หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๘๕) : อินเดีย - ฮีโร่ตัวจริง


ฉันเชื่อว่าอิทธิพลของพ่อนี่แหละที่ทำให้คานธีเข้าใจและได้ความคิดนี้มาไว้ กำกับตัวเองและใช้ช่วยคนอื่น “น้ำตานั้นเป็นเหมือนสิ่งที่คอยชำระล้างความสกปรกของจิตใจให้ออกไป ถ้าคุณสร้างวินัยแบบนี้โดยผ่านทางความรัก มันจะเท่ากับสร้างมนุษยธรรมขึ้นในจิตใจ” ฉันว่าคานธีมีแม่นี่แหละเป็นต้นแบบของการใช้วิธีอดอาหารสะท้อนความคิดที่ไม่เห็นด้วย

หลังจากเก็บภาพภายนอกกันแล้ว พวกเราก็พากันเข้าไปเยือนพิพิธภัณฑ์ ภายในของพิพิธภัณฑ์แบ่งสัดส่วนไว้เป็นห้องต่างๆ มีทั้งห้องแสดงประวัติของคานธี ห้องหุ่นจำลองเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และห้องแสดงการใช้ชีวิตของคานธี

รายละเอียดของสิ่งที่ตั้งแสดงเป็นเรื่องเล่าขานปากต่อปากเกี่ยวกับคานธีที่คุ้นหูกันนั่นเอง

ภาพถ่ายของคานธีในอิริยาบถต่างๆได้แสดงไว้ในบ้านหลังนี้พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ

เรื่องจำลองชีวิตที่แสดงไว้ให้ภาพจำลองที่สังคมสมัยนั้นปฏิบัติต่อคานธี รวมไปถึงวิถีชีวิตประจำวันของคานธีด้วย

เห็นความสมถะของคานธีแล้วมาประกอบกับการที่คานธีมีพ่อเป็นถึงรัฐมนตรีทำให้ชีวิตคานธีมีมุมน่าสนใจในความรู้สึกของฉัน  คานธีมีประสบการณ์อะไรจึงจูงใจให้เลือกใช้ชีวิตติดดินนะ

ภาพจำลองหุ่นขี้ผึ้งที่บรรจุไว้ในห้องกระจกเล็กๆเรียงรายอยู่ในห้องหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวให้เห็นภาพอดีต

ไปฟังเรื่องสมัยเด็กของคานธีก็เริ่มเห็นภาพความเป็นฮีโร่ของพ่อและแม่ของเขา  คานธีได้รับการหล่อหลอมจากพ่อแม่ เขาจึงสามารถก้าวมาสู่ความเป็นผู้นำอย่างที่เขาเป็น

คานธีเป็นลูกคนสุดท้องใน ๔ คนของครอบครัว เมื่อเป็นเด็กเขามีร่างกายอ่อนแอ พูดน้อยและค่อนข้างจะขี้อาย ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง กลัวการหยอกล้อ ขี้ขลาด กลัวผี กลัวขโมยและสัตว์เลื้อยคลาน ไม่กล้ามองประตูเวลาค่ำ ไม่ชอบนอนในที่มืดเพราะคิดว่าผีจะมาหลอก กลัวจะมีขโมยมาทำร้ายหรือมีสัตว์มากัดเอา

คานธีเคยขโมยเงินไปซื้อบุหรี่สูบแล้วพ่อจับได้  พ่อของคานธีเป็นคนรักครอบครัว รักความสัตย์ แต่โกรธง่าย มีความเด็ดขาดในตัว ความกลัวพ่อทำให้คานธีตัดสินใจสารภาพผิดกับสิ่งที่ทำ พ่อเขาไม่ได้ลงโทษแต่กอดเขาและชมว่าเขาซื่อตรงและกล้าพูด

ฉันเชื่อว่าตอนนั้นวัยรุ่นอย่างคานธีคงแปลกใจกับพ่อ ความประทับใจที่ก่อเกิดจากคำชมของพ่อช่วยละลายความกลัวให้เขา เมื่อพ่อไม่ซ้ำเติมให้เขากลัวและละอายเขาก็ได้เรียนจากของจริง ได้รู้จักความต้องการที่แท้จริงของตัวเขา จนทำให้กลับมาสร้างตัวเองใหม่เก็บคุณสมบัติแห่งความซื่อตรงและความกล้าไว้กับตัวกลายเป็นคนใหม่

เป็นนักการเมืองทำได้อย่างนี้ จะไม่ให้คารวะพ่อของเขาว่าสมควรเป็นฮีโร่ของลูกยังงั้นหรือ

ห้องนอนที่ใช้จริงถูกจำลองมาแสดงให้เห็นในที่นี้ด้วย

ฉันเชื่อว่าอิทธิพลของพ่อนี่แหละที่ทำให้คานธีเข้าใจและได้ความคิดนี้มาไว้กำกับตัวเองและใช้ช่วยคนอื่น “น้ำตานั้นเป็นเหมือนสิ่งที่คอยชำระล้างความสกปรกของจิตใจให้ออกไป ถ้าคุณสร้างวินัยแบบนี้โดยผ่านทางความรัก มันจะเท่ากับสร้างมนุษยธรรมขึ้นในจิตใจ”

แม่ของคานธีนั้นเป็นสตรีที่เล่ากันมาว่าเคร่งศาสนามาก มักจะปฏิบัติศาสนาด้วยการถือศีลอดเป็นเวลาติดต่อกันนานๆและจะเลือกใช้การถือศีลอดลงโทษตัวเองเมื่อลูกทำผิด เมื่อใดที่ลั่นวาจาว่าจะอดอาหารเพื่อลงโทษก็จะรักษาคำพูดทำให้ดูอยู่เป็นนิจ

ฉันว่าคานธีมีแม่นี่แหละเป็นต้นแบบของการใช้วิธีอดอาหารสะท้อนความคิดที่ไม่เห็นด้วย

อีกส่วนของพิพิธภัณฑ์ก็จะเป็นบอร์ดแสดงภาพและบันทึกเรื่องเล่าในประเด็นต่างๆไว้

ไม่ใคร่มีใครเล่าว่าพ่อและแม่ของคานธีใช้ชีวิตสมถะหรือเปล่า มีแต่เรื่องเล่าว่าที่พิพิธภัณฑ์มีเครื่องปั่นฝ้ายมาตั้งโชว์ไว้นั้นมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้คานธีต้องปรับตัวเองเป็นคนสมถะ

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๖  ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒  เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วอินเดียเพื่อต่อต้านกฎหมายใหม่โดยคานธีและพวกไม่รู้ว่าฝ่ายปกครองอังกฤษออกกฎห้ามการชุมนุม เมื่อคนอินเดียจำนวน ๒,๐๐๐ คนไปชุมนุมกันที่เมืองอำมริสา กองทหารอังกฤษก็ส่งทหาร ๕๐ นายเข้าไปสลายการชุมนุม มีการใช้อาวุธปืนทำให้คนตายและบาดเจ็บและหลังการสังหารหมู่นั้นก็ยังมีกฎหมายออกมาอีก ๑ ฉบับกำหนดให้คนอินเดียมีทางเลือกเพียง ๒ ทาง หนึ่งคือให้ค้อมตัวลงคลานเยี่ยงหนอน สองคือถ้าไม่ทำก็ต้องถูกโบยจนตาย

ก่อนที่จะเกิดการแก้แค้น คานธีได้พาตัวก้าวเข้ามาแล้วพูดว่า  “เราจะไม่ทำต่ออังกฤษ เหมือนเช่นที่นายพลดายเออร์ทำต่อเรา เราต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถวางตัวให้พ้นจากความรู้สึกเกลียดชังเช่นนั้น พวกเขาไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นเพื่อน พวกเขาก็ต้องการการปลดปล่อยมากเท่า ๆ กับที่พวกเราต้องการเหมือนกัน…และเราควรยกย่องความกล้าหาญที่เงียบสงบของการตายด้วยการไม่ฆ่า”

คานธีใช้หลักเคารพการตัดสินใจของตนเองแล้วเดินหน้าไปพร้อมการยอมรับว่าไม่เป็นไรที่ทรรศนะคนอื่นแตกต่างแล้วค้าน…หรือเปล่า

๓ ปีหลังจากเหตุการณ์ที่อำมริสาเกิดขึ้น คานธีได้เปลี่ยนแปลงตัวเองทำตัวเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง สวมเสื้อผ้าง่าย ๆ แบบเดียวกันทุกวัน อดมื้อ กินมื้อ ละทิ้งความสะดวกสบายเฉกเช่นเดียวกับผู้ยากจนที่สุด

และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง คานธีชักชวนชาวอินเดียให้สวมเครื่องแต่งกายในแบบเรียบง่ายของอินเดียและให้ทอผ้าขึ้นใช้เอง โดยคานธีใช้เวลาวันละ ๑ ชั่วโมงทุกวันปั่นด้ายเองเป็นตัวอย่างของการทำตัวง่ายๆนี้

เสื้อผ้าที่ผลิตจากตะวันตกถูกนำมาเผารวมกันเป็นกองใหญ่ เขากล่าวว่า “เสื้อผ้าของต่างชาติบ่งบอกว่าเราเป็นทาสทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เราไม่อาจปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาส การเผาเสื้อผ้าของต่างชาติจึงเป็นการฟอกจิตใจของพวกเราเอง”

การเปลี่ยนแปลงตัวเองของคานธีได้เปลี่ยนให้เกิดความสามัคคีของชาวฮินดู มุสลิม กรรมกรและพ่อค้า และทำให้คานธีชนะใจประชาชนอินเดีย และเป็นผู้นำที่ไม่มีใครเคลือบแคลงเลยเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี

เรื่องของคานธีเหล่านี้สอนอะไรบ้าง ใครที่ได้อ่านลองถอดบทเรียนดูละกัน

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 417639เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2011 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ นำส.ค.ส.พระราชทานของพ่อหลวงมาฝากค่ะ
  •                          
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท