หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๕๗) : อินเดีย - มีความสุขง่ายๆอย่างนี้เองรึ


ได้คำตอบจากไกด์นี่แหละชัดที่สุดว่าชีวิตพอเพียงของเขาเกิดจากฐานคิด เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องปัจจัย ๔ ปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างลึกซึ้งกว่าเรามากมาย

พอรถพาวิ่งผ่านตลาดริมทางอีกแห่งหนึ่ง สองข้างทางเปลี่ยนไปอีกแล้ว  ห้องแถวที่เห็นดูเหมือนโกดังรถมากกว่าบ้าน แล้วไม่เห็นผู้คนสัญจรไปมาเหมือนตลาดที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เอะใจ จนเมื่อรถวิ่งเลยผ่านและเห็นต้นไม้ที่ฉันรู้สึกชอบมันจึงสะดุดใจ หรือว่านี่เข้าเขตทะเลทรายแล้ว  แต่ก็ไม่ได้ยินใครเล่าให้ฟัง

 

ที่เห็นลิบๆนั่นเป็นตึกมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางนาข้าวระหว่างทางที่วิ่งผ่าน รู้จากป้ายชื่อที่ติดอยู่ริมรั้วค่ะ

ตั้งแต่ออกจากเมืองอัครากันมา ในรถมีการอภิปรายเรื่องการเมืองกันหลายเรื่อง ไม่ใคร่ได้ฟังเพราะมัวแต่ถ่ายภาพ เก็บมุมมองของธรรมชาติสองข้างทาง  คนที่อภิปรายยาวนานที่สุดก็คือพี่โจ ไม่วางไมค์เลย เก่งจริงๆ

ฉันใช้เวลาระหว่างนี้คุยกับไกด์  ทำให้ได้คำตอบเกี่ยวกับวิธีคิดในการดำรงชีวิตของคนอินเดียมาว่า แค่มีกิน มีที่นอน มีเสื้อผ้าใส่ พวกเขาก็พอใจกับชีวิตและมีความสุขแล้ว

บ้านเมืองของเขาไม่มีอาชญากรรม มาเฟียนะมี  มาเฟียยุ่งกับมาเฟียกันเองไม่มาก่อกวนชาวบ้านหรอก ชีวิตประจำวันไม่โดนเจ้าหน้าที่รัฐกวนใจหรือรังแก

การเมืองมีคอรัปชั่นเหมือนกันเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คอรัปชั่นมักเกิดในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อย่างเช่นถนนหนทางที่ผ่านตามาแล้ว

รายได้ต่อวันของคนอินเดียต่างกันในแต่ละรัฐ บางรัฐก็อยู่ที่ ๑๐๐ รู บางรัฐก็ ๑๒๐ แล้วแต่ข้อกำหนดโดยรัฐบาลท้องถิ่น มีเงินเดือนแค่ ๔-๕ พันบาทพวกเขาก็อยู่กันสบายๆแล้ว

มีข้าวกิน มีบ้านนอน มีที่อยู่  ฟังแล้วน่าอิจฉาไหม รายได้แค่นี้อยู่ได้สบายและมีความสุขได้นี่อ่ะ

ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามคันนาดูคล้ายๆต้นมะขามป้อม ไม่รู้ใช่หรือเปล่า

ขวามือดอกสีชมพูเต็มต้นยั่วให้อยากรู้จัก ใบเหมือนใบมะขาม

ได้คุยกันเรื่องสาธารณสุขด้วย เขาเล่าว่ารัฐบาลเขาอนุญาตให้เอ็นจีโอเข้ามาช่วยได้แค่เรื่องการสาธารณสุข และเป็นเอ็นจีโอที่ได้ทุนจากคนอินเดียสนับสนุนเท่านั้น ไม่ให้เอ็นจีโอต่างชาติเข้ามาทำอะไรตามใจได้

เรื่องของการเจ็บป่วย คนไม่มีเงินไปรักษาโรงพยาบาลที่รัฐจัดให้ คนมีเงินจะเลือกไปโรงพยาบาลแพงๆ

มีบัตรแสดงสิทธิด้วยนะ ฟังแล้วมีระบบเหมือนบัตรทองบ้านเรา แต่เขาทำมาก่อนเรานานมากแล้ว มีระบบส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลที่เก่งกว่าด้วยถ้าหากไปโรงพยาบาลใกล้ๆบ้าน แล้วรักษาไม่ได้

เขาว่ารัฐบาลเขาดูแลให้หมด แต่ก็มีข้อจำกัดตรงโรคแพงๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง โรคที่ต้องผ่าตัด ที่ต้องหาเงินมาจ่ายเอง ถ้าไม่มีเงินก็รักษาลำบาก  ตรงนี้ของเขายังเหมือนตอนที่บ้านเราไม่มีโครงการบัตรทองอยู่เลย เขาว่าเพราะจ่ายแพงนี่แหละ เขาจึงต้องส่งเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้ป่วย

คิดต่างกับคนบ้านเราชัดนะเรื่องนี้ คนบ้านเรารอให้ป่วยก่อนแล้วจึงลงมือดูแลสุขภาพ เห็นการศึกษาที่สร้างคนของเขาอีกมุมอีกแล้วซิ

ได้คำตอบจากไกด์นี่แหละชัดที่สุดว่าชีวิตพอเพียงของเขาเกิดจากฐานคิดเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องปัจจัย ๔ ปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างลึกซึ้งกว่าเรามากมาย

ฟังแล้วก็เกิดคำถามว่าทำไมรัฐบ้านเราจึงเลิกสนใจเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ไม่วัด ไม่ติดตามดูแลกันในเรื่องเหล่านี้ก็ไม่รู้

ตอนที่ลุงเอกให้ออกไปเล่าว่าคุยอะไรกับไกด์ ลองถามพี่โจเพราะอยากรู้  พี่โจก็ตอบไม่ได้ ใครจะช่วยมาตอบให้รู้ได้บ้างมั๊ย ทำไมรัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับจปฐ.เหมือนในอดีตแล้ว

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 410797เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีค่ะได้เห็นว่าอินเดียเป็นอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท