล้ายา    ถ้าลูกท้องผูกแม่ก็ต้องกินผักเยอะ ๆ  ลูกก็จะย่อยง่ายไปเอง  การเป็นแม่คนไม่ใช่แค่อุ้มท้องแล้วก็คลอดลูกเท่านั้นจะกินจะนอนก็ต้องคิดถึงลูกก่อนในชีวิตหนึ่งของแม่ก็จะคอยดูแลปกป้อง  อบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี  แม้ลูกจะเติบใหญ่เพียงใด  สายตาของแม่ที่มองลูกก็เหมือนลูกยังเด็กยังเล็กอยู่  แม้แม่จะแก่เฒ่าไร้เรี่ยวแรง  สองมือของแม่ก็ยังคิดที่จะปกป้องลูกอยู่เสมอ   ในช่วงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูก  ในจิตสำนึกแล้วภาระหน้าที่ของแม่จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อสิ้นลมหายในของแม่เท่านั้น!”

       ดิฉันกลืนก้อนสะอื้น แห่งความตื้นตันใจไว้ในอก  สายตาฝ้าเลือนของหญิงชราที่ประสานสายตากับดิฉันนั้นเปี่ยมไปด้วยความกรุณา  คำพูดซื่อๆ  แทนใจของแม่ทุกคนจากปากของหญิงชราลึกซึ้งกินใจ  จนยากที่จะบรรยายได้  ดิฉันไม่อาจที่จะชั่งน้ำหนักได้ว่า  แม่คนหนึ่งที่  มีการศึกษาแค่  ป. 4  กับแม่ที่มีปริญญา  ใครจะถอดใจรักลูกได้ดีกว่ากัน  แต่ที่แน่ ๆ  นั้นดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าแม่ทุกคนย่อมรักลูกแน่นอน

     ภาพของหญิงชราตรงหน้า สะท้อนชีวิตของหญิงคนหนึ่ง  ที่เกือบครึ่งชีวิตทำหน้าที่คลายทุกข์  ให้กับผู้หญิงนับร้อยชีวิตยามที่จะคลอดลูกผู้ซึ่งทำหน้าที่ช่วยปลอบโยนให้ผู้หญิงคลายความเจ็บปวด  หวาดกลัว  ยามที่จะก้าวย่างเข้าสู่การทำหน้าที่ “แม่” อย่างเต็มตัว คนแล้วคนคนเล่า  ที่แม่เฒ่าคนนี้ใช้สองมือประคองศีรษะน้อย ๆ ออกมาจากอุ้งเชิงกรานของแม่ 

     บัดนี้  สองมือนั้นแห้งเหี่ยวไร้เรี่ยวแรง  ผมสีดอกเลา  ดูหม่นเก่า  และซีดจาง  หากแต่สายตาที่ฝ้าเลือนนั้น  ฉายแววแจ่มจรัสด้วยความเมตตาปราณียามถูกถามถึงเรื่องราวหนหลัง ผู้หญิงคนนี้ผู้ที่ถูกเรียกว่า “แม่ทาน”  ดิฉัน  เก็บรายละเอียดของความรู้สึกในตอนนั้น มาเขียนถ่ายทอด  ให้กับผู้อ่านได้ไม่หมด  มันเต็มตื้น  ปลื้มใจ  อิ่มอกอิ่มใจ  และภาคภูมิใจในเวลาเดียวกันในชีวิตนี้  ไม่น้อยใจที่เกิดมาเป็นผู้หญิงผู้ที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่าช้างเท้าหลัง ผู้ที่ธรรมชาติมอบภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ให้ชนิดที่ว่า  ช้างเท้าหน้าไม่เคยรู้ซึ้งถึงภาระนี้เลย

      เป็นครั้งแรกที่รู้ซึ้งถึงคำว่า  ตื่นก่อน  นอนทีหลัง  ไม่ใช่แค่ภาระหน้าที่แต่มันเป็นความตระหนักจากข้างในมากกว่าน่าแปลก ที่สังคมพึ่งจะให้สิทธิผู้หญิง  ให้เท่าเทียมผู้ชาย (เมื่อถูกเรียกร้อง) แต่ดิฉันก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี  ว่าทำไมจึงต้องเรียกร้อง  ในเมื่อผู้หญิงและผู้ชาย  ต่างก็มีหน้าที่มีสิทธิความเป็นคนเหมือนกัน  แต่ภาระต่างกันเท่านั้น  ถ้าต่างคนต่างก็ทำหน้าที่  ให้ดีที่สุดปัญหาใด ๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น  แต่ถึงอย่างไรก็เถอะ  ดิฉันภูมิใจที่เกิดมาเป็นผู้หญิง! เพราะชีวิตนี้  ดิฉันได้มีโอกาส ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ มีโอกาส  ได้รับรู้ถึงความรู้สึก  และจิตใจของแม่ยามที่ลูกดื่มนมจากอกว่ามีความรู้สึกเช่นไรหลายคน  เคยพูดว่า  ผู้หญิงสวยที่สุดในตอนแต่งงาน ดิฉันอยากตะโกนให้โลกรับรู้ว่า   ไม่ใช่หรอก  ผู้หญิงสวยที่สุด  อ่อนโยนที่สุด มีเมตตาที่สุด  และเป็นผู้หญิงจริง ๆ  ก็ตอนให้ลูกดื่มนมจากอกนั่นเอง แล้วผู้หญิงที่ได้อ่านด้วยรักเล่มนี้ ค่ะ  คุณสวยที่สุดแล้วหรือยัง !   “แม่ ความหมายอันยิ่งใหญ่  เมื่อมีใครสักคนเรียกหาและภาระหน้าที่  ของแม่ก็ไม่มีวันสิ้นสุด  ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่”   เสียงแม่เฒ่ายังแว่วเข้ามาในห้วงสำนึก  

     คืนนี้ดิฉันหลับตาลงช้า ๆ เสียงลมหายใจที่สม่ำเสมอของลูกยามหลับสนิท  เปรียบเสมือนหนึ่ง  เสียงเพลงกล่อมนอนของเทพเทวดาที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจเป็นสุข  แช่มชื่น  สัญญากับตัวเองว่าจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีของสังคม  และชีวิตนี้จะขอสร้างคุณงามความดีเพื่อทดแทนคุณค่าน้ำนมของแม่ ดิฉัน เผลอสูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ  แล้วถอนใจด้วยความรู้สึกเปี่ยมสุขรอยยิ้ม  และ  แววตาปราณีของแม่เฒ่า  ลอยเด่นเข้ามาในห้วงภวังค์ 

    ยามหลับลงคืนนี้ในฝันอันสลัวลางของดิฉัน  รู้สึกคล้ายกับว่าตัวเอง เล็กลงเล็กลง...และกลายเป็นทารกที่กำลังลืมตาดูโลก       

      ดิฉันลืมตาโพลง ด้วยความตื่นเต้นสายตาประสานกับดวงตาอ่อนโยนคู่หนึ่งที่ยื่นมือมารับศีรษะดิฉัน

       แม่เฒ่า...! ใช่สินะ  แม่เคยบอกว่า.....สองมือคู่นี้  ก็คือสองมือที่เคยรับศีรษะดิฉัน  เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว  นั่นเอง !

 

         บทความส่วนหนึ่งจากเอกสารประกอบการประกวด อสม. ดีเด่น สาขาเอดส์ในชุมชน ระดับประเทศของ คุณ นิภาพร  พัฒนาขา ที่ทีมงานอ่านแล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียว ขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขอแสดงความยินดีกับรางวัล อสม.ดีเด่น สาขาเอดส์ในชุมชน ระดับประเทศ ที่คุณนิภาพร พัฒนาขา ได้รับ เมื่อปลายปี 52 ที่ผ่านมา

          ขอบคุณคุณนิภาพร  พัฒนาขา ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรผลงานดี ๆ ในสังคม

หมายเลขบันทึก: 372946เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณค่ะ

อ่านบทความนี้แล้วทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการคลอดของคนสมัยก่อน 

การคลอดระหว่างแม่ทานกับหมอหลวง มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงค่ะ

“แม่ ความหมายอันยิ่งใหญ่  เมื่อมีใครสักคนเรียกหาและภาระหน้าที่  ของแม่ก็ไม่มีวันสิ้นสุด  ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่”

ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกท่านค่ะ

สวัสดีค่ะ

ชอบค่ะ อ่านแล้วดีมากๆ นมวัวเลี้ยงลูกวัว นมคนเลี้ยงลูกคน เลี้ยงผิดนมลูกคนนิสัยเหมือนวัว (น่าจะอย่างนั้น)

ขอบคุณนะค่ะที่นำมาเผยแพร่ให้อ่านกันต่อๆ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งจากใจของคุณนิภาพร พัฒนาขา ที่เรียบเรียงไว้ในหนังสือด้วยรักคะ

ขอชื่นชมทีมงาน รวมทั้งอสม.คนเก่งนะคะ

ปรบมือให้ดังๆเลยค่ะ

  • ชื่นชมมากค่ะ
  • ถ้าไม่บันทึกแบบนี้ หลานๆก็จะไม่รู้ว่า กว่าจะโต นั้น ต้องเจออะไรบ้าง
  • ฝากความปรารถนาดีมายังคุณยายช่วง  นาคพรหม และขอให้อายุยืนมากๆนะคะ

ให้คุณยายช่วง นาดพรหมอยูกับลูกหลานนาน ๆนะครับ

เข้ามาเยี่ยมชมและให้กำลังใจ อ่านแล้วชอบมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท