หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๑๑) : รู้จักคำเหล่านี้..... "บ้าน" "แผ่นดิน" "ท้องถิ่น" "บ้านเมือง"....... ดีแล้วแน่หรือ


การมี พื้นที่ให้คนแสดงอัตลักษณ์ได้ ทำให้ความเข้มแข็งเกิดขึ้น

ในระหว่างการพบปะวันแรกในรุ่น ก็มีการจัดการให้เกิดโครงสร้างเพื่อให้มีการจัดการกับเรื่องราวหลายอย่าง อย่างเช่นในเรื่องปฏิสัมพันธ์ที่พึงมีต่อกันของผู้คนในสังคมผ่านโครงสร้างศิษย์-อาจารย์ เพื่อนใหม่-เพื่อนเก่า พี่-น้อง ผู้เข้าศึกษา-ทีมงานผู้จัด ผู้เหย้า-ผู้เยือน หลากหลายโครงสร้างที่มีพลวัตรของมันดำเนินไปในเวลาที่ซ้อนกันอยู่

หลายเรื่องของการจัดการซึ่งสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมกลุ่มมีการดำเนินไปเมื่อเวลาเริ่มต้นถูกกำหนดขึ้นชัดเจน อย่างเช่นปฏิสัมพันธ์ศิษย์-อาจารย์ ผู้เหย้า-ผู้เยือน ทีมงานลุงเอกก็ผ่องถ่ายการดำเนินการมาให้นักศึกษานับหนึ่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เริ่มต้นกันที่บอกกล่าวทิศทางให้รับทราบก่อนว่ามีใครบ้างที่มอบอำนาจให้ทำแทนได้แล้ว พร้อมชี้แนะต่อว่าให้ดำเนินการต่อไปอย่างไร เรื่องราวของอย่างไรทำแค่ส่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับรุ่น ๑ มอบเป็นบทเรียนให้ถอดความรู้ เรียนรู้แบบปัจจัตตังเองค่ะ

ตอนเช้าของวันนี้จึงมีการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องพึงทำเพื่อสานความรักในชุมชนสสสส.๒ ให้บังเกิดงอกงามโดยกลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่ง เริ่มต้นเรื่องแรกที่การดูแลกัน ร่วมด้วยช่วยกันลงมือแลกเปลี่ยนความเห็นแบบใจอาสาจนได้ความลงตัวเรื่องอาหารประจำวันและการจัดการค่าใช้จ่ายที่เื้อื้อและเสริมให้เกิดความสบายใจของทุกผู้คนที่เข้ามาสู่ชุมชนเล็กๆแห่งนี้มาลงมือต่อ

ยกหลังของภาคบ่าย อ.ศรีศักร์ ได้ชวนสานเสวนาทางออกของเรื่องม็อบที่อยู่ตรงหน้าคนกรุง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครร่วมแลกเปลี่ยน ทุกคนนั่งฟังกันแบบเงียบๆกันหมด สงสัยว่าอาหารที่ลงตัว ทำให้อิ่มอร่อยถ้วนหน้าแล้ว หลังเบรคบ่ายเลยสบายๆมั๊ง เพิ่งสังเกตว่านอกจากมีหลายคนปลีกตัวกลับกันเพิ่มแล้ว ก็เพิ่งมีบางคนเข้ามาใหม่ด้วยนะ

มาฟังกันหน่อยว่า อาจารย์เสนอความเห็นไว้อย่างไรค่ะ ขอเริ่มตรงเรื่องของสานเสวนาก่อนนะคะ

อาจารย์ถือว่าการทำงานเพื่อทำให้เกิด fair change force change ความสำคัญของการฟัง อยู่ที่การให้คนข้างล่างมีโอกาสบอก ร่วมให้ความเห็น โดยขณะเดียวกันก็ให้มีการหยุดกระบวนการแสดงอัจฉริยะของคนข้างบนไว้ด้วย

ฟังแล้วตัวท่านรู้สึกยังไงบ้าง ตัวฉัันได้ฟังแล้ว ได้ยินเสียงร้อง อืม ดังขึ้นในหูค่ะ ได้ยินเสียงอาจารย์แล้ว มองเห็นความรู้สึกของของตัวเองเมื่อทำงานแบบคนข้างล่างเลยค่ะ มองเห็นต่อไปว่าเมื่อทำงานแบบคนระดับบนแล้วปล่อยให้คนข้างล่างทำได้อย่างอาจารย์ว่า หลายเรื่องที่ขัดแย้งลดน้อยถอยลงไปด้วย อืม นี้จึงมีความหมายที่รวบยอดความเห็นของตัวเองเมื่อดำรงสถานะทั้งแบบคนข้างล่างและข้างบนแล้วค่ะ

อาจารย์เล่าเรื่อง ๒ มาตรฐานว่า วิเคราะห์แล้วเกิดจาก "ค่านิยม" (เอารัดเอาเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำ) ความขัดแย้งอย่างนี้จะให้หมดไปต้อง "ฆ่าค่านิยมก่อน" พัฒนาตนเองก่อน ภาวนาก่อน และเจริญสติอย่างมีศีล จึงจัดการได้

ยังมีเรื่องโลกทัศน์ซึ่งมี ๓ มิติในเรื่องการสร้างคน (โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ จักรวาล) ที่อาจารย์บอกเล่าให้รู้จักด้วยค่ะ

โครงสร้างทางสังคม คือ ความสัมพันธ์คนกับคน การนับญาติ

ระบบเศรษฐกิจ คือ การอยู่กับธรรมชาติ ความสัมพันธ์กับเรื่องเหนือธรรมชาติทำให้คนสัมพันธ์กับธรรมชาติเชิงสยบ (universal institution)

จักรวาล คือ ความเชื่อ จิตวิญญาณ ซึ่งมีความรู้อีกมากมายที่ยังเข้าไม่ถึง

อาจารย์แลกเปลี่ยนว่า ณ วันนี้ ความเชื่อมี ๒ อย่าง คือ ศาสนา (religion) และ ไสยศาสตร์ (magic)

คำว่า "วัฒนธรรม" อาจารย์ให้ความหมายว่า คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนในกลุ่มนั้นอยู่รอดร่วมกัน

แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างว่าการนำเอาวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อควบคุมจักรวาลมาใช้อย่างไม่เข้าใจโลกทัศน์และวัฒนธรรม การพัฒนาที่ตัดมิติของจิตวิญญาณทิ้งว่าทำให้เกิดสภาวะที่ควบคุมไม่ได้อย่างไร ตัวอย่างที่ยกมาเล่าคือกรณีของการสร้างเขื่อนที่เคยเกิดม็อบค่ะ แห่งหนึ่งก็คือเขื่อนปากมูลที่ทำให้อำเภอวารินชำราบเกิดน้ำท่วมทุกปี อีกแห่งคือเขื่อนราษีไศลที่ทำให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำเค็ม

ฉันเพิ่งรู้ว่า "จน" มีความหมายต่างจากที่ฉันเคยเข้าใจเมื่ออาจารย์เล่าว่า สมัยก่อน "จน" เป็นเรื่องของการมองภาพรวมของสังคม ไม่ได้มองที่คนเป็นคนๆ ฉันว่ามองอย่างนี้ดีเพราะว่าทำให้ผู้คนมีเป้าร่วมในการช่วยกันยกระดับสังคมที่เอื้อต่อการมอบความรักให้กัน เมินความเกลียด โกรธกันได้

อาจารย์ให้ความเห็นว่าการจัดชุมชนแบบท้องถิ่นดูแลตัวเองมีดีตรงที่ทำให้เกิด local village local town ทำให้มีการรวมอยู่โดยชาติพันธุ์อยู่รวมกันได้และยอมรับกัน มีตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาประกอบเรื่องการยอมรับชาิติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆด้วยค่ะ อย่างเช่นไทยดำในชุมชนเดียนเบียนฟู ม้งกับรองผู้นำชุมชนม้ง ชุมชนเวียดในเวียดนาม เป็นต้น

อาจารย์เน้นว่า "การมีพื้นที่ให้คนแสดงอัตลักษณ์ได้ ทำให้ความเข้มแข็งเกิดขึ้น"

ส่วนความเป็นไปปัจจุบันของสังคม อาจารย์มองว่า มีความล้าหลังกับความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมต่างกันอยู่ในชุมชนค่ะ

แล้วคำว่า "ชาติ" อีกคำหนึ่งก็หลุดออกมาจากปากอาจารย์ให้ได้งงอีก คำนั้นคือ "ชาติภูมิ" ค่ะ

อาจารย์เล่าว่าโลกมี ๓ ภูมิ ภูมิหนึ่งคือ มาตุภูมิ หมายถึงบ้านเกิดเมืองนอน ท้องถิ่น บ้านเมือง ความหลากหลายชาติพันธุ์ ภูมิหนึ่ง คือ ชาติภูมิ หมายถึงประเทศชาติ เป็นปิตุภูมิ เป็นแผ่นดินเกิด เป็นสิ่งที่อยู่ลึกๆของชาตินิยม และภูมิสุดท้าย คือ โลกภูมิ

สังเกตนะคะว่า มีคำที่อาจารย์ใช้ในความหมายต่างจากที่เราๆใช้พูดทั่วๆไป "บ้าน" "แผ่นดิน" "ท้องถิ่น" "บ้านเมือง"

อาจารย์เน้นว่า สำนึกของแผ่นดินเกิดทำให้อยู่รอด ขจัดความขัดแย้งได้ พัฒนาได้ เแล้วก็โยงมาสู่ความหมายของคำว่า "เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา"

อาจารย์ใช้คำว่า "เข้าถึง = to know" "เข้าใจ = to understand" "พัฒนา = to control"

ก่อนจบชั่วโมงเรียน อาจารย์พูดถึงความขัดแย้งของ ๓ จังหวัดภาคใต้ด้วย อาจารย์แยกแยะให้ฟังว่า ความขัดแย้งของภาคใต้ ๓ จังหวัด มีหลายมาตุภูมิขัดแย้งกันอยู่ ใครมีข้อมูลด้านลึกของภาคใต้ ลองรวบรวมเรียนรู้มาตุภูมิในภาคใต้ดูนะคะ

ในเรื่องของสังคมไทยอาจารย์วิเคราะห์ว่า สังคมไทยเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันในเรื่องการประสานประโยชน์ การ share พื้นที่ ให้เกิดเรื่องร่วมกันเป็น common property ควรทำแผนที่ชุมชนให้ได้ก่อน

หากมีการต่อรองในการสานประโยชน์ อาจารย์เห็นว่าควรเป็นพหุภาคีและไม่หลีกเลี่ยงการมีทวิภาคี เรื่องราวการประสานประโยชน์ควรจะสานทั้งประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมไปด้วยกันค่ะ

อาจารย์เล่าเรื่องให้ฟังเพลินๆอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเลยค่ะ เรื่องราวที่ไหลออกมาบอกถึงภูมิรู้ที่เต็มล้นที่อาจารย์อยากบอกให้รู้ อยากให้มีคนเข้าใจ นี่แหละครูดีหละ มีอะไรที่ลูกศิษย์ฟัง ยิ่งมีแรงที่จะผ่องถ่ายความรู้ให้ แม้วัยจะล่วงเลยแต่พลังแห่งใจที่รักลูกศิษย์ก็ยังแสดงออกมาสู้กับสังขารให้ได้เห็น

วันนี้ได้เรียนรู้ว่าความรู้ในตัวคนมีเรื่องอีกมากมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความรู้ในแง่มุมที่ผู้เชี่ยวชาญกว่ายินดีผ่องถ่ายมาให้ ดีจริงๆค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดมค่ะที่ช่วยเคาะกระโหลกให้เปิดรับความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยที่มีมากมายเช่นนี้ ขอบคุณค่ะ

จบเรื่องการเรียนแล้ว พี่จุก (พี่บุญศรี สุธรรมานุวัฒน์) ผู้อำนวยการและเลขาธิการมูลนิธิบิ๊กซี ผู้ได้รับมอบจากลุงเอกให้ช่วยดูแลการเงินของชุมชนสสสส. ๒ ก็ชวนพี่น้องบางคนร่วมคุยกันเพื่อจัดระบบบัญชีของชุมชนให้เกิดความลงตัว คุยกันจนถึงเวลากว่า ๕ โมงครึ่งแล้ว จึงต่างคนต่างโบกมือแยกกันไป

สำหรับคำว่า "ชาติ" นับไปนับมา ๕ คำเข้าไปแล้วเนอะค่ะ ที่ให้ความหมายต่าง

อย่างนี้เวลาพูดคุยกัน ไม่สับสนอลหม่านกับความหมายที่คนพูดต้องการสื่อ อมพระมาบอกก็ไม่เชื้อ ไม่เชื่อค่ะ

เรื่องราวที่อาจารย์แนะว่าให้ทำแผนที่ชุมชนขึ้นก่อนทำให้เอ๊ะนะคะ

จนไปอ่านเรื่องราวนี้ของเด็กๆที่เขาเรียนรู้กันแล้ว จึงเข้าใจมากขึ้นเรื่องการใช้ประโยชน์ของมันเพื่อพัฒนาชุมชนค่ะ

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะ ที่ทำให้ฉันได้มุมมองของ "แผนที่ชุมชน" เครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ชุมชนที่มีคนเคยสอนให้รู้จักมากขึ้นกว่าเดิมมากมายจากบทเรียนของวันนี้

๑ เมษายน ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 351081เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2010 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท