Tinea pedis: กลากที่เท้าในบุรุษและสตรีที่สวมรองเท้าหุ้มส้น


พบกลากที่เท้าได้ถึงประมาณร้อยละสิบของผู้ที่สวมรองเท้าที่มิดชิด

ประเทศไทยเราอยู่ในเขตร้อนชื้น คือมีทั้งอากาศร้อนและมีความชื้นค่อนข้างสูง จึงเป็นถิ่นที่มีภูมิอากาศและภูมิประเทศ ที่พบการติดเชื้อของผิวหนัง จากเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา  โดยเฉพาะการติดเชื้อราที่ผิวหนังเป็นภาวะที่คนไทยคุ้นเคย คือได้ยินบ่อยๆ เช่น กลาก เกลื้อน เป็นต้น

การได้เคยพบ หรือ เคยเห็นรูป และได้อ่านและทำความเข้าใจในเรื่องราวที่คุ่นเคย ทำให้ยิ่งเข้าใจในเรื่องราวได้ถูกต้อง ในแง่มุมต่างๆ ที่อาจคาดไม่ถึง

บันทึกนี้เป็นเรื่องราวของการติดเชื้อรากลุ่มหนึ่งคือเชื้อกลาก ทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่ผิวหนังกลุ่มหนึงคือ กลากที่ผิวหนัง บันทึกนี้นำเสนอเรื่องกลากที่ง่ามนิ้วเท้า

 

รูปแสดงกลากที่ง่ามนิ้วเท้า จะเห็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า ผิวหนังมีลักษณะเปื่อยยุ่ย

กลากที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Tinea pedis หรือ dermatophytosis of the feet พบภาวะนี้ได้ในผู้ที่มีเท้าอับชื้นอยู่เนืองๆ  ข้อมูลจากตำราโรคผิวหนัง (Fitzpatrick's 7th ed.) พบกลากที่เท้าได้ถึงประมาณร้อยละสิบของผู้ที่สวมรองเท้าที่มิดชิด ดังเช่นในปัจจุบัน ที่บุรุษและสตรีมักสวมทั้งรองเท้าหุ้มส้นมิดชิด หรือ รองเท้ากีฬา

กลากที่เท้ามีลักษณะได้สี่แบบ ในคนที่เป็นกลากที่เท้าอาจจะมีหลายแบบในหนึ่งคน

แบบแรกเป็นแบบที่แสดงในรูปคือกลากชนิดที่เป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า หรือ ที่เรียกว่า Chronic intertriginous type (interdigital type) หรือบางครั้งเรียก "Athlete's foot" หรือแปลว่า "เท้านักกีฬา"  ภาวะนี้มีความใกล้เคียงกับการติดเชื้อราชนิดที่เป็นยีสต์ชนิดหนึ่งคือการติดเชื้อราที่ง่ามเท้าชนิดแคนดิดา (candida albicans หรือ candida sp.)

แบบที่สองเป็นชนิดที่แห้งเป็นสะเก็ด หรือ chronic hyperkeratotic type มักเป็นที่เท้าทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่มีผิวหนังที่หนาเช่นที่ส้นเท้าหรือบริเวณฝ่าเท้า บางครั้งเรียกว่า moccasin type ในกรณีที่เป็นกลากที่เท้าทั้งสองข้างและมีกลากที่มือหนึ่งข้างร่วมด้วย มีชื่อเรียกว่า "two feet-one hand syndrome"

แบบที่สามเป็นชนิดที่เป็นตุ่มพอง หรือที่เรียกว่า vesiculo-bullous type (vesiculo มาจากคำว่า vesicle คือตุ่มพองหรือตุ่มน้ำที่ผิวหนังที่มีขนาดตั้งแต่ห้ามิลลิเมตรหรือเล็กกว่านั้น ส่วนคำว่า bullous มาจากคำว่า bulla คือตุ่มพองหรือตุ่มน้ำที่ผิวหนังที่มีขนาดใหญ่กว่าห้ามิลลิเมตร) กลากชนิดนี้เป็นบริเวณผิวหนังที่เท้าที่บาง เช่นบริเวณด้านข้างส้นเท้า หรือ ผิวหนังด้านข้างเท้า

แบบสุดท้ายเป็นชนิดที่เป็นกลากที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เรียกว่า Acute ulcerative type ทำให้เกิดเป็นตุ่มหนอง หรือ เป็นหนอง มักเป็นที่ฝ่าเท้า

ต้นเหตุหรือเชื้อที่เป็นสาเหตุของกลากชนิดนี้เกิดจาก

  • เชื้อกลากชนิด Trichophyton rubrum เป็นอันดับที่หนึ่ง ที่พบบ่อยคือกลากที่เท้าแบบที่หนึ่งและสอง

  • ส่วนแบบที่สามและสี่เกิดจาก เชื้อกลากชนิด Trichophyton mentagrophytes

การดูลักษณะของผื่นที่ผิวหนังเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการวินิจฉัย ต้องใช้การพิสูจน์เชื้อโดยอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย โดยการขูดบริเวณผิวหนังที่สงสัยจะเป็นเชื้อรา นำไปวางบนสไลด์และหยด KOH แล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ดูสายรา (ทราบผลทันที) หรือนำไปเพาะเชื้อ (รอผลประมาณสองถึงสามสัปดาห์)

การรักษา ทายาด้วยยาทารักษาเชื้อราโดยทายาอย่างน้อยสามหรือสี่สัปดาห์ หรือ รับประทานยารักษาเชื้อรา ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้

 

ผู้สนใจเรื่องเชื้อราที่เล็บสามารถตามไปอ่านได้ที่ เชื้อราที่เล็บ: ภาวะที่คนที่มีมือขยัน เป็นกันบ่อยๆ

หมายเลขบันทึก: 360569เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

น่ากลัวและอันตรายมากนะคะ  บางครั้งเป็นเพียงนิดหน่อยอาจประมาทว่าไม่เป็นไร  แล้วก็อาจลุกลามดังที่เห็นนะคะ

พี่คิม  สวมรองเท้าหุ้มส้มคัดชู  แต่จะเกิดรอยด้านตรงนิ้วก้อยสองข้าง  ใช้กรรไกรตัดเล็บตัดแต่ไม่รู้สึกเจ็บเลยค่ะ  ภายหลังใส่สัปดาห์ละ ๑ ครั้งเมื่อไปถึงโรงเรียนก็เปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะ  รอยด้านก็ลดลง  ส่วนวันอื่น ๆ เปลี่ยนมาใส่รองเท้าโปร่ง

ขอขอบพระคุณค่ะ

 

คุณครูคิมครับ

"...พี่คิม  สวมรองเท้าหุ้มส้มคัดชู  แต่จะเกิดรอยด้านตรงนิ้วก้อยสองข้าง  ใช้กรรไกรตัดเล็บตัดแต่ไม่รู้สึกเจ็บเลยค่ะ  ภายหลังใส่สัปดาห์ละ ๑ ครั้งเมื่อไปถึงโรงเรียนก็เปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะ  รอยด้านก็ลดลง..."

  • ที่เป็นน่าจะเป็นผิวหนังที่หนาขึ้น หรือถ้าหนามากก็เรียกตาปลาครับ

หมอสุข

ขอบคุณ อาจารย์ที่ให้ความรู้ละเอียดขึ้นค่ะ

พี่มีคนไข้ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต มาขอยาwhitfield ointment

คนไข้จะขอยาเป็นระยะๆ (จากประวัติเก่า ) เป็นๆหายๆ

แสดงว่าน่าจะเป็นกลากที่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของโรคนะคะ

ขอบพระคุณอาจารย์หมออัจฉราที่แวะมาอ่านครับ

  • ยาทา whitfield ointment ยังพอใช้ได้ แต่ต้องทาเป็นระยะเวลานาน และได้ผลในกรณีที่เป็นกลากชนิดที่เป็นแค่ตื้นๆ ไม่ได้ผลกรณีเป็นที่เล็บ หรือกลากที่เส้นผม
  • สาเหตุหรือแหล่งเชื้อกลากคือ เชื้อกลากในคน ในสัตว์ และ ในดิน ครับ

หมอสุข

  • ต้องขอบคุณคุณหมอ
  • ที่ไปให้ความเห็นไว้
  • โรคนี้ไม่เคยเป็นครับ
  • แต่เข้าใจว่าคนเป็นคงทรมานน่าดู
  • คุณหมอสังเกตไหมครับว่ามีคนมาถามคุณหมอเรื่องโรคผิวหนังเป็นจำนวนมาก
  • แสดงว่ามีคนเป็นมาก
  • คุณหมอสบายดีไหมครับ

อาจารย์ขจิตครับ

  • ผมสบายดีครับ
  • โรคผิวหนังส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่วินิจฉัยและเข้าใจได้ไม่ยากนัก ถ้าได้รับคำอธิบายที่ง่ายๆ
  • แต่บางครั้งไม่ง่ายนักที่จะวินิจฉัย เพราะดูไปจะคล้ายๆ กันในหลายโรค
  • ขอบพระคุณที่แวะมาอ่านครับ
  • หมอสุข

หมอสุขค่ะ

  • อนามัยไม่มี KOH ให้ใช้หรอกค่ะ
  • ยาที่มีใช้ก็ cotrimazole cream, triamcinolone cream, beta ceram, whitfield ointment และprednisolone cream
  • อยากจะขอคำแนะนำจากคุณหมอถึงวิธีการแยกแยะ (ด้วยตาเปล่า ๆ) ว่าโรคผิวหนังแบบไหน ควรใช้ยาแบบไหน
  • ขอบคุณค่ะ

หมออนามัยครับ

  • ตัวยาทาที่มีอยู่ พอจะดูแล รักษาโรคผิวหนังง่ายๆได้
  • การแยกแยะโรคผิวหนังต่างๆ พอจะทำได้ในบางกรณี จะค่อยๆ ทยอยเขียนครับ
  • ลองย้อนไปอ่าน บันทึกย้อนหลังดูนะครับ

หมอสุข

ครูต้อยเป็นเองแบบที่หนึ่งค่ะ

เพราะสวมรองเท้ามิดชิดทั้งหุ้มส้น และรองเท้ากีฬา

วันไหนรีบเร่งไปทำงานหากลืมเช็ดร่องนิ้วเท้า

ตกบ่ายจะรู้สึกคันๆที่ร่องนิ้วต้องรีบเอาแอลกอฮอล์เช็ด

มีบางครั้งต้องย่ำน้ำทะเลที่ขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดมหาชัย

ก็รีบถอดรองเท้า ล้างน้ำ แต่ไม่ทันการ ตกเย็นจะรู้สึกน้ำกัดเท้าซะแล้ว

ใช่ยาแก้เชื้อราทาวันเดียวก็หาย แต่จะกลับมาเป็นอีกถ้าไปย่ำน้ำทะเล

ทำอย่างไรจึงจะมีภูมิป้องกันน้ำกัดเท้าที่เข้มแข็งคะ

ครูต้อยครับ

 ต้องทายาแก้เชื้อราติดต่อกันประมาณสองหรือสามสัปดาห์ ถึงจะไม่มีอาการ

 มีแป้งโรยรักษาเชื้อราขายเหมือนกัน ให้โรยที่รองเท้าเป็นครั้งคราว อาจจะพอช่วยได้ครับ

 โดนน้ำทะเลเมื่อไหร่ รีบเปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะ ก็จะพอสร้างภูมิ ป้องกัน เชื้อราได้ไม่มากก็น้อย

หมอสุข

แวะมาขอบคุณค่ะ

และจะขอนำความรู้ไปพิมพ์แจกผู้ป่วยให้ระวังรักษาเท้าตัวเองค่ะ

คุณหหมอเขียนอีกนะคะ จะได้ใช้พื้นที่ของกระดาษให้คุ้ม

ถ้าให้ดีช่วยแนะนำด้วยว่าแป้งโรยเท้าควรเลือกซื้ออย่างไร

และตัวยาแบบไหนจึงจะได้ผลสูง

ขอบคุณค่ะ

ครูต้อยครับ

แป้งที่ใช้โรยเป็นยารักษาเชื้อราในรูปของผงแป้ง (หรือ powder) ตัวยาชื่อสามัญคือโคลไทรมาโซล (ไม่สามารถบอกชื่อทางการค้าตรงนี้ได้ เพราะพยายามจะหลีกเลี่ยงการโฆษณา หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย กับผลิตภัณฑ์ใดๆ)

  • หมอสุข

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท