ทำนาไม่ได้- แปลงเป็นสวนยาง


บทความนี้บันทึกไว้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2550 แต่ยังไม่นำขึ้นเผยแพร่ เนื่องจากยังขาดภาพบางส่วน จนกระทั่ง 25 ก.ค. 50 ถ่ายภาพมาประกอบและเกลาสำนวนให้พออ่านได้ จึงนำขึ้นเผยแพร่ เมื่อต้นยางโตขึ้นจะเขียนเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ หากท่านสนใจต้องติดตามต่อเนื่องนะครับ

ทุ่งนาแถวบ้านผม เดี๋ยวนี้รกร้างเต็มไปด้วย"กก"และ"ปรือ"  อยู่ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีครับ

            ปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมทำนาครับ   มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง   แต่สำหรับผมทำนาทุกปีครับ  ลงมือไถเอง  หว่านกล้าเอง  ส่วนการดำนาใช้วิธีจ้างครับ  ไม่งั้นก็ทำนาหว่านไปเลย  การทำนาหว่านแถบบ้านผมเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวนาที่นี่ครับ  ที่จริงการทำนาหว่านสามารถลดต้นทุนและเวลาได้เยอะ แต่คนที่นี่ไม่รับวัฒนธรรมการทำนาหว่านครับ  เมื่อนาร้างมากๆ พลอยทำให้คนที่ทำนาข้างเคียงร้างไปด้วย เพราะนาร้างข้างเคียงจะเป็นที่อาศัยของหนูและวัว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำนา  จะทำรั้วกันวัวก็ไม่ไหว  หลายคนจึงเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นสวนยางพารา หรือไม่ก็สวนปาล์ม   ผมก็ตกอยู่ในสภาพนั้นครับ  เพราะนาข้าวที่ติดกันหยุดทำนาเมื่อปี ๔๙  เขาขุดเป็นสวนยางหนึ่งแปลง  ได้รับการสนับสนุนปลูกปาล์มน้ำมันอีกหนึ่งแปลง(ดูภาพด้านล่าง)  ส่วนผมยังทำนา 

          เมื่อต้นปี ๒๕๕๐  ต้นยางที่เขาแปลงจากนาข้าวเป็นสวนยางมาก่อน 1 ปี ต้นยางโตขึ้น  หญ้าในสวนยางของเขายาวและรก เป็นที่อยู่ของหนู  จินตนาการเห็นว่าอีก ๕ - ๑๐ ปีข้างหน้า  ร่มใบของยางพาราและต้นปาล์มก็จะรบกวนต้นข้าว   ผมเลยตัดสินใจขุดนาข้าวปลูกยางพารา  ขณะบันทึกนี้(มิ.ย. 50) ต้นยางผมพึ่งปลูกได้ยังไม่ครบเดือนเลยครับ

 

ภาพพื้นที่ติดกันส่วนหนึ่งปลูกปาล์มน้ำมัน  ด้านหลังของภาพเป็นที่ดินข้างเคียงปลูกยางมาแล้ว 1 ปี   ด้านขวามุมบนของภาพเป็นพื้นที่ที่กำลังปลูกยางของผมครับ

       ก่อนปลูกยางพารา  ต้องทราบธรรมชาติของยางพาราก่อนว่ายางเป็นพืชทนแล้งทนน้ำท่วม  แต่ไม่ชอบให้น้ำแช่รากนานๆ  แม้น้ำท่วมไม่ตายแต่ก็ให้ผลผลิตน้อย  เมื่อธรรมชาติของยางพาราเป็นเช่นนี้ ปกติทั่วไปเขาจะปลูกแถวเชิงเขา  เมื่อปลูกที่ลุ่มจึงต้องจัดการแปลงปลูกจากที่เคยรับน้ำปลูกข้าวมาก่อนให้เป็นการยกระดับผิวดินให้สูงกว่าระดับน้ำปกติประมาณ 1.00 เมตร

 

ภาพการขุดนาร้างด้วยแบคโฮ

      ดังนั้นวิธีการปลูกยางพาราในทีลุ่ม(นา)  คือต้องยกผิวดินให้สูงขึ้น  ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ 1) ถมที่ให้สูงขึ้น  หรือ 2)ยกให้เป็นร่อง ซึ่งทำได้อีก 2 วิธีเช่นกันคือขุดให้ลึกด้วยรถตักดิน (แบคโฮ) ใช้สำหรับพื้นที่เป็นที่ลุ่มมากๆ มีน้ำขังตลอดปี ข้อดีคือ ยกร่องได้สูง ข้อเสียคือราคาแพงค่าขุดถึงไร่ละ 11,000 - 14,000 บาท   หรือใช้รถแทคเตอร์ไถยกร่องขึ้น ซึ่งเหมาะกับที่นาที่ไม่ลุ่มมากนัก น้ำท่วมเฉพาะฤดูน้ำหลาก  ช่วงหน้าแล้งสามารถไถยกร่องได้และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำท่วม 3-5 วัน  ต้นยางจะไม่เป็นอะไร  ต้นทุนการยกร่องด้วยวิธีนี้อยู่ที่ไร่ละ 1,500 - 2,000 บาท  ซึ่งราคาต่างกันมาก  มีอยู่แปลงหนึ่งของญาติๆ ยกร่องด้วยรถแทรคเตอร์ราวเดือนมีนาคม  ประมาณปลายเมษายนจึงปลูก ครั้นเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ฝนตกหนักน้ำท่วมขังต้นยาง  พบว่าแค่ฝนตกนอกฤดูน้ำท่วมขนาดนี้หากฤดูน้ำหลากก็จะท่วมสูงกว่านี้  จึงต้องไปจ้างแบคโฮมาขุดซ้ำอีกที่  ย้ายต้นยางขึ้นลงถุงชำใหม่อีกรอบเปลืองทั้งแรงงาน  ค่าใช้จ่าย  และเปลืองเวลา  แต่ต้องทำเพราะไม่งั้นน้ำจะขังโคนต้นกล้ายาง  ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว

 

ภาพที่เดิมเป็นที่นา จัดการใช้แทรคเตอร์พังคันนา ใช้ผานบุกเบิกยกร่อง แล้วตามด้วยผานพรวน และใช้ใบมีดหน้าดันดินขึ้นเป็นร่อง  ในภาพจะเห็นว่าปลูกกล้ายางลงไปแล้ว  ซึ่งสภาพเดือนกรกฎาคมมีน้ำขัง แต่หากเป็นหน้าแล้งต้นยางจะไม่มีความชื้นเลี้ยงลำต้น

ต่อไปคงต้องขุดให้ร่องกว้างกว่าที่เห็น

 

        ขั้นตอนการแปลงที่นาำเป็นสวนยาง

       1) เดือนมีนาคม(หน้าแล้ง) ไถยกร่องด้วยรถแทรคเตอร์ ไถเองครับ ขับเองเลย ใช้เวลาช่วงวันหยุด ขั้นแรกก็ใช้ไม้ปักแนวปลูกก่อน เพื่อให้ทราบว่าจะยกร่องขึ้นแนวใด  หลังจากนั้นใช้ใบมีดดันหน้า พังคันนาลงให้หมด  คันนาที่พังลงให้นำไปกองไว้ที่กลางแถวที่จะปลูก  เมื่อพังคันนาหมดจึงใช้ผานบุกเบิก (สามจาน)ไถยกร่องเข้าหาแถวที่จะปลูก เมื่อไถครบทุกแถวก็จะเริ่มเป็นแนวร่อง ให้ไถซ้ำ 2-3 เที่ยว  ร่องก็จะค่อยสูงขึ้น   ช่วงปลาย พ.ค. - ต้นมิ.ย. 50  ปลูกได้ประมาณ 75 %  ส่วนที่ปลูกไม่ได้เนื่องจากด้านทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ต้องยกระดับผิวดินบนร่องขึ้นประมาณ 1 เมตร  ยกด้วยผานบุกเบิกไม่ขึ้น ต้องใช้ใบมีดดันดินขึ้นกองเป็นจอมปลวก  แล้วปลูกต้นยางไปก่อน   พบปัญหาคือเมื่อแล้งจัด ต้นยางก็จะตาย  ท้ายที่สุดคงต้องใช้แบคโฮขุดดินขึ้นมาปะข้างโคนเพื่อให้ดินเกิดความชื้น   อีกส่วนหนึ่งน้ำไม่เคยแห้งเลย ไถด้วยแทรคเตอร์ไม่ได้  ต้องจ้างแบคโฮขุดอีก(เมื่อ 16 ก.ค. 50) พื้นที่ไม่ถึงไร่ จ่ายไป 8,000 บาท  

แบบแสดงวิธีการยกร่อง 2 วิธี

     2) เมื่อ15 ก.ค. 50 ไปไถพรวนด้วยผานพรวนกำจัดวัชพืชด้วยรถแทรคเตอร์ 34 แรงม้า  ก็ไม่แน่ใจว่าจะไถได้เพราะช่วงรถแคบ ร่องสูง เกรงรถจะึพลิก  แต่ต้องลอง  ปรากฎว่าไถได้สำเร็จแล้วจึงถางหญ้าแต่งโคนซึ่งตอนนี้ยางโตจากขนาดก้านมะพร้าว(ใบสองชั้น) ถึงวันนี้บางต้นเท่าฝักถั่วฝักยาวแล้ว บางต้นขึ้นใบชั้นที่สาม   24 ก.ค. จึงเริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรก(หลังจากปลูก 1 - เดือนครึ่ง)

ภาพต้นยางอายุ 45 วัน ก่อนใส่ปุ๋ยครั้งแรก สังเกตเห็นพื้นดินที่ปลูกยังมีฟางข้าวนาเดิมก่อนปลูกยาง

       3) ช่วงประมาณกลางเดือนมิ.ย. 50 พบปัญหาวัวปล่อยฝูงเข้าไปกินกล้ายาง 2 ครั้ง เสียหายไปประมาณ 20 ต้น  คิดจะทำรั้วก็ลงทุนอีกประมาณ 10,000 บาท  เลยตัดสินใจ เขียนป้ายบอกริมทาง "ฉีดยาฆ่าหญ้า" พบว่าได้ผล  เพราะคนที่เลี้ยงวัวกลัวนักกลัวหนาว่าหากวัวกินหญ้าที่ฉีดยาฆ่าหญ้าเข้าไปแล้ววัวจะตาย  เขาก็เลยไม่ปล่อยให้วัวมายุ่งกับต้นกล้ายาง  ได้ผลครับ

 

ด้านเป็นที่ลุ่มยกร่องด้วยแบคโฮ ในภาพขุดเมื่อ 16 ก.ค. 50 

        วัันที่บันทึกนี้เผยแพร่ครั้งแรก (25 กรกฎาคม 2550) ยังไม่ได้ปลูกส่วนที่ลุุ่มที่พึ่งขุดร่องเสร็จด้วยแบคโฮ เนื่องจากพบว่าดินข้างล่างที่ขุดลึกลงไปประมาณ 2 เมตร และเอาขึ้นมาเป็นหน้าดินเป็นดินทรายที่ไม่มีธาตุอาหารเลย  ต้องปรับปรุงดินก่อน  คิดว่าจะใช้วิธีขุดหลุมให้กว้างประมาณ 30-50 ซ.ม. แล้วใส่ปุยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์รองหลุมก่อนปลูก  อย่างน้อยช่วงต้นยางหนึ่งปีแรกก็จะเติบโตดี  หลังจากนั้นค่อยไถกลบหญ้าให้เป็นปุ๋ยพืชสด  ดินกน่า็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง 

บันทึก ๒๓ สิงหาคม ๕๐

       วันนี้ตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง  คว้าไฟส่องที่คาดหน้าผาก  ไม่ลืมเอาต้นยางลอตสุดท้าย ๑๐ ต้น พร้อมขี้วัวกระสอบหนึ่ง  ไปปลูกให้เสร็จ  ต้นที่เคยปลูกแล้วตายไปก็ปลูกซ่อมใหม่ และไม่ลืมรดน้ำให้ด้วยเพราะฝนทิ้งช่วงหลายวันประกอบกับต้องเดินทางเข้า กทม. ๓ วัน หากฝนไม่ตกกล้ายางอาจตาย 

บันทึก ๘ กันยายน  ๕๐

  ปัญหาวัว ที่บันทึกไว้ว่ากลางเดือนมิ.ย. 50 พบปัญหาวัวปล่อยฝูงเข้าไปกินกล้ายาง 2 ครั้ง เสียหายไปประมาณ 20 ต้น  จะทำรั้วก็ลงทุนอีกประมาณ 10,000 บาท  เลยตัดสินใจ เขียนป้ายบอกริมทาง "ฉีดยาฆ่าหญ้า" พบว่าได้ผล  ที่จริงวันนี้พบใหม่ว่าไม่ได้ผล  เพราะเมื่ื่อเขารู้ว่าไม่ได้ฉีดยาจริงๆ (เพราะหญ้าไม่ตาย) เขาเลยปล่อยให้วัวเข้ากินต้นยางอีก  เพื่อนที่ปลูกยางติดกันโทรมาบอก  เลยโทรบอกน้องสาวให้ช่วยไปดูจับให้ได้คาหนังคาเขา เพื่อให้รู้ว่าวัวใคร ซึ่งก็จับได้ ๑ ตัว วัวสีดำหน้าโพขาว  ตามเจ้าของวัวมาให้เขารับผิดชอบปลูกทดแทนให้ และให้ซื้อปุ๋ยมาใส่ยางให้โตทันรุ่นที่ไม่ถูกวัวกิน  แล้วในที่สุด ๑-๒ ก.ย. ๕๐ ผมก็ต้องทำรั้วอีกจนได้ โชคดีที่ใช้ปีกไม้ตาลที่โค่นก่อนไถมาทำเสารั้ว ที่ต้องซื้อก็เพียงลวดหนาม ๒ ขด ๔๘๐ บาท  คงกันได้ระดับหนึ่ง 

บันทึก ๒๔ กันยายน  ๕๐

  ปัญหาวัวยังไม่จบ ที่ทำรั้วไปก่อนหน้านี้  ไม่ได้ทำรั้วด้านที่ติดคลอง  เพราะถือว่าวัวไม่ข้ามคลอง  ซึ่งไม่ใช่  วัวยังข้ามคลองมารบกวนอีก  ต้องขนไม้ไปทำรั้วอีกรอบ  ซื้อลวดหนาม 1 ขด 240 + ตะปู 20 บาท  เสาร์อาทิตย์จะไปดึงลวดหนามให้เสร็จ

 

บันทึก ๓๑  มีนาคม ๕๑

  ยางมีอายุ 10 เดือนแล้ว ปัญหาวัวยังไม่จบ ต้องทำรั้วเมื่อ  ๒๙ มี.ค. อีกสองชั้น  เพราะเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖  โดนวัวกัดกินยอต้นยางไปอีกร่วม ๒๐ ต้น   วันอาทิตย์ที่ ๓๐  เลยถือโอกาสไถพรวนด้วยผานบุกเบิกหมดทั้งสวน  ต้นยางที่ปลูกรุ่นแรกขนาดประมาณนิ้วโป้ง  ความสูงเฉลี่ยประมาณเสมอตา(5-6 ฟุต)  ส่วนที่ลุ่มที่ยกร่องด้วยแบคโฮอายุประมาณ ๗ เดือน(ปลูกประมาณสิงหาคม  ๒๕๕๐) ขนาดประมาณนิ้วก้อย สูงประมาณกลางขา(2-3 ฟุต)

บันทึก ๒๖  กรกฎาคม ๕๔

      วันนี้ยางมีอายุ 4 ปีเต็ม  กะด้วยสายตาคร่าวๆ ต้นยางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 นิ้ว มีประมาณ 70 % ครับ  ที่เหลืออีก 30% เป็นต้นยางที่อยู่ที่ลุ่ม น้ำท่วมขังเกิน 4 เดือน  ต้นโตขนาดประมาณ 2 นิ้วแล้วยังตายเลยครับ  ยางไม่ชอบน้ำครับ

 

หมายเลขบันทึก: 111887เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)
อ่านไปชมไปก็ได้ความรู้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
วิธีการเขียนป้ายบอกริมทางว่า "ฉีดยาฆ่าหญ้า" ที่ได้ผล  เพราะคนที่เลี้ยงวัวกลัววัวตัวเองตายเพราะกินหญ้าที่ฉีดยาฆ่าหญ้า ก็น่าเศร้าใจเนาะ กลัวตัวเองเดือดร้อนแต่ใส่ใจกับความเดือดร้อนของคนอื่น ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อเขียนที่ชวนติดตาม
เขียนเล่าเรื่องราวได้น่าสนใจค่ะ คงไม่สงวนสิทธิ์นะคะ ถ้าจะขอวิธีการเขียนป้าย "ฉีดยาฆ่าหญ้า" ไปใช้บ้าง
ได้ความรู้เยอะเลยครับ ไม่เคยคิดว่า การทำนาจะมีปัญหาจากพื้นที่ข้างเคียงและการเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นสวนยางพาราก็เป็นงานยาก งานเกษตรไม่ใช่ของง่ายเลย แสดงว่าชาวนา ชาวสวน นอกจากต้องอดทนต่อความเหนื่อยยากแล้ว ต้องมีภูมิปัญญาสูงด้วย ชื่นชมครับ
  • ไอเดียเจ๋งดีจริงๆ ขอชื่นชมทั้งความคิดกิจกรรมยามว่าง และความตั้งใจในการนำเสนอนะคะ
  • ว่าแล้วก็อดที่จะแซวไม่ได้ว่า รูปสุดหล่อที่ทำท่าก้มๆ เงยๆ อยู่นั้น ถ้าไม่สังเกตดีๆ ไม่รู้นะเนี่ยว่าเป็นนักกอล์ฟมือฉมังของ มอ. เชียวนา นึกว่าสุดหล่อกำลังดำนา อิๆ
  • แล้วจะแวะมาแซว อุ๊ย! มาให้กำลังใจใหม่นะจ๊ะ
  • C

ตอบคุณเคราวี

  • ก่อนแสดงความคิดเห็น ถ้า Login ก่อน ก็จะแสดงตนเหมือนกับความคิดเห็นของคุณนวพงษ์ ครับ คือมีทั้งรูปและ Link
  • เขียนป้ายติดไว้  อย่าฉีดหญ้าจริงๆ นะครับประ  เดี๋ยววัวตายจริงๆ บาปปปปปปปปปปปป !

ตอบคุณ นาย นวพงษ์ - เพ็ชรอุไร และ librarian-C 

  • ชาวนาชาวสวนถ้าจะทำหวังรวยยากครับ
  • แต่ถ้าคิดว่าปลูกต้นไม้แล้วมีความสุข  ก็สมหวังครับ  ถ้ากลัวเหนื่อยกลัวแดด ผมไม่แนะนำให้ทรมานจิตใจครับ
  •  ใครสนใจจะลองพิสูจน์/ทดสอบสมรรถนะตนเอง เชิญครับ

 สวัสดีครับ..ชนันท์

         ครับก็เป็นการแก้ปัญหาและการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์และเป็นวิธีที่ดูแลไม่ยุ่งยาก

         แต่อาจจะต้องลงทุนสูงสักนิด ครับเมื่อยางโตขึ้นอายุ สัก 3-4 ปี อาจจะโตช้ากว่าปกติเพราะรากถึงน้ำ ระบบน้ำใต้ดินสูง

          ครับขออนุญาตนำบร็อกเข้าแพลนเน็ตคนคอเดียวกัน

จริงอย่างที่คุณเกษตรยะลา ว่าครับ  แต่ในเมื่อทำนาข้าวก็มีอุปสรรคเกี่ยวกับพื้นที่รอบๆ จำเป็นต้องหาทางออกครับ  เท่าที่ปรึกษาผู้(คาดว่าน่าจะ)รู้  เขาบอกว่าให้ใช้ยางพันธุ์ 251  ทนน้ำกว่าไม่ทราบเท็จจริงอย่างไร  ไม่ทราบท่านพอจะมีข้อมูลแลกเปลี่ยนกันบ้างไหมครับ
บันทึกเพิ่มเติมครับ  วันนี้ยางที่ปลูกไปชุดแรกขนาดเส่นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ซ.ม. ความสูงประมาณ ๔ - ๖ ฟุต  ส่วนที่ลุ่มปลูกชุดสุดท้ายเสร็จน้ำท่วมตายไปหลายต้น  ช่วง ๑๕ มกราคมไปซื้อพันธุ์ยางมาซ่อมอีก ๔๐ ต้น ต้นละ ๑๕ บาท เป็นเงิน ๖๐๐ บาท  ใส่ปุ๋สูตร ๒๐ - ๗ -๗ อีก ๑๐๐ ก.ก.  คาดว่าหน้าแล้งนี้ระดับน้ำไม่ท่วมราก ก็จะโตได้เต็มที่  เรื่องวัวหยุดไปแล้ว เพราะตรงไหนที่วัวเข้าได้ก็กั้นรั้วซะ / เดิมที่กังวลและสับสนเรื่องการปลูกข้าว - ปลูกยาง  วันนี้เปลี่ยนไปแล้วครับ  เดินหน้าแปลงนาข้าวปลูกยาง  แล้วขอนาร้างของชาวบ้านมาทำนาข้าว ปลูกข้าวไว้กินด้วย ขายได้ด้วย  นา(ชาวบ้าน)ก็ไม่ร้าง 

สวัสดีครับพี่

        อ่านปัญหาวัวกินยางแล้วทำให้นึกถึงที่บ้านเหมือนกันครับ ยางโตได้สูงราวๆระดับหัววัวพอดีครับ โดนเล็มยอดหัก ก็นับว่าสะดุดใจเลยหล่ะครับ น่าจะเป็นกรรมของต้นยาง ปลูกไว้เดินไ่ม่ได้แล้วหนีไม่ได้ด้วย วัวก็เก่งครับ ตรงไหนมียางก็ไปตรงนั้น อิๆๆๆ ที่บ้านเคยใช้ลวดกั้นรอบแล้วปล่อยไฟ หากวัวได้โดนสักครั้งจะกลัวแล้วไม่กล้ามาอีกครับ แต่ไม่รับรองว่าได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ ท้ายที่สุดทำคอกให้ต้นยางนี่หล่ะครับ คำตอบสุดท้าย แต่ลงทุนสูงครับ การเลี้ยงวัวจึงเป็นหนทางหนึ่งที่มีผลต่ออุปสรรคในการทำเกษตร เพราะว่าวัวเค้าก็ต้องกิน ไม่มีหญ้าอาหารให้กินก็ต้องกินสิ่งที่มีที่เห็น จะโทษวัวก็ไม่ได้ จะโทษเจ้าของวัวก็คงไ่ม่ได้เช่นกันครับ เพราะทำให้บาดหมางใจกับเพื่อนบ้านคงไม่ดีครับ แต่การให้เค้ารับรู้แล้วมาซ่อมให้ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ชาวสวนยางใครๆ ก็คงไม่อยากให้วัวใครมากินครับ

        พ่อเล่าให้ฟังว่ามีเกษตรกรท่านหนึ่ง ปลูกยางในนาเช่นกัน แล้วไม่ทำรั้วเลย วัวใครกินก็กินไป แต่เรียกค่าเสียหายสูงจนเป็นที่ร่ำลือ หากทำเอาจริง เจ้าของวัวก็ต้องหาทางล้อมคอกก่อนเสียเงิน ซื้อยางให้แล้วก็ซื้อปุ๋ยให้อีกด้วย เพราะว่าวัวเดินไปหายาง เค้าว่ากันอย่างนั้น อิๆๆๆๆ

        นับได้ว่าน่าเห็นใจกันทุกคนครับ ในภาวะที่ต้องทำงานกันมากมายแบบนี้  พี่มาเขียนเล่าให้เป็นช่วงๆ เรื่องการปลูกยางในนาก็ดีครับผม เพราะผมอยากรู้ว่าตอนทีพี่กรีดครั้งแรกนั้น ต้นยางจะมีเส้นรอบวงหรือเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเท่าไหร่ครับในระยะเวลาที่ควรกรีดครับ ปลูกยางในนาหากจัดการน้ำและดินได้ดี ปลูกพืชสูบน้ำเมื่อน้ำในนาระดับสูง อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่งครับ

        ผมไม่ได้ผ่านพื้นที่โคกโพธิ์นานแล้วครับ ทราบแต่ว่าพื้นที่สี่แยกหนองจิกเข้าเมืองปัตตานี แถวๆ นั้น น่าจะร้างกันเยอะใช่ไหมครับ

ขอบคุณพี่มากครับ 

ตอบคุณ เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

เป็นคำถามที่ดีมากครับ ที่อยากรู้ว่าตอนทีกรีดครั้งแรกนั้น ต้นยางจะมีเส้นรอบวงหรือเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเท่าไหร่ ผมยืนยันจากที่เคยได้ทำสำเร็จมาแปลงหนึ่ง พื้นที่ประมาณเกือบ 2ไร่ ยกร่องปลูกได้ 5 แถว แถวละ 30 ต้น ได้ 150 ต้นพอดี วันนี้มีต้นยางเหลือ 149 ต้น ตายไป 1 ต้น จากกาฝากเกาะลำต้นจนตายครับ

ปลูกมาตั้งแต่ประมาณปี 2535-2536 เป็นที่นาที่พ่อแม่แบ่งให้ 3 คนพี่น้อง น่าจะเพื่อลองดูว่าลูกแต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ต่อพื้นที่ที่แบ่งให้อย่างไร ผมเป็นคนหนึ่งในจำนวน 3 คนนั้น พี่และน้องตัดสินใจแปลงนาข้าวเป็นสวนยาง ส่วนแบ่งอีกส่วนคือของผมจะดื้อดึงทำนาต่อไปไม่ได้ เพราะเขาไถยกร่องให้หมด เท่ากับบังคับให้ปลูกยาง แต่เพราะไม่เห็นดีเห็นงามด้วยที่จะให้ปลูกยาง ผมเลยทิ้งร้างไว้เฉยๆ ซะงั้นแหละ ผ่านไปปีหนึ่งต้นยางน้องสาวและพี่สาวเริ่มเห็น ผมกำลังจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่เอาไหนเพราะไม่ปลูก เมื่อทนแรงเสีดทานไม่ได้ จำใจไปหาพันธุ์ยางมาปลูก เมื่อน้ำท่วมก็จ้างชาวบ้านขุดยกเป็นปลวกให้สูงขึ้นเพื่อให้รากยางหนีน้ำ ดูแลประคบประหงม แม้จะไม่ค่อยได้ใส่ปุ๋ยเท่าไร จนได้กรีดเมื่อครบเวลา 7 ปี ตอนแรกก็ให้เขากรีดแบ่งกัน หลายปีทีเดียว วันที่เปิดกรีดก็มีขนาดเส้นผ่า ศ.ก.ลำต้นโตสุดก็ประมาณ 8 นิ้ว มีประมาณร้อยละ 10-20 เล็กสุดก็มีขนาดเส้นผ่า ศ.ก.ลำต้นประมาณ 2-4 นิ้ว ประมาณ ร้อยละ 20 ส่วนใหญ่ร้อยละ 60-70 ขนาดเส้นผ่า ศ.ก. ประมาณ 5-7 นิ้ว ก็นับว่าไม่เลวนี่ครับ วันนี้ผมต้องกรีดยางสวนนี้เองด้วย เพราะคนที่เคยกรีดได้รับอุบัติเหตุ สวนแห่งนี้แม้ให้ผลผลิตน้อยกว่าสวนเชิงเขา แต่ก็ดีกว่าผลผลิตจากข้าวครับ เพราะไม่ต้องเหนื่อยซ้ำซากทุกปี เหนื่อ 1-3 ปีแรกเท่านั้นเอง และแถมต้นไม้ยาง ที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ทำให้ที่ดินแปลงนี้เปลี่ยนสภาพดินให้ดีขึ้นขากใบยางที่ตกลงมาและถูกไถทับถมทุกปี ปัญหาที่พบสำหรับยางแปลงนี้คือ กาฝากเกาะกินลำต้นมากเหลือเกินครับ ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นนักสำหรับสวนยางเชิงเขา

นั่นเป็นสวนที่เปิดกรีดแล้ว แต่สำหรับสวนที่เห็นกำลังปลูกในภาพ ต้องรออีก 6 ปีครับ สัญญาว่าเมื่ออายุครบแต่ละปี จะไปวัดรอบโคนที่ระดับ 1.50 เมตร มารายงานครับว่าเส้นผ่า ศ.ก. เท่าไร เป็นร้อยละเท่าไร เอาเป็นพอประมาณนะครับ อย่าให้ต้องวัดทุกต้นนะครับ ใครจะเอาประเด็นนี้ไปทำรายงานการวิจัยก็ไม่ว่ากันครับ

ประเด็นเปิดสวนให้วัวกินแล้วค่อยเรียกค่าเสียหาย ถ้าทำแบบนั้นผมคงอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ครับ ศัตรูจะมีทุกหย่อมบ้าน ปลูกผักเก็บผลไม้ได้จะไปขายใครละครับ เมื่อไม่มีเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรแล้วใครจะเป็นรั้วบ้านให้ละครับ ทางแก้ปัญหาของผมแม้จะแก้ที่ปลายเหตุ แต่ก็ป้องกันได้ครับ ผมเจตนาที่จะปลูกเอาต้นยางครับ ไม่ใช่เจตนาจะปลูกต้นยางหาเงินค่าชดเชยครับ - ขอบคุณครับสำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ตอบคุณ เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

เป็นคำถามที่ดีมากครับ ที่อยากรู้ว่าตอนทีกรีดครั้งแรกนั้น ต้นยางจะมีเส้นรอบวงหรือเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเท่าไหร่ ผมยืนยันจากที่เคยได้ทำสำเร็จมาแปลงหนึ่ง พื้นที่ประมาณเกือบ 2ไร่ ยกร่องปลูกได้ 5 แถว แถวละ 30 ต้น ได้ 150 ต้นพอดี วันนี้มีต้นยางเหลือ 149 ต้น ตายไป 1 ต้น จากกาฝากเกาะลำต้นจนตายครับ

ปลูกมาตั้งแต่ประมาณปี 2535-2536 เป็นที่นาที่พ่อแม่แบ่งให้ 3 คนพี่น้อง น่าจะเพื่อลองดูว่าลูกแต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ต่อพื้นที่ที่แบ่งให้อย่างไร ผมเป็นคนหนึ่งในจำนวน 3 คนนั้น พี่และน้องตัดสินใจแปลงนาข้าวเป็นสวนยาง ส่วนแบ่งอีกส่วนคือของผมจะดื้อดึงทำนาต่อไปไม่ได้ เพราะเขาไถยกร่องให้หมด เท่ากับบังคับให้ปลูกยาง แต่เพราะไม่เห็นดีเห็นงามด้วยที่จะให้ปลูกยาง ผมเลยทิ้งร้างไว้เฉยๆ ซะงั้นแหละ ผ่านไปปีหนึ่งต้นยางน้องสาวและพี่สาวเริ่มเห็น ผมกำลังจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่เอาไหนเพราะไม่ปลูก เมื่อทนแรงเสีดทานไม่ได้ จำใจไปหาพันธุ์ยางมาปลูก เมื่อน้ำท่วมก็จ้างชาวบ้านขุดยกเป็นปลวกให้สูงขึ้นเพื่อให้รากยางหนีน้ำ ดูแลประคบประหงม แม้จะไม่ค่อยได้ใส่ปุ๋ยเท่าไร จนได้กรีดเมื่อครบเวลา 7 ปี ตอนแรกก็ให้เขากรีดแบ่งกัน หลายปีทีเดียว วันที่เปิดกรีดก็มีขนาดเส้นผ่า ศ.ก.ลำต้นโตสุดก็ประมาณ 8 นิ้ว มีประมาณร้อยละ 10-20 เล็กสุดก็มีขนาดเส้นผ่า ศ.ก.ลำต้นประมาณ 2-4 นิ้ว ประมาณ ร้อยละ 20 ส่วนใหญ่ร้อยละ 60-70 ขนาดเส้นผ่า ศ.ก. ประมาณ 5-7 นิ้ว ก็นับว่าไม่เลวนี่ครับ วันนี้ผมต้องกรีดยางสวนนี้เองด้วย เพราะคนที่เคยกรีดได้รับอุบัติเหตุ สวนแห่งนี้แม้ให้ผลผลิตน้อยกว่าสวนเชิงเขา แต่ก็ดีกว่าผลผลิตจากข้าวครับ เพราะไม่ต้องเหนื่อยซ้ำซากทุกปี เหนื่อ 1-3 ปีแรกเท่านั้นเอง และแถมต้นไม้ยาง ที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ทำให้ที่ดินแปลงนี้เปลี่ยนสภาพดินให้ดีขึ้นขากใบยางที่ตกลงมาและถูกไถทับถมทุกปี ปัญหาที่พบสำหรับยางแปลงนี้คือ กาฝากเกาะกินลำต้นมากเหลือเกินครับ ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นนักสำหรับสวนยางเชิงเขา

นั่นเป็นสวนที่เปิดกรีดแล้ว แต่สำหรับสวนที่เห็นกำลังปลูกในภาพ ต้องรออีก 6 ปีครับ สัญญาว่าเมื่ออายุครบแต่ละปี จะไปวัดรอบโคนที่ระดับ 1.50 เมตร มารายงานครับว่าเส้นผ่า ศ.ก. เท่าไร เป็นร้อยละเท่าไร เอาเป็นพอประมาณนะครับ อย่าให้ต้องวัดทุกต้นนะครับ ใครจะเอาประเด็นนี้ไปทำรายงานการวิจัยก็ไม่ว่ากันครับ

ประเด็นเปิดสวนให้วัวกินแล้วค่อยเรียกค่าเสียหาย ถ้าทำแบบนั้นผมคงอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ครับ ศัตรูจะมีทุกหย่อมบ้าน ปลูกผักเก็บผลไม้ได้จะไปขายใครละครับ เมื่อไม่มีเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรแล้วใครจะเป็นรั้วบ้านให้ละครับ ทางแก้ปัญหาของผมแม้จะแก้ที่ปลายเหตุ แต่ก็ป้องกันได้ครับ ผมเจตนาที่จะปลูกเอาต้นยางครับ ไม่ใช่เจตนาจะปลูกต้นยางหาเงินค่าชดเชยครับ - ขอบคุณครับสำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

อยากได้ตัวอย่างการทำวิจัยเรื่องการปลูกยางพาราในที่ล่ม

ผมไม่เคยทำวิจัยทางการเกษตรครับ เพราะผมไม่มีอาชีพทางนักวิชาการเกษตร เพียงแต่ทำแล้วเกิดประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังได้ครับ ใครจะทำวิจัยผมยินดีเป็นกลุ่มทดลองให้ครับ ขออภัยที่เข้ามาตอบช้านะครับ

อ่านเรื่องของคุณชนันท์แล้ว น่าสนใจมาก โดยส่วนตัวตอนนี้ก้อกำลังจะปลูกยางในที่นา ตอนนี้ยกร่องเรียบร้อยแล้ว กำลังพักดินอยู่ตั้งใจว่าถ้าฝนมาเมื่อไหร่ก้อจะปลูกยาง โดยจะให้คนปลูกพืช ผักได้ในร่องช่วง 1-2 ปี แรก เผื่อว่าเขาได้ช่วยรดน้ำและดูแลให้บ้าง ในความคิดดังกล่าวคุณชนันท์ มีความเห็นอย่างไรบ้าง เผื่อมีคำแนะนำและให้ความเห็นหลากหลายขึ้น อ้อโดยส่วนตัวไม่ได้มีอาชีพทำนาหรือเกษตรแต่อย่างใด ก็เลยต้องค่อยหาความรู้ไปเรื่อยๆ เป็นการลองผิดลองถูกนะถ้าใครมีคำแนะนำอย่างไรก็จะยินดีมาก

ขอบคุณที่ติชมครับ/ ที่ที่จะปลูกอยู่แถวไหนครับ ลักษณะที่ดินลุ่มมากไหม? ถ้าลุ่มมากต้องยกร่องร่องด้วยแบคโฮครับ ถ้าไม่ลุ่มมากยกร่องด้วยผานบุกเบิกและผานพรวนครับ ระดับน้ำในท้องร่องเฉลี่ยทั้งปีควรจะลึกกว่า 1.00 เมตร ถ้าต่ำกว่านี้ต้นยางโตช้าครับ

พี่ครับผมอยากถามว่าพี่กรีดยางของพี่ได้ปีละกี่กิโลกรัมครับ

จะปลูกยางพาราในที่นาอยู่เหมือนกัน กระจ่างเลยเพ่! ได้ความรู้เพียบ

ตอบคุณ เบีย โอ้ ! ถามว่ายางที่ปลูกจากการแปลงที่นา ได้ปีละกี่กิโลกรัม บอกตรงๆ ครับ ผมไม่เคยจดสถิติ รู้แต่ว่ายางที่ปลูกจากการแปลงที่นา ๑๕๐ ต้น กรีดได้วันละประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ บาท (พ.ศ. ๕๔) ยอมรับว่าให้น้ำยางน้อยกว่าสวนยางที่ปลูกเชิงเขา แต่การทำนาเหนื่อยมากกว่า เหนื่อยทุกปี เหนื่อยจนตาย แต่การปลูกยางถ้าที่เชิงเขา ปลูก ๑ ครั้ง ให้ผลผลิตต่อเนื่อง ๒๐ - ๓๐ ปี แถมเมื่อโค่น ได้ต้นยางเฉลี่ยต้นละ ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท(ธค.๕๓) อย่างที่เขียนไว้ที่อีกบทความว่า ได้ไร่ละแสนครับ

ตอบคุณ เด็กเกาะยาว ขอบคุณที่เห็นประโยชน์ ทำให้มีกำลังใจในความเพียรเพื่อถ่ายทอดครับ

ผมก็ยกร่องนาปลุกยางครับ(มิ.ย.53)แล้วปลุกเลย 2-3 เดือนแรกต้นเริ่มโตดีครับมีความหวังว่าต้องทำให้ดีเพราะลงทุนไปหลาย(5ไร่)แต่มาโดนวิกฤติตอนน้ำท่วม พ.ย.53-เม.ย.54 ที่ผ่านมา 3 รอบ ใจหายเลยครับยอมรับว่าท้อเหมือนกันเพราะปัญหาใหญ่คือทุน แต่เอาละหากไม่ทำต่อจะปล่อยให้หญ้าขึ้นรกก้เสียหายเลยเริ่มฉีดหญ้าใหม่รู้ว่าไม่ดีแต่ทำไงได้เป็นพื้นที่ปิด(ยกร่องด้วยแบ็คโฮ) มีผู้แนะนำให้ปลุกปาลม์แต่อย่างที่คิดปลุกปาลฒ์แล้วจะทำไงต่อเพราะต้องดูแลให้ได้ผล ปุ๋ยละ แรงงานละ หลายเรื่อง เคยถามผู้รู้เหมือนกันว่า ยาง 251 ทนน้ำดีก้จะลองดูหากถอยแล้วก้ไม่มีใครทำ นี่กะว่าจะลงยางนาแนวร่องด้วยเผื่อ 20 ปีข้างหน้าลูกๆจะได้มีทุนศึกาแล้วยางนาน่าจะเป็นไม้ยืนต้นที่ดูดีที่สุดในด้านผลตอบแทน แล้วจะมาคุยใหม่ครับ นี่กะว่าเดือนหน้า(มิ.ย.54)ครบรอบปีที่ยางน้ำท่วมหมดจะลงมือปลุกใหม่

โอ้ ให้กำลังใจก่อนครับ นาที่แปลงเป็นสวนยางต้องคิดให้ดีครับ ว่าการระบายน้ำดีหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงยางกำลังโตปีแรก ที่ต้นยางตายเพราะน้ำท่วมยอดครับ แต่ถ้าน้ำไม่ท่วมในปีแรก รับรองรอดครับ แถวบ้านผม(โคกโพธิ์-ปัตตานรี) ก็มีครับ เมื่อคราวน้ำหลาก พ.ย. - ธ.ค. 53 คนที่ปลูกในฤดูปี 52 ต้นยางเส้นผ่า ศก.ประมาณ 1 นิ้ว สูงประมาณ 3-4 เมตร ไม่มีปัญหาครับ น้ำท่วมสูงประาณ 2-3 เมตร ไม่มีปัญหา แต่แปลงติดกันที่ปลูกใหม่เมื่อ มี.ค. 53 สูงประมาณ 0.75-1.50 เมตร ตายเรียบเลยครับ

โดยเฉพาะปีนี้มาเจอพันธุ์ยางชำถุงต้นละ 55 บาท เห็นวันนี้ยังไม่ได้ปลูกใหม่เลยครับ ซึ่งก่อนจะปลูกใหม่ต้องถปรับหน้าดินใหม่อีกที ค่าใช้จ่ายบานไปอีกแน่ๆ

ทำสวนต้องมีโชคช่วยด้วยครับ ปลูกก่อน ตรงกับปีน้ำไม่ท่วมก็โชคดี แต่ไปปลูกตรงกับปีน้ำท่วมก็โชคร้าย ...... ขออวยพรให้โชคดีครับ

สวัสดีครับ คุณชนันท์

อยากให้คุณชนันท์ ลงภาพสวนยางในปัจจุบันให้ดูหน่อยครับ ว่าโตขนาดไหนแล้วครับ ผมเองก็ปลูกในที่นาเหมือนกัน 12ไร่ ไม่มีประสบการณ์ ปลูกที่ จ.สุรินทร์ เมื่อ ก.ค. 50 ปีแรกตายเยอะมาก เกิน 50 เปอร์เซนต์ ใช้แทรคเตอร์ยกร่อง จัดการระบบน้ำไม่ดี ประกอบกับเจอเจ้าหน้าที่ สกย. เป็นนายหน้าขายกล้ายาง ที่ไม่ค่อยสมบูรณ์มาให้อีก เสียความรู้สึกมาก ทุกๆ ปี ก่อนหน้าแล้ง ใช้แทรคเตอร์ไถพรวนเข้าหาแถวต้นยาง ทำให้เกิดร่องตรงกลางระหว่างแถว แล้วใช้ผานเกรดหน้าเกรดตรงกลางระหว่างแถว ระบบการระบายน้ำดีขึ้น และปี 51 ผมลงอีก 5 ไร่ ชุดนี้ซื้อจาก แหล่งขาย วิริยะ พันธุ์ยาง ตอนนี้ สวนใหม่ กับสวนเก่า การโตใกล้เคียงกัน ยังใจชื้นอยู่ทีได้อ่านบล็อคของคุณชนันท์ เรื่องการปลูกยางในที่นา ทำให้ผมมีความหวัง

ตอบคุณหยา จ.สุรินทร์ ครับ รับทราบเรื่องการจะหารูปมาให้ดูครับ รอสักนิดนะครับ พักนี้ไม่ค่อยได้เข้าไปครับ ตอนนี้เน้นไปทำอยู่ที่ จ.ลำพูนครับ  วันหลังจะเอามาลงให้ครับ  สรุปให้คร่าวๆ นะครับ วันนี้เส้นผ่า ศก. 4-4.5 นิ้ว ประมาณ 50% แถวๆที่สูงระบายน้ำดีหน่อย  ส่วนที่ลุ่ม เฉลี่ย 2-2.5 นิ้ว  ที่ไม่ยอมขึ้นก็มีครับ เพราะบางจุดน้ำท่วมปีหนึ่งเกิน 8 เดือน  ต้นที่โตขนาด เส้นผ่า ศก. 1-2 นิ้ว ในปีที่ 2-3 แล้วยังตายเลยครับ  ทำใจนะครับ  พื้นที่ตรงนี้ผมกำลังวางแผนปลูกปาล์มแทรกครับ

หวัดดีค่ะ คุณชนันท์

  อันปลูกยางในที่นา ที่ จ.สระบุรี ซึ่งยังไม่เคยมีใครปลูกเลย ก้อเลยหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำสวนยางในที่นา พอดีเปิดมาเจอเวปนี้ มีประโยชน์มากๆคะ

  อยากได้ข้อมูลการดูแลค่ะ เพราะจากการหาข้อมูล พบว่าปลูกยางในนาจะโตไม่ค่อยดี เราต้องดูแลเพิ่มมากกว่าคนที่ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมหรือป่าวค๊ะ

 

ถูกต้องครับคุณอัญชลี การปลูกยางพารานั้น หากที่นาไม่สามารถขุดยกร่องระบายน้ำออกให้ระดับน้ำที่ท้องร่องลึกกว่าผิวดินที่ปลูกน้อยกว่า 1.00 ม. ได้ ผมไม่แนะนำให้ปลูกนะครับ ซึ่งลักษณะที่นาดังกล่าวน่าจะเป็นที่นาที่ราบแถวภาคกลาง แต่ที่ผมทำเป็นที่นาภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ลาดเอียงพอประมาณ เมื่อยกร่องแล้วสามารถทำร่องให้สูงกว่าระดับน้ำได้มากกว่า 1.00 เมตร เพราะถ้าระดับร่องปลูกต่ำ/น้ำสูง ต้นยางพาราไม่ชอบน้ำครับ ปลูกไปเสียเวลาเปล่า เพราะให้น้ำยางน้อยครับ ต้นยางก็ไม่โตเท่าที่ควร อีกอย่าง การยกร่องทำให้เสียพื้นที่ที่รากควรจะได้ชอนไชไปหาอาหาร เมื่อไปเจอคูน้ำก็ไปไม่ได้ พื้นที่การหาอารหารจึงน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว ซึ่งจเป็นธรรมชาติที่ต้นยางในที่นาต้นจะเล็กกว่าต้นยางในที่ดอนครับ

ถ้าจะหาที่ปลูกยางแถวๆภาคกลางตอนบน ลองหาที่แปลงไร่ข้าโพดหรือไร่มันสัมปะหลังจะดีกว่าครับ ผมเห็นแถวๆ โคราช สวยๆ ครับ แถวสระบุรีก็น่าจะมี เคยผ่านแต่ไม่เคยสังเกตครับ

ยางเป็นยังไงบ้างครับ เห็นใครๆก็บอกว่าถึงปลูกได้ แต่นานๆไปก็ได้ผลไม่ดี

ขอติดตามดูไปตลอดนะครับ

ขอบคุณครับ

ตอนนี้ทราบข่าวว่าจะย้ายไปทางเมืองเหนือแล้ว แถวลำพูน กระมัง อาจจำผิดได้

ยางเป็นอย่างไรบ้าง

แต่ชอบน้ำมากกว่าครับ

ไม่รู้เป็นอย่างไร

นับถือครับ

ขอคำปรึกษาด้วยค่ะ..ที่ดินอยู่จังหวัดอุบลฯ ติดบุ่ง ลักษณะดินเหนียวปนทราย  (เป็นที่ลาดลงบุ่ง)   ปี่ที่น้ำท่วมใหญ่จริงๆ(ปี 45 และ ปี53) มีน้ำหลากมาจากแม่น้ำมูลลงบุ่ง ระยะน้ำลดเข้าสู่ปกติเกือบ 1 เดือน   ปัจจุบันทำนา 16 ไร่  ส่วนที่เหลือตั้งใจจะปลูกยาง จึงขุดคลองและขุดบ่อ นำดินมาถมเป็นถนน   ระดับน้ำเดิมก่อนถม ต้นสวนประมาณ 30 ซม. ปลายสวนติดบุ่งประมาณ 3 เมตร  ถมเสร็จวัดระดับน้ำท่วมกับถนนใหม่เหลือเกือบ 1 เมตร  

1.ถ้าไม่ถมอีก  จะมีวิธีบำรุงหลังน้ำท่วมได้หรือไม่

2. สวนด้านบนเป็นป่ายางนาประมาณ 8 ไร่  ไม่ทึบ(นับรวมได้เกือบ 50 ต้น) มีช่องตรงว่างตรงกลางประมาณ 2 ไร่ ถ้าไม่ตัดต้นยางนา จะปลูกยางแซมได้หรือไม่

ขอคำแนะนำคนอยากปลูกยางด้วยค่ะ ..ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ตอบคุณลูกตาล ครับ

       ผมไม่ค่อยเคลียร์คำว่า "บุ่ง" ครับ  แต่ถ้าดูเนื้อความแล้ว น่าจะเป็นที่ลุ่ม ที่มีน้ำขัง  โดยหลักของสวนยาง หากมีน้ำขังให้น้ำท่วมโคนเป็นเวลานานๆ  ไม่ดีครับ  แต่ถ้าขังเป็นครั้งคราวหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งก็พอได้ เช่น ช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมสัก 30-40 วัน ก็พอทนได้ครับ(สำหรับยางที่โตยอดพ้นน้ำ -แต่ถ้าเป็นยางเล็ก น้ำท่วมยอดแค่ 3-7 วัน ก็ตายครับ)  แต่ในระยะยาวหากระดับน้ำใต้ดินน้อยกว่า 1.00 เมตร ก็ไม่ดีครับ เพราะรากยางพารา ไม่ชอบระดับน้ำใต้ดินที่สูงเกิน ถ้าระดับน้ำใต้ดินสูงเกินจะทำให้รากไม่หยั่งลงไป คือถ้าลงไปเจอน้ำ มันจะหนีขึ้นโดยธรรมชาติ  เมื่อมีแต่รากผิวดิน ทำให้รากลอย ลมแรกต้นล้มได้ง่าย ลแะรากเน่าไม่ให้น้ำยางอีกต่างหาก  การขุดคลอง + ยกร่องจึงถูกต้องครับ เพื่อยกระดับผิวดินหนีระดับน้ำ  ที่สำคัญเมื่อยกร่องแล้วต้องมีทางระบายน้ำออกด้วย ถ้าไม่มีทางระบายน้ำออกจะทำให้น้ำท่วมร่องอยู่ดี  คำตอบสำหรับคำถามข้อ 1 คือ จะบำรุงรักษาได้ดีต้องระบายน้ำออกให้ได้  สำหรับคำถามที่ 2 การปลูกพืชแซมต้นไม้อื่น ให้ผลไม่เต็มที่ครับ ยิ่งมีไม้อื่นหลายต้นยิ่งแล้วใหญ่ ธรรมชาติของต้นไม้ยืนต้น(ยกเว้นไม้พื้นล่าง) ถ้าปลูกใต้ร่มเงาไม้อื่นหรือในรัศมีรากไม้อื่น การเติบโตก็ไม่เต็มที่ ปกติยางพาราอายุ 7 ปี ที่ระดับ 1.50 เมตร จากพื้น เส้นรอบลำต้นจะได้ 50 เซ็นติเมตร  แต่ถ้าถ้าปลูกใต้ร่มเงาไม้อื่นหรือในรัศมีรากไม้อื่น  อาจได้เพียง 10-40 ซม. ขึ้นอยูกับใกล้-ไกล จากร่มเงามากน้อยแค่ไหน  อันนี้ต้องทำใจครับ  อยากเอายางนาไว้ ก็ไม่ได้ยางพาราเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ชั่งน้ำหนักเอาก็แล้วกันว่าจะทำอย่างไร  การโค่นยางนานั้นแม้จะอยู่ในที่ของเราก็ต้องขอป่าไม้ใช่ไหมครับ

สวัสดีค่ะ อยากขอคำปรึกษาค่ะ คือว่ามีที่ดินแปลงนึงอยู่ในที่ลุ่มติดเชิงเขา แต่น้ำไม่ท่วมขัง มีคลองคั่นกลางสวนค่ะ ปลูกปาล์มและเงาะ มังคุด ช่วงหน้าฝนมีน้ำขังอยู่บ้างตามโคนต้นมังคุด และต้นมังคุดบริเวณนั้นก็ไม่ค่อยโตเหมือนต้นอื่นๆค่ะ อยากเปลี่ยนมาปลูกยางพารา อยากถามว่า

1. ถ้าจะยกร่องไม่ทราบว่าต้องยกร่องสูงเท่าไรค่ะ แล้วต้องขุดร่องระบายน้ำในร่องให้ ใหลลงคลองด้วยมั๊ยค่ะ เพราะกลัวว่าช่วงหน้าฝนน้ำเยอะ น้ำจากคลองจะใหลเข้าสู่ร่องอีกค่ะ

2.ถ้าไม่ขุดให้น้ำใหลลงคลอง แสดงว่าจะมีน้ำขังอยู่ในร่องตลอด ต้นยางจะเติบโตดีหรือเปล่าค่ะ

3.ถ้าไม่ขุดยกร่องจะให้ผลดีมั๊ยค่ะ เนื่องจากน้ำไม่ท่วมแต่บางที่มีน้ำขังประมาณตาตุ่มได้ค่ะ ถ้าเว้นบริเวณนั้นไว้ไม่ปลูกโดยที่ไม่ต้องยกร่องทั้งสวนเลยจะดีหรือไม่ค่ะ เลือกปลูกเฉพาะที่แห้งๆ เพราะเห็นเงาะกับมังคุดบริเวณที่น้ำไม่ขังก็ต้นโตดีค่ะ


ขอขอบคุณล่วงหน้า สำหรับคำตอบนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท