หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๕) : อินเดีย - ก้าวแรกที่รู้จักคนอินเดีย


มาได้เห็นกับตาก็คืนนี้ว่าคนอินเดียซื้อของจากเมืองไทยมามากมายจริงๆ ลองนึกถึงพาหุรัดบ้านเราที่มีคนเข็นรถนำผ้ามาส่งเป็นห่อๆวางเรียงสูงถึงเอว ดูนะคะ คนอินเดียคนเดียวขนผ้าใส่เครื่องบินมาขนาดนั้นแหละค่ะ ๒-๓ รถเข็น ขนมาได้ยังไง เก่งจริงๆเลย

ลงจากเครื่องบินกันมาแล้ว ผู้คนที่บินมาด้วยกันก็ถูกต้อนขึ้นรถบัสติดแอร์เย็นฉ่ำ รถวิ่งนำเรามาส่งที่อาคารผู้โดยสารให้พวกเราผ่านด่านตม.ของอินเดียกันก่อน จึงมารับกระเป๋าที่โหลดกันได้  สนามบินที่เห็นอยู่ตรงหน้าเก่าจริงๆ  เก่าชนิดที่ไม่สามารถหาสนามบินในประเทศไทยมาเทียบเคียงได้สักแห่งเลยอ่ะ

ตรงด่านตม. มีเรื่องชวนขัน เมื่อบรรดาพี่สาวในรุ่นเดินผ่านเข้าไปให้ตรวจ ก็โดนตม.แขกแกล้งให้อย่างจั๋งหนับ จับผิดการเขียนตรงโน้นตรงนี้ในใบผ่านเข้าเมือง  จุดที่จับสัญญาณได้ว่ามีปัญหาก็คืออาชีพซึ่งไกด์ของเราระบุคำว่า “Business” ไว้ให้ แต่เราใช้พาสปอร์ตสีน้ำเงินและบอกเขาว่าเรามาแบบ official เขาก็เลยขอวีซ่าจากพี่ๆ

เมื่อพี่จุก (บุญศรี สุธรรมานุวัตน์) ชี้แจงว่ามาดูงานเขาก็ทำเป็นฟังพี่เขาพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องเข้าไปอีก  ทวงแต่ใบวีซ่า พี่จุกหมดมู๊ดไปเลย

นี่คือหน้าตาใบตรวจคนเข้าเมืองของอินเดีย

ไม่แต่พี่จุกที่โดนกักตัวไว้นาน คุณอั๋น (สุภิทธา บุญเนื้อ)  น้องกุ้งนาง(ณฐพร  ชลายนนาวิน) ก็โดนไปด้วย  ส่วนฉัน น้องจ๋า น้องหมอม (มรกต ยิบอินซอย) และบรรดาผู้ชายในรุ่นที่มาด้วยกัน เจ้าหน้าที่ ตม.อินเดียแค่มองหน้า พลิกพาสปอร์ตไปมาเพียงครู่ ก็ให้เราผ่านกันโลด ทั้งๆที่ในใบตม.ของเราก็ระบุอาชีพ “Business” เหมือนกัน

มีพื่อนผู้ชายบางคนเล่าให้ฟังว่า เมื่อเขานำยาหม่องออกมาดมเพื่อลดกลิ่นรอบตัวที่เคล้าในจมูก  เจ้าหน้าที่เห็นยาหม่องก็ตาลุก เอ่ยปากขอ แล้วเมื่อเขาให้ไป เจ้าหน้าที่ก็ให้ผ่านไปโดยเร็วหลายคนรวดเดียว  ไม่ต้องเสียเวลาพูดภาษาอังกฤษที่ไม่ถนัดให้มากความกันเลย นับว่ายาหม่องช่วยกรุยทางให้อย่างดี มีบางคนบอกว่ายิ่งถ้าได้ตราลิงถือลูกท้อแล้วยิ่งแจ๋ว เอาน่าแค่ใช้ยี่ห้อหมอเจ๊ก็ใช้ได้แล้วเห็นหรือเปล่า….อิอิ

เมื่อมาถึงจุดให้รับกระเป๋าก็เจออะไรที่ชวนแปลกอีกนั่นแหละ  รอกันอยู่นับชั่วโมงกว่ากระเป๋าแต่ละใบจะโผล่มาให้เห็น ตอนที่กระเป๋าของพวกเราไม่โผล่มาให้เห็นสักที บนสายพานที่วางกระเป๋ามีกระเป๋าและสิ่งของเป็นลังๆของคนอื่นเต็มไปหมด เมื่อมันหมุนเวียนอยู่หลายรอบ โดยไม่ปรากฏเจ้าของสักที ก็มีเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินมายกมันลงวางบนพื้นทั้งหมดซะงั้น

มาได้เห็นกับตาก็คืนนี้ว่าคนอินเดียซื้อของจากเมืองไทยมามากมายจริงๆ  ลองนึกถึงพาหุรัดบ้านเราที่มีคนเข็นรถนำผ้ามาส่งเป็นห่อๆวางเรียงสูงถึงเอวดูนะคะ คนอินเดียคนเดียวขนผ้าใส่เครื่องบินมาขนาดนั้นแหละค่ะ ๒-๓ รถเข็น  ขนมาได้ยังไง เก่งจริงๆเลย

ระหว่างนี้มีบางคนในกลุ่มพวกเราเต็มอั้นพาตัวไปปล่อยน้ำจากตัว เมื่อคนแรกที่เดินไปลองกลับมาบอกว่าพอรับได้ คนหลังๆก็ทะยอยกันไปใช้บริการกันดูบ้างรวมทั้งตัวฉันด้วย  ประสบการณ์แรกที่ได้พบบอกกับตัวเองว่าเป็นอะไรที่ต้องกลั้นหายใจพอสมควรเมื่อจำเป็นต้องเข้าไปใช้มัน  ก็กลิ่นมันอวลซะขนาดอยู่ไกลกว่า ๒ เมตร ยังได้กลิ่นแอมโมเนียโชยมาเลยอ่ะ

   

 

ชวนกันเดินออกมาคอยด้านนอกเพื่อหนีกลิ่น

เมื่อกว่าครึ่งได้กระเป๋ามาแล้ว  บางส่วนก็ทะยอยกันเดินออกมาก่อนเพื่อหลีกกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์  เมื่อชวนกันเดินมารออยู่ที่ระหว่างทาง  หลายคนก็ถือโอกาสแวะนั่งคลายร้อน คลายง่วง  รอกันจนมาครบคนขบวนเราจึงพากันเดินออกมาจากอาคารสนามบิน รถเข็นของที่สนามบินแห่งนี้มีให้ใช้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ

อากาศภายนอกวูบแรกที่สัมผัสตัว ร้อนไม่เบาเลยค่ะ  ไกด์นัดให้รถบัสมารับเราเป็นจำนวน ๒ คัน  ก่อนออกจากกรุงเทพฯมาสถาบันพระปกเกล้าแจ้งเราให้ทราบแล้วว่า ใครนั่งรถคันไหน  สถาบันฯไม่ได้เผด็จการหรอกค่ะ อาจารย์แบ่งกลุ่มเป็น ๒ ตามภาระการศึกษาดูงานที่มอบหมาย  ทีมหนึ่งรับผิดชอบเรื่องของการเมือง การปกครองและสังคมจิตวิทยา  ทีมสองรับผิดชอบเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกหรือมิติอื่นๆ สมาชิกในแต่ละกลุ่ม แบ่งเท่ากันกลุ่มละ ๒๔ คน

กลุ่มที่หนึ่งจึงถูกกำหนดให้นั่งรถคันหนึ่งไปด้วยกันโดยปริยาย  กลุ่มที่สองก็เช่นเดียวกัน  แต่ละกลุ่มมีประธานและเลขาฯกลุ่ม รถคันแรกมีพี่โจ (พลท.ดร.พีรพงษ์ มานะกิจ) อดีตทหารที่ผันตัวมาทำงานด้านวิชาการอยู่ที่นิด้าเป็นประธานกลุ่ม มีน้องเบญ (พ.ต.ท.เบญจพล จันทวรรณ) คุณละเอียดเรียกพี่จากดีเอสไอเป็นเลขาฯกลุ่ม  รถคันที่ ๒ มีพี่จิ (จิรภัฏ ฤกษ์มณีรัตน์) เป็นประธานกลุ่ม มีน้องต้นไม้ (สุชาติ ชวางกูร) เป็นเลขาฯกลุ่ม

พวกเราขึ้นนั่งบนรถครบกันแล้ว  มัคคุเทศน์เจ้าของบ้านก็ขึ้นมาต้อนรับ มีกลิ่นหอมประหลาดอวลมาแตะจมูกด้วย ทีแรกที่ได้กลิ่นก็เหลียวหาต้นด้วยความเคยชิน ที่ไหนได้กลิ่นมาจากมือของเจ้าบ้านเอง  มือเจ้าบ้านที่กำลังขยับไปมา มีดอกไม้เล็กๆกลีบละเอียดสีขาวที่ร้อยเป็นพวงติดมืออยู่  เจ้าของบ้านกำลังแจกมันให้กับแต่ละคน พร้อมกล่าวคำต้อนรับสู่กัลกัตตา

ดอกไม้นี้ดูเผินๆคล้ายดอกมะลิลา แต่เมื่อพิศรายละเอียดกลับไม่เหมือนกันเลย กลิ่นที่โชยเมื่อใกล้มือกลับฉุนจัดจนทำให้ความหอมกลายเป็นหอมฉุน  ไม่รู้ว่าใช่ดอกเข็มอินเดียหรือเปล่า

 

 

เจ้าถิ่นขึ้นคล้องพวงมาลัยดอกไม้หอมสีขาวให้ทุกคน

เป็นอะไรที่เซอไพรซ์กับความมีสุนทรีย์ในอารมณ์ของเขาอยู่เหมือนกัน

รับดอกไม้กันแล้ว รถก็พาเราเดินทางต่อ ไกด์บอกว่าจองที่พักสไตล์รีสอร์ทไว้ให้เราพักกัน  การเดินทางกินเวลากว่าชั่วโมงค่ะจึงถึงรีสอร์ท

ผืนดินอินเดียผืนแรกที่พวกเราย่างเท้าเหยียบอยู่นี้ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ชื่อรัฐเบงกอลตะวันตก

เมืองที่เรากำลังจะเดินทางไปยังที่พัก เดิมทีเรียกว่า “กัลกัตตา Calcutta ” แต่เดี๋ยวนี้มีชื่อใหม่แล้วเป็น “โกลกาตา Kolkata”  เปลี่ยนเรียกตามภาษาท้องถิ่นเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๔

๔  สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 387589เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท