หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๑๖) : อินเดีย - แลกเปลี่ยนที่ JADAVPUR


ฉันว่าการเป็นคนช่างสังเกตนี่แหละที่เป็นจุดแข็งของเด็กหนุ่มสาวอินเดียที่เหนือกว่าเด็กไทยหละ

เมื่อไฟฟ้าดับลงก็เป็นนาทีที่เริ่มเรียนรู้ความเป็นอินเดียกันอีกบท อากาศในห้องแม้จะโล่ง เวลาที่มาเยือนแม้จะเป็นยามเย็น แต่ขอโทษเหอะอุณหภูมิของอากาศไม่เย็นไปด้วยเลย  ไม่รู้หรอกว่าอุณหภูมิเท่าไร รู้สึกแต่ว่ามันทั้งอ้าวทั้งร้อน ก็เลยจำต้องยอมรับกระดาษแผ่นเล็กเท่าฝ่ามือเป็นพัด ดีกว่าไม่มีเลย…โอ๊ย..โอ๊ย…ร้อน..ฝุ่น…ฝุ่น…ฝุ่น….เสียงบ่นดังอยู่รอบตัว

หลังจากพวกเราทำการบ้านกับบทเรียนอากาศ ร้อนและเช็ดฝุ่นเพื่อจัดการที่นั่งให้สบายกันได้สักครู่  เจ้าของสถานที่ก็เดินมาบอกให้ย้ายตัวกันไปที่ห้องชั้นล่าง และแล้วไฟฟ้าที่ดับลงก็กลับคืนมาทันๆกัน  ลงมาชั้นล่างแล้วจึงรู้ว่าคณะที่พวกเรามาขอเรียนรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เข้าห้องไปก็สัมผัสกับความเย็นฉ่ำของแอร์ ทั้งๆที่แอร์ในห้องเพิ่งเปิดทำงาน

เห็นจำนวนอาจารย์ที่มารอแบ่งปันความรู้กับเราแล้วรู้สึกเลยว่าเขาให้เกียรติพวกเรามาก

 

บรรยากาศนอกและในห้องเรียนที่พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมและแบ่งปันความรู้

จำนวนอาจารย์ทั้งหมดมี ๕ ท่าน เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว  อาจารย์ผู้หญิงที่เห็นตรงหน้าสวมชุดส่าหรีที่เห็นทั่วไปในตลาดนั่นแหละค่ะมาสอนนักศึกษา อาจารย์ผู้ชายไม่ใส่เน็คไท ไม่ใช้สูท แถมอาจารย์บางคนใส่เสื้อเชิร์ตปล่อยชายออกนอกกางเกงด้วยนา  ดูคนอินเดียเขาอยู่กันสบายๆดีนะคะ

ความเป็นทางการเริ่มขึ้นเมื่อพี่โจ(พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ) ประธานวิชาการรุ่น ๔ส.๒ เป็นตัวแทนแนะนำความเป็น ๔ส. และแนะนำลุงเอกให้เจ้าบ้านรู้จัก แจ้งวัตถุประสงค์ว่าที่พวกเราแวะมาขอแบ่งปันความรู้ก็เพื่อนำกลับไปใช้แก้ ปัญหาของประเทศไทย

อาจารย์ทุกคนที่มารอแบ่งปันน่ารักมากกกกกกกกกก ทุกคนให้เวลากับพวกเราเต็มที่ ไม่มีใครพูดเสร็จแล้วเดินออกไปก่อนเลิกพบปะ ระหว่างพวกเขาก็มีถ้อยทีถ้อยอาศัยแบ่งปันเวลาให้ทุกคนได้พูดให้พวกเราฟังจนครบคน

 

อาจารย์ที่มาแลกเปลี่ยน บรรยายบนโพเดียมทีละคนจนครบทุกคน

ในระหว่างการแลกเปลี่ยน พวกเราได้คุณเซี้ย (ดร.พิชญ์ดา เดอเอซูซ์) ผู้เคยทำงานกับบีบีซี เป็นล่ามช่วยแปลความให้ซึ่งเป็นอะไรที่สะดวกดี ไม่ต้องปรับหูมากมายแล้วไม่ทำให้ฟังแล้วแปลเพี้ยนเพราะความอ่อนภาษาแล้วไปถกเถียงกันเองให้เสียการ

เมื่อเช้านี้ก่อนออกเดินทางคนไข้คนแรกของทริปได้แวะมาปรึกษาฉันเรื่องลืมเอายาประจำตัวมาแล้วมีปัญหาปวดหัวเฉียบพลัน ได้ยินชื่อโรคประจำตัวและอาการแล้วใจฉันแป่ววววววววว…เลยค่ะ ยาที่ฉันนำติดตัวมาในกระเป๋ามีแต่ยาสามัญประจำบ้านทั้งนั้นเลย

แก้ปัญหากันไปด้วยการแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลบรรเทาปวดไปก่อนเพื่อกันไม่ให้ความดันเลือดขึ้นสูง แนะนำดื่มน้ำเพิ่มขึ้นกว่าปกติที่เคยดื่มให้เกินเท่าตัว แล้วช่วยกันหายา โชคดีที่หายามาให้แทนได้จากเพื่อนๆในกลุ่ม ทำให้อุ่นใจขึ้นถนัดใจทีเดียว

ระหว่างนั่งฟังบรรยายกันอยู่นั้นเอง คนไข้คนเดิมก็แวะมาบอกว่าที่ปวดหัวนั้นทุเลาอาการแล้ว ขอเดินไปมาเพื่อทำหน้าที่ได้ไหม  มีหรือที่ฉันจะไม่อนุญาตเมื่อเห็นเขาคลายใจลงกับอาการของตัวเองแล้ว

  

คุณเซี๊ยช่วยแปลความหลังการบรรยายแต่ละช็อต

จบการบรรยายแล้วพวกเราก็ขอมอบของที่ระลึกและถ่ายภาพร่วมกัน

การแลกเปลี่ยนดำเนินไปแบบพวกเราตั้งคำถามที่อยากรู้แล้วให้อาจารย์ที่นี่ตอบ ใครที่ถามภาษาไทยก็มีคุณเซี๊ยช่วยเป็นปากพูดแทน ใครที่ถามภาษาอังกฤษได้ก็ถามเอง คำถามกว่า ๑๐ คำถามถูกป้อนให้อาจารย์ช่วยตอบ ความน่าสนใจของสิ่งที่ได้รับคำตอบทำให้พวกเราไม่ได้สนใจเวลาที่ใช้ไป มารู้ตัวกันอีกทีว่าเลยโพล้เพล้ก็เมื่อเดินออกจากห้องกันมาแล้ว

ก่อนลาจากกัน พวกเราก็ให้ลุงเอกทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแก๊งค์มอบของที่ระลึกให้กับอาจารย์แต่ละท่าน

บริเวณมหาวิทยาลัยตอนที่พวกเราเดินกลับออกมาเริ่มมีแสงไฟตามถนน มีนักศึกษาหลายคนยังเดินไปมาบนถนน

เดินออกมาได้สักช่วงฉันก็สังเกตเห็นนักศึกษาชายคนหนึ่งพยายามถามอะไรเพื่อนคนหนึ่งอยู่และได้ยินเพื่อนคนนั้นเธอตอบ ว่า”I don’t understand your question.”  แต่นักศึกษาคนนั้นก็เพียรถามอยู่นั่นแล้ว ท่าทีที่เห็นคุยด้วยเหมือนกับคาดคั้นคำตอบเลยอ่ะ หรือว่าฉันรู้สึกไปเอง

เมื่อฉันเดินตามไปจนทันจึงรู้ว่านักศึกษาเขาสงสัยว่าพวกเรามาทำไมและมาจากไหน ทำไมจวบจนเวลานี้จึงยังมาเดินเพ่นพ่านอยู่ในมหาวิทยาลัยของเขา

ตอนที่รู้ว่านักศึกษาเพียรถามอะไร เพื่อนที่เดินอยู่ก่อนเดินนำหน้าไปซะแล้ว ฉันจึงตกที่นั่งเป็นผู้ตอบแทน  ก็แค่บอกไปว่ามาจากเมืองไทย มาสัมมนาที่นี่เพื่อเรียนรู้ว่าเหตุใดอินเดียจึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยดีที่สุดในโลกแค่นั้นเอง ได้คำตอบที่พอใจแล้วน้องเขาก็ผละไป

 

 

ยุติการแบ่งปันกันแล้วบรรยากาศก็เป็นอย่างที่เห็นนี่แหละค่ะ

ข้อสังเกตที่พบจากนักศึกษาบอกให้รู้ว่า คนอินเดียเขามีประสาทสัมผัสที่ไวกับการแยกแยะคนนอกมากเลยนะ  ยิ่งมากันเป็นกลุ่มพร้อมเครื่องแบบที่ผิดแผกจากพวกเขานี่ยิ่งเด่นเข้าไป ใหญ่  เชื่อแล้วกับคำบอกเล่าที่ว่าสามารถรับรู้ว่าใครวรรณะไหนด้วยการสังเกตเมื่อ คลุกคลี

ฉันว่าการเป็นคนช่างสังเกตนี่แหละที่เป็นจุดแข็งของเด็กหนุ่มสาวอินเดียที่เหนือกว่าเด็กไทยหละ นี่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ได้เจอหลังสัมผัสคนอินเดียวัยหนุ่มค่ะ

 

 ซ้าย-บรรยากาศบนท้องถนนหลังทุ่ม

ขวา-บรรยากาศเข้าคิวหน้าห้างใหญ่ล้นหลาม เหมือนกรุงเทพฯมั๊ยค่ะ

หลังจากนั้น พวกเราก็เดินทางกันไปที่ภัตตาคารอาหารไทยที่ท่านกงศุลใหญ่โกลกาตานัดเราไว้

ระหว่างทางเจอรถติดแน่นขนัดบนถนน การเคลื่อนตัวของรถไปได้อย่างช้าๆกว่าจะถึงภัตตาคารที่นัดหมายก็เป็นเวลากว่า ๒ ทุ่มแล้วค่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 391946เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท