หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๕๕) : อินเดีย - อื้อฮือ เชื่อดีมั๊ยนี่


เห็นตัวเลขขยะแล้วน่าแปลกใจ ระบบโทรทัศน์ของอินเดียเป็นแบบไหนจึงไม่ต้องใช้จาน ใช้เสา ทั้งๆที่มีการใช้สื่อออนไลท์ผ่านสัญญาณดาวเทียม

เช้านี้พวกเราใช้เวลากับการหลงทางในโรงแรม ไปช่วงหนึ่ง ที่หลงทางก็เพราะโรงแรมเขาสร้างอาคารไว้วกวนตามขวาง มีเชิงชั้นย้อนไปย้อนมาจนเวียนหัว เดินไปเดินมาหาทางลง หาทางเข้าลิฟท์กันไม่ใคร่เจอ

นึกภาพของคนมีสัมภาระ อายุเลยเลขสี่ เลขห้า เลขหกกันไปแล้ว เดินวนไปวนมาหาทางออกกันดู แล้วจะนึกออกว่าในวันนี้ ผู้ร่วมคณะของฉันมีอาการยังไงกันบ้าง

วันนี้ฉันได้งานแต่เช้า เมื่อน้องต่อ(อนุสรณ์ ไกรวัตตนุสรณ์)เดินมาขอแบ่งซองเกลือแร่ไปใช้ อาหารที่ไหนก็ไม่รู้เป็นเหตุให้ท้องเสีย ดูอาการแล้วไม่น่าห่วงเท่าไร ยังเดินปร๋อบริการใครๆได้ไม่ต่างไปจากที่เคยทำ โปรแกรมวันนี้เราจะย้ายไปเมืองชัยปุระกัน

เดินทางมาไกล ร่วมทางกันมา แต่ละคนเป็นหนุ่ม เป็นสาวและเป็นเด็กมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป

รถพาเราวิ่งเข้าเส้นทางใหม่ ข้างทางแปลกตากว่าเมืองที่เคยผ่านตรงดูสะอาดไม่ใคร่เห็นขยะเกลื่อนเหมือนใน หลายเมือง ฉันไม่รู้ว่าส่วนที่เห็นนี้อยู่ในเขตเมืองอัคราหรือเปล่า

ยามเช้าอย่างนี้ผู้คนยังสัญจรไม่มากมั๊ง ถนนจึงโล่งอย่างในภาพ คนที่นี่คงนิยมใช้มอร์เตอร์ไซด์แบบเวสป้า จักรยานและรถตุ๊กๆอินเดีย จึงไม่ใคร่เห็นรถเก๋ง ไม่เห็นสตรีออกมาในท้องถนนเหมือนที่โกลกาตาหรือจะเป็นเพราะว่าเวลาเช้าไปก็ ไม่รู้

ได้รู้มาก่อนเดินทางว่าเส้นทางที่พวกเรากำลัง เดินหน้ากันไปนั้นเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ทะเลทราย แอบดีใจว่าจะได้เห็นทะเลทรายของจริงก็คราวนี้แหละ จะเหมือนอย่างที่เห็นในหนังหรือเปล่านะ

บรรยากาศยามเช้าของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ดูสงบสบายมั๊ยค่ะ

เมื่อรถผ่านเมืองไปเรื่อยๆ ก็เห็นวิธีค้าขายของคนอินเดียที่เปลี่ยนไป จากที่เคยเห็นเป็นเพิงเป็นร้าน ที่นี่กลับเป็นร้านเคลื่อนที่ได้ เปิดร้านกันข้างถนน ริมฟุตบาท ใต้ต้นไม้มีทั้งนั้น ร้านที่อยู่กับที่จะเป็นตึก เป็นห้องแถวไปเลย สิ่งที่เห็นบอกฉันว่า คนในเมืองนี้มีความต่างฐานะกันอยู่กว้างนะ

สิ่งที่ทำให้ฉงนก็คือ ตึกรามที่อยู่อาศัยและสีเขียวของไม้ใหญ่ริมทาง ไม่บอกเค้าว่าเป็นดินแดนทะเลทรายเอาซะเลย  ดูไปแล้วเหมือนเมืองร้อนแบบเมืองไทยซะมากกว่านะเออ

เจอลูกค้าตรงไหนก็จอดบริการ เสร็จแล้วก็พาตัวจากกันและกันไป ชอบใจถนนที่ว่างดีจัง

พื้นที่ก็มีขยะเกลื่อนซุกอยู่ริมทางให้เห็น เหมือนกัน เห็นแล้วทำให้รับรู้ว่าดูเหมือนระบบการจัดการขยะในแต่ละเมืองของอินเดียไม่ เหมือนกัน การที่ถนนเมืองนี้ดูสะอาดน่าจะมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง การเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวผ่านกันบ่อยๆหรือเปล่าที่ทำให้สะอาดได้อย่าง ที่เห็น ถ้าใช่ละก็พวกเราก็เป็นผู้มีอิทธิพลของอินเดียซินะ..อิอิ

กองขยะข้างถนนของเมืองนี้ที่เห็นมีขนาดแค่นี้แหละ ที่ไม่ต่างกันก็เห็นจะเป็นวัวนั่นแหละ

อยากรู้เรื่องขยะก็เลยชวนไกด์คุย ได้ความมาว่ากิจการจัดการขยะนั้นเป็นที่ต้องการของทุกรัฐในอินเดีย ประเภทขยะที่ขายได้เท่าที่เขารู้ก็มีกระดาษเท่านั้น พลาสติกมีบ้างเพราะแยกแล้วไม่มีคนรับซื้อต่อ  ไกด์เขาเล่าว่าบางรัฐมีการประมูลงานให้เอกชนรับไปจัดการเรื่องขยะ แต่ก็มีปัญหาจัดการไม่ทันเพราะขาดแรงงาน

ขณะรถวิ่งผ่านเมืองก็เหลือบไปเห็นลานว่าง เข้าใจว่าเป็นสนามเล่นบอล ที่ไหนได้เป็นลานสาธารณะประโยชน์ เป็นห้องน้ำกลางแจ้ง สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะยามเย็น และจุดจ่ายน้ำของชุมชนไปพร้อมๆกัน เห็นดินแล้วรู้สึกแปลก ดูเหมือนทรายมากกว่าดิน พอเห็นน้ำที่นองขังตรงพื้นข้างรถจ่ายน้ำที่เห็นก็คิดว่าไม่ใช่ทรายแล้ว แต่เหมือนทรายมากเลย

 

ที่นี่ น่าจะเป็นส่วนของทะเลทรายด้วย  เห็นจะจะว่ากันดารน้ำ

กะบะทรายบนรถลากบอกว่าที่นี่มีการก่อสร้างเยอะเหมือนกัน แต่ไหงไม่ใคร่เห็นละ

บ้านเรือน ๒ ข้างทางที่เห็นไม่มีจอดาวเทียมหรือเสาโทรทัศน์โด่เด่ให้เห็นเกลื่อนตาเหมือน บ้านเรา น่าแปลกใจเหมือนกัน ก็ไหนใครเคยเล่าว่า อินเดียสนใจวิทยุโทรทัศน์และการสื่อสารออนไลท์แล้วทำให้ขยะอีเล็กโทรนิคส์ ล้นโลกจนองค์การสิ่งแวดล้อมโลกเตือนไง

เขาว่ารวมขยะอีเล็กโทรนิคส์ของอินเดียกับจีน แล้ว ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทโทรทัศน์มีมากถึง ๑.๕ ล้านตันและตู้เย็นอีกประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี แล้วมีคนคาดการณ์ว่า ภายในปี ๒๕๖๓ ขยะอิเล็คทรอนิคส์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์เก่าในอินเดียจะเพิ่มขึ้นประมาณ ๕๐๐ เปอร์เซ็นต์และขยะอิเล็คทรอนิคส์ประเภทอื่นอย่างเช่น โทรศัพท์ มือถือ จะสูงขึ้นประมาณ ๑๘ เท่า จากปี ๒๕๕๐

๑๐ ปีข้างหน้า ขยะจาก ๒ ประเทศรวมกันจะเพิ่มเป็น ๔๐ ล้านตันต่อปี

ไฟฟ้ามีใช้ทุกบ้าน ไกด์บอกว่าทุกบ้านมีโควต้าการใช้น้ำ ระบบประปารัฐเป็นคนดูแลให้ทั่วถึง

เห็นตัวเลขขยะแล้วน่าแปลกใจ ระบบโทรทัศน์ของอินเดียเป็นแบบไหนจึงไม่ต้องใช้จาน ใช้เสา ทั้งๆที่มีการใช้สื่อออนไลท์ผ่านสัญญาณดาวเทียม

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 410756เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท