หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ ดูงานต่างประเทศ (๙๑) : อินเดีย - เมนูนี้ฮิตเสมอ


ฉันเห็นด้วยที่ท่านทูตกล่าวว่าอินเดียมีอะไรที่น่าเรียนรู้อีกมาก ในเรื่องการค้าแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีอะไรน่าสนใจแล้ว

หลังจากเทกระเป๋าชนิดไม่ยอมให้เงินรูปีติดตัวกลับบ้านกันแล้ว พวกเราก็รวมพลกันไปเติมท้องให้อิ่มที่ร้านโลตัส ร้านนี้เป็นร้านอาหารจีนที่มีบรรยากาศสบายๆ รสชาดอาหารพอไหวแม้จะฝีมือไม่เท่ากุ๊กไทย

เมื่อเมนูแรกของอาหารมาเสิร์ฟ เสียงอุทานพอใจก็เซ็งแซ่ขึ้น  หลังจากนั้นในห้องอาหารก็อวลไปด้วยกลิ่นที่คุ้นเคย อิ่มอร่อยในมื้อนี้ มีอาหารเมนูเด็ดที่ถูกเรียกหาไม่หยุดปาก ขอเพิ่มอีกจานอยู่เรื่อย เมนูที่ว่าเป็นอะไร ท่านลองทายดูซิค่ะ

สังเกตว่ามื้อนี้หลายคนมุ่งแต่ชิมรสเมนูเด็ด ผัดกระเพราหมูร้อนๆจานโต  มีเสียงเพรียกหาขอเพิ่มจนท้องอิ่ม

น้ำพริกผักเคียงเมนูแรกเสิร์ฟมาแล้วหายเกลี้ยง ไม่มีเสียงเรียกหาสักเท่าไร

มื้อนี้ปลาฉู่ฉี่ถูกเมินไม่ใคร่แตะกันเลย

อิ่มจากของคาวกันแล้ว ของหวานก็ี่ถูกนำมาเสิร์ฟ อร่อยไม่แพ้กัน มีทั้งไอติม โรตี ขนมหวาน ซาหริ่มทับทิมกรอบ

 

ช๊อปด้วยกันแล้วมากินด้วยกันอย่างมีความสุข ร้านทั้งร้านมีแต่พวกเรา บรรยากาศจึงเหมือนกำลังปาร์ตี้ด้วยกันที่บ้านเลยแหละ

มีโอกาสได้คุยกับคนในร้าน ได้ความว่าวัตถุดิบที่ต้องการมากสำหรับร้านอาหารไทยคือ เครื่องปรุงรส ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส เหล่านี้มีราคาสูงกว่าอย่างอื่น

เรื่องนี้ยืนยันข้อมูลที่ ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ รองกงสุลใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ เมืองเจนไน เคยให้ไว้ว่าร้านอาหารไทยในอินเดียต้องการวัตถุดิบเพื่อการปรุงอาหารจาก ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวญี่ปุ่น เครื่องแกง ผงปรุงรส น้ำปลา ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ

ไม่รู้ว่าวัตถุดิบเหล่านี้อยู่ในรายการสินค้า ๘๒ รายการที่ปลอดภาษีนำเข้าตามเงื่อนไข FTA ไทย-อินเดียที่ทำด้วยกันตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ และ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ หรือเปล่า

 

พนักงานที่นี่คล่องมาก อาหารทุกเมนูเสิร์ฟเร็วเมื่อเทียบกับหลายร้านที่พวกเราเคยไปอุดหนุน แสดงว่าที่นี่มักมีลูกค้ามาอุดหนุนอย่างเนืองแน่นและสม่ำเสมอ

ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ได้บรรยายเรื่องเงื่อนไข FTA ไทย-อินเดียที่เริ่มตั้งแต่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ ให้ฟังมาแล้วที่สถานทูต เรื่องนี้มีเงื่อนไขของเฟสการลดภาษีนำเข้าทีละปี เมื่อครบเวลา ๓ ปีที่ทำสัญญากัน สินค้าภายใต้กรอบที่ทำสัญญากันก็จะปลอดภาษีนำเข้า ปีแรกที่เริ่มนับจาก ๑ กันยายน ๒๕๔๗ ลดภาษี ๕๐% ปีถัดมาลดรวมเป็น ๗๕% ครบ ๓ ปีก็เป็นฟรีแท๊กซ์ และเป็นเรื่องฟรีเฉพาะภาษีศุลกากร

ท่านทูตพลเดชเคยให้ข้อมูลว่า สินค้าที่ไม่อยู่ใน ๘๒ รายการที่ตกลงไว้ ต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราไม่เกิน ๑๒%  ตรงนี้ฉันคิดว่าคงเป็นภาษีศุลกากรอย่างเดียวเท่านั้น  เพราะอินเดียยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรอีกอย่างน้อย ๗ มาตรการที่เขาควบคุมระบบเศรษฐกิจของเขา่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า

มาตรการเหล่านี้มีทั้งเรื่องของการควบคุมปริมาณนำเข้าหลายรูปแบบ การควบคุมราคา การจ่ายภาษีหรือมูลค่าสินค้าล่วงหน้า วงเงินค้ำประกัน สิทธินำเข้าเฉพาะ ข้อห้ามการนำเข้า  กฎระเบียบพิเศษที่กำหนดคุณลักษณะของสินค้า ค่าธรรมเนียม ฯลฯ

ถ้าวัตถุดิบอาหารในรายการข้างบนไม่อยู่ใน ๘๒ รายการ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ต้องแบกไว้น่าจะสูงกว่าที่บ้านเราเยอะเลย ไม่รู้มาตรการยุบยับ ๗ มุมมีผลอะไรที่ทำให้ต้นทุนสูงบ้าง

แต่แค่ภาษีศุลกากรที่ต้องจ่ายรวมถึงโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องราคาอาหารไทย ก็น่าจะสูงพอสมควรสำหรับคนอินเดีย แม้ว่าจะเป็นคนชั้นกลางก็เหอะ

ฉันเห็นด้วยที่ท่านทูตกล่าวว่าอินเดียมีอะไรที่น่าเรียนรู้อีกมาก ในเรื่องการค้าแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีอะไรน่าสนใจแล้ว

มากินอาหารร้านนี้แล้วแปลกใจที่มีหมู เคยได้ยินแต่ว่าคนฮินดูนิยมกินเนื้อไก่ ปลา แกะ แพะ กินวัวน้อย ไม่มีความรู้เลยว่าคนฮินดูกินหมูหรือเปล่า  ถ้าเขากินก็ได้คำตอบละว่า บรรดาหมูที่เคยเห็นเกลื่อนถนนที่เมืองชัยปุระ สุดท้ายหายไปไหน

คนในภาคธุรกิจเคยบอกว่า ผัดไทย แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง เป็นอาหารเมนูฮิตที่คนอินเดียชอบ อย่างนี้ก็ไม่ต่างจากคนชาติอื่นที่ชอบอาหารไทยเนอะ

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 417892เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2011 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท