หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๗๘) : อินเดีย - ที่แท้ไม่ใช่เรื่องใหม่


เรื่องเล่านี้เป็นประจักษ์พยานว่า สุนทรียสนทนาในอินเดียมีมาแต่โบราณกาลมาแล้วโดยมหาราชองค์หนึ่งของโลกได้ใช้ ประโยชน์เป็นแบบอย่างผ่านประวัติของพระองค์ มิน่าคนอินเดียจึงเชี่ยวชาญการสร้างสันติในตนได้ดี

ช้างพาพวกเราเดินขึ้นยอดเขา ทะลุเข้าไปในวังตรงลานกว้างแห่งหนึ่ง ความกว้างของบริเวณแห่งนี้พอๆกับสนามฟุตบอลสนามหนึ่งได้เลยมั๊ง มองเห็นช้างเป็นแถวยาวเหยียดเดินเรียงเข้าไปแบบแถวตอนเรียงสอง ไปยังชานปูนข้างกำแพงแล้วเทียบตัวให้คนหย่อนตัวลงจากหลัง

ทีแรกที่เห็นพื้นนึกว่าทราย ที่ไหนได้เป็นพื้นปูหินที่มีฝุ่นเปื้อนเกาะหนาต่างหากเล่า พากันลงหลังช้างกันแล้วก็ทะยอยไต่บันไดขึ้นไปที่อีกส่วนหนึ่งของวัง

ขึ้นถึงหน้าวังแล้ว ช้างก็พาเลี้ยว เข้าประตูเข้าไปเห็นลานกว้างอย่างในภาพ

ที่ใหม่ที่พวกเราไต่มาถึง มีอาคารตั้งอยู่คล้ายๆศาลาท้องพระโรง มีลานกว้างข้างๆ และอาคารที่มีภาพสวยๆเขียนไว้ตรงผนัง ไม่มีต้นไม้สักต้น แถมแดดแรงด้วยนะ ไกด์ขอรอให้ครบทีมก่อนจึงจะชวนเดินต่อ

ผู้สูงวัยในคณะจึงพากันนั่งพักหลบแดดรอไปพลางคุยกันไปพลาง ใครที่ยังรู้สึกหนุ่มสาวกว่าก็ชวนกันเก็บภาพของมุมต่างๆเป็นที่ระลึก

ครบทีมไกด์ขอแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม แล้วพาพวกเราเดินชมสถาปัตยกรรมของวังเก่าแห่งนี้ไปเรื่อยๆ

ส่วนแรกที่เราเข้าไปเดินชมเป็นส่วนของวังที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน เราเดินผ่านประตูเข้าไปข้างในก็เจอลานกว้างนอกอาคารที่มีสวนภายในอยู่ ต้นไม้ที่จัดสวนนั้นเข้าไปดูใกล้ๆก็พบว่าต้นคล้ายๆดอกมะลิ มีไม้ดอกเมืองร้อนปลูกแซมเอาไว้สร้างสีสันภายในสวนนั้นด้วย

ฟังว่าส่วนของที่ประทับแบ่งใช้ตามฤดูกาล ฟากหนึ่งใช้ในฤดูร้อน อีกฟากหนึ่งใช้ในฤดูหนาว

ภายนอกของวังบรรยากาศเป็นอย่างนี้ สวยแต่เจ็บเชียวนะ

วันที่มาเยือนนี้เจอแต่แดด ไม่มีลมทั้งที่อยู่สูงเชียว ไม่รู้เวลาฝนตกฝนจะสาดจนเปียกขนาดไหนหนอ โล่งซะขนาดนี้หลบฝนกันยังไง

ส่วนที่ใช้ในฤดูหนาวปลูกสร้างไว้ต่ำกว่าและมีกำแพงป้อมล้อมรอบ กำแพงปูด้วยกระจกเล็กๆที่เรียงแน่นสวยงามอยู่เต็มไปหมดทุกส่วนของตัววัง ส่วนนี้เรียกกันว่า “วังกระจก” ที่ไม่เหมือนวังกระจกในอังกฤษค่ะ วังนี้มีลักษณะที่แปลก คือ ไม่มีบานประตูในวัง ประตูเปิดโล่งตลอด ไม่มีอะไรขวางทางลม

ส่วนที่ใช้ในฤดูร้อน อยู่เหนือขึ้นไปกว่าส่วนที่ใช้ในฤดูหนาว ไต่ขึ้นไปด้วยบันได มองออกไปสุดสายตาก็จะเห็นแอ่งน้ำที่เคยเล่าแล้ว

ประตูเข้าวังฝ่ายใน ทะลุมาแล้วจะเจอลานภายนอกของวังกระจก มีสีสันสมเป็นอินเดีย ศิลปะลายเส้นประณีตและอ่อนโยน

มองออกมานอก “วังกระจก” จะเห็นสวนสวยๆอยู่ตรงหน้าให้สบายตาสบายใจ มองเลยไกลออกไปจะเห็นสีสันของอาคารอีกฟาก

ใช้คำว่าไต่ก็เพราะความชันและสูงอย่างที่เห็นนี่แหละ คนเข่าไม่ดีขึ้นไปยากหน่อย

ส่วนของวังที่แบ่งไว้ใช้สอยในฤดูร้อน ตรงนี้ขึ้นไปแล้วแดดร้อนเปรี้ยง แต่เข้าไปในอาคารแล้วสบาย

เห็นส่วนของวังกระจกแล้วเห็นภาพ สมัยก่อนที่เจ้านายฝ่ายในอยู่คงเต็มไปด้วยสีสัน ไม่รู้คนสมัยนั้นเขาใส่เครื่องประดับอะไร อย่างไรกัน เท่าที่ผ่านตามายังไม่เคยเห็นกับตาว่าเครื่องประดับโบราณของอินเดียเทียบ ฝีมือกันแล้วจะประณีตเท่าของโบราณบ้านเราหรือเปล่า

ตรงส่วนของวังที่ใช้ฤดูร้อน มีท่อพ่นละอองฝอยไอน้ำเพื่อจัดการความร้อนในอากาศด้วยนะ เขาว่าเจ้าท่อนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ติดอยู่กับวังมาแต่สร้างวังแล้ว ทันสมัยมั๊ยละ มีสปริงเกอร์มาตั้งแต่สร้างวังอย่างนี้อ่ะ

เดินไปเงยหน้ามองสูงขึ้นไปเหนือหัวไป สะดุดตากับภาพวาดที่แสดงวิถีชีวิตเอาไว้พอให้เดาได้บนฝาปูน วิถีของคนและสัตว์ที่เกี่ยวข้องกัน สัตว์ที่เป็นภาพนั้นน่าจะมีชุกชุมในยุคนั้น

เพิ่งมารู้ที่นี่ว่าพระราชาที่นี่เคยส่งลูกชายไปร่วมรบกับราชวงศ์โมกุล และส่งลูกสาวไปเป็นสนม

ศิลปะที่ผสมกลมกลืนกันได้เกิดผ่านการมีสายสัมพันธ์ฉันครอบครัวและผู้ร่วมงานอย่างนี้นี่เอง

ที่นี่อีกนั่นแหละที่ให้คำตอบฉันว่าทำไมพระเจ้าอัคบาร์จึงใจกว้างยอมให้ คนนับถือศาสนาได้เป็นอิสระ ที่วังของพระองค์มีห้องที่มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักศาสนา ๔ ศาสนาอยู่ค่ะ พระองค์ได้เรียนรู้ผ่านการฟังสนทนาธรรมจากนักบวช ๔ ศาสนาที่มามีกิจกรรมร่วมกันในห้องนี้

อืม! พระเจ้าอัคบาร์นี่ทันสมัยเชียวนะที่รู้จักวิธีเรียนผ่านการสานเสวนาด้วย

เรื่องเล่านี้เป็นประจักษ์พยานว่า สุนทรียสนทนาในอินเดียมีมาแต่โบราณกาลมาแล้วโดยมหาราชองค์หนึ่งของโลกได้ใช้ ประโยชน์เป็นแบบอย่างผ่านประวัติของพระองค์ มิน่าคนอินเดียจึงเชี่ยวชาญการสร้างสันติในตนได้ดี

หมายเลขบันทึก: 417456เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2010 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท