หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๒๖) : แยกคนออกจากปัญหา แยกจุดยืนออกจากคน


ชนะ-ชนะ หมายถึง การยอมรับความต่างและหาจุดร่วม หาความเหมือนเพื่อตั้งคำถามขึ้นมาใหม่หรือเป็นโจทย์ใหม่ ใช้ความต่างทำให้เกิดคำพูดใหม่กับเรื่องที่สร้างความรู้สึกลบๆให้กลายเป็นความรู้สึกบวก แล้วสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยการชวนเผชิญปัญหาและร่วมกันหาทางออกที่ทำให้ความรู้สึกบวกเพิ่มมากขึ้น

บันทึกก่อนได้เล่าเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเอ่ยถึงการบริหารความเสี่ยงเอาไว้บ้างแล้ว

ที่จริงความเกี่ยวข้องของความสัมพันธ์กับความเสี่ยงเป็นเรื่องสัมพัทธ์นะคะ ถ้าหากท่านไม่เชื่อก็ลองวิเคราะห์สิ่งที่อาจารย์แบ่งปันแล้วหาข้อแย้งดูค่ะ อาจารย์แบ่งปันไว้ด้วยการยกตัวอย่างการขอใช้ของหวง

ลองนึกถึงเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน เรื่องของหวงของเพื่อนหรือของท่านเองที่มีการขอใช้และวิเคราะห์ความรู้สึก คู่ไปกับการรับรู้ข้อสรุปต่อไปนี้ด้วยตัวเองดูค่ะ

อะไรที่เสี่ยงมาก ถ้ามีหลักประกันที่มั่นใจ การตัดสินใจให้ใช้ของหวงของผู้เป็นเจ้าของง่ายหรือยาก

ความสัมพันธ์ที่ท่านมีต่อเพื่อน หรือเพื่อนมีต่อท่านระหว่างการสร้างความสัมพันธ์ต่อกันไว้ดีกับความสัมพันธ์ต่อกันที่ทำลายลงไปซะแล้ว อย่างไหนเพิ่ม อย่างไหนลดความรู้สึกเสี่ยงต่อการให้ยืมของหวง

คำตอบที่ท่านได้เป็นอย่างนี้หรือเปล่า "ความสัมพันธ์ดี ทำให้ความไว้ใจดี ความสัมพันธ์ไม่ดีทำให้ความไว้ใจไม่ดี"

คำตอบนี้แหละค่ะที่อาจารย์สรุปมาแบ่งปันไว้ว่า "ความไว้ใจดีหรือไม่ดีขึ้นกับการบริหารความเสี่ยง หรือพูดให้ง่ายกว่าก็คือ ไว้ใจมาก เสี่ยงน้อย ไว้ใจน้อย เสี่ยงมาก" ค่ะ

มีเรื่องของการมองมุมบวกที่อาจารย์ชี้ชวนให้เห็นด้วยว่า "การมองมุมบวกทำได้ลำบาก แต่สามารถทำได้เมื่อเชื่อใจ" ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อเตือนให้เห็นความยากในการทำ ไม่ใช่เพื่อทำให้เห็นเป็นเรื่องทำไม่ได้หรอกนะคะ

เรื่องของชนะ-ชนะ อาจารย์ก็ชวนให้มองในมุมใหม่ ทั้งเรื่องของการมองมุมความต่าง การมองความเหมือน ซึ่งเป็นมุมมองที่ฝืนธรรมดาของสิ่งที่ดำรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันของผู้คนอยู่ไม่เบา

อาจารย์สื่อความหมายของคำว่า ชนะ-ชนะว่า หมายถึง การยอมรับความต่างและหาจุดร่วม

การมองมุมใหม่ที่อาจารย์ชี้ชวน ไม่เหมือนธรรมดาอยู่ตรงการหาความเหมือนเพื่อตั้งคำถามขึ้นมาใหม่หรือเป็นโจทย์ใหม่ ใช้ความต่างทำให้เกิดคำพูดใหม่กับเรื่องที่สร้างความรู้สึกลบๆให้กลายเป็นความรู้สึกบวกค่ะ

ตัวอย่างการใช้คำพูดใหม่เป็นโจทย์ อย่างเช่น กรณีภรรยาขอหย่าสามีด้วยเหตุแห่งความประพฤติลบๆ เตะ กลับดึก ไม่ให้เกียรติ เมา ไม่ให้เงิน ไม่ทำการบ้าน เป็นโจทย์ "ขอหย่า" ก็ให้ใช้คำพูดใหม่เพื่อตอบโจทย์ใหม่ "ไม่หย่า" เปลี่ยนความรู้สึกลบๆต่อประพฤติให้เป็นความรู้สึกบวก เปลี่ยนคำพูดที่เห็นพฤติกรรมของสามีเป็นพฤติกรรมลบเป็นคำพูดที่ให้ความหมายใหม่ของคำว่า "ไม่รัก" เป็นความหมายว่า "รัก" แทน อย่างนี้เป็นต้น

อาจารย์ได้แบ่งปันเรื่องการเกลี้ยกล่อมว่าเป็นอะไรที่ลงมือทำด้วยมีคำตอบแล้ว ส่วนการไม่เกลี้ยกล่อมเกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ว่าคำตอบหรือความต้องการแท้คืออะไร หรือรู้ว่าคำตอบอะไรดีที่สุดแต่คนรับไม่รู้ว่าสิ่งที่หยิบยื่นให้คือสิ่งที่ดีที่สุด

จุดอ่อนของเรื่องเหล่านี้อยู่ตรงที่มนุษย์มองเห็นและรับรู้ความเท่าเทียมยากมากหรือลำบากมาก แต่ก็มีวิธีแก้ค่ะ

วิธีแก้นั้นอาจารย์แบ่งปันว่าให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น

กระบวนการมีส่วนร่วมนี้เป็นอะไรที่มีการสร้างช่องทางสื่อสาร การเปลี่ยนการเผชิญหน้าเป็นการเผชิญปัญหา และการร่วมกันหาทางออกอย่างชนะ-ชนะ แฝงอยู่ในตัวมัน

อาจารย์ได้พูดถึงพื้นฐานของการสื่อสารไว้เล็กน้อยว่า การสื่อสารมีการสร้างไมตรีเป็นพื้นฐาน และต้องการความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

การสื่อสารเป็นการส่งข้อความที่มีช่องทางส่งได้หลายช่องทาง เช่น ส่งผ่านผู้มีอิทธิพลหรือพวกเราในพวกเขา ส่งไปยังจุดต่อต้านของเขา ส่งต่อไปยังจุดที่เขายอมรับ ส่งไปยังจุดสนใจหรือผลประโยชน์

แล้วยังมีเรื่องของการจัดกรอบความคิดใหม่ ๓ มุมที่อาจารย์ชวนให้ใคร่ครวญในการสื่อสารด้วยค่ะ

มุมเหล่านี้ก็ประเด็นของการเปลี่ยนมุมมอง การเปลี่ยนชื่อใหม่ การเปรียบเทียบค่ะ การเปลี่ยนมุมมองนี้ทำเพื่อ "แยกคนออกจากปัญหา แยกจุดยืนออกจากคน เพื่อมุ่งที่ผลประโยชน์ร่วม เปลี่ยนการเผชิญหน้าเป็นการร่วมกันเผชิญปัญหา" ค่ะ

มีเรื่องสำคัญของการสื่อสารที่อาจารย์เตือนให้มอง และฉันก็เห็นด้วยว่าสำคัญ ที่ฉันว่าสำคัญไม่ใช่การมองคนอื่นนะคะ หากแต่ฉันว่าสำคัญตรงที่การหันมามองตัวเองมากกว่าอย่างอื่นเลยค่ะ

ที่ฉันว่าเรื่องนี้สำคัญสำหรับทุกคนในการหันมามองตัวเองก็เพราะว่ามีหลายช่วงเวลาที่ผู้คนเห็นปัญหานี้ในผู้อื่นแต่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็มีปัญหาเหล่านี้

เรื่องสำคัญที่ว่านี้ถ้าลงมือทำจะทำให้รู้ตัวและตามทันความคิดซึ่งมีผลต่อการฟัง แล้วทำให้การฟังของตัวเราเองมีปัญหาค่ะ

ลองประเมินตัวเองดูหน่อยนะคะว่าตัวเองเป็นอย่างไรในปัญหาเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าหากลองแล้วมีข้อแย้งกับสิ่งที่อาจารย์ได้แบ่งปันไว้ ลองใหม่นะคะ ลองใหม่ซ้ำๆ แล้วจะเกิดความเข้าใจบางอย่างที่เป็นความเข้าใจใหม่ๆเกี่ยวกับตัวเองค่ะ

การฟังไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ ที่มนุษย์ฟังนั้นมีผลเพียงแค่ "ได้ยิน"

ผลของการได้ยินจึงมีความต่างเกิดขึ้น ( All listeners do not receive the SAME massage)

ฟังแบบผิดๆ ( Faulty Listening Behaviors) ซึ่งมีทั้ง ฟังตาใส ( Pseudolistening) เลือกฟัง ( Selective Listening) ไม่ฟังหรือฟังเพื่อโจมตี ( Defensive Listening) ฟังไม่ได้ศัพท์ ( Insensitive Listening)

เป็นไงค่ะ ประเมินตัวเองแล้วพบการฟังของตัวเองอยู่ในกลุ่มเหล่านี้บ้างมั๊ยค่ะ

ถ้าพบละก็อาจารย์ชวนฝึกการสื่อสารแบบแบ่งปันข้อมูล ( Sharing of information) หรือที่เดี๋ยวนี้มีคำเรียกกันว่า "dialogue" ซึ่งเป็นการฟังแบบมีส่วนร่วม ( Active listening) ค่ะ

การฟังแบบมีส่วนร่วมจะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นหลอมรวมอยู่ในการฟังทุกครั้งไป ช่วยให้การฟังที่มีปัญหาเปลี่ยนเป็นการฟังที่มีคุณภาพและให้ผลของการสื่อสารที่เปลี่ยนไปค่ะ

เหล่านี้คือพฤติกรรมของผู้ฟังและผู้พูดที่เกิดขึ้นใน active listening ค่ะ ส่งสัญญาณการรับฟัง ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบอารมณ์ สรุปความ กล่าวทวนเนื้อหาด้วยการเปลี่ยนความหมาย(ซึ่งมาจากการเปลี่ยนกรอบความคิด)

มีเคล็ดที่อาจารย์นำมาแบ่งปันไว้ให้ใช้เป็นสัญญาณจับอารมณ์เมื่อเราลงมือสื่อสารเพื่อจัดการความขัดแย้งด้วย

ใช้มันสังเกตความรู้สึกที่สัมผัสกับพฤติกรรมระหว่างลงมือเจรจาของเราได้ดีเลยค่ะ

ถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ "โต้ตอบทันที เถียง ปฏิเสธ ผลักดัน ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ มองเห็นเป็นศัตรู" แปลได้ว่าเราใช้อารมณ์ในระหว่างการสื่อสารเพื่อจัดการความขัดแย้งแล้วค่ะ

เมื่อลองใคร่ครวญเคล็ดลับที่อาจารย์แบ่งปันนี้ ฉันเห็นด้วยกับมันค่ะ

ใครที่ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปดูที่อาจารย์แบ่งปันเรื่องปัญหาในการฟังอย่างใดอย่างหนึ่งในกลุ่มของการฟังที่มีปัญหาข้างบน แล้ววิเคราะห์พฤติกรรมที่เป็นผลของอารมณ์หลังการฟังนั้นๆดูค่ะ

หมายเลขบันทึก: 363300เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเก็บตกบทเรียนค่ะพี่หมอ พี่หมอไปเรียนทุกอาทิตย์คงเหนื่อยมากมาย ขอบพระคุณนะคะ ฝันดีค่ะ

  • น้อง poo ที่รัก
  • เป็นอย่างปูตัวน้อยแสนซน
  • เดินไปเดินไปมา
  • เมื่อมาเยี่ยมเยือนพี่ดีใจ
  • .......
  • ผ่อนพักร่างกายและหัวใจ
  • ไว้ดูแลรักษ์โลก
  • ร่วมปลูกร่วมสร้างปัญญาคน
  • ดูแลปัญญาดูแลคน
  • ดูแลสิ่งดีงาม
  • ครองใจผู้คนไว้ตลอดไป
  • ......
  • ดีใจที่แวะมาค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท