หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๑๒) : อินเดีย : ได้กินข้าวมื้อแรก...ข้าวเม็ดยาวเชียว


ข้าวอินเดียพันธุ์ส่งออกนอกประเทศ เขาเรียกว่า "ข้าวบาสมาติก" ชื่อนี้มีความหมายว่า “ราชินีแห่งความหอม” ส่วนพันธุ์ข้าวอื่นๆเขามีกฎหมายห้ามส่งออกขายนอกประเทศ เพื่อให้มีข้าวกินในประเทศเขาเพียงพอค่ะ

จากอนุสรณ์สถานวิคตอเรียเมมมอเรียลไปยังจุดหมายปลายทางคือร้านอาหารจีน ชื่อ Mainland China การจราจรหนาแน่นทีเดียว

ช่วงหนึ่งที่รถติดไฟแดง ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งของคนอินเดียก็ปรากฏให้เห็น บนท้องถนนที่มีรถติดหนึบอยู่นั้นมีชายและหญิงอินเดียพาตัวออกมาเดินไปมา ใช่แล้วฉันกำลังจะบอกว่า ที่แยกต่างๆของอินเดียนั้นมีผู้คนข้างถนนเดินเข้ามาสร้างอาชีพให้กับตนเหมือนบริเวณแยกต่างๆในกรุงเทพฯ อาชีพอย่างนี้แหละค่ะที่ทำให้พอได้เห็นสตรีอินเดียบนท้องถนนเมืองโกลกาตาบ้าง

เป็นโชคดีที่รถติดมากทำให้ได้มีโอกาสสังเกตฟุตบาทริมถนนได้เต็มที่ ส่ายตามองดูไปเรื่อยระหว่างรถไหลก็เห็นมุมหนึ่งของชีวิตคนมุสลิมอินเดียและชีวิตยามเที่ยงของเขา คนที่นี่ก็เหมือนคนบ้านเราที่เมื่อออกนอกบ้านแล้วก็ต้องฝากท้องไว้กับร้านข้าวแกงริมถนน ชีวิตริมทางที่เห็นเป็นแหล่งใกล้กับโรงเรียนค่ะ

 

สังเกตอาชีพระดับ SME บ้านๆของอินเดีย เป็นธุระกิจริมทางและบนถนนเยอะซะจริง

ที่เห็นกับตาสตรีอินเดียทำหน้าที่แม่บ้านเป็นหลักเพราะไม่ว่าจะเป็นคูหาที่ทำการค้า แผงลอยในหมู่บ้าน หรือแผงลอยข้างถนน คนขายสินค้าจะเป็นชายทั้งนั้นเลย เห็นสตรีก็ต่อเมื่อรถวิ่งเข้าไปใกล้บริเวณโรงเรียนหรือป้ายรถเมล์และทุกครั้งที่เห็นจะมีเด็กในชุดนักเรียนวนเวียนอยู่ใกล้เธออยู่ทุกครา

ชุมชนมุสลิมริมทางที่เห็นนั้น มีมัสยิดเล็กๆแทรกตัวอยู่ มีราวตากผ้าอยู่ด้านหน้าด้วย และที่แปลกตาก็คือราวตากผ้าที่เห็นนั้นขึงโยงระหว่างต้นไม้ริมทางเดินแถมผ้าที่ตากเอาไว้ ยังล้ำมาใช้พื้นที่แผงกั้นถนนด้วยหละ สงสัยว่าเมืองแห่งนี้ไม่มอบหมายหน้าที่การควบคุมกำกับให้ตำรวจเทศกิจจัดการหรือไม่มีตำรวจเทศกิจประจำเมืองก็ไม่รู้นา

ความเป็นระเบียบในความไร้ระเบียบอีกรูปแบบหนึ่งที่หาดูได้ในอินเดีย

ภาพที่เห็นเป็นบริเวณรอบๆมัสยิดเล็กๆแห่งหนึ่งริมถนน

มีคนเล่าว่าพ.ศ. ๒๓๑๖ ที่โกลกาตาเป็นศูนย์กลางการปกครองของอังกฤษในอินเดียนั้นมีนักเขียน พ่อค้า ทหารและสตรีจากยุโรปจำนวนมากเดินทางมาที่นี่ เป็นเหตุซึ่งทำให้ตัวเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่พรั่งพร้อมไปด้วยเวียงวังในยุคอุปราชอังกฤษ แต่เมื่ออังกฤษย้ายเมืองหลวงไปที่เดลี พ.ศ. ๒๔๕๔ โกลกาตาก็ตกต่ำลง

ครั้นเมื่ออินเดียได้รับเอกราชและประเทศถูกแบ่งแยกดินแดนส่วนหนึ่งไปเป็นบังคลาเทศ  ผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดูที่อาศัยอยู่ในแถบเบงกอลตะวันออกก็อพยพข้ามเส้น พรมแดนที่แบ่งขึ้นใหม่เข้ามายังแถบเบงกอลตะวันตก โกลกาตายิ่งแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คนจนเกินกว่าที่เมืองจะรองรับ

๑๐๑ ปีที่ผ่านมาของโกลกาตาที่ชาวมุสลิมแยกกันไปอยู่บังคลาเทศให้ผลพวงเหล่านี้เป็นแบบใดอย่างไร ภาพที่เห็นจะจะเหล่านี้ก็เป็นบทเรียนการพัฒนาเมืองให้ได้เรียนเหมือนกันเนอะ เห็นแล้วสะท้อนอะไรให้เห็นภาพเมืองไทยบ้างมั๊ยนี่

 

ที่เห็นตัวถังเก่าๆสีน้ำตาลนั่นนะ รถรางอินเดียค่าาาา……

เห็นแล้วนึกถึงรถรางเก่าของเมืองไทยขึ้นมาเลยแฮะ ใช้คุ้มขนาดนี้หรือเปล่านะ

เข้าไปในร้านอาหาร มีอาหารหลากลานตาให้เลือกเชียวค่ะ กุ้ง ปู ไก่ แพะ มีให้เลือกตามสะดวก ไม่มีหมูค่ะเพราะคนฮินดูส่วนใหญ่กินมังสะวิรัติและไม่กินหมู อาหารที่เป็นเมนูผักล้วนมีอย่างเดียวคือผัดผักรวมผัดตามสั่ง ซึ่งเมื่อกุ๊กเจอกับออร์เดอร์ของพวกเราก็ทำเอาปรับหัวสมองไม่ทันไปเลย

พวกเราได้กินข้าวสวยเป็นมื้อแรกที่นี่ ฟังมาว่าเป็นมาตั้งแต่สมัยร. ๕ แล้วที่ข้าวอินเดียขายในตลาดข้าวโลกได้มากกว่าข้าวไทย เดิมทีในสมัยร.๕ คุณภาพของพันธุ์ข้าวที่เม็ดข้าวไทยแตกหักง่าย ส่งออกไปขายก็ไม่เป็นเม็ดยาวสวยเหมือนข้าวอินเดีย ร.๕ จึงทรงมีพระราชดำริให้ประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นในพ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นครั้งแรก และการคัดพันธุ์ข้าวที่ทำกันต่อๆมานี่แหละที่ทำให้พบข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าวดอกมะลิ ๑๐๕

การที่ปัจจุบันไทยยังส่งข้าวออกขายสู้ข้าวอินเดียไม่ได้อยู่ดี เหตุมาจากจำนวนพื้นที่การผลิตที่ทำให้ปริมาณผลผลิตสู้กันไม่ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้

 

บรรยากาศมื้อเที่ยงแรกในอินเดียของพวกเราเป็นอย่างนี้แหละค่ะ

ข้าวอินเดียพันธุ์ส่งออกนอกประเทศ เขาเรียกว่า "ข้าวบาสมาติก" ชื่อนี้มีความหมายว่า “ราชินีแห่งความหอม” ส่วนพันธุ์ข้าวอื่นๆเขามีกฎหมายห้ามส่งออกขายนอกประเทศ เพื่อให้มีข้าวกินในประเทศเขาเพียงพอค่ะ และเดี๋ยวนี้อินเดียพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ขึ้นมา เป็นข้าวประหยัดพลังงาน ประหยัดตรงที่ไม่ต้องใช้ไฟก็กินได้ แค่แช่น้ำ ๔๕ นาที หรือแช่น้ำอุ่น ๑๕ นาทีเท่านั้นเองก็กินได้แล้ว ข้าวพันธุ์นี้ชื่อ “อัฟกัน-บารอ”

อาหารหลากหลายเมนูที่มีให้เลือกและรสชาติใกล้เคียงอาหารไทย ทำให้ความเหนื่อยที่เกิดจากแดดเผาของหลายคนในกลุ่มเราคืนมา


ทุกคนกินและดื่มอย่างมีความสุข อ๊ะ…อ๊ะ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เครื่องดื่มที่ดื่มกันอย่างมีความสุขกันนั้น คือ “โค๊ก” ค่ะ ของหวานที่นี่ก็ทำให้คนมีความสุข ขนมเค๊ก ไอติมอร่อยค่ะ

 

ข้าวบาสมาติกที่เม็ดยาวคล้ายเส้นหมี่ขาวหักๆกินกับอาหารเข้าเครื่องเทศ

เข้ากันแบบลิ้นอินเดีย

๗ ชนิดในภาพขวาสุดนี่แหละที่ใส่แล้วผัดผักรวมเค็มปี๋เลย

ท่านกงสุลใหญ่ประจำโกลกาตา ให้เกียรติมาเป็นครูด้วย

มื้อนี้มีอาหารที่ทำให้ฉันประทับใจจนลืมไม่ลงอยู่อย่างหนึ่งค่ะ ใส่ปากเคี้ยวคำแรกก็แทบจะคายทิ้ง เฮ้อ อุตส่าห์ไปยืนเข้าคิวรออยู่เป็นนานว่าจะกินให้อร่อยเชียว ดูหน้าตาที่ได้รับการเสิร์ฟแล้วน่ากินทีเดียวแต่รสเหมือนเกลือทั้งห่อหล่นลงไปเลยอ่ะ เดิมทีคิดว่าจะกินให้อร่อยแล้วไปขออีก ชิมแล้วเลิกคิดเลย อิ่มแล้วนึกสงสัยจึงไปด้อมๆมองๆเครื่องปรุงของเขา แล้วก็ถึงบางอ้อเมื่อเห็นทั้งๆที่อยู่ในอินเดีย

อิ่มกันแล้วหลายคนที่เป็นนักช๊อปก็เริ่มอยู่ไม่ติดที่ เถลไถลพากันเดินออกไปจากร้าน ทำทีว่าเดินลงมารอเพื่อน แต่แล้วพวกเขาก็แป่วเพราะว่าด้านนอกนั้นร้อนกว่าในร้านหลายเท่าตัว สู้ความร้อนไม่ไหวก็พากันกลับเข้ามานั่งรอที่ชั้นล่างของร้าน นั่งคุยกันไป แหย่กันไป แอ๊คท่ากันไป เสียงลั่นห้อง ฉันว่าลูกค้าชาวต่างประเทศที่เดินกันเข้ามาใหม่คงแปลกใจว่าพวกนี้ใครกัน

 

อิ่มท้องแล้ว ก็พากันมาสวมวิญญาณเด็กที่ชั้นล่าง เพิ่มความหนุ่มสาวให้ตัวเอง

เสียงเจี๊ยวจ๊าวจนฝรั่งงง

ท่านกงสุลสุขุม สมประสงค์ กงสุลใหญ่ประจำโกลกาตา มาร่วมกินข้าวมื้อนี้กับเราด้วย และในช่วงเย็นท่านก็ให้ความกรุณาแก่พวกเราชวนกินข้าวเย็นด้วยกัน พวกเราไม่ได้ไปดูงานที่สถานกงสุลค่ะ ก็เลยใช้เวลาช่วงเย็นที่นั่งกินข้าวเที่ยงและเย็นนี่แหละเรียนรู้อินเดียจากท่าน

มีหนุ่มน้อยจากสถานกงสุลมาให้เราได้รู้จักหน้าด้วย น้องเขาบอกเราว่าเพิ่งมาทำงานที่โกลกาตาเพียง ๖ เดือน แต่เราก็ถือว่าเขาเป็นครูคนหนึ่งในการศึกษาดูงานของเราในครั้งนี้

 

เก็บภาพมาฝากให้รู้ว่า ที่ปลดปล่อยสะอาดๆนะพอหาได้อยู่หรอก…..

ป้ายหน้าห้องน่ารักเนอะค่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 391650เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท