หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๗๖) : อินเดีย - เห็นแล้วขอซูฮกให้


เข้าใจแล้วละว่าสันติสุขของแผ่นดินในยุคของพระเจ้าอัคบาร์เกิดขึ้นเพราะน้ำมิตรของผู้นำที่มีต่อกันจนเกิดความเข้าใจกันนี่เอง

เช้านี้อากาศแห้ง มองออกไปนอกหน้าต่างห้องพักก็เห็นตึกรามในเมืองหนาแน่นไปหมด บริเวณหน้าโรงแรมยังมีที่ว่างดูโปร่งตา  เติมท้องกันอิ่มแล้วก็รวมพลขึ้นรถไปชมวังเก่าบนเขากัน ตามหาพี่อวบจัดการเรื่องยาและดูอาการแล้ว เมื่อพี่อวบบอกว่าไปด้วยไหว พวกเราก็พากันออกเดินทาง

บรรยากาศของตัวเมืองตอนเช้า มีอะไรหลากหลายให้ได้มองดูและเรียนรู้ เส้นทางที่รถพาวิ่งผ่านเป็นเส้นเดียวกับเมื่อวาน รถวิ่งผ่านวังสายน้ำเลยขึ้นไปบนเขา ทิวทัศน์ที่เห็นมีกำแพงเป็นแนวเลื้อยขึ้นเขา เป็นกำแพงแขกที่มีหน้าตาไปคล้ายกำแพงเมืองจีนอย่างไรอย่างนั้น  เหลียวมองกลับลงมาที่พื้นล่างก็เห็นตึกรามในเมืองหนาแน่นสมเป็นที่อยู่ของคน ๒ ล้านคน

แถวบนทิวทัศน์ของเมืองที่มองลงมาจากหน้าต่างโรงแรม ขวาสุด-อาคารโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในเมืองนี้

วังนี้ในอดีตเขาว่าผู้ชายขึ้นไปไม่ได้  ขึ้นได้แต่ผู้ปกครองรัฐ ครอบครัวและผู้หญิง อยู่บนเขาสูงชันประเภทต้องแหงนคอมองทะลุฟ้านั่นเลยจึงเห็นยอดหลังคาวังและ ยอดเขา

ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง ๑๑ กม. มีทะเลสาบอยู่ใกล้แห่งหนึ่ง  สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ ใช้เวลาสร้างผ่านยุคของ ๒ พระราชา ปีที่สร้างบ้านเรามีศึกยุทธหัตถีพอดี อายุวัง ณ วันนี้ก็เกือบ ๕๐๐ ปีแล้ว

กำแพงเมืองที่เห็นเหมือนกระดูกงูเลื้อยยาว ๑๓ กม. สูงเท่ากำแพงเมืองจีนหรือเปล่าไม่รู้  รู้แต่ว่าสร้างในช่วงเดียวกับการสร้างกำแพงเมืองจีนระยะที่ ๔ และแล้วเสร็จก่อนกำแพงเมืองจีนจะแล้วเสร็จทั้งหมด เมืองจีนมีราชวงศ์หมิงปกครองอยู่

ในยุคซึ่งที่นี่ปราศจากการสงคราม บ้านเราก็สงบจากสงครามด้วยเช่นกัน

ทิวทัศน์และสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนที่ตลาดจูรี เมืองชัยปุระ

เพิ่งรู้ว่าพระญาติผู้ใหญ่ของพระราชาผู้สร้างวังนี้ปกครองแผ่นดินในยุคเดียวกับพระเจ้าอัคบาร์มหาราชและเป็นเืพื่อนสนิทกัน

มิน่าละพระเจ้าอัคบาร์จึงทรงเข้าใจความเป็น ฮินดูและพยายามลดความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมด้วยการผสมผสานขึ้นเป็น ศาสนาใหม่  มิน่าละศิลปะของเมืองชัยปุระผสมผสานระหว่างฮินดูและอิสลาม

เข้าใจแล้วละว่าสันติสุขของแผ่นดินในยุคของพระเจ้าอัคบาร์เกิดขึ้นเพราะน้ำมิตรของผู้นำที่มีต่อกันจนเกิดความเข้าใจกันนี่เอง

ยามเช้า…การค้าริมถนนของเมือง ซ้ายที่ ๒-ตลาดขายส่งนมจากเต้า กลาง-ร้านขายสมุนไพร ร้านเหล่านี้อยู่ชั้นล่างของตัวตึกข้างบน

ขึ้นสูงไปจนใกล้ยอดเขา เหลือบตามองลงมาที่พื้นต่ำจะเห็นแอ่งน้ำขังคล้ายๆบึง ฉันเดาว่าแอ่งนี้ทำหน้าที่แก้มลิงรับน้ำที่ไหลจากที่สูงไว้ และน้ำเหล่านี้แหละที่ถูกนำไปใช้ต่อทำระบบชลประทานในพื้นที่

มองไปไกลก็เห็นช้างตัวหนึ่งเล่นน้ำอยู่ในบึงนั้น น้ำที่เห็นไม่ลึกมาก ระดับความลึกแค่ล้นท้องช้างขึ้นมาข้างตัวหน่อยเท่านั้นเอง

ช้างลงไปอาบน้ำเล่นได้อย่างนี้ สงสัยจริงว่าทั้งคนทั้งช้างใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันหรือเปล่า

ภาพยามเช้า….๒ ภาพซ้าย-ที่ทำงานตำรวจจราจร กลาง-โรงหนัง ๒ ภาพขวา บรรยากาศอีกมุมหนึ่งของตลาด

ซ้ายและกลาง-บรรยากาศตรงตีนเขา ขวา-เจดีย์ในถิ่นกลางเมือง หน้าตาคล้ายๆเจดีย์บ้านเรา

ตรงยอดเขาที่รถปล่อยให้เราลงรอกันนั้น มีคนกลุ่มหนึ่งยืนกันอยู่แล้วจำนวนไม่น้อย บ้างยืนอยู่บนพื้นหิน บ้างนั่งอยู่บนคอช้าง

พวกเราเพิ่งรู้ว่าจะขึ้นไปวัง ต้องให้ช้างพาขึ้นไปก็ตอนนี้เอง

ลืมบอกไปว่าวังนี้ชื่อว่า “พระราชวังแอมเปอร์” สร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษของเจ้าชายจากัต ซิงห์ เขยประเทศไทยชาวอินเดีย เจ้าของมรดก ๘ พันล้านที่เคยเล่าให้ฟัง

ทิวทัศน์วังบนเขาถ่ายเมื่อเวลา ๘.๓๐ น. วันจันทร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓

วังแห่งนี้มีรูปแบบเป็นป้อม น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ ๙ บล็อกที่เมืองชัยปุระถูกวางผังเมืองไว้

พระราชาผู้สร้างเมืองทรงรอบรู้เรื่องดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จึงทรงนำวิชาเหล่านี้มาผสมผสานกันแล้ววางผังเมือง

ในผังจัดสรรพื้นที่ไว้ ๙ บล็อก ๒ บล็อกสำหรับราชการใช้เป็นพระราชวังและอาคารรัฐ  อีก ๗ บล็อกกระจายแบ่งให้ประชาชนใช้  มีกำแพงเมืองเป็นป้อมปราการซึ่งมีประตูทั้งหมด ๗ ประตู

อ่างเก็บน้ำของวังมุสลิมอยู่ในวังแต่วังฮินดูอยู่ล้อมรอบตัววัง อะไรทำให้ ๒ พระราชาคิดต่างกัน…น่าสนใจ

ซูฮกให้กับวิธีคิดของผู้นำที่ให้ใจแบ่งปันให้ผู้คนสามารถมีที่อยู่ที่ทำกินได้  กลับมาดูผู้นำบ้านเราแล้ว ไม่รู้ใครโบราณกว่าใครในเรื่องนี้

อิทธิพลของวิธีคิดเรื่องการยอมรับความต่างในการนับถือศาสนาของพระราชา ๒ พระองค์ที่ส่งทอดต่อไปจนถึงทายาทรุ่นที่ ๒ พระบิดาของพระเจ้าชาห์จาฮันและทายาทรุ่นที่ ๓ คือพระเจ้าชาห์จาฮันด้วย

แผ่นดินในยุคของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์ จึงมีสันติสุขตลอดมา ต่างจากแผ่นดินของทายาทรุ่นที่ ๔ คือ พระเจ้าออรังเซป มุสลิมผู้เคร่งซึ่งหวนหยิบวิธีคิดเรื่อง “ต้องเหมือนจนเป็นหนึ่งเดียว”  เข้ามาใช้ปกครองแผ่นดิน สงครามกลางเมืองจึงเกิดขึ้น  มุสลิมนิกายสุหนี่รุ่งเรืองขึ้น และสืบทอดทายาทมาจนถึงวันนี้

ขอบันทึกก่อนจบไว้ก่อนว่า ภาษาอูรดูมาจากการผสมกันของภาษาเปอร์เซียกับฮินดู ภาษานี้เกิดขึ้นในยุคเดียวกับเมืองชัยปุระนี้แหละ

๙ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 417441เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2010 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

 

         คิดใดสมมุ่งหวังดังปรารถนา

         ขอให้การเดินทางสร้างตำรา

         มีความเจิญก้าวหน้าสถาพร

                   ปลอดภัยจากโรคาพยาธิ

                   มีอำนาจสุขโขสโมสร

                   มีชื่อเสียงก้องไกลไทยนคร

                   คอยปันป้อนความรู้สู่สังคม

               จากใจ.....ธนา    นนทพุทธ

  • เหนื่อยมั้ยคะเนี่ย พี่หมอเจ๊
  • หากได้อ่านทุกตอนไม่ต้องไปอินเดียเหมือนที่อยากไปแล้วละค่ะ
  • สวัสดีปีใหม่นะคะ มีความสุขมากๆค่ะ

  • สวัสดีค่ะ คุณหมอ
  • แวะมาเยี่ยมชมเมืองแห่งอารยธรรม
  • สุขสันต์วันปีใหม่ที่จะมาถึงนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท