หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานในประเทศ (๘) : ภาคใต้ - ย่องดูรอยกระสุน


ความเกลียดและความกลัวนั้นสามารถเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความรุนแรงและการทำร้ายกัน ที่มีข่าวเจ้าหน้าที่รัฐถูกทำร้ายและประชาชนกลายเป็นเหยื่อไปด้วยมีความเป็น ไปได้ที่จะมาจากความรู้สึกสะสมเหล่านี้แหละ ยาแก้ที่จะเปลี่ยนความรู้สึกนี้ได้ก็เห็นจะมีแต่ “ความรัก” ที่พิสูจน์ได้ว่า “รักจริงใจและรักจริงจัง” ให้เห็นและจับต้องได้เท่านั้น ไม่มียาอื่นเลยนะขอบอก

เด็กๆเล่าให้ฟังว่าในที่นี้เคยเกิดเหตุรุนแรงมาก่อนหน้าจนเป็นข่าวดัง  “มีโจรถูกทหารยิงวิ่งหลบทหารเข้ามาในซีกที่พักนักเรียนหญิง แล้วทหารก็วิ่งตามเข้ามายิงโจรตายในเวลากลางวัน และตรงที่พักที่โจรโดนยิงมีนร.หญิงที่บังเอิญป่วยนอนพักอยู่คนหนึ่ง” เสียงที่เล่าตื่นเต้นเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

ตามไปดูสถานที่จริงลูกกระสุนยิงทะลุบ้านพักที่ระดับเหนือหัวนอนของเด็กในบ้านเพียงแค่ฟุตเดียวเอง

เมื่อถามว่ากลัวทหารไหม เธอตอบฉันว่า “กลัวซิ” เมื่อถามต่อว่าถ้าเกิดเหตุการณ์คล้ายเดิมอีกเธอจะทำยังไง เธอตอบว่า “กลัวทหาร แต่ถ้าจำเป็นเธอก็จะสู้ ” เมื่อถามว่าตอนเกิดเหตุเธอเรียนอยู่ที่นี่แล้วใช่ไหม คำตอบที่บอกจากปากที่ว่า “หนูฟังจากรุ่นพี่เล่าต่อๆมา” ทำให้ตะลึงไปเป็นครู่เลยค่ะ

ถุงขาวๆที่เห็นอยู่ ถูกเตรียมไว้เป็นของฝากให้แขกถือกลับบ้านตามธรรมเนียมมุสลิม  ช่องว่างที่เห็นแดดจ้า เป็นช่องทางเข้าไปยังที่พักของเด็กๆ

คำบอกเล่านี้เป็นอีกเหตุผลที่ย้ำฉันให้เชื่อว่า “ความเกลียดกลัวทหารที่อยู่ในใจของผู้คนในพื้นที่” เป็นเรื่องจริง

ความเกลียดและความกลัวนั้นสามารถเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความรุนแรงและการทำร้ายกัน

ที่มีข่าวเจ้าหน้าที่รัฐถูกทำร้ายและประชาชนกลายเป็นเหยื่อไปด้วยมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากความรู้สึกสะสมเหล่านี้แหละ ยาแก้ที่จะเปลี่ยนความรู้สึกนี้ได้ก็เห็นจะมีแต่ “ความรัก” ที่พิสูจน์ได้ว่า “รักจริงใจและรักจริงจัง” ให้เห็นและจับต้องได้เท่านั้น ไม่มียาอื่นเลยนะขอบอก

ความหมายของคำว่า “ปอเนาะ” มาจากภาษาอาหรับว่า “PONDOK” แปลว่า กระท่อม ที่พัก ชื่อนี้จึงบอกความเป็นโรงเรียนว่ามีที่พักหรือกระท่อมให้เด็กอยู่พักค้างคืน 

เมื่อเอ่ยถึงประเภทโรงเรียน โรงเรียนอย่างนี้ก็คือโรงเรียนราษฎร์ประเภทหนึ่งนั่นเอง หลักสูตรของโรงเรียนเน้นสอนศาสนาอิสลามเป็นหลัก สอนวิชาสามัญเป็นรอง

รวมความแล้ว “โรงเรียนปอเนาะ” ก็คือ โรงเรียนประจำเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามนั่นเองแหละ  มีผู้ให้ข้อมูลว่าปอเนาะที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้เป็นสถาบันปอเนาะที่ดีที่สุดในโลกด้วยค่ะ

กระท่อมที่พักที่เห็นสภาพดินมีรอยน้ำฝนไหลไปลงตรงจุดที่เห็นต้นไม้เขียวๆเหล่านี้ สร้างผู้คนมาแล้วหลายรุ่น

เด็กที่นี่เขาอยู่ประจำแบบกลับบ้านเดือนละครั้งหรือ ๓ สัปดาห์ครั้ง  ครั้งละ ๒ วันกันค่ะ แต่ละครั้งที่กลับไป เมื่อกลับมาใหม่เขาจะนำข้าวสาร อาหารแห้ง ติดตัวกลับมาด้วยเพื่อนำมาทำอาหารกินที่โรงเรียน ใช่แล้วฉันกำลังบอกว่า โรงเรียนประจำแห่งนี้ให้เด็กๆเขาหุงหาอาหารกินเองโดยมีครูคุมค่ะ

ฟังแล้วฉันก็เอ๊ะว่า ด้วยเวลาที่อยู่กับครอบครัวอย่างนี้ เด็กๆจะรู้สึกอบอุ่นกับครอบครัวยังไงนะ แล้วพ่อแม่ลูกจะเจอกันพร้อมหน้ายังไง ความมั่นคงในใจของเด็กๆใครเป็นแบบให้เรียน   แล้วก็นึกเลยเถิดไปถึงเรื่องข่าวเด็กใต้ล่างติดยาเสพติดกันมากมาย น่าสนใจค้นหาความเกี่ยวข้องกันนะเออ

 

ไม่เอ๊ะกับข่าวคนป่วยเป็นไข้เลือดออกจำนวนมาก แต่เอ๊ะกับข่าวโรงเรียนได้งบสนับสนุนจำนวนมากแล้วทำไมยังเห็นภาพอย่างนี้

ถึงแม้ดูเหมือนเด็กมีความใจเด็ดอยู่ในตัวเอง ธรรมชาติใสๆแบบเด็กหญิงทั่วไปก็มี เรื่องชอบความสวยงามก็มี เมื่อพวกเธอร้องขอว่า ให้คนสวยคนนั้นมานั่งคุยด้วยหน่อย  ฉันถามเธอว่าคนไหนหรือ  เด็กคนหนึ่งเอียงหน้าเหลียวมอง อีกคนชี้ว่าคนที่ปากแดงๆคนนั้นไง หันไปดูตามมือชี้ อ๋อ คุณดวงคนสวยที่สุดในกลุ่มนราธิวาสนี่เอง

บรรยากาศมีความสุขแค่ไหนเมื่อเด็กได้ห้อมล้อมคนสวยอารมณ์ดี ดูเอาเอง

ฉันจึงลุกไปกระซิบคุณดวงที่กำลังทำขนมว่าเด็กๆเขาอยากคุยกับคนสวย ตามไปคุยด้วยหน่อย เมื่อคุณดวง คุณนารี และน้องอุ้มก็มานั่งอยู่ด้วยกันแล้ว แม่บ้านคนหนึ่งก็นำมะพร้าวอ่อนมาให้ชิม เป็นมะพร้าวที่รสอร่อย รสยังติดลิ้นอยู่เลยเมื่อนึกถึงตอนได้ชิม

สิ่งที่เจ้าบ้านนำมาต้อนรับบอกให้ฉันรู้ว่าชีวิตที่หมู่บ้านนี้เรียบง่าย และมีอาหารให้เลือกไม่หลากหลาย  เด็กๆเล่าว่ามีการเลี้ยงปลาไว้เป็นอาหารด้วย ปลาที่เลี้ยงคือปลาดุก และเธออยากได้พันธุ์ปลาอื่นๆบ้าง

คุยกันไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าเด็กๆมีความสุขกับการได้คุยกับเรา เสียงหัวเราะและรอยยิ้มมีดังแทรกเมื่อฉันชวนเขาคุยเรื่องเพื่อนต่างเพศ ไม่ได้แซวแต่ถามตรงๆ ว่าหนูนั้นมีแฟนแล้วหรือยัง เจอกันได้อย่างไร อะไรอย่างนี้แหละ จนเมื่อคุยกันเรื่องรอยกระสุนที่ระลึก เราจึงเปลี่ยนที่คุยไปอยู่ที่รอบๆที่พักของพวกเขา

บริเวณแห่งนี้ดูมีความชื้นสูง สภาพดินอย่างนี้หรือเปล่าที่ลองกองชอบจึงเจริญเติบโตได้ดีและอร่อยมากๆ  ต้นไม้ฝรั่งขี้นกที่นี่ต้นใหญ่มาก

ประตูเข้าที่พักเด็กๆอยู่นอกบ้าน มีช่องให้เราเดินลอดประตูเข้าไปทีละคน เข้าไปแล้วแปลกใจเมื่อเห็นที่พักเด็กๆ รู้สึกว่าบ้านโทรมจัง ฝาบ้านที่เป็นสังกะสีทำให้คนอยู่ร้อนน่าดูเลยนะ บางหลังไม่มีหน้าต่างให้ลมถ่ายเทอีกแนะ  ไฟฟ้าไม่มี  ทางขึ้นที่บันไดไม้และมีชานชวนให้ไก่ขึ้นไปอยู่ด้วยแล้วถ่ายมูลให้เป็นของฝาก  ราวตากผ้าอยู่หน้าบ้าน  มีเครื่องครัวกองเต็มไปหมดและมีจานใช้ที่ยังไม่ล้างวางกองไว้ตรงชานบ้าน ไม่เห็นมีห้องอาบน้ำ มีแต่บ่อน้ำเล็กๆที่รอบบ่อมีขยะเกลื่อนบนลานซีเมนต์รอบบ่ออยู่บ่อหนึ่ง

อยากรู้ว่าเด็กๆอยู่กันยังไง  ถามไปถามมาเด็กบอกว่า กลางคืนไม่ได้ใช้นอน พวกเขาเข้าไปนอนในบ้านครู  ที่พักมีเอาไว้เก็บของ เปลี่ยนเสื้อผ้าเท่านั้นเอง บ้านแต่ละหลังที่เห็นนั้น บางหลังอยู่คนเดียว บางหลังอยู่คู่กัน แล้วก็แปลกใจกับคำบอกเล่าใหม่ที่ค้านกันอยู่กับเรื่องเก่าเกี่ยวกับเด็กในเหตุการณ์โจรถูกยิง

เดินไปดูฝาบ้านที่มีรอยกระสุนปืนทิ้งไว้เป็นที่ระลึก ก็เห็นสังกะสีรูใหญ่ๆกลายเป็นที่แขวนเสื้อนอกบ้านอย่างดีไปซะแล้ว รูกระสุนที่ถากผ่านหัวนอนเด็กยังคงอยู่สำหรับไว้บอกเล่าเรื่องราว

ที่แขวนเสื้ออย่างที่เห็นตรงนี้แหละรอยกระสุนปืน แกะไม้แขวนออกแล้วก็เห็นรูโบ๋ขนาดเท่าลูกลองกองปรากฏอยู่

ชวนกันเดินแล้วคุยกันไปแล้วก็ถ่ายรูปกัน วนเวียนคุยกันอยู่รอบที่พักเด็กหญิง  มัวแต่อยู่หน้ากล้องกัน เลยไม่รู้ว่าผู้ชายออกจากห้องเรียนกันไปสำรวจที่พักเด็กผู้ชายกันแล้ว จึงอดดูบริเวณที่พักผู้ชายว่าเป็นอย่างไรไปเลย…เฮ้อ…เสียดายจัง

ใช้เวลากับเด็กๆจนกระทั่งอาจารย์สุณีย์เดินมาตามตัว บอกลาเด็กๆแล้วก็พากันออกมาจากบริเวณนั้น  เดินออกประตูมาจึงเห็นว่ารอบบริเวณหน้าบ้าน ยังมีทหารคอยดูแลอยู่ เพื่อนๆบางคนรออยู่ที่รถแล้ว รวบรวมคนครบแล้ว ขบวนเราก็เดินทางไปยังจุดดูงานจุดต่อไป

สังเกตเสื้อผ้าที่ใส่ โรงเรียนแห่งนี้ใช้เครื่องแบบเน้นเฉพาะสีผ้าฮิญาบให้ใช้สีดำ

ลืมบอกชื่อไปว่า สถานที่ดูงานแห่งนี้ชื่อว่า โรงเรียนปอเนาะยือนาเระ  ตั้งอยู่ที่ม.๑ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จังหวัดนราธิวาส  ส่วนเรื่องชั้นเรียนในหลักสูตรเขามีแบ่งชั้นเรียนกันด้วยทั้งหมดมี ๑๐ ชั้นเรียนค่ะ แล้วยังมีหลักสูตรสามัญเรียนภาษาไทย ที่มีครูสังกัดกศน.เข้ามาสอนถึงที่ด้วย มิน่าเด็กหญิงและแม่บ้านที่นี่จึงฟังภาษาไทยได้และพูดไม่เพี้ยนเลย

เรื่องเรียนคอมพิวเตอร์บาบอไม่สนับสนุน ที่นี่จึงไม่มีโทรทัศน์และวิทยุให้เด็กได้ดูและรับฟัง

เรือนไม้ที่เห็นอยู่ในดงลองกอง ไม่รู้ว่าใช่ที่พักของเด็กผู้ชายหรือเปล่า

ส่วนเรื่องค่าเล่าเรียน เด็กที่นี่เรียนฟรีทุกคนเลยค่ะ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนมีแค่ร่วมจ่ายค่าไฟฟ้ากับบาบอ  ค่าข้าวสาร อาหารแห้งและสบู่ที่นำมาจากบ้าน รวมถึงค่าเดินทางสำหรับกลับบ้าน  เสื้อผ้าที่สวมใส่เด็กๆเล่าว่าแม่สอนให้เย็บเองค่ะ

ชีวิตของเด็กผู้ชายเป็นอย่างไร ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เลย เพราะเมื่อเข้าไปในบ้าน พวกเราผู้หญิงก็ถูกแยกตัวให้คุยแต่กับผู้หญิงค่ะ

จากสัดส่วนของวัยในกลุ่มผู้ชายที่เห็นในแวบแรกที่มาถึง  ฉันรู้สึกว่าเด็กผู้ชายที่มาเรียนที่นี่จะไม่มีโอกาสผ่านวัยเด็กอย่างแท้จริงนะคะ ก็คนที่แวดล้อมพวกเขามีแต่วัยผู้ใหญ่แล้วทั้งน๊านเลย

เสื้อผ้าที่ใส่อยู่เย็บมือและทำเอง  เครื่องมือตัดเย็บจึงต้องมีติดตัวมาโรงเรียนด้วย

เมื่อเด็กๆบอกเราก่อนจากว่า “มาอีกนะ” แล้วน้องอุ้มตอบไปว่า “จะมาอีกค่ะ” ฉันไม่กล้ารับปาก ด้วยคิดไม่ออกว่าจะมีโอกาสมาอีกได้ยังไง แต่ใจก็ตั้งไว้ว่าถ้ามีโอกาสมาช่วยก็ยินดีทำด้วยความเต็มใจค่ะ

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 379953เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท