หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๓๒) : ละการเป็นนักฟันธงซะนะครับ


สิ่งแรกที่จะเป็นคนแก้ความขัดแย้ง ต้องเป็นนักกระบวนการ ไม่ใช่นักฟันธง จัดกระบวนการให้มีส่วนร่วม ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของ แล้วตัดสินใจ

จวนถึงเวลาพักเบรคเช้า อาจารย์หมอก็ให้น้องปอไปตามดูว่า อาจารย์ที่จะมาสอนแทนนั้นมาหรือยัง เมื่อรับรู้ว่าสามารถส่งไม้การสอนต่อให้อาจารย์ท่านใหม่ได้ อาจารย์ก็ให้พักแล้วก็จากไป  พวกเราที่นั่งกันอยู่ก็พากันไปคลายเนื้อคลายตัวกันตามอัธยาศัย จนได้เวลาก็พาตัวเข้ามาพบกับอาจารย์ท่านใหม่ อาจารย์ที่มาสอนแทนอาจารย์หมอคือ อาจารย์ศุภณัฐ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันพระปกเกล้าแห่งนี้ด้วยค่ะ


ซ้ายคืออาจารย์หมอวันชัย วัฒนศัพท์  ขวาคืออาจารย์ศุภณัฐ

อาจารย์เริ่มต้นด้วยสไลด์ดอกกุหลาบสุดสวย ที่ชวนให้ทุกคนมองดูแล้วบอกเล่าสู่กันว่าเห็นดอกกุหลาบสีอะไร ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าสีชมพู แต่ก็มีบางคนมองไปที่จอทีวีแล้วบอกเป็นคนละสี  จากนั้นอาจารย์ก็เปลี่ยนรูปที่ขึ้นจอเป็นรูปใหม่ พร้อมทั้งชวนให้หาว่ามีรูปหน้าคนอยู่เท่าไรในภาพ  ดูกันไปแล้วก็ไม่มีคำเฉลยหรอกนะคะ

   

เมื่ออาจารย์ศุภณัฐ ทดสอบนักเรียนโข่งแล้วพบว่า มีหลายเรื่องพื้นฐานที่ยังไม่ได้มีการปูความรู้ให้  อาจารย์ก็เลยทวนกลับไปเพื่อเติมความรู้ให้ค่ะ  ขอบคุณอาจารย์นะคะ

เรื่องแรกที่อาจารย์แบ่งปันก็เป็นการชวน ให้เห็นมุมมองของบริบทค่ะ  อาจารย์พูดถึง “คนละเป้า คนละบริบท คนไม่เหมือนกัน อารมณ์ไม่เหมือนกัน”  เหล่านี้แหละค่ะ

สิ่งที่อาจารย์ย้ำก่อนที่จะเติมต่อความรู้ให้ก็เป็นเรื่องเตือนว่า “สิ่งแรกที่จะเป็นคนแก้ความขัดแย้ง ต้องเป็นนักกระบวนการไม่ใช่นักฟันธง  จัดกระบวนการให้มีส่วนร่วม ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของ แล้วตัดสินใจ”

อาจารย์ได้ช่วยขยายความให้เกิดความเข้าใจ ที่ลึกขึ้นกับเรื่องหมวดหมู่ของความขัดแย้ง ๕ หมวดที่เคยเล่าให้ฟังค่ะ  สิ่งที่อาจารย์ช่วยเติมเป็นมุมของความยากและง่ายในการจัดการกับมัน รวมทั้งยกตัวอย่างโดยสังเขปซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจค่ะ

แกะรอยตามไปรู้จักมันทั้ง ๕ หมวดแล้วก็มาดูความยากง่ายในการจัดการกัน อาจารย์แบ่งปันว่า ความขัดแย้งด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านผลประโยชน์ และด้านความสัมพันธ์ จัดการง่ายกว่า ความขัดแย้งด้านค่านิยมและโครงสร้าง

ที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของความขัดแย้งและวิธีแก้ที่อาจารย์นำมาแบ่งปันให้รู้ค่ะ

ความขัดแย้งด้านข้อมูล มีหลายรูปแบบ เช่น ขาดข้อมูล ผิดพลาด แปลไม่ตรงกัน ความแตกต่างในการเก็บและการศึกษา เช่น ความยาวห้อง ปะการังเสื่อม  ท้อง  ความขัดแย้งอย่างนี้แก้ง่ายด้วยการตั้งเกณฑ์ และลงมือพิสูจน์

ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์  เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง เิงินทอง ทรัพยากรที่เป็นรูปธรรม เวลา การแย่งชิงผลประโยชน์ การตัดเค๊ก ความขัดแย้งอย่างนี้แก้ง่ายด้วยการทำให้เกิดความเชื่อ ทำให้เกิดความยุติธรรม

ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ มีหลายแบบเหมือนกัน เช่น อารมณ์ที่รุนแรง การรับรู้ที่คลาดเคลื่อน การสื่อสารที่ไม่มีทัศนคติตายตัว ความประพฤติเชิงลบซ้ำซาก  การสื่อสารผิดพลาด การสื่อสารไม่ดี วิธีแก้ คือ ต้องสื่อสาร ปรับมุมมองให้ตรงกัน แก้แบบอ่อนกับคน แข็งกับปัญหา

ความขัดแย้งด้านค่านิยม ที่บอกว่าแก้ยากกว่า ๓ ด้านข้างบน ก็มีรูปแบบต่างๆไป เช่น ปรัชญาความเชื่อไม่ตรงกัน ค่านิยมต่างกัน ประสบการณ์พื้นฐาน การศึกษา วัฒนธรรม ประเพณีต่างถิ่น  อาจารย์ไม่ได้แบ่งปันวิธีแก้ให้ได้รู้ค่ะ แค่ยกตัวอย่างกรณีสว.คนดังที่มีข่าวกับการขึ้นพระธาตุในภาคเหนือให้ฟังเท่านั้นเองค่ะ

ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง ที่เป็นอีกด้านที่แก้ยาก ก็มีหลากรูปแบบ เช่น การแย่งชิงอำนาจ ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่ยุติธรรมของกฏหมาย การปกครอง เช่น การกระจายอำนาจด้านการศึกษา การปรับโครงสร้างระบบราชการไทย  อาจารย์แนะนำวิธีแก้ว่า เวลาจัดการให้ดูพร้อมๆกัน เพราะว่าเรื่องราวของมันผสมอยู่ในเรื่องอื่นๆเสมอ

คำหนึ่งที่อาจารย์ใช้คือคำว่า “ดูแบบบูรณาการ”  ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นคำที่เป็นนามธรรม ทำให้จับต้องยากอยู่เหมือนกันในเรื่องของความหมายอย่างเจาะจงเพื่อให้เข้าใจ  อย่างไรก็ตามในเมื่อมันไม่ชัดพอ ก็คงต้องลองทวนความกับตัวเองดูค่ะว่าเข้าใจความหมายของมันว่าอย่างไร

สำหรับความเข้าใจของฉัน ฉันเข้าใจว่ามันคือการดูให้เห็นความขัดแย้งทุกอย่างที่คลุกผสมกันอยู่ในเรื่องเดียวกันค่ะ ที่เข้าใจอย่างนี้เพราะฉันไม่เคยพบความขัดแย้งใดที่มีอยู่เพียงด้านเดียว เดี่ยวๆเลยค่ะ

อาจารย์ได้ยกตัวอย่างเรื่อง “จุดยืน” และ “จุดสนใจ” รวมทั้งเปรียบเทียบแง่มุมความสัมพันธ์เพิ่มให้ด้วยเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้นค่ะ

ถ้าใช้คำพูดง่ายๆแปลความหมาย จุดยืนก็คืออะไรที่พูดออกมาว่าเป็นสิ่งที่ต้องการ  จุดสนใจคือสิ่งที่ต้องการจริงๆ  โดยที่มีสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดภายในความคิดความปรารถนาแฝงอยู่ นั่นก็คือสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้

อาจารย์ทวนเรื่องของการใช้สามเหลี่ยมแห่งการจัดการความขัดแย้งโดยยกตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัวมาทำความเข้าใจด้วยค่ะ สังเกตดูการไม่สนความต่าง และการหาความเหมือนมาใช้ประโยชน์ในตัวอย่างที่ยกมาให้เรียนกันเองนะคะ

  

แล้วอาจารย์ก็เล่าต่อว่า ในวันประวัติศาสตร์ที่มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำเสื้อแดงที่ห้องประชุมสถาบันพระปกเกล้านั้น อาจารย์เก็บเกี่ยวเรื่องระหว่างการเจรจาลงใส่ในสามเหลี่ยมแห่งการจัดการความขัดแย้งได้ประเด็นอะไรบ้าง อย่างไร

เห็นสิ่งที่อาจารย์นำมาแลกเปลี่ยนแล้วฉันร้องโอ้โหในใจเลยค่ะ ก็ความสนกันในความต่างมันมากซะจนบดบังความเหมือนที่เป็นจุดสนใจร่วมไปซะงั้น  มิน่าจึงพูดกันไม่ลงตัวซะที…เฮ้อ

เห็นอนิจจังของอารมณ์ที่เกาะติดตัวคนที่เป็นจุดยืนของคนกันแล้วหรือยัง…เหอ…เหอ…เหอ…เห็นหรือยัง…ผลของการไม่แยกจุดยืนออกจากความเป็นคน…ปล่อยให้ตัวตนครอบงำตัวเอง…แล้วเป็นไง(ตรงนี้ไม่ได้กำลังว่าใคร เพียงแต่อยากเตือนใจตัวเองเอาไว้ เตือน เตือน เตือน และเตือน…อิอิ )

เห็นตัวอย่างที่อาจารย์ทำไว้ให้ดู  ก็ขอยกมือซูฮกกับความไวในการจับประเด็นเลยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 364593เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท