วัฒนธรรมการกินของคนจีน


ภาษาและวัฒนธรรมจีน
อาหารจีน  ศิลปะและมาตรฐานการปรุงอาหารจีนจัดว่ามีชื่อเสียงในระดับโลก จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าอาหารจีนมีมากกว่าหมื่นชนิดและมีวิธีการปรุงอาหารมีมากกว่า 40 วิธีตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์จีน อาหารในภูมิภาคต่างๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นอาหารประจำท้องถิ่นที่มีรสชาติเฉพาะตัว อาหารประจำท้องถิ่นที่โดดเด่นมีอยู่ 8 กลุ่มด้วยกัน คือ อาหารซานตง อาหารเสฉวน อาหารกวางตุ้ง อาหารเจียงซู อาหารเจ้อเจียง อาหารฮกเกี้ยน อาหารหูหนานและอาหารอานฮุน อาหารจีนในกลุ่มอาหารท้องถิ่นทั้ง 8 ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เป่ยจิงข่าวยา(เป็ดปักกิ่ง) ฝัวเที่ยวเฉียง(พระกระโดดกำแพง) กงเป่าจีติง(ไก่ผัดเผ็ด) โค่วโจ่วจึ(ขาหมูนึ่งซีอิ๊ว) หลงจิ่งซยาเหริน(ผัดกุ้งแช่ชาหลงจิ่ง) หมาผอโต้วฝุ(ผัดเผ็ดเต้าหู้คุณยาย) ซีหูชู่อี๋ว์(ปลาซีหูเปรี้ยวหวาน) ซยาเหรินหนิวหลิ่ว(ผัดกุ้งกับเนื้อวัวแผ่น)และซ่วนโร่วหั่วกัว(เนื้อจิ้มจุ่มหม้อไฟ) เป็นต้น

   

อาหารจีนที่มีชื่อเสียงในเทศกาลต่างๆจีนมีอาหารที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก แต่ละชนิดมีรสชาติเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทแป้งที่มีรสชาติหอมกลมกล่อมหรืออาหารประเภทข้าวซึ่งอร่อยและมีให้เลือกหลากหลายไม่แพ้กัน อาหารจีนที่มีชื่อเสียงในเทศกาลต่างๆ ได้แก่
"เจี่ยวจือ" หรือเกี๊ยวเป็นอาหารที่มีความเป็นมากว่าพันปี เกี๊ยวเป็นอาหารที่คนจีนนิยมรับประทานกันมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลตรุษจีน การรับประทานเกี๊ยวในเทศกาลตรุษจีนถือเป็นประเพณีปฏิบัติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจีน
 
 
 
 
"หยวนเซียว" หรือบัวลอยสอดไส้แบบจีนมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ทังหยวน" หยวนเซียวเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว โดยนำแป้งข้าวเหนียวมาปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วสอดไส้หวานไว้ข้างใน เนื่องจากหยวนเซียวมีรูปร่างเหมือนพระจันทร์ ทั้งการดื่มน้ำของขนมหยวนเซียวร้อนๆ ยังเป็นการคลายความหนาวได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นหยวนเซียวจึงถือเป็นขนมประจำเทศกาลหยวนเซียวซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย และเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของคำว่า "ถวนหยวน" ซึ่งหมายถึงการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน

 

 

"จ้งจึ" หรือบ๊ะจ่างมีส่วนประกอบหลักคือข้าวเหนียว วิธีทำบ๊ะจ่างจะใช้ใบไผ่หรือใบกกห่อข้าวเหนียวและส่วนประกอบอื่นๆ จากนั้นนำไปนึ่งจนสุก ตามตำนานเล่าว่า เดิมทีบ๊ะจ่างเป็นอาหารที่ชาวบ้านทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้ชีว์หยวนขุนนางผู้รักชาติซึ่งกระโดดน้ำตาย ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี(ต่อมากลายเป็นเทศกาลตวนอู่) ชาวบ้านจะนำกระบอกใส่ข้าวล่องเรือไปตามลำน้ำและโยนกระบอกข้าวลงในแม่น้ำเพื่อเซ่นไหว้ชีว์หยวน และต่อมาพิธีนี้ก็ได้กลายเป็นประเพณีในเทศกาลตวนอู่

"เย่ว์ปิ่ง" หรือขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมประจำเทศกาลไหว้พระจันทร์หรือจงชิวเจี๋ยที่มีกำเนิดในสมัยราชวงศ์ถัง ขนมไหว้พระจันทร์มีรูปร่างกลมแบนและสอดไส้ตรงกลาง ขนมไหว้พระจันทร์มีไส้หลายชนิดและมีวิธีการทำหลายแบบ จึงทำให้ขนมไหว้พระจันทร์มีรูปแบบหลากหลายให้เลือกรับประทาน      นอกจากอาหารที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอาหารจีนที่สืบทอดมาแต่โบราณหลายชนิด เช่น โจ้กล่าปา ขนมหมาฮวา ข้าวปาป่าวและก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

 

ตะเกียบ

ไคว่จึ หรือ ตะเกียบนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าอย่างหนึ่งของจีน ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในระดับโลก ตะเกียบได้รับการขนานนามจากชาวตะวันตกว่าเป็น "อารยธรรมของโลกตะวันออก" คนจีนเริ่มใช้ตะเกียบตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซางหรือนานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน ตะเกียบมีชื่อเรียกว่า "挟" (jiā, จยา) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่นเรียกตะเกียบว่า "箸" (zhù, จู้) แต่เนื่องจากคนจีนสมัยโบราณเชื่อถือเรื่องโชคลาง จึงถือว่าคำว่า "จู้" ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า "住" (zhù, จู้) ที่หมายถึง หยุด มีความหมายไม่เป็นมงคล ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า "筷" (kuài, ไคว่) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า "เร็ว" แทน และนี่ก็คือที่มาของชื่อเรียกของตะเกียบในภาษาจีน
หมายเลขบันทึก: 373978เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นแล้วน้ำลายไหลจริงๆ แม้นว่าจะเพิ่งกินข้าวมาแล้วก็ตามนะครับ อิอิ เข้ามาทักทายด้วยคนนะครับ เห็นแล้วน่ากินเนาะ มีไรดีๆก็โพสมาให้อ่านกันบ้างนะครับ

เห็นเล้วอยากเลยคับปรมอิอิอิ หิ้วๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท