หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๔๓) : ก้าวข้ามเส้นไปเยอะหรือเปล่า?


ตอนนี้ทุกคนบอกว่าการเมืองแก้ไม่ได้เลย แก้ไม่ได้ก็ไม่ศรัทธา ถ้าการเมืองในระบบไม่สามารถเดินคู่ขนานเพื่อแก้ปัญหาให้ระบบ ต่างๆเดินไปได้ การมีคนนอกระบบมากขึ้นๆก็เป็นตัวบอกว่าในระบบแก้ไม่ได้ ทางสองแพร่งนี้ควรปรับใหม่อย่างไร ให้เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน ไม่ต้องถามใครหรอก

ในวันที่ ๖ พฤษภาคมได้เรียนรู้จากอาจารย์วุฒิสาร ตันไชย เรื่องเส้นแบ่งความเป็นกลางด้วย   เมื่อเพื่อนเสนอความเห็นว่า ควรนิยามความเป็นกลางก่อน  อาจารย์ก็แลกเปลี่ยนว่า ความเป็นกลางขึ้นอยู่กับเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เลือกปฏิบัติ แต่ก็เป็นแค่ระดับความพยายาม เพราะว่าเรื่องที่อยู่ในใจ ในความคิดไม่สามารถสัมผัสได้โดยคนอื่น ไม่สามารถบอกให้คนอื่นสัมผัสเรื่องที่อยู่ในใจได้อยู่ดีเมื่อปฏิบัติ

อาจารย์ชวนคิดว่ามีหลายเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วและอึดอัดกับการปฏิบัติ แต่ก็ปล่อยไปตามเลย  อาจารย์เปรียบเทียบว่า ที่สังคมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยยอมกลับมาดูว่าควรแก้ไขก็เหมือนคนที่กลัดกระดุมเสื้อผิดแล้วอึดอัดกับเสื้อ แต่ไม่ยอมที่จะถอยกลับมาถอดกระดุมแล้วติดใหม่ให้สบายขึ้น ไม่รู้ทำไม

แล้วอาจารย์ก็ชวนคุยเรื่องการแสดงออกที่ก้าวร้าวรุนแรง มีเพื่อนให้ความเห็นว่าการที่ภาคพลเมืองดูเหมือนก้าวร้าว ออกมาส่งเสียงดังเป็นเพราะพูดกันธรรมดาเสียงเบาไป คนไม่ได้ยิน  อาจารย์แย้งในข้อนี้ว่าในความเป็นจริงคนได้ยินเสียงที่เบานั้น และจริงๆแล้วอยู่ที่สาระและขึ้นอยู่กับความรู้สึกและการมีปูมหลัง การใช้คุณค่าที่ตัวเองชอบในการตัดสินอะไรบางอย่างเป็นนิยามของความเป็นกลางหรือเปล่า

อาจารย์ชวนมองว่าในทางปฏิบัติความเป็นกลางจะเอายังไงดี ระหว่างหลักความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม หรือเป็นไปตามเหตุเป็นผลที่ได้ดุลยภาพของการยอมรับร่วมกัน ไม่ใช่เท่ากันไปทุกเรื่อง

อย่างเช่นผลลัพธ์ของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ต้องถามใครเลยว่าปฏิบัติหรือเปล่า แค่ถามตัวเองว่าปฏิบัติหรือเปล่าก็สามารถบอกได้แล้ว แม้แต่ในเรื่องของระบบอุปถัมภ์ เส้นแบ่งอย่างไรจึงถือว่าควรยืดหยุ่นถ้าจะเอาพวกเอาเพื่อน แล้วเรียกว่าเป็นกลางเมื่อใช้กับพวกเดียวกัน พื้นที่สีเทาแบบนี้จะเอาแค่ไหน ความเป็นกลางมีเส้นแบ่งที่ไม่ใช่หารเท่าหรือเปล่า

อาจารย์เห็นด้วยกับข้อสังเกตที่เพื่อนแลกเปลี่ยนว่า คนไทยกลัวคนบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้กลัวกฎหมาย  การใช้กฎหมายกรณีเดียวกันก็มีการบังคับใช้ที่แตกต่างระหว่างคน ๒ คน อย่างเช่น กรณีรถยนตร์ชนกับสามล้อ ที่เกิดความเสียหายเท่ากัน แต่ต่างกันที่ใครชนใครก่อน ก็มีการปฏิบัติต่างกัน

อาจารย์ย้ำให้สังเกตเรื่องหลักกฎหมายมีแต่ปฏิบัติไม่ได้  ความเป็นธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึกและความรู้สึกนั้นมีอะไรหล่อหลอม มีอคติหรือเปล่า

เมื่ออภิปรายกันเรื่องการรักษากฎหมาย  การบังคับใช้กฎหมาย หลักการใช้กฎหมาย และเนื้อกฎหมายที่ประกาศแล้วใช้เหมาะสมหรือเปล่า อาจารย์ชี้ว่าความเหมาะสมกับเงื่อนเวลามีเรื่องให้ไตร่ตรองด้วย  และเห็นด้วยกับการมองถึงสมุฏฐานของการได้มาของกฎหมาย เนื้อหาการให้อำนาจ และผู้ใช้ใช้อำนาจถูกต้องหรือเปล่า

ในแง่ของการเมืองภาคพลเมืองที่ข้ามเส้นไปเยอะ อาจารย์เห็นว่ามีโจทย์เรื่องการเลือกปฏิบัติอยู่ ถ้าหาคำตอบได้ในเรื่องนี้ก็จะมีทางออก

มีเรื่องที่อาจารย์เป็นห่วงอีกเรื่อง คือในระยะยาวการเคลื่อนไหวอย่างนี้โดยไม่ยอมรับการเมืองในระบบ หรือเห็นว่าการเมืองในระบบแก้ไม่ได้ก็เป็นปัญหา

อาจารย์ชวนให้คิดว่าการเพิกเฉยและเลิกสนใจของภาคพลเมืองต่อระบบการเมืองปกติเป็นเรื่องน่ากลัวหรือเปล่า

ในความเห็นส่วนตัวอาจารย์เห็นว่าเป็นความอันตรายของระบบการเมืองในระยะยาว เพราะหมายถึงการเมืองไม่ใช่ของประชาชนแล้ว ประชาชนไม่ศรัทธาต่อระบบ ไม่ศรัทธาต่อวิธีการแก้ไขในกระบวนการทางการเมือง

อาจารย์เห็นด้วยว่าความศรัทธาต้องมีกลไกในการได้มาและตัวผู้เล่น แต่ตรงนี้ความเป็นกลางก็เริ่มเอียงเพราะแล้วแต่จะชมชอบชื่นชมใคร 

อาจารย์ชวนให้มองเห็นว่าตอนนี้ทุกคนบอกว่าการเมืองแก้ไม่ได้เลย แก้ไม่ได้ก็ไม่ศรัทธา และมองต่อไปว่าถ้าการเมืองในระบบไม่สามารถเดินคู่ขนานเพื่อแก้ปัญหาให้ระบบต่างๆเดินไปได้  การมีคนนอกระบบมากขึ้นๆก็เป็นตัวบอกว่าในระบบแก้ไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 387174เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท