หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๖๕) : อินเดีย - ระเบิดเวลาอยู่ที่นี่เอง


เรื่องเล่าช่วงหลังนี้เป็นนิทานสอนใจฉันว่า “อคติ” เปลี่ยนความรู้สึกปลอดภัยให้กลายเป็น “ไม่ปลอดภัย” ได้ง่ายจริงๆ สำคัญซะจริง เจ้า “อคติ” นี่ สำหรับภาวะผู้นำ

นอกจากเรื่องเขตแดนแล้ว ทั้ง ๒ ประเทศยังมีความขัดแย้งกันเรื่องน้ำด้วย สืบเนื่องจากอินเดียสร้างเขื่อนเก็บกั้นน้ำในแคว้นแคชเมียร์และปัญจาบเพื่อ แก้ปัญหาความแห้งแล้งให้กับหลายพื้นที่ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำสินธุ  แม่น้ำนี้มีต้นน้ำอยู่ในแคว้นแคชเมียร์ และเป็นสายเลือดเดียวของปากีสถาน การสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำในแม่น้ำสินธุซึ่งแห้งแล้งมากอยู่แล้วยิ่งมีน้ำลดลงทันที

ความขัดแย้งเรื่องน้ำนี่แหละที่ทำให้อเมริกายื่นมืออย่างชิวๆเข้ามาช่วยหาทางออกเพื่อไม่ให้ประเทศที่เป็นมิตรกับตัวทะเลาะกันจนสู้รบกัน ใช้เวลาถึง ๙ ปีเชียวนะที่อมเริกาใช้การบริหารวิชาวิศวกรรมกับลุ่มน้ำทั้งหมดจนสามารถทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าได้รับการปันน้ำอย่างเป็นธรรม

ตอนนี้ทั้ง ๒ ฝ่ายมุ่งสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ คลองและฝายในส่วนของลุ่มน้ำที่เป็นของตนและยังไม่มีฝ่ายใดละเมิดข้อตกลงนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามเพื่อชิงน้ำกันเอง

แต่ก็มีข้อพิพาทของการแย่งน้ำเกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวันภายในประเทศอยู่ดี

ในปากีสถานเกิดขึ้นทุกระดับ ระหว่างรัฐ จังหวัด เมือง หมู่บ้าน กลุ่มชาวไร่ชาวนา รวมระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง และข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านบ่อยครั้งจบลงด้วยการฆาตกรรม

เดี๋ยวนี้ประชากรปากีสถานหนาแน่นขึ้นมาก ทุกตารางเมตรมีคนอยู่มากกว่า ๒๐๐ คน ความแห้งแล้งก็สูง อย่างนี้แหละทำให้ปากีสถานห้ามตัวเองไม่ให้วิตกว่าอินเดียจะกักน้ำไว้เกินกว่าปริมาณที่ตกลงไม่ได้ เลยคอยจ้องจับตาดูอินเดีย

ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์

มีคนทำนายไว้ว่า ในอนาคตยังมีโอกาสเกิดสงครามแย่งน้ำในปากีสถานได้มากอยู่ ก็ภายใต้การมีน้ำเพียงจำกัดมากๆนั้น การชลประทานในปากีสถานกลับด้อยประสิทธิภาพ บางพื้นที่น้ำสูญหายไปถึง ๗๐% กว่าจะไปถึงต้นพืช ระบบการส่งน้ำไม่ค่อยยุติธรรมต่อคนกลุ่มต่างๆ คูคลองพัง รั่วไหล เต็มไปด้วยตะกอนและอุดตันด้วยวัชพืช  ระบบการระบายน้ำขาดประสิทธิภาพทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่นับแสนไร่  ดินก็เค็ม มีพื้นที่การเกษตรสูญเสียไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๕% ซึ่งต้องการเงินจำนวนมากมาฟื้นฟูที่ดินแต่ก็ไม่มี  เห็นปัญหาของปากีสถานแล้วหนาวแทนผู้นำเขา

ในอินเดียก็มีข้อพิพาทเรื่องน้ำไม่ต่างกัน เมื่ออินเดียตกลงแบ่งน้ำกับปากีสถานได้ อินเดียก็เริ่มสร้างคลองส่งน้ำเข้าไปในทะเลทรายธาร์ซึ่งอยู่ติดกับปากีสถาน ทะเลทรายนี้แห้งแล้งกว่าปาีกีสถานซะอีก  คลองส่งน้ำชักนำให้คนอินเดียอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก จนทะเลทรายนี้มีคนหนาแน่นที่สุดในโลก

ระบบคูคลองส่งน้ำกว่าจะเสร็จอินเดียก็ใช้เวลากว่า ๔๐ ปี ก่อนจะเสร็จปัญหาก็ปรากฏตัว มีทั้งด้านเทคนิคเช่น คลองถูกทรายทับถม และด้านสังคม เช่น เกิดการเจาะคูคลองเพื่อขโมยน้ำ การออกโฉนดซ้ำซ้อนโดยพนักงานของรัฐ  ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การสูญน้ำจำนวนมากและเป็นต้นเหตุก่อเกิดของข้อพิพาทต่อเนื่อง  ถือว่าความพยายามจะเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นพื้นที่สีเขียวของอินเดียล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็ว่าได้เลยมั๊ง

ฟังแล้วชวนให้ใช้เป็นอุทาหรณ์ แล้วหันกลับมามองปัญหาน้ำในบ้านเราในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นได้เนอะ

ฟังแล้วก็ได้รู้ว่าไอ้ที่แย่งกันเป็นเจ้าของแคว้นแคชเมียร์กันนี่ก็เพราะแผ่นดินตรงนี้มีลักษณะที่เจ๋งทางภูมิรัฐศาสตร์นี่เอง มีทั้งต้นน้ำที่สำคัญ  เป็นทั้งเขตยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะเป็นเส้นทางเดียวที่สามารถใช้เดินทางจาก จีนและธิเบตผ่านปากีสถานเข้ามาอินเดียได้  เป็นจุดที่จีน อัฟกานิสถานและปากีสถานสามารถควบคุมเส้นทางไปสู่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงทะเลสาปคาริบเบียนซึ่งเป็นแหล่งสำรองน้ำมันของโลกได้  แถมยังเป็นแดนสวรรค์ที่นักท่องเที่ยวอยากไปเยือน มีความอุดมสมบูรณ์และงดงามที่สร้างความร่ำรวยจากรายได้การท่องเที่ยวให้กับเจ้าแคว้นมาอย่างยาวนาน

ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์

ผสมผสานเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ไม่แปลกใจแล้วหละเมื่อฟังเขาบอกว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นดำเนินอย่างยืดเยื้อยาวนานมากว่า ๕๐ ปีแล้ว  และทำไมจนบัดนี้จึงยังต้องเจรจากันอยู่ต่อไป

มาได้เห็นทหารที่เตรียมพร้อมสรรพเดินกันเกลื่อนดูแลสถานที่สำคัญตลอดรายทางที่ผ่านหลายเมืองมา พร้อมเรื่องเล่าเพิ่มเติมเรื่องการก่อการร้ายครั้งล่าสุดที่เมืองมุมไบ ก็เข้าใจแล้วว่าทำไมท่านทูตจึงแนะนำว่าพวกเรายังไม่ควรไปเยือนแคชเมียร์ในทริปนี้

ก็เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เมืองมุมไบในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ขึ้น ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็เตรียมความพร้อมทางการทหารของตัวเองไปด้วยในเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ทั้งๆที่การเจรจากันก็ยังดำเนินไป การร่วมมือกันในการจัดการปัญหาก็มีขึ้นแม้จะเห็นไม่ตรงกัน

แล้วกำลังทางทหารของทั้ง ๒ ประเทศนะใช่ย่อยซะเมื่อไร ต่างคนต่างสะสมอาวุธนิวเคลียร์ไว้ซะอีก รบกันเมื่อไรยุ่งไปทั้งโลกเลยเชียว

เรื่องเท่าที่รู้ว่ายังเห็นไม่ตรงกันคือ เงื่อนไขของการมอบอำนาจจัดการ  อคติที่อินเดียมีแฝงอยู่ว่าปากีสถานอยู่เบื้องหลังของการก่อการร้าย ทำให้อินเดียเอ่ยขอให้ปากีสถานช่วยจัดการจับตัวผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร้ายมาให้ ปากีสถานร่วมมือจับมาให้บ้างแล้วจำนวนหนึ่ง แต่อินเดียก็ไม่ถูกใจที่ปากีสถานปฏิเสธการจับคนสำคัญที่อินเดียต้องการตัวมาให้

ที่เคยคุยกันว่าให้หันหน้ามาคุยกันนะ ก็เลยเริ่มกลายเป็นขอหันหลังให้ซะดีกว่าละมั๊งก็เพราะเรื่องนี้แหละ

ฟังเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นอะไรที่คุ้นๆใกล้ตัว

เรื่องเล่าช่วงหลังนี้เป็นนิทานสอนใจฉันว่า “อคติ” เปลี่ยนความรู้สึกปลอดภัยให้กลายเป็น “ไม่ปลอดภัย” ได้ง่ายจริงๆ

สำคัญซะจริง เจ้า “อคติ” นี่ สำหรับภาวะผู้นำ

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 413614เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาอ่านแล้วได้มุมคิดดีๆ ค่ะพี่หมอ ขอบคุณค่ะ

จากการทำงานสอนให้เราปฏิบัติกับทุกผู้นาม โดยมิแบ่งแยกกีดกัน non discrimination จะเกี่ยวกับ อคติ ด้วยหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจนะคะ แต่ข้อความนี้ ชัดเจนจริงๆ เจ้าค่ะ

 “อคติ” เปลี่ยนความรู้สึกปลอดภัยให้กลายเป็น “ไม่ปลอดภัย” ได้ง่ายจริงๆ

 

ตามอ่านด้วยความสนใจยิ่งครับ

เป็นรายงานที่มีค่าครับ พิมพ์เป็นเล่มเมื่อใด ขอจองด้วยคนครับ

เรื่อง"อคติ" ในใจคนนั้น เป็นต้นเหตุของทุกความเป็นไปในสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาลครับและก็เป็นอคติที่สร้างประวัติศาสตร์โลก แต่ก็สร้างสิ่งที่เรียกว่า"การคิดค้น" เพื่อที่จะแก้ไขอคตินั้น ส่วนการแก้ไขแล้วจะนำไปสู่ความสมดุลย์ ความสุข การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ ก็อยู่ที่ผู้นำจริงๆ ครับ

ดังนั้นการแก้ไขใดๆ ใรโลก หากทำด้วยใจที่ไม่อคติ ก็ย่อมดีกว่าแน่นอนครับเพราะจะเห็นข้อมูลทุกด้าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท