เดี๋ยวลุง “ ติดหวัด ”


เดี๋ยวลุง “ ติดหวัด ”

ภาพความวุ่นวายสับสนในห้องฉุกเฉิน    คงเป็นภาพที่ชินตาของทุกโรงพยาบาล  เสียงร้องของผู้ป่วยประกอบกับเสียงของเจ้าหน้าที่   ทำให้ห้องฉุกเฉินเป็นหน่วยงานที่แทบจะไม่เคยเงียบเหงาสักเท่าไรนัก   ฉันทำงานอยู่ในแผนกฉุกเฉินตั้งแต่เรียนจบ  จนกระทั่งวันนี้เป็นเวลายี่สิบกว่าปี   ทำให้ฉันได้พบเห็นสภาพของผู้ป่วยที่หลากหลาย   ซึ่งส่วนมากก็มักจะมาด้วยความทุกข์ทรมาน  ต้องให้การรักษาพยาบาลด้วยความเร่งด่วน  เป็นส่วนน้อยที่จะเห็นผู้ป่วยยิ้มหรือมีความสุขเข้ามาในห้องนี้   สิ่งเหล่านี้มันทำให้ฉันตั้งใจว่า   ฉันจะพยายามลบรอยเศร้าหมอง   และคืนรอยยิ้มกลับสู่ผู้ป่วยและญาติอีกครั้ง

ป้าพรหม   คือผู้ป่วยที่ฉันนึกถึง   ภาพหญิงชราวัยเจ็ดสิบกว่าปี  รูปร่างปานกลาง  ผมบาง  หน้าและขาบวม   ซึ่งมักจะเป็นคนไข้ประจำของห้องฉุกเฉินแห่งนี้   ป้ามีโรคประจำตัวอยู่หลายโรค   อาทิเช่น   ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง  กระเพาะอาหารอักเสบ  หัวใจวาย  และโรคหลอดเลือดหัวใจ   ป้ามักจะมาด้วยอาการ   หายใจเหนื่อยหอบ  แน่นหน้าอก  ขาบวม   ซึ่งระยะหลังอาการของโรครุนแรงขึ้น   ป้าจึงถูกส่งไปรักษายังโรงพยาบาลประจำจังหวัด   และต้องเข้าๆออก    นอนอยู่โรงพยาบาลประจำจังหวัดหลายครั้ง  

วันนี้ตอนใกล้จะเลิกงาน   ฉันได้ยินเสียงรถมาจอดหน้าห้องฉุกเฉิน   และอีกสักครู่   คนงานก็เข็นป้าพรหมเข้ามาในห้องฉุกเฉินด้วยรถนอน   ป้ามาด้วยอาการ   หายใจเหนื่อยหอบ   เจ็บแน่นหน้าอก   แพทย์ให้การรักษาตามแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ    และวางแผนส่งป้าพรหมไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด   เช่นเคย  

ป้านอนอยู่บนเตียงในห้องฉุกเฉิน   สีหน้าท้อแท้   และมีความกังวลซ่อนอยู่ในแววตาที่คอยมองมายังลุงที่เป็นสามี   ระหว่างรอผลเลือด   ฉันจึงเดินเข้าไปพูดคุยด้วย   และบอกป้าว่า   อาจต้องถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั่วไปอีก

  ฉันขอไม่ไปโรงพยาบาลเพชรได้ไหมหมอ  ป้าพรหม

  ทำไมจ๊ะป้า   ที่นั่นมีคุณหมอเก่งๆ   ป้าจะได้หายเร็วๆไงจ๊ะ  ฉันบอก

ยังไงป้าก็ไม่ไปโรงพยาบาลเพชรหรอก  ป้าหายแล้ว ไม่แน่นหน้าอกแล้ว  ป้าเป็นห่วงบ้านและสงสารตา (หมายถึงสามี)  แกไปลำบาก  ต้องเป็นภาระของลูกหลานขับรถไปส่ง  ถ้าอยู่ที่นี่แกมาเองได้ ป้าพรหม

ป้าอย่าเพิ่งเป็นกังวลเรื่องไปรพ.ทั่วไปเลย  ทำใจให้สบายก่อน  ผลตรวจเลือดอาจจะปกติก็ได้ ฉันพูดพร้อมกับจับมือให้กำลังใจและเรียกสามีของป้าพรหมมาอยู่ใกล้ๆ  หลังจากนั้นฉันได้ไปให้บริการผู้ป่วยรายอื่นซึ่งเข้ามารับบริการในห้องฉุกเฉิน

เมื่อผลเลือดตรวจเสร็จซึ่งผลผิดปกติ   ฉันได้ให้น้องพยาบาลห้องฉุกเฉินแจ้งผลตรวจเลือดกับท่านผู้อำนวยการ  ซึ่งท่านให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรพ.ทั่วไป   และเขียนใบส่งตัวให้   ในระหว่างรอใบส่งตัวฉันเจ้าจึงได้แจ้งผลตรวจเลือดกับป้าพรหมว่าผลตรวจเลือดผิดปกติ  จำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่รพ.ทั่วไป   เพื่อตรวจให้ละเอียดมากขึ้นและจะได้อยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทาง

เป็นตายอย่างไรป้าก็ไม่ไปเพชร  ป้าหายแล้ว  ไม่แน่นหน้าอกแล้ว  ให้ป้าอยู่บ้านลาดเถอะนะ                 ป้าพรหมพูดพร้อมน้ำตาคลอเบ้า

ถึงแม้อาการของป้าจะดีขึ้นแล้ว  แต่มันอาจจะกำเริบขึ้นอีกก็ได้  แพทย์จึงต้องส่งป้าไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อความปลอดภัยของป้า   ฉันพูดพร้อมกับจับมือให้กำลังใจ  และมีพยาบาลห้องฉุกเฉินคนอื่นร่วมอธิบายพร้อมกับจับมือให้กำลังใจป้าพรหม  แต่ป้าพรหมยังยืนยันคำเดิม

 “ ป้ามีเหตุผลอะไร  ทำไมจึงไม่อยากไปรพ.ทั่วไป  พอจะบอกได้ไหมคะ    ฉันถาม

  ที่รพ.เพชรคนเยอะ  มันแน่นไปหมด  อึดอัด  ไม่สุขสบายเหมือนที่นี่   ป้าพรหมพูด

  แต่เขามียาและหมอเก่งๆที่จะรักษาโรคหัวใจของป้าได้    ป้าเองก็มีประวัติรักษาอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว            ซึ่งรพ.บ้านลาดมีแค่ยาบรรเทาอาการฉุกเฉินเบื้องต้นเท่านั้น    ฉันบอก

ป้าไม่ไป  ยังไงก็ไม่ไป  ป้าแก่แล้ว  ถึงคราวตายก็ขอตายที่นี่   อย่าให้ต้องลำบากลูกหลานและตาเขาเลย   ป้าพรหมพูดและร้องไห้ตลอดเวลา

งั้นฉันขออธิบายและถามความเห็นของตาก่อนนะ  ว่าจะอนุญาตให้ส่งป้าไปรพ.ทั่วไปหรือเปล่า    ฉันพูดพร้อมเรียกสามีของป้าพรหมซึ่งนั่งรออยู่ข้างนอกให้เข้ามาในห้อง

ไม่ต้องไปถามตา  ตาไม่รู้เรื่องหรอก    ป้าพรหมพูดพร้อมกับร้องไห้มากขึ้น

  แกออกไปรอข้างนอกก่อน  ยังไม่ต้องเข้ามา  ข้าจะคุยกับหมอเอง    ป้าพรหมพูดพร้อมกับโบกมือไล่สามีที่กำลังเดินเข้ามาในห้องให้ออกไปรอข้างนอก  สามีป้าพรหมจึงออกไปนั่งรอข้างนอกเหมือนเดิม

พยาบาลห้องฉุกเฉิน 3 คนรวมทั้งฉัน  ได้ช่วยกันพูดคุยจับมือให้กำลังใจป้าพรหมอยู่ครู่หนึ่ง   จึงได้อธิบายความจำเป็นที่ต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่รพ.ทั่วไปอีกครั้ง  ป้าพรหมจึงมีอาการสงบลง  ร้องไห้น้อยลง

ป้ายังกังวลใจหรือกลัวอะไรอยู่อีกหรือเปล่า   ฉันถาม

ป้ากลัวตาจะไปติดไข้หวัดใหญ่ที่รพ.เพชร  ที่นั่นคนไข้เยอะ  แออัด  และมีคนเป็นไข้หวัดใหญ่ตายด้วย    ป้าพรหมพูด

อ๋อ ! นี่คือสาเหตุแท้จริงที่ป้าไม่อยากไปรพ.ทั่วไปใช่มั๊ย    ฉันพูด

ใช่  ตาแกแก่แล้ว   กลัวแกติดโรคไข้หวัดใหญ่ง่าย   ส่วนป้าแก่แล้วและมีโรคเยอะด้วย  ตายก็ช่างมันเถอะ    ป้าพรหมพูด  พร้อมกับแววตาเป็นกังวล

ป้าทำใจให้สบายนะ  ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องตาหรอก   เดี๋ยวจะให้ผ้าปิดปากปิดจมูก  ให้ตาแกใส่ป้องกัน   และให้ตาล้างมือบ่อยๆก็จะช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ค่ะ    ฉันพูด

“ ให้จริง ๆ นะหมอ   ป้าเป็นห่วงตาแกมาก ”   ป้าพรหมพูด  พร้อมกับมีรอยยิ้มเล็กน้อยที่มุมปาก  แววตาคลายความกังวลลง

จริง ๆ สิคะป้า  ทีนี้ป้ายอมไปรพ.ทั่วไปแล้วใช่มั๊ยคะ   ฉันพูด  และมีน้องพยาบาลห้องฉุกเฉินช่วยผูก mask ให้สามีป้าพรหมพร้อมทั้งอธิบายวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนจากไข้หวัดใหญ่

   เอ้า ไปก็ไป  ถ้าตาปลอดภัยป้าก็จะไป  แกต้องทำตามที่หมอบอกด้วยนะ   ป้าพรหมพูดพร้อมกับ หันไปบอกสามีด้วยสีหน้าและแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใย  พร้อมทั้งยอมขยับตัวเปลี่ยนมานอนเปลสำหรับขึ้นรถ Refer 

ในที่สุดป้าพรหมก็ยอมขึ้นรถ Refer ไปรักษาต่อที่รพ.ทั่วไป  เวลา 16.30 น.  ของวันที่  4  สิงหาคม  2552  และถึงรพ.ทั่วไปโดยปลอดภัย   ข้าพเจ้าได้ติดตามข่าวจากญาติ  ทราบว่าป้าพรหมได้นอนรักษาตัวที่รพ.ทั่วไปเป็นเวลา 7 วัน  แพทย์ให้กลับบ้านได้  สามีของป้าพรหมได้ไปเฝ้าดูแลเป็นกำลังใจแก่ป้าพรหมตลอด  และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของพยาบาลเรื่องป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างจริงจัง  จึงปลอดภัยไม่เป็นไข้หวัดใหญ่อย่างที่ป้าพรหมเป็นกังวลแต่อย่างใด  หลังจากกลับจากรพ.ทั่วไปครั้งนี้  ป้าพรหมมีอาการดีขึ้น  ทานอาหารได้มากขึ้น  ยังไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอีก  เท้าก็บวมน้อยลง

จากการเจ็บป่วยของป้าพรหมในครั้งนี้  จะเห็นได้ว่า  สิ่งที่ทีมสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุดไม่ควรลืมคือ  การประเมินสภาพจิตใจ  ความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ซ่อนเร้นอยู่  ซึ่งบางครั้งเราคิดไม่ถึง   และผู้ป่วยไม่กล้าบอกเจ้าหน้าที่โดยตรงเนื่องจากเกรงใจ   ต้องอาศัยความใส่ใจและการสังเกตจึงจะรู้ได้  (โชคดีที่วันนั้นในช่วงที่ป้าพรหมเข้ามารักษาที่ห้องฉุกเฉินไม่มีผู้ป่วยหนักเข้ามาซ้ำซ้อน  ทำให้พยาบาลได้มีเวลาพูดคุยและประเมินสภาพจิตใจของป้าพรหมได้)   ส่วนมากเรามักจะคิดว่าผู้ป่วยเป็นกังวล  กลัว  หรือห่วงใยสุขภาพการเจ็บป่วยของตนเอง   จนลืมไปว่ายังมีบางสิ่งที่ผู้ป่วยรักและห่วงใยมากกว่ารักตัวเองเสียอีก 

ดั่งเช่น  หัวใจรักของป้าพรหมที่มีต่อสามีซึ่งอยู่กันมานานด้วยความรักและผูกพัน  โดยไม่ห่วงชีวิตของตัวเองที่อาจจะเสียชีวติจากโรคหัวใจซึ่งกำลังกำเริบเลยแม้แต่น้อย

หมายเลขบันทึก: 290851เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท