หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๔๕) : ไม่เข้าใจก็ทำลายสังคมประชาธิปไตยในชุมชน


สิ่งที่ควรทำสำหรับคนนอกชุมชนที่จะไปเติมสิ่งต่างๆเข้าไปในชุมชน คืออย่างนี้ค่ะ "สิ่งที่ต้องทำมาก สำคัญมาก คือ การไปเข้าใจชาวบ้านว่าเขาคิดอย่างไร"

ยังมีเรื่องที่ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันจากอาจารย์วุฒิสาร ตันไชยในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง อาจารย์ทำความเข้าใจเรื่องสังคมประชาธิปไตยได้เจ๋งจริงๆ จึงนำมาเล่าต่อค่ะ

อาจารย์เล่าว่าสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เปิดโอกาสและสร้างความสามารถในการใช้โอกาส ในขณะที่โอกาสทางสังคมมีเยอะแต่การใช้โอกาสนี้ไม่ได้ใช้ได้เท่ากันทุกคน การสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยังต้องทำของสังคมไทยจึงเป็นเรื่องของการสร้างต้องสร้างโอกาสในการใช้โอกาสให้เท่าเทียมทุกคนและสร้างความสามารถในการใช้ให้เท่าเทียม ตัวอย่างเช่น เด็กจบประถมมีสิทธิได้เรียนต่อมัธยมทุกคน แต่ไม่ใช่เด็กจบประถมทุกคนมีโอกาสเรียนต่อมัธยมเท่ากัน  ซึ่งต้องพูดเรื่องการสร้างโอกาสในการเข้าถึงได้ด้วย ไม่ใช่แค่การพูดเรื่องการใช้โอกาส

มีมุมมองที่อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยในชุมชน มีระบบอยู่ ๓ เรื่องที่อยู่วงนอกของประชาธิปไตยระดับชาติ และชวนให้ใคร่ครวญเห็นภาพการพัฒนาของมัน

ระบบแรกคือ ระบบคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเข้มแข็งที่สุด ฝังตัวอยู่ในครอบครัว พอหลุดมาเป็นเครือญาติยังเข้มแข็ง แต่พอหลุดออกมาเป็นเพื่อนบ้าน คนหมู่บ้าน ระบบนี้เริ่มเปลี่ยนมีปัญหาว่าคิดดีต่อกันจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นพวกกันจะเชื่อว่าคิดดี ถ้าไม่ใช่พวกต้องฝึก

ระบบที่ ๒ คือ ค่านิยมของสังคม เอื้ออาทร ประนีประนอม บทบาทของสถาบันทางสังคมอย่างศาสนาเข้มแข็งในการบ่มเพาะ ดูแล ซึมซับปัญหา

อาจารย์ตั้งคำถามให้คิดว่า สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา ทำงานดีอยู่หรือเปล่า  เมื่อมีคำพูดว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น จบปริญญาตรีไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ก็มีการกล่าวโทษกันตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาย้อนกลับลงมาตามลำดับจนถึงครอบครัว พ่อแม่ก็โทษลูก สังคม แต่ไม่มีใครเพาะตั้งแต่เริ่มต้น

อาจารย์ชวนมองให้ลึกว่านิยามของเด็กไทยมีความสุข เรียนสนุก แต่คิดไม่เป็น ไม่มีความตั้งใจเรียนรู้ ไม่มีความอดทน นั้นจริงหรือเปล่า เวลาเด็กเล่นเกมส์เห็นความอดทน ความอยากรู้เมื่อชนะแล้วเล่นหามรุ่งหามค่ำ แล้วแปลว่า เด็กอยากรู้ อดทน หรือเปล่า

เมื่ออาจารย์ชวนคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่วิธีการให้การศึกษาไม่ได้ทำให้เด็กอยากรู้อยากเห็นหรือเปล่า ตรงนี้ฉันว่าน่าจะวิพากษ์แบบทำให้ครูบาอาจารย์ที่เรียนร่วมห้อง ๔ส.๒ หลายคนเก็บเอาไปคิดเหมือนกัน

อาจารย์ชวนให้มองเห็นมุมการพัฒนาที่สังคมหล่อหลอมเด็ก ความทันสมัยของรีโมท ทำให้เด็กยุครีโมท เป็นเด็กที่มีความอดทนต่ำ ต้องได้ดั่งใจ ทันเวลา เร็ว  ผู้ใหญ่ที่มีหลายยุคจึงต่างจากเด็กตรงที่ระบบคิดที่หล่อหลอมมา

เด็กยุคนี้ถูกหล่อหลอมด้วยระบบคิดที่ต่างกัน  แม้แต่ผู้ใหญ่ยุคมือถือ การใช้มือถือ เวลามีเสียงเรียกเข้าก็ต้องรับ  เวลาลืมยังต้องกลับไปเอาที่บ้าน ไม่มีอยู่ไม่ได้ ขาดไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือตัวอย่างที่ทำให้สังคมเดิมอยู่ไม่ได้ ที่อาจารย์ยกขึ้นมาให้มองเห็นความเปลี่ยนไป เห็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งเดิมทีสถาบันศาสนา วัดที่ซึมซับทุกอย่าง ทั้งเรื่องการกิน การอยู่ การลดความขัดแย้ง แล้วทำไมวันนี้ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว 

อาจารย์ย้ำว่า สังคมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยในชุมชน ไม่ว่าระบบการคัดสรร ระบบการจัดการความขัดแย้ง ระบบการสร้างความเป็นธรรม ระบบการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ระบบการจัดการทรัพยากร ซึ่งเคยมีอยู่ในชุมชนในอดีต เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แล้วโยงถึงเรื่องชาวบ้านถูกกล่าวโทษว่าเลือกผู้แทนไม่เป็น  

อาจารย์ชวนคุยเรื่องความดีนิยามไม่เท่ากัน ความดี คนดี ถ้าให้เขียนความคาดหวัง สส.ที่ดีให้ทำอะไร ให้คนทั้งห้องเขียนจะไม่ตรงกัน  บ้างบอกว่า ต้องออกกฎหมายให้ยุติธรรม บ้างบอกว่าแค่มางานศพ การบวชก็ดีแล้ว บ้างจะแย้งว่า การไปงานศพ งานบวช ไม่ใช่หน้าที่สส.  แล้วสรุปว่า ความคาดหวังของการเมืองมีความต่าง มีความหลากหลาย มีความห่าง เพราะความคิดแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

แล้วอาจารย์ก็กลับมาที่ว่าชาวบ้านเลือกคนไม่เป็น โดยทั่วไปแล้วแท้จริงเขารู้ว่าจะเลือกคนๆนี้มาทำหน้าที่อะไร เช่น เวลาลงมือปฏิบัติ ต้องการเหรัญญิกกลุ่มออมทรัพย์เลือกคนซื่อ คนละเอียด คนไม่โกง คนซื่อสัตย์ หมู่บ้านที่มีโจรมากก็เลือกหัวหน้าโจรเพื่อไม่ให้มาขโมยในหมู่บ้านอีกต่อไป แปลว่าเขารู้ว่าที่เลือกคนมานั้นเขารู้บทบาท เขารู้ว่าเขาต้องการให้ทำหน้าที่อะไร อย่างนี้แปลว่าเขาคิดเป็นใช่หรือเปล่า

เมื่ออาจารย์เติมข้อชวนคิดอีกว่า สำหรับบทบาทของนายกเทศมนตรี นายกอบต. สส. สว. ชาวบ้านรู้หรือเปล่าว่าต้องทำอะไร วันนี้เรื่องเหล่านี้ไกลตัว ห่างตัวชาวบ้าน ระบบความเข้าใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งก็เปลี่ยนไป

หลายเรื่องที่เบลอๆในหัวฉันก็สว่างวาบขึ้น เมื่ออาจารย์พูดเรื่องวิธีคิดจำนวนมากเป็นวิธีคิดแทน อาจารย์ยกตัวอย่างว่าถ้าทั้งปีดมฝุ่น เมื่อมีเงินก้อนแรก สิ่งแรกที่จะทำคือทำอะไรกับเรื่องการสร้างถนนโดยอบต.ที่ถูกมองเป็นด้านลบว่าเป็นการคิดแบบคนคิดแทน คิดแบบคนที่อยู่บนถนนที่ไม่มีฝุ่นแล้ว  

สิ่งที่อาจารย์เห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรทำสำหรับคนนอกชุมชนที่จะไปเติมสิ่งต่างๆเข้าไปในชุมชน อาจารย์ว่าอย่างนี้ค่ะ

"สิ่งที่ต้องทำมาก สำคัญมาก คือ การไปเข้าใจชาวบ้านว่าเขาคิดอย่างไร"

หมายเลขบันทึก: 387200เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท