หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานในประเทศ (๕) : ภาคใต้ - ดูงาน ดูงาม


สิ่ง ที่เห็นสะกิดว่าการบำรุงรักษาเกินขีดความสามารถของผู้ดูแลหรือเปล่า จะช่วยให้สิ่งที่มีคุณค่าอย่างนี้อยู่นานๆได้อย่างไร ช่วยกันเถิด

บริจาคซากาดกันแล้ว  เที่ยวบ้านเพื่อนกันแล้ว ก็พากันมาดูงานต่อที่ อ.บาเจาะ จุดดูงานอยู่ที่มัสยิดตะโละมาเนาะ ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง

เส้นทางที่รถวิ่งก่อนเข้าไปถึงที่นี่เป็นถนนลูกรังค่ะ ๒ ข้างทางที่รถวิ่งมีไม้พุ่มเล็กๆที่ธรรมชาติปลูกแทรกอยู่บนผืนนา นามีให้เห็นบ้างนิดหน่อย ดูเหมือนจะเป็นนาร้างแล้ว ถนนไม่แคบเท่าไร กว้างพอให้รถวิ่งสวนทางกันได้สบายๆ ถึงแม้จะเป็นถนนลูกรังแต่ก็ไม่ใคร่มีฝุ่น แสดงว่าเคยมีฝนตกลงมาให้ถนนซับน้ำก่อนหน้าไม่นาน

มีถนนตรงทางเลี้ยวเข้าหมู่บ้าน  ตรงประตูเข้ามัสยิดแคบ เวลารถเลี้ยวเข้าไปจอดมีที่ว่างพอให้เบียดตัวเหลือไม่เท่าไรเลย

ปรากฏว่าเมื่อทีมเราไปถึงมีผู้คนรออยู่แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ที่มารออยู่เป็นชายแทบทั้งหมด มีชายหนุ่มคนหนึ่งและผู้เฒ่าคนหนึ่งยืนเด่นอยู่ในอาคารไม้ชั้นเดียวโล่งไม่มีฝารอเราอยู่  ชาวบ้านทำตัวเป็นไทยมุงหละเมื่อพวกเรามาถึง มีผู้หญิงให้เห็นอยู่อีกมุม พวกเธออยู่ในวัยละอ่อนทั้งนั้นเลย

เห็นแต่คน ๓ วัย วัยละอ่อน วัยกลางคน และวัยสูงอายุ ผู้หญิงวัยต่างๆและเด็กไปไหนกันหมดนะ สะพานสีส้มนั่นเป็นสไตล์จีนหรือเปล่า

ชายหนุ่มคนนั้นเป็นปลัดอำเภอ ผู้เฒ่าคนนั้นคือโต๊ะอิหม่ามผู้ดูแลมัสยิดแห่งนี้ ชาวบ้านที่มามุงเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อาศัยอยู่ใกล้ๆมัสยิด ละอ่อนหญิงที่เห็นเป็นบัณฑิตจิตอาสาซึ่งฉันไม่รู้หรอกว่ามาจากสถาบันศึกษาอะไร

บริเวณซีกหนึ่งของมัสยิดแวดล้อมไปด้วยไม้ยืนต้นและเห็นภูเขาอยู่ไกลตา มีไม้เล็กๆแทรกอยู่บ้างประปราย  มีแอ่งน้ำและคลองเล็กๆให้เห็นด้วย  ด้านหลังของมัสยิดมีกำแพงกั้นแบ่งเขต มีบ้านเรือนชาวบ้านอยู่นอกกำแพงให้เห็นบ้าง  ส่วนซีกอื่นๆของมัสยิดมีอะไรอีกบ้าง ไม่ได้เดินดูค่ะ

ภูมิทัศน์รอบๆมัสยิดที่เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้รู้สึกว่าแดดที่ยังแรงอยู่ไม่ทำให้ร้อนเท่าไร หมู่บ้านนี้เคยเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอ่านที่เขียนด้วยมือ ไม่รู้ทำไมจึงเลิกไปเนอะ

โต๊ะอิหม่ามและปลัดอำเภอชวนให้เราเข้าไปนั่งในอาคารไม้นั่นแหละ อาคารนี้เป็นอาคารอเนกประสงค์ที่อยู่ใกล้มัสยิดที่สุดมั๊ง  บัณฑิตอาสาช่วยกันแจกน้ำส้มในแก้วพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปต้อนรับเรา  ปลัดอำเภอเอ่ยคำต้อนรับเราและแนะนำผู้เฒ่าให้เรารู้จัก

เมื่อผู้เฒ่าเริ่มบรรยาย น้องยะ (สุริยะ ดวงสุริยะชัย) หนึ่งในสันติอาสาในพื้นที่ภาคใต้ผู้เป็นเพื่อนร่วมชั้นสสสส.๒ก็เข้าไปช่วยติดไมค์ลอยให้  แต่ติดยังไงปรับยังไงเสียงก็ไม่ออก…แป่ว

ผู้เฒ่าบรรยายต่อโดยไม่สนใจไมค์เลยทั้งๆที่เสียงของท่านเบา  เบาขนาดคนนั่งแถวที่ ๕ อย่างฉันได้ยินไม่ถนัด ฉันจึงฟังบ้างไม่ฟังบ้าง  ใช้เวลาไปบ้างกับการเก็บภาพมัสยิดมาไว้ดู มารู้อีกทีว่าการบรรยายจบแล้วเมื่อเห็นคนข้างหน้าขยับตัวลุกกัน ลุกกันแล้วก็แยกย้ายกัน เก็บเกี่ยวข้อมูลและเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ลุงเอกเป็นผู้ใหญ่ในคณะที่เดินตามผู้เฒ่าไปใกล้ชิดอย่างให้เกียรติ

ท่าทีขัดเขินของผู้เป็นเจ้าของบ้านบอกให้รู้ว่าพวกเขาไม่รู้จะทำตัวยังไงกับการ ต้อนรับเรา มันสื่อความหมายว่าไม่ใคร่มีใครมาเยือนที่นี่ด้วยหรือเปล่า

ป้ายที่ติดหราไว้ให้เห็นชัด “ห้ามผู้นับถือศาสนาอื่นเข้ามัสยิด” ทำให้ไม่นึกว่าจะได้สิทธิ์สัมผัสมัสยิดใกล้ชิด แล้วผู้เฒ่าก็ทำให้ตะลึงเมื่อหลุดคำพูดเชิญให้ขึ้นไปชมมัสยิด

ทีแรกที่ได้ยินคำเชิญ ฉันไม่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสชมด้วยหรอกค่ะ ฉันเคยได้ยินเพื่อนชายที่นราธิวาสเล่าว่าคนต่างศาสนาที่สามารถเข้าไปในมัสยิดได้มีแต่เพศชายเท่านั้น จึงเข้าใจว่าคำชวนนั้นชวนแค่ลุงเอกและพี่ๆน้องๆผู้ชายที่มาด้วยเท่านั้น  พอมองไปเห็นเพื่อนหญิงในรุ่นสสสส.๒กำลังเดินขึ้นบันไดมัสยิดกันอยู่ก็เอ๋อ เลย

ไม่แน่ใจจึงหันไปถามปลัดอำเภอหนุ่มที่ยืนอยู่ใกล้ๆว่าผู้หญิงก็ขึ้นไปได้หรือ  ปลัดอำเภอไม่ได้ตอบแต่ถามว่า “แล้วบาบอว่ายังไง” เมื่อฉันเล่าว่าได้ยินผู้เฒ่าเชิญว่าให้ขึ้นไปบนมัสยิดด้วยกัน และนั่นไงเพื่อนๆพากันเดินเข้าไปกันอยู่ คนหนุ่มก็บอกว่า “ถ้าบาบอว่าขึ้นได้ ก็ต้องว่าตามบาบอ”

ภายในของมัสยิดมีบางสิ่งที่คุ้นตาแวบแรกที่เห็นไม่นึกว่าจะอยู่ในนี้  เงยมองขึ้นไปเหนือศีรษะก็เห็นสิ่งที่คุ้นตาอีกนั่นแหละ  เมื่อชี้ชวนลุงเอกให้เห็นมัน ลุงเอกก็ออกปากบอกว่าศิลปะพม่า หรือว่าพื้นที่แห่งนี้เคยมีผู้คนทางภาคเหนือสัญจรมาเยี่ยมเยียนหรือว่า พื้นที่แห่งนี้เคยมีกษัตริย์มาเยี่ยมเยือนในยุคประวัติศาสตร์ด้วย

ธรรมมาสที่เห็นนี้รูปทรงคล้ายๆที่พระธาตุลำปางหลวง หลังคามัสยิดก็เหมื้อนเหมือนที่เห็นในวัดภาคเหนือ ไม่รู้ยุคเดียวกันหรือเปล่า

พื้นที่ใช้สอยที่เห็นถูกแบ่งคล้ายๆกุฏิเจ้าอาวาสวัดใกล้บ้านที่ัตอนเล็กๆแม่เคยพาฉันไปนั่งไปนอนเพื่อให้ได้พบพระสงฆ์ซะบ้างเลยอ่ะ

มีพื้นที่ที่แบ่งส่วนให้ใช้สำหรับผู้หญิงและผู้นำศาสนาชัดเจน พื้นที่ที่จัดไว้ให้ผู้หญิงจะมีราวม่านและม่านแขวนล้อมกั้นแบ่งไว้ ถ้านึกภาพผ้าม่านไม่ออกให้นึกถึงม่านสำหรับลองเสื้อผ้าในร้านผ้าเล็กๆที่ อยู่ในศูนย์การค้าต่างๆนะคะ คล้ายๆกันเลยค่ะ  พื้นที่ของผู้นำนักบวชก็แบ่งคล้ายๆเวลาคนพุทธเข้าไปพบพระสงฆ์ในกุฏิไม้ยังไง ยังงั้นแหละค่ะ

ประตูที่มองเห็นเข้าไปเห็นม่านเป็นซีกห้องผู้หญิง เดินผ่านเข้าไปก็เจอม่านสีหวานในภาพซ้าย ภาพขวาที่ไม้แกะลายจีนเป็นประตูเข้าซีกผู้ชาย ประตูกลางใหญ่ในภาพซ้าย ทำเพิ่มในยุคหลัง

เพื่อนๆที่สนใจประวัติศาสตร์ก็ชวนผู้เฒ่าสนทนา เพื่อนๆคนไหนที่สนใจศิลปกรรมก็เดินถ่ายภาพเก็บภาพกันตามประสา ฉันเองเป็นคนไม่กระดิกกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์มากมายเท่าไร จึงใช้เวลาชื่นชมลายไม้ที่ซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆและค้นหามุมมองที่น่าสนใจใน แง่ความมีส่วนร่วมดูแลของคนในหมู่บ้านซะมากกว่า

วิธีเรียนนอกสถานที่ของผู้คนในทีม สสสส.๒…..เห็นความสุข ความสนุก ความเอาจริงเอาจังของพวกเรามั๊ยค่ะ

ไม่แปลกที่จะพบว่าไม้บางแห่งดูผุและเสื่อมโทรมลงด้วยความเก่าของมัสยิดแห่งนี้  ที่ฉันแปลกกลับเป็นมุมความสะอาดภายในมัสยิดที่เห็นมากกว่า  สัญญานนี้กระตุกให้คิดว่าขณะที่คนพุทธมองเห็นคุณค่าของวัดและพากันช่วยบำรุง รักษาถนอมวัดทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเพื่อจะได้เป็นที่พึ่งที่ยั่งยืน   คนมุสลิมที่หมู่บ้านนี้เขาคิดเหมือนและต่างจากเราอย่างไรบ้างเรื่องการบำรุง รักษาวัดของเขานะ หรือว่าเขาปล่อยให้เป็นภาระของโต๊ะอิหม่ามคนเดียว????????

สิ่งที่เห็นสะกิดว่าการบำรุงรักษาเกินขีดความสามารถของผู้ดูแลหรือเปล่า จะช่วยให้สิ่งที่มีคุณค่าอย่างนี้อยู่นานๆได้อย่างไร ช่วยกันเถิด

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 379054เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2010 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท