หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๘) : อินเดีย - สัมผัสความเป็นโกลกาตา


ความ ชำนาญของคนขับรถที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ คือ การบีบแตร ปกติคนขับรถที่นี่จะบีบแตรกันตลอดเวลา คันหลังบีบขอทางคันหน้าเป็นหลัก เสียงแตรที่ได้ยินจากถนนบอกฉันว่าความเคยชินเหล่านี้มีความไร้ระเบียบอยู่ก็ จริง แต่ก็ทำให้การจราจรบนถนนมีความปลอดภัยขึ้น

ด้วยเหตุที่ถูกพาไปพักถึงรีสอร์ท การเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองจึงต้องการเวลา เป็นเวลาที่ถือว่าเป็นเวลาดีเพราะตลอดระยะทางที่วิ่งรถผ่านได้เห็นชนบทของโกลกาตาหลายแง่มุม

บนสองข้างทางมีอะไรที่ชวนคิดถึงคุณภาพของชีวิตคนอินเดียมากมาย ความเหมือนและความต่างในรูปลักษณ์ของเมืองดูๆไปแล้วเหมือนบางพื้นที่ของเมืองไทย  บางมุมเห็นแล้วนึกถึงใจคน นึกชมความรู้สึกธรรมดาๆของเขาขณะที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นสุขได้

ฉากชีวิตอย่างนี้ถือว่าเป็นเกรดเอบวกเลยนะคะ

ถ้าเป็นเกรดแย่กว่านี้ในสายตาเรา เขาจะหันหน้าออกถนนค่ะ

เรื่องวัวในอินเดียนี่เป็นเรื่องเฉพาะจริงๆ  มีคนเล่าให้ฟังเมื่อยังอยู่ในเมืองไทยว่า วัวที่นี่ก็มีชนชั้น มีวัวกรรมกร วัวเทพเจ้าด้วย  เช้านี้ที่รถวิ่งผ่านจุดหนึ่งมาแล้วได้เห็นวัว ๒-๓ ตัวอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้บ้านคน เลยต่อมาอีกช่วงหนึ่งของช่วงถนนเห็นวัวกินอาหารอยู่ตรงกองขยะข้างถนนพร้อมคน เลี้ยง ขยะที่เห็นเป็นขยะสดทั้งน๊านเลย  อิ่มอร่อยพุงวัวไปเลย สงสัยวัวที่เห็นใน ๒ ตำแหน่งข้างทางนี้จะเป็นวัวกรรมกรแฮะ ก็ที่ที่คนนำมันมาอยู่ ถึงแม้มันอิ่มอร่อยแต่ก็ไม่สะอาดนี่นา

พูดถึงขยะกองใหญ่ที่เห็น กลิ่นเป็นยังไงฉันไม่รู้หรอกก็ตัวฉันอยู่ในรถติดแอร์มิดชิดไง  ดูแล้วเหมือนเมืองนี้มีระบบจัดการขยะอยู่ด้วยเหมือนกันแต่คงรวบรวมไม่ทันคนทิ้ง จึงเห็นแต่ทำได้แค่การกวาดมากองรวมไว้ก่อนแล้วปล่อยให้คนและสัตว์ที่ต้องการใช้ประโยชน์มาจัดการต่อ

ไกด์ท้องถิ่นเล่าว่าโกลกาตายังไม่มีการรีไซเคิลขยะ เห็นขยะสดเยอะแยะประมาณนี้ก็นึกไปถึงเทคโนโลยีน้ำหมักที่เคยเห็นในโครงการของในหลวง  ถ้าได้นำมาถ่ายทอดคนอินเดีย สิ่งแวดล้อมเรื่องกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์จะเปลี่ยนไป คนที่อยู่อาศัยจะมีความสุขกับสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ขึ้นอีกโขเลยเชียวนา

สถานที่เลี้ยงวัวอย่างที่เห็นน่าจะเป็นอัตลักษณ์ของอินเดียด้วยเนอะ 

ปั๊มน้ำมันในอินเดียที่มีสีสันก็เป็นอัตลักษณ์ของคนอินเดียหรือเปล่า

ตลอดทางมีคนสัญจรคู่ไปกับรถคันที่ฉันนั่งบ้าง สวนทางมาบ้าง  ปั๊มน้ำมันมีอยู่ให้เห็นประปราย ปั๊มเป็นแบบมีคนบริการเติมให้เหมือนในเมืองไทย มีป้ายบอกว่าน้ำมันที่จำหน่ายเป็นยี่ห้อ “น้ำมันอินเดีย Indian oil”

ในปั๊มยังเห็นป้ายอื่นๆข้อความที่ระบุบนป้ายเหมือนดังประชาสัมพันธ์ชวนให้คนต่างถิ่นอย่างฉันนึกเดาไปว่า เป็นสัญญาณบอกถึงการเลือกใช้สิทธิดูแลตนเองของผู้คนอินเดียได้หรือเปล่า

ตัวอย่างป้ายหนึ่งเขียนไว้ว่า “Check&Fill Right Fuel is Your Right” อย่างนี้แหละที่พาให้คิดเชื่อมโยงไป

และก็เพราะคิดเชื่อมโยงไปนี่แหละ จึงทำให้ได้ไปรู้มาว่าในสมัยโบราณ คนอินเดียเชื่อว่า การนุ่งห่มด้วยผ้าสีเหลืองจะได้รับความคุ้มครองจากภูตปีศาจ สตรีที่สามีตายมักทาตัวเหลืองเพื่อไม่ให้วิญญาณสามีมารบกวน เจ้าสาวในอินเดียก่อนพิธีแต่งงาน ๖ วัน ก็นุ่งห่มส่าหรีสีเหลืองเพื่อป้องกันมิให้ผีร้ายมากล้ำกราย 

แพทย์อินเดียโบราณเชื่อว่าผลไม้ที่มีสีเหลืองสามารถทำความสะอาดภายในร่างกายได้ และสามารถคลายความเครียดช่วยให้เลือดลมในร่างกายและประจำเดือนทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติด้วย แถมยังช่วยให้โรคเบาหวานลดความรุนแรง โรคข้ออักเสบทุเลาลง รวมทั้งสำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคไต หากให้เห็นสีเหลืองมาก ๆ สุขภาพร่างกายของคนไข้จะดีขึ้น  เรื่องนี้นำมาเล่าสู่กันฟังเฉยๆ ไม่ได้ชวนให้เชื่อนะคะ…ใช้กาลามสูตรเรียนรู้เอาเองนะ…นะ…นะ….อิอิ

๒ ข้างทางของถนน มีสีเขียวของต้นไม้แซมให้ตาได้พักสบายตลอดทาง 

การจราจรที่เห็นในภาพเป็นบรรยากาศในช่วงเวลา ๙ โมงเศษ

สองข้างทางที่รถวิ่งผ่านจะเห็นที่ว่างสุดลูกหูลูกตาสลับไปกับตึกสูง หรืออาคารที่ดูเหมือนสร้างไม่เสร็จอยู่ตลอดรายทาง  ทำให้รู้สึกเหมือนว่าคนที่นี่จำนวนมากกำลังอยากอพยพออกมาอยู่ห่างจากใจกลางเมือง  อาคารที่พักที่สร้างไม่เสร็จบางหลังก็มีคนพักอยู่แล้ว ลักษณะอาคารเหมือนแฟลตดินแดงบ้านเราก็มี ดูคล้ายๆจะหรูกว่าก็มี

ถึงแม้จะเป็นช่วงเช้าตลอดรายทางตรงช่วงนี้ ไม่พบเห็นผู้คนสัญจรที่ยืนขับถ่ายและอาบน้ำบนบาทวิถีข้างถนน ฉากชีวิตประจำวันอย่างนี้ตอนที่รถวิ่งผ่านย่านที่อยู่อาศัยของคนจนเห็นกับตา จะจะมาแล้วอย่างเช่นในภาพบนสุดค่ะ

การจราจรรอบๆตลาดและเกือบทุกหนทุกแห่งในโกลกาตาจะขวักไขว่ไปด้วยรถคันเล็กๆเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นในย่านที่อยู่อาศัยของคนมีอันจะกิน  ความต่างจากเมืองไทยอยู่ตรงที่มองไปทางไหนก็หารถคันโตคันโก้บนท้องถนนไม่เจอเลย

ยวดยานบนท้องถนนมีหลากชนิดตั้งแต่รถบรรทุก รถเมล์ รถเก๋ง รถแท็กซี่ รถสามล้อเครื่องหรือรถตุ๊กตุ๊ก รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน รถราง รถลาก รถเข็น สิ่งมีชีวิตบนท้องถนนที่มีสิทธิ์ใช้ถนนที่นี่มีทั้งฝูงคนและวัว แต่ไม่เห็นนกมาขอใช้สิทธิ์ร่วมเหมือนในบ้านเรานะคะ

เมื่อไรต่างใช้สิทธิ์ในการใช้ถนนร่วมกัน เมื่อนั้นรถติด ติดไปหมดทุกถนนค่ะ รถที่ขับแน่นเหมือนจะเบียดเกยกัน หัวรถจี้เข้าใกล้จนเกือบจะชนบั้นท้ายของคันหน้า ต้องชมฝีมือโชเฟอร์ตีนทองที่นี่ ตีนทองจริงๆค่ะ ก็เขาขับจี้อย่างไรก็ไม่เผลอชนคันหน้ากันเลยค่ะ

ไม่ใคร่เห็นสตรีอินเดียบนถนนจนผ่านมาถึงแถวนี้จึงเห็นบ้าง

ไกด์เล่าว่าเมืองแออัดมาก ผู้บริหารรัฐจึงเริ่มหันมาสร้างนิวโกลกาตาขึ้นที่นี่

ความชำนาญของคนขับรถที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ คือ การบีบแตร  ปกติคนขับรถที่นี่จะบีบแตรกันตลอดเวลา คันหลังบีบขอทางคันหน้าเป็นหลัก  เสียงแตรที่ได้ยินจากถนนบอกฉันว่าความเคยชินเหล่านี้มีความไร้ระเบียบอยู่ก็จริง แต่ก็ทำให้การจราจรบนถนนมีความปลอดภัยขึ้น

เสียงแตรบนถนนยังสร้างความเคยชินให้หูคนอินเดีย ตามหลักทางการแพทย์ที่ฉันเรียนมามีกูรูสอนว่าการคลุกคลีอยู่กับระดับเสียงดังกว่าธรรมดาอยู่ตลอดเวลามีสิทธิหูเดี้ยงได้ ฉันว่าถ้านำคนอินเดียไปตรวจหูคงจะพบว่ามีผู้คนไม่น้อยที่สมรรถนะของการได้ยินเสื่อมกว่าคนปกติทั่วไป

ความต่างของการขับรถและบีบแตรของคนที่นี่ต่างกับบ้านเรานะคะ สำหรับที่นี่ถ้าเมื่อไรคนขับรถตามหลังบีบแตรขอทางละก็ คนขับรถคันหน้าจะให้ทางทันทีถ้าให้ได้  เวลานำรถวิ่งก็ไม่ใคร่เห็นใครชอบขับชิดเลนขวาเหมือนคนไทย ดูเหมือนคนที่นี่ชอบขับรถแบบ “รักษาชิดซ้าย” ไว้จนอยู่ในสายเลือด

เจ้าความคุ้นชินของการบีบแตรนี่ก็มีเบื้องหลังด้วยนะคะ ว่ากันว่าเป็นข้อกำหนดเป็นกฏหมายเลยค่ะ “ถ้าขอทางโดยไม่บีบแตรจะมีโทษ”

ท่านรู้สึกอย่างไรกับเรื่องราวนี้ ฉันไม่ค้านความรู้สึกของหลายๆคนที่เล่าว่าทึ่งกับเรื่องนี้เลยค่ะ ก็เรื่องอย่างนี้ถ้าเกิดในเมืองไทยเราเนอะ…เหอๆๆๆๆ…มีหวังมีคนเจ็บตัว

ฉันว่าเรื่องนี้สอนให้เรียนการบริหารความขัดแย้งแบบง่ายๆโดยคนอินเดียนะคะ  ความง่ายอยู่ตรงที่ “ทุกคนรับกติกามาปฏิบัติ โดยไม่ยึดติดอัตตา” เห็นด้วยมั๊ยค่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 389136เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท