หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๒๓) : ไม่ใช่กระบวนการหาร ๒ เลยนะ...ขอบอก


มองความ ขัดแย้งเป็นส่วนผสมของวิกฤตบวกโอกาส เพื่อ จะได้เห็นว่า “ในความขัดแย้งมีโอกาส” มองเพื่อเห็นโอกาสของการ เปลี่ยน แปลง ( a true for change)

บันทึกนี้ขอเล่าต่อถึงเรื่องราวที่อาจารย์นพพรได้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๓ ค่ะ

ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยนั้นอาจารย์ได้แบ่งปันต่อว่ามีเรื่องที่ต้องเข้าใจว่าอะไรคือความขัดแย้ง รวมทั้งทำความเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้ง ในมุมที่อาจารย์แลกเปลี่ยน "ความขัดแย้งเป็นส่วนผสมของวิกฤตบวกโอกาส" ค่ะ ประโยชน์ในการมองอย่างนี้เพื่อจะได้เห็นว่า "ในความขัดแย้งมีโอกาส" มองเพื่อเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลง ( a true for change) ทำใจ มองให้เห็นวิกฤตเป็นโอกาส มองเห็นโอกาสในวิกฤต

อาจารย์บอกว่ามองเห็นโอกาสก็ได้โอกาส เห็นวิกฤตก็ได้วิกฤต

และเตือนใจว่า ในพายุแห่งความขัดแย้ง การเห็นเร็ว เห็นช้ามีความหมาย เช่น เห็นขั้น ๑ เร็วไป ก็จะเห็นขั้น ๔ ช้าไป หรือเมื่อไรไม่สนใจขั้น ๑ ปล่อยให้ดำเนินไป ขั้น ๔ ก็จะเกิดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว

อาจารย์ย้ำว่า โดยปกติ เมื่อยังไม่เกิดขั้น ๔ คนส่วนใหญ่จะมองว่าตัวเองไม่เกี่ยว การมองอย่างนี้ขั้น ๔ จะเกิดเร็ว แบบที่เรียกว่า "หอบฟืนไปดับไฟ" คือ ยิ่งดับยิ่งลุก ดับผิดวิธียิ่งลุก

ส่วนใหญ่อาจารย์ชวนเรียนแบบให้ฝึกคิดตามนะคะ ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วงงๆก็ไม่ต้องแปลกใจ

นึกถึงเวลาเป็นเด็กดูนะคะ เวลาครูสอนแล้วให้ลงมือคิดไปด้วยโดยให้โจทย์เลข ตอนนั้นเราคิดอะไรต่อเนื่องในความคิดบ้าง ความคิดเชื่อมโจทย์แบบข้อต่อข้อหรือร้อยเรียงเป็นเรื่องราว

ชั่วโมงเรียนชั่วโมงนี้ก็คล้ายๆการเรียนเลขแบบอาจารย์ชวนทำโจทย์เลขทีละโจทย์ไปพร้อมการสอนค่ะ จะรู้เรื่องว่าเรียนอะไรแนะนำให้เรียนอย่างเด็กเรียนวิชาเลขค่ะ จะได้ไม่หงุดหงิดว่าทำไมบันทึกฉันอ่านแล้วมันกะฉึกกระฉักยังไงไม่รู้

มาที่โจทย์ใหม่กันค่ะ คราวนี้ลองตอบคำถาม "เวลาหมากัดคน ทำยังไงให้เลิก" ค่ะ

ท่านอาจจะตอบหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่คงไม่พ้นมี ๒ คำตอบนี้เนอะค่ะ "ตี, สาดน้ำพร้อมถัง"

เมื่อได้คำตอบแล้วลองตอบต่อนะคะ อาจารย์ถามต่อว่า ทั้ง ๒ วิธีนี้วิธีไหนที่หมาหยุดกัดชะงัด ใครไม่รู้คำตอบหรือยังไม่ตอบไปหาหมาสักคู่ที่กำลังกัดกันแล้วลองดูค่ะ แต่ถ้าโดนหมากัด ฉันไม่เกี่ยวนะคะ....อิอิ

แล้วให้มาตอบคำถามนี้ต่อ "คนทะเลาะกัน ทำยังไงให้หยุด" ได้คำตอบอะไรเก็บไว้ในใจแล้วลองเทียบดูกับคำตอบของอาจารย์ค่ะ อาจารย์ตอบว่า "ใช้น้ำ" ทั้งกับโจทย์เรื่องคนและเรื่องหมา ใครค้านมั่งค่ะ

มองเห็นว่ามีอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังของวิธีนี้มั๊ยค่ะ ทีแรกที่อาจารย์บอกฉันก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่ออาจารย์พูดถึง ก็ถามตัวเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ลองวิเคราะห์ดูนะคะว่าท่านค้านเรื่องสมานฉันท์ (Harmony) ความข้องเกี่ยวกับคู่กรณี ( both sides) และโอกาส (opportunity) ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า

เล่ามาตั้งนานยังไม่ถึงเรื่องการไกล่เกลี่ยเลยเนอะ เข้าเรื่องดีกว่านะคะ ทีนี้มารู้จักการไกล่เกลี่ยกันค่ะ

การไกล่เกลี่ยไม่ใช่กระบวนการหาร ๒ (ไม่ใช่ ๑+๑ = ๑/๒) และไม่ใช่การเกลี้ยกล่อมค่ะ การไกล่เกลี่ยเป็นการจัดการกับธรรมชาติของมนุษย์

อาจารย์ให้มุมมองว่า มนุษย์มีศักดิ์ศรี เชื่อคนอื่นยาก วิธีคนอื่นไม่ใช้ก็ไม่พูด การใช้วิธีเกลี้ยกล่อมไม่เข้ากั๊นเข้ากันค่ะ แต่การเปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นโยนิโสมนสิการ มองให้เห็นว่าทำที่เหตุ ทำที่ผล เหตุทำให้เกิดผล ผลมาด้วยเหตุ และชวนให้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า "คนคือคน" นี่แหละเข้ากัน การไกล่เกลี่ยทำให้คนเกิดโยนิโสมนสิการค่ะ

คนมีกิเลส คนมีโลภ โกรธ หลง ในบรรดาทั้งหมด โลภใหญ่ที่สุด เป็นต้นตอของโกรธ หลง เมื่อเป็นผู้ได้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อเป็นผู้ให้จะให้สิ่งที่แย่ที่สุด การจับคู่คุยกันไม่มีทางลงตัว ตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจ การเจรจาล้มเหลวทุกครั้ง

วิธีจัดการกิเลสของคนมีให้เลือกแค่ "ดับกิเลสของมนุษย์" กับ "บริหารกิเลสของคนให้ดีที่สุดและจบอย่างมีความสุข"

กรณีของการเจรจาจึงให้เลิกนึกถึงการใช้วิธีแรก

หลักที่ใช้คือ มองเปลี่ยนเสียเป็นได้ แลกกันไม่กินรวบ

คราวนี้ก็มาถึงโจทย์ให้ฝึกแบบคิดเลขอีกค่ะ ลองนึกภาพเรียนไปด้วยกันนะคะ เรื่องแม่ค้าขายเม็ดมะม่วงตลาดกิมหยง "ท่านคิดอะไร รู้สึกอย่างไร เมื่อท่านไปซื้อเม็ดมะม่วงที่ตลาดกิมหยง และมีคนอีกคนหนึ่งก็มาซื้อด้วย ระหว่างที่รอแล้วเห็นแม่ค้าชั่งหยิบเม็ดมะม่วงออกจากถุงของท่านออกไป ๒-๓ เม็ด แต่ของอีกคนแม่ค้าหยิบเติมให้"

ลองตอบแล้วมาเรียนต่อด้วยกันต่อไปค่ะ

ลองตามความคิด ความรู้สึกของท่านดูค่ะ ว่ามีความต่างระหว่าง "ก่อปัญหา" และ "แก้ปัญหา" อย่างไร แล้วไปดูสรุปเฉลยและข้อคิดของอาจารย์ดูค่ะ

อาจารย์สรุปว่า "ก่อปัญหา กระทำต่อเหตุ คิดที่เหตุ ได้ผลลบ คิดที่ผล ได้ผลบวกมากกว่า"

"แก้ปัญหา กระทำที่ผล คิดที่ผล ลืมซะ คิดที่เหตุ มองเหตุ ได้ผลกว่า"

ใช้ประสบการณ์ของตัวเองสรุปต่อนะคะว่าตรงกันกับที่อาจารย์แบ่งปันเพิ่มอย่างไรบ้าง

อาจารย์เติมว่าอย่างนี้ค่ะ "ก่อปัญหา ทำที่ผล แก้ปัญหา ทำที่เหตุ ปฏิบัติใกล้ชิดพิเศษ ผูกพันธ์ เกิดความรัก"

มีเรื่องคนทะเลาะกันที่อาจารย์นำมาแบ่งปันด้วย ลองดูความรู้ในตัวเองนะคะว่าเหมือนและต่างจากอาจารย์สอนอย่างไร

อาจารย์แบ่งปันว่า คนทะเลาะกันดีกันได้มี ๓ ข้อ - คุยกันได้ สื่อสารกัน , เผชิญหน้าปัญหา , ชนะ-ชนะ ค่ะ

แล้วอาจารย์ก็ชวนให้เห็นความธรรมดาว่าในหัวใจดวงเดิมๆนั้น

"คนที่มีเรื่อง ไม่เคยคิดว่าตัวเองผิด"

"เมื่อมีเรื่องอีกฝ่ายต้องยอมรับว่าคนมีเรื่องเป็นฝ่ายถูก" เป็นเรื่องปกติ เห็นด้วยมั๊ยค่ะ

แล้วอาจารย์ก็ชวนให้สร้างหัวใจใหม่ ชวนไปสร้าง "ไม่ถือผิด-ถูก แต่ดูปัญหา มองอนาคตในแง่ของการแก้ไข" แทนหัวใจดวงเดิม

ฟังแล้วจะว่าสร้างง่ายก็ง่าย จะว่าสร้างยากก็ยากเนอะค่ะ แต่ฉันเชื่อว่ามีคนทำได้มาแล้ว อาจารย์จึงนำมาบอกกัน ลองดูละกันค่ะ

มีเรื่องหนึ่งที่อาจาย์ทำให้ตาคมขึ้นอีกหน่อยว่ามีปรากฏการณ์แห่งสัมผัสที่ตามรู้ไม่ทันอยู่ในประสบการณ์การมีเรื่อง นั่นก็คือ "คนมีเรื่องไม่เคยรู้ว่างานสำเร็จ"

ใคร่ครวญตามดูหน่อยมั๊ยค่ะ เวลาเรามีเรื่องขุ่นใจใคร "เราเป็นฝ่ายถูกที่ไม่เคยรู้ว่างานสำเร็จ" หรือเปล่า เวลาพาตัวเองไปทำหน้าที่ประนีประนอมจะได้ชวนให้คู่กรณีมองเห็นและรับรู้ว่างานสำเร็จของเขาแล้วหรือยังได้ง่ายๆไง

ดูตัวอย่างในเหตุการณ์ประจำวันต่อไปนี้ดูค่ะ

ทำกับข้าว ผัดข้าว เมื่อข้าวสุกแล้วหยุด กับเมื่อข้าวสุกทำต่อข้าวไหม้ อยากได้ความสำเร็จอะไร

ซักผ้าสะอาดแล้วหยุด กับซักต่อผ้าขาด อยากได้ความสำเร็จอะไร

แล้วมาต่อที่เรื่อง ๒ เรื่องข้างล่างนี้

เรื่องแรก : ทุกๆวันสามีภรรยากินข้าวด้วยกันเป็นปกติ มีวันหนึ่งสามีไม่กลับบ้าน ภรรยารับรู้ความไม่ปกติ แล้วคิดด้านลบว่าสามีเป็นอะไรไป ต่อมารู้ว่าสามีไม่ได้เป็นอะไร เมื่อได้ข่าวจากเพื่อนว่าสามีกินเหล้าอยู่กับเพื่อน ตามไปดูเห็นสามีกินเหล้า สามีไม่เคยกินเหล้าแต่วันนี้กินเพราะเจอเพื่อนที่ไม่เจอกันมานาน จึงอยู่กินเหล้าเพื่อคุยกันเมื่อเพื่อนชวน สามีบอกภรรยาว่าตั้งใจว่าจะกินเหล้าด้วยสักแก้วแล้วจะกลับบ้านไปกินข้าวด้วย แต่เมื่อเหล้าจะหมดแก้ว เพื่อนรินเหล้าเติมให้ สามีเกรงใจเพื่อนกินต่อ ภรรยาก็โกรธและเกิดเรื่องมีปากเสียงกันขึ้น

เรื่องที่ ๒ : แม่รับลูกจากโรงเรียนกลับบ้าน ไปถึงบ้านก็บอกลูกให้อาบน้ำและทำการบ้าน ลูกรับปากแม่แต่ขอเล่นเกมส์สักเกมส์ก่อน ปรากฏว่าเล่นไปแล้วติดพันเพราะเกมส์ไม่จบ แม่เดินมาเห็นลูกยังไม่อาบน้ำก็โกรธและตีลูก เข้าใจไปว่าลูกไม่ยอมเลิกเพราะเล่นต่อ

เฉลยของเรื่องงานที่สำเร็จของ ๒ เรื่องนี้คือ งานของภรรยาที่สำเร็จแต่ไม่รู้ตัว คือ รู้ว่าสามีไม่เป็นอะไร งานที่สำเร็จของแม่ที่แม่ไม่รู้คือลูกรับรู้เรื่องการบอกให้อาบน้ำก่อนทำการบ้านค่ะ

งงมั๊ยค่ะ ถ้างงลองไปอ่านเรื่องดูอีกทีเพื่อหาความสำเร็จค่ะ

ฟังตัวอย่างของอาจารย์แล้วฉันนึกไปถึงคำว่า "เป้าหมายที่ชัด" และ "สติ" ที่เกาะเกี่ยวกันอยู่เลยเชียว

เห็นความเร็วของความคิดคนหรือยังค่ะ

เห็นความสำคัญของการครองสติมั๊ยค่ะ

นึกถึงการชวนฝึก "สิ้นคิด" ของอาจารย์วรภัทร ที่มาแบ่งปันเมื่อตอนปฐมนิเทศขึ้นมาอีกแล้วค่ะ

หมายเลขบันทึก: 360726เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท