หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๔๒) : จัดการระบบคิดส่วนไหนดี


มุมมองการเมืองภาคพลเมืองเ็ป็นการจัดการระบบคิดของคน ให้มองที่ ๒ ส่วน หนึ่งคือเนื้อหา สองคือสาระ

เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นโอกาสดีที่รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อ.วุฒิสาร ตันไชย ให้เกียรตินักเรียนโข่งมาแบ่งปันประสบการณ์   อาจารย์เริ่มต้นด้วยการออกตัวว่าไม่ใช่ผู้ทรงภูมิ  เมื่อรู้ว่าต้องมาสอนพวกเรานักเรียนโข่ง อาจารย์บอกว่านอนไม่หลับ เพราะได้ข่าวว่าผู้มาเข้าเรียน ๔ส.๒ มีแต่เกจิทั้งนั้น ซึ่งมันกดดันอาจารย์

อาจารย์ยกเรื่องของการเมืองภาคพลเมืองมาเล่าให้ฟัง ว่า ๔ ปีที่ผ่านมาซึ่งนักวิชาการเห็นเป็นการเติบโตของการเมืองภาคพลเมือง ที่ไม่ใช่การเมืองในสภา หากแต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ทั้งพันธมิตร และนปช.ที่ออกมาแสดงความเห็น แล้วยังมีกลุ่มหลากสี  เป็นความเบ่งบานของประชาธิปไตยภาคประชาชน ที่ออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพ

พูดถึงเรื่องนี้แล้วอาจารย์ก็โยนคำถามกลับมาว่าเห็นด้วยหรือไม่  มีเงื่อนไขอะไรไหม อย่างนี้เป็นทิศทางประชาธิปไตยใช่ไหม นี่เป็นการเมืองของประชาชนโดยตรง ไม่ใช่การเมืองในสภา   เมื่อมีคนแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ว่ามีปะปนกันระหว่างการเมืองในสภาและการเมืองภาคพลเมือง  อาจารย์ก็ให้มุมคิดว่าการเมืองภาคพลเมืองนั้น มี  ๒ ส่วนที่มอง คือ มองเนื้อหาและสาระ 

การที่ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ แล้วลุกขึ้นมาปกป้องประโยชน์หรือมีความรู้สึกถึงอำนาจบางอย่างแล้วลุกมาต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ชอบธรรม  อาจารย์เน้นหลักการว่าการตัดสินใจที่มีเป้าหมายต่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น การมีข้อมูลข่าวสารที่มากเพียงพอต่อการรับรู้  การมีดุลยพินิจที่นึกถึงส่วนรวมมากกว่าประโยชน์แอบแฝง เคารพในความเห็นที่แตกต่าง ความเคารพในคนอื่นด้วย  เป็นเรื่องที่อยากเห็น

อีกแง่คือเป็นเครื่องมือ เป็นการเคลื่อนไหวแบบสร้างพลังของการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งมีได้ ๒ แบบ คือ ประนีประนอม ให้ความเห็น การมารวมกัน ปรึกษาหารือกัน กับอีกแบบ คือ การเผชิญหน้า สร้างความขัดแย้ง สร้างพลังต่อรองด้วยการเผชิญหน้า 

อาจารย์ย้ำว่าทั้ง ๒ มุม คือ เนื้อหาและสาระควรมีดุลยภาพ แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นไม่เป็นดุลกัน ดุลในเรื่องของเครื่องมือและวิธีการมันเยอะแล้วยังก้าวข้ามเส้นบางเส้น เส้นนั้นคือหลักกฎหมาย  จึงคล้ายๆกับจะทำอะไรก็ได้แล้ว

ในขณะที่สาระสำคัญของสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวต้องการอะไร จะไปอย่างไร จะให้จบอย่างไร  อุดมไปด้วยคำถามแล้วก็ได้คำตอบว่าไม่รู้   เมื่อมีคำถามว่า เมื่อไรจะจบ แล้วยังไง จะเอาอย่างไร ไม่มีคำตอบ

อาจารย์ชวนคิดว่า ๔ ปีที่ผ่านมา ตกลงแล้วระบบประชาธิปไตยของไทยนั้น มีเหตุการณ์อย่างนี้เป็นเพราะระบบตัวแทนตอบไม่ได้ใช่หรือไม่ จึงเกิดการใช้สิทธิโดยธรรมชาติ ใช้สิทธิมนุษยชน

อาจารย์ถามว่าเมื่อเป็นการก้าวข้ามเส้นไปแล้ว อะไรเป็นสาเหตุให้สังคมกลายเป็นแบบนี้  ที่สังคมเลียนแบบกันอย่างนี้ เกิดการทำอย่างนี้จะเอาความไม่ถูกต้องเป็นแนวปฏิบัติ เป็นแบบการเอาอย่างความไม่ดีเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตของสังคมนี้หรือ 

อาจารย์เป็นห่วง ๒ เรื่องที่จะมีผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว หนึ่งคือหลักกฎหมายเพราะว่าทำแล้วไม่เป็นไร  

ในส่วนของอารยะขัดขืน อาจารย์มีมุมมองว่า การขัดขืนทางกฎหมายทำได้ เพื่อให้เกิดการไปแก้กฎหมายทีหลัง แต่ต้องคู่ขนานไปกับการยอมรับว่าผิดกฎหมายด้วย 

สังคมที่เห็นๆกันอยู่ว่าสังคมไทยเอื้อต่อการขัดขืนกฎหมายอยู่แล้ว ต่อไปการทำตามกฎหมายจะไม่มีความหมายอีกต่อไป

คำกล่าวที่ว่าต่อไปใครทำตามกติกาจะกลายเป็นคนไม่ฉลาด  ไม่ใช้กฎหมายแล้วสังคมนี้จะใช้หลักอะไรดูแล เป็นการพูดคุยที่อาจารย์ชวนให้ไตร่ตรองไม่เบาเลย

หมายเลขบันทึก: 387158เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท