หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๕๒) : อินเดีย - สีแดงสวยแปลก


ในแง่ของความสวยงาม ที่นี่สวยไม่แพ้ทัชมาฮาล กำเนิดของที่นี่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กัน

ป้อมอัครา (Agra Fort) ที่เห็นดูไม่ออกว่ามีอายุกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว เห็นแล้วนึกถึงการบำรุงรักษา ความกว้าง ใหญ่ สูงของป้อมทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมคนอินเดียเฉยๆกับการมีกำลังทหารอยู่ในเมืองเต็มไปหมด

นึกเห็นภาพการรบสมัยโบราณที่เห็นในหนัง กองทัพที่รบชนะแล้วครองประเทศขนาดใหญ่อย่างนี้ได้ในยุคนั้นต้องเก่งกาจ ฉลาด ปราดเปรียวและเด็ดขาดในการปกครอง ชนิดที่พูดให้กลัวก็คงเป็น “โหด” “ดุ” “เหี้ยม” นั่นแหละนะ

สีแดงของป้อมแปลกตาและดูใหม่ทำได้ไงนะ สีแดงของอิฐที่เห็นเหมือนอิฐมอญผสมสีศิลาแลงบ้านเราแฮะ น่าสนใจการดูแลรักษาว่าทำยังไง หินที่เห็นเขาบอกว่าเป็นหินทราย ขัดยังไงจึงดูใหม่และสวยงามได้ขนาดนี้

พวกเราไปถึงกันเย็นแล้ว ยังมีคนมาเที่ยวกันอยู่เยอะ แสงอาทิตย์ยังอยู่แต่ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกดินที่เขาเล่ามาว่าสวย

 

ทิวทัศน์ในมุมต่างๆของป้อมอัครา หรือ ลาล กิลา (Lal Qila)

ป้อมแดง (Fort Rouge) หรือ ป้อมแดงแห่งอัครา (Red Fort of Agra)

ที่นี่เป็นวังด้วย ใช้สืบต่อมาถึง ๓ รัชกาล ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนทั่วโลกมาชมเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลหนึ่งจูงใจมาเท่านั้น

ในแง่ของความสวยงาม ที่นี่สวยไม่แพ้ทัชมาฮาล กำเนิดของที่นี่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กัน

แดดที่ยังแรงอยู่ ไม่ถึงกับทำให้ร้อนเท่าตอนที่เรายังอยู่ที่ทัชมาฮาล รถนำพวกเรามาปล่อยให้ลงที่หน้าป้อม จุดที่ลงมายืนกัน เห็นความใหญ่โตของป้อมและแนวกำแพงสูงใหญ่ยาวเหยียดที่แข็งแรงสมเป็นปราการ ป้องกันภัย แถมสวยด้วย

 

กำแพงหินทรายสีแดงที่ตั้งตระหง่านสวยงาม ป้อมปราการสูงกว่า ๒๐ เมตร

เห็นแล้วอยากรู้ว่าคนที่ถูกระดมมาช่วยสร้างรู้สึกอย่างไร

มีประตูใหญ่ให้เดินผ่านเข้าไปชั้นหนึ่งก่อนจึงเข้าถึงป้อมด้านใน ทางเดินใหญ่เหมือนทางเดินหรือสะพานของป้อมปราการของปราสาทในหนังฝรั่งย้อนยุคยังงั้นเลย

ด้านในมีหลายส่วนเป็นส่วนของอะไรบ้างดูได้ไม่ทั่วหรอก พวกเราใช้เวลากับการถ่ายภาพเดี่ยว-หมู่ด้านนอกบ้าง ด้านในบ้าง เดินเข้าห้องนั่นห้องนี้ตามอัธยาศัยบ้าง แล้วมาใช้เวลากันอยู่ที่ริมกำแพงที่เห็นทัชมาฮาลอยู่นานสักหน่อย

เมื่อยืนตรงที่จริงแล้วลองจำลองเหตุการณ์ว่าพระเจ้าชาห์ จาฮานใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในเวลา ๘ ปี ก่อนจะสิ้นพระชนม์ ก็นึกไม่ออก แต่ก็รู้สึกได้ว่า พระองค์เป็นชายที่อ่อนไหวมากมาย ไม่น่าเชื่อเลยว่า คนเป็นผู้นำคน จะอ่อนไหวได้ถึงขนาดเศร้าตรมจนสิ้นพระชนม์และให้กำเนิดตำนานรักอมตะที่จบ อย่างน่าเศร้าอย่างที่เล่าขานกันมาได้

 

เห็นแล้วฉุกคิดว่าที่นี่สร้างไว้รองรับการอพยพภัยของประชาชนด้วยมั๊ย

ที่แน่ๆคือความสูงและชันทำให้ระบายน้ำขังได้ดี

เห็นสถานที่แล้ว ก็นึกถึงคำว่า “จับมาขัง” ดูยังไงก็ไม่เหมือนคุกขังกายเอาซะเลย ถ้าเรียกว่า “กักบริเวณ” แบบอองซานซูจี ละก็พอเป็นไปได้  ที่ถูกกักบริเวณก็น่าจะเป็นเพราะยังทรงมีบารมีที่จะคัดค้านการบริหารราชการ แผ่นดินของลูกได้ซะมากกว่าอย่างอื่นมั๊ง

เห็นทัชมาฮาลมาแล้วก็พอจะบอกได้ว่า พระเจ้าชาห์ จาฮานใช้เงินไปเยอะ มุมหนึ่งก็เห็นความรวยของราชวงศ์โมกุล แต่อีกมุมหนึ่งก็น่าสนใจว่ารายได้ของราชวงศ์มาจากไหนจึงรวยได้ขนาดนี้

ถ้ารายได้มาจากภาษีของประชาชน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่การสร้างทัชมาฮาลซึ่งใช้ทรัพย์ไปในจำนวนมหาศาลอย่างที่เห็น จะทำให้ลูกเกิดความกลัวจน มีความกลัวความจน กลัวลำบากของผู้คนรอบตัวพระองค์ แล้วอาจจะมีเรื่องโกรธด้วย

ก็คนที่เข้าทำงานตั้งกว่าสองหมื่นคน แต่ละคนใช่ตัวคนเดียวซะเมื่อไรกัน จากที่มีเรื่องเล่าว่าผู้ที่เข้าไปร่วมก่อสร้างทัชมาฮาลโดนสังหารมากมาย เมื่อทัชมาฮาลสร้างเสร็จ มีความเป็นไปได้ว่าจะมีความโกรธของผู้คนแฝงอยู่จนสามารถทำลายคนที่ทำให้โกรธได้นะขอบอก

เห็นบริเวณจริงๆของหอคอยรูปแปดเหลี่ยมที่ชื่อว่า Musamman ที่ประทับของพระเจ้า ชาห์ จาฮาน ตลอด ๘ ปีที่อยู่ที่นี่แล้ว รู้สึกว่าคนที่อยู่อย่างนี้ได้ก็ต้องเป็นคนที่ไม่สนใจอะไรอีกแล้วในชีวิตนี้ และเป็นคนที่ตัดสินใจกับชีวิตของตนแล้วอย่างมั่นใจ

ไปเห็นริมแม่น้ำแล้วไม่แปลกใจที่เห็นกำแพงขนานไปตามความยาวของแม่น้ำ ที่มันเป็นป้อมปราการที่อยู่ชิดติดแม่น้ำที่มีกำแพงยาว ๒.๕ เมตร นั้น น่าจะเป็นความต้องการประโยชน์จากแม่น้ำในการขนส่งและใช้หนีภัยในสมัยนั้นหรือเปล่า

๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 408520เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2010 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาทักทาย ลองอ่านดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากค่ะ ทำให้รู้ประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอีก (จากเดิมที่มีอยู่แค่หางอึ่ง)ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท