สร้างบ้าน 1 พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส


เล่าเรื่องเทคนิคการสร้างบ้านในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

      บ้านของผมสร้างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ 2540 - 2541 ครับ  ผมพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในช่วงที่ผู้รับเหมาและช่างกำลังตกงาน  ช่วงนั้นธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ โครงการก่อสร้างหยุดชะงัก ผู้รับเหมาไม่มีงาน ช่างทำงานแล้วถูกเบี้ยวค่าแรง ท้ายที่สุดก็หยุดงานกันถ้วนทั่ว  ผู้รับเหมาเหลือไม่กี่ราย ที่อยู่ก็เลี้ยงช่างไว้ประมาณร้อยละ 10-20 เพียงเพื่อให้บริษัทมีชื่ออยู่ได้ ไม่หายไปจากวงการเท่านั้น  ช่วงที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้แต่ผมมีสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานยังปล่อยได้อยู่จึงใช้แหล่งทุนแหล่งเดียวที่เหลื่ออยู่นี่แหละให้เป็นประโยชน์  มีที่ดินอยู่ประมาณ 4 ไร่เศษ  หาเพียงช่างมารับเหมา  มีทางเลือก 2 ทาง คือ 1) ถ้าเราสร้างบ้านแบบจ้างช่างโดยซื้อวัสดุเอง จะเป็นภาระการวิ่งหาซื้อวัสดุ  บางครั้งเราสั่งซื้อแล้วช่างยังแอบไปแบ่งเปอร์เซ็นต์จากร้านขายวัสดุก่อสร้างเสียอีก และอีกอย่างคือเราซื้อของแพงกว่าผู้รับเหมาแน่นอน  ที่สำคัญถ้าช่างก็สร้างผิดพลาดเมื่อเราสั่งรื้อหรือทุบทิ้งเราเป็นผู้แบกรับค่าวัสดุที่เสียหายเอง  2) ให้ผู้รับเหมาทั้งค่าแรงค่าวัสดุ  จุดอ่อนตามประเด็นแรกก็จะถูกขจัดออกไปหมด  แต่เราอาจจะจ่ายแพงกว่าได้  จึงต้องมีช่องทางแก้ดังย่อหน้าถัดไปครับ
      การจะก่อสร้างให้ได้ราคาถูกจะต้องมีการแข่งขัน  ผมใช้วิธีเลียนแบบการประมูลของราชการ  โดยขึ้นป้ายบนพื้นที่ก่อสร้าง ต้องการผู้รับเหมาก่อสร้าง   แล้วให้เบอร์โทรศัพท์ไว้  ถ่ายแบบพิมพ์เขียวจำนวน 10 ชุด  ใครสนใจให้เสนอราคา  ซึ่งเขาจะมารับแบบจากผมพร้อมเงินมัดจำ 5,000 บาท ถ้าไม่มัดจำรับแบบแล้วอาจหายต๋อมไปเลย  เมื่อเขามาเสนอราคา ผมจึงจะจ่ายเงินค่ามัดจำแบบคืน  ผมไม่ใช้วิธีขายแบบก่อสร้างเหมือนราชการ  เพราะผมไม่ต้องการให้แบบบ้านของผมแพร่หลายออกไปแล้วไปสร้างตามแบบที่ผมออกแบบครับ   มีผู้สนใจมารับแบบไป 8 ราย  และกลับมาเสนอราคาทั้ง 8 ราย  ราคาที่เสนอเรียงตามลำดับ จากสูงไปหาต่ำ ดังนี้
2.2 ล้าน, 2.1 ล้าน, 1.95 ล้าน, 1.8 ล้าน, 1.65 ล้าน, 1.55 ล้าน, และ1.4 ล้าน  จำนวน 2 ราย  รวมทั้งหมด 8 ราย  ผมเรียกผู้เสนอราคา 1.4 ล้านมาต่อรอง ทั้ง 2 ราย  รายแรกไม่ยอมลดราคา  แต่อีกรายยอมลดราคาให้ 50,000  เหลือ 1.35 ล้าน บาท  ผมจึงตัดสินใจเซ็นสัญญากับรายที่ยอมลดราคาให้
      มีผู้หวังดีหลายราย เมื่อทราบข่าวว่าผมเซ็นสัญญาสร้างบ้านกับผู้รับเหมารายนี้  เขาบอกว่าสุดๆ เลยครับ ให้ระวัง!   ผมบอกว่าขอบคุณครับที่เตือน แต่ผมมีวิธีการควบคุมงานก่อสร้างให้ได้คุณภาพตามแบบและมาตรฐานทั่วไป  ช่างหรือผู้รับเหมาจะเบี้ยวผมยากครับ  เคล็ดลับมีดังนี้ครับ
       - ส่วนที่ไม่เขียนไว้ในแบบ  แต่เป็นความต้องการของเจ้าของบ้าน ให้เขียนบรรยายไว้ในรายการประกอบแบบ  เช่น ข้อความ "เมื่อก่อสร้างเสร็จ ก่อนเบิกเงินค่าว่าจ้างก่อสร้างงวดสุดท้าย  ผู้รับจ้างต้องปรับระดับพื้นให้เสมอระดับ 0.00 ความกว้างห่างจากตัวอาคาร 5.00 ม.  พร้อมทำความสะอาดเศษวัสดุก่อสร้าง  เก็บเครื่องมือออกจากพื้นที่ก่อสร้างให้หมด"  ประโยคแค่นี้ ผู้ว่าจ้างทุ่นแรงไปเป็นพันเป็นหมื่นนะครับ  เพราะส่วนใหญ่ เมื่อก่อสร้างเสร็จ ผมจะเห็นเจ้าของบ้านต้องเก็บกวาด เผาขยะกันหลายวัน  เครื่องมือช่างประเภทที่หนักๆ เช่นโม่ปูน ปั้นจั่น ยังไม่เคลื่อนย้าย จะปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่สะดวก  บางรายทิ้งไว้เป็นปีเลย  นึกภาพดูก็แล้วกัน
       - ถ้าเป็นความบกพร่องของแบบ  เขียนไว้ในสัญญาว่าผู้รับเหมากับเจ้าของบ้านต้องตกลงกันก่อน  และให้บันทึกข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและให้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
       - การทำสัญญาจ่ายเงินงวด แบ่งซอยงวดงานออกให้มากที่สุด เพราะผู้รับเหมาจะได้นำเงินไปจ่ายค่าจ้างและค่าของ  แต่กำหนดจ่ายตามสัญญาไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่างาน  เช่น เมื่อก่อสร้างฐานรากเสร็จ มูลค่างาน 100,000 ให้ทำสัญญาจ่ายได้ไม่เกิน 80,000 บาท  ไม่ใช่เอาเปรียบครับ  แต่ประสบการณ์ผมรู้ว่าผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นส่วนน้อย  ถ้าทำงานไประยะหนึ่งมองเห็นกำไรชัดเจน เขาจะเอากำไรก่อน ทิ้งงานเขาก็ทำ  เช่น ถ้าก่อสร้างฐานรากมูลค่า 100,000  แล้วผู้ว่าจ้างจ่ายเงินไป 200,000 เห็นกำไรชัดเจน 100,000 และมีแนวโน้มว่างานนี้ถ้าทำจนจบเขากำไรน้อยกว่าหรือขาดทุน  เขาทิ้งงานเลยครับ  เพราะทำงานแค่นี้ได้กำไร อยู่ไปก็ขาดทุน  เทคนิคการทิ้งงานง่ายนิดเดียวครับ  คือ ควบคุมงานมากก็อึดอัด ชวนทะเลาะ  ท้ายที่สุดก็หายไปเฉยๆ  เน้นว่า เป็นผู้รับเหมาและช่างส่วนน้อยนะครับ  ช่างส่วนใหญ่เขาก็มีจริยธรรมสูงอยู่  แต่เราต้องกันไว้ก่อนเผื่อไปเจอประเภทส่วนน้อยไงครับ
       - การก่อสร้างต้องเป็นไปตามขั้นตอน  เช่น ก่อนจะวางแบบ ต้องตรวจวัดขนาด เช็คระดับให้ถูกต้องก่อน  เมื่อจะเทคานหรือพื้น  ค.ส.ล. จะต้องตรวจความถูกต้องของการผูกเหล็กก่อน  เพราะทุกขั้นตอนเกี่ยวโยงกันหมด  ตกลงกันไว้ก่อนว่าการทำโดยพละการหากไม่ถูกตามแบบเจ้าของสามารถสั่งรื้อหรือทุบทิ้งได้  ตอนแรกๆ ก็มีการลองของกันนิดหน่อยครับ  คือก่อนผมจะออกไปทำงานปกติ เห็นมีการวางไม้แบบคานไว้เรียบร้อย ก็สั่งว่าเมื่อผูกเหล็กเสร็จอย่าพึ่งเทปูน ผมจะดูความถูกต้องของการผูกเหล็กก่อน  เมื่อกลับมาจากทำงานไปดูการก่อสร้างพบว่าเทปูนไปแล้วครึ่งหนึ่ง และพบว่าการผูกเหล็กไม่เป็นไปตามแบบ  เหล็กเสริมคาน 2 เส้น(เหล็กคอม้า)ด้านล่างขนาดผิดไป  จากเหล็ก 5 หุน  เป็นเหล็ก 4 หุน   ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักหายไปจากที่วิศวกรคำนวณไว้  โชคดีที่เขาเทคานไปไม่ตลอด ไปตรวจพบเสียก่อน เลยสั่งทุบปูนทิ้ง  หากจะให้รื้อเหล็กออกผูกใหม่ดูจะโหดร้ายเกินไป  จึงปรึกษากับเพื่อนที่เป็นวิศวกร  เพื่อนบอกว่าให้เสริมเหล็ก 4 หุนเสริมเข้าไปอีก 2 เส้น  พร้อมทั้งแนะวิธีการคำวณส่วนที่ขาดให้ คือ ให้คำนวณหน้าตัดขนาดเหล็กตามแบบ เทียบกับหน้าตัดเหล็กที่หายไป และคำนวณหน้าตัดเหล็กเข้ามาเสริม เมื่อรวมหน้าตัดเหล็กที่มีกับหน้าตัดเหล็กที่เสริมอย่าให้น้อยกว่าหน้าตัดเหล็กตามแบบ แค่นี้ก็ชดเชยกันได้  ไม่ต้องรื้อเหล็กที่ผูกผิดไป
       - การก่อสร้างต้องมีกำหนดเสร็จที่ระบุไว้ชัดเจนแน่นอน  ถ้าไม่เสร็จปรับวันละเท่าไร ให้ระบุให้ชัด  ไม่เช่นนั้น คุณก็จะต้องจ่ายเงินเป็นแสนเป็นล้าน  สองปีสามปีก็ยังไม่เสร็จ  เงินไปจมอยู่เท่าไร  ผมใช้วิธีถามเขาตอนมาเสนอราคาว่าจะเสร็จประมาณกี่เดือน  เขาบอกว่า 1 ปีเสร็จ  ผมแถมให้อีก 3 เดือน  เซ็นสัญญาให้ใช้เวลารวม 15 เดือน  เมื่อครบ 15 เดือน  งานยังเหลืออีกประมาณร้อยละ  30  ผมใจดีขยายเวลาให้อีก 3 เดือน  แล้วบอกว่าหลังจากขยายเวลาให้แล้วหากไม่เสร็จ ผมปรับวันละ 3,000 ตามสัญญา  ซึ่งคำนวณแล้วเงินงวดสุดท้ายยังเหลืออีกสามแสนกว่าบาท  ท้ายที่สุดเขาก็ก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลาที่ตกลงกัน  เลยไปอีก 25 วัน แต่ผมจะลดให้เหลือ 15 วัน  ค่าปรับ สี่หมื่นห้า  ผมแจ้งว่าผมปรับเต็มนะครับ  ผมเสียโอกาสเข้าอยู่บ้านมา 6 เดือนแล้ว ฤกษ์ที่ดูไว้เป็นอันพลาดหมด  เมื่อจ่ายงวดสุดท้ายผมก็หักเงินค่าปรับออกจากเงินงวดสุดท้าย  แต่งานก่อสร้างก็เสร็จครับ  ได้ตัวอาคารอย่างที่เห็นนั่นแหละครับ

     หลังจากนั้นมาผมก็มุ่งมั่นที่จะจัดสวน ปลูกต้นไม้เอง ตามใจชอบ แล้วก็ค่อยๆ ทำมาตามที่เห็นนะครับ  เน้นปลูกหญ้า เพาะพันธุ์ไม้ปลูกเอง ดูแลเอง
     เคยได้ยินคำกล่าวของใครคนหนึ่งทางทีวีที่ปลูกต้นไม้มาตลอดชีวิตเป็นล้านต้น  (ที่เป็นอดีตตำรวจนะครับ - จำชื่อไม่ได้) ท่านบอกว่า หากต้องการความสุขเดี๋ยวนี้ก็ให้กินเหล้า  หากให้มีความสุขชั่วคืนก็ให้จีบสาว  หากจะให้มีความสุขถาวรให้ปลูกต้นไม้  ผมเห็นจริงตามท่านว่า เมื่อสร้างบ้านเสร็จผมก็ปลูกต้นไม้ได้ความสุขแบบยั่งยืนจริงๆ ครับ

     บ้าดังกล่าวผมออกแบบเองครับ  วันหลังจะเขียนเรื่องการออกแบบบ้านให้นะครับ ถ้าสนใจ

หมายเลขบันทึก: 185868เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณครับ

บันทึกนี้ดีมากเลยครับ เหมาะสำหรับผู้สร้างบ้านด้วยตนเองได้เรียนรู้ ปัญหาที่อาจพบได้ คนที่ไม่สันทัดเรื่องนี้ ต้องหาช่างรับเหมาที่ดีเชื่อถือได้

รอบคอบดีจังเลยครับ ยังไม่มีประสบการณ์แต่ดีใจที่จะได้เรียนรู้ จะได้ไม่ผิดหวังครับ

สวัสดีค่ะ คุณชนันท์

เรื่องปลูกบ้านนี่ ถ้าไม่มีความรู้ ก็แย่เลยนะคะ

ได้มาอ่านบันทึกนี้ จะเก็บไว้เป็นข้อมูล เผื่อมีโอกาสสร้างบ้านเป็นของตนเองบ้าง

ขอบคุณมากค่ะ หากมีเวลาอยากให้เขียนเล่าอีกค่ะ  ^_^

ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของชีวิตในขณะนี้คือมีบ้านสักหลัง ..บริเวณบ้านมีพื้นที่ให้ชีวิตได้ท่องเล่นอย่างเสรี ..มีต้นไม้, สระน้ำเล็ก ๆ  ให้ปูปลาได้ว่ายเล่น, มีต้นหมากและต้นมะพร้าวเยอะ ๆ ... รวมถึงพันธุ์ไม้ที่เก็บผลกินได้ และพื้นที่สำหรับผูกเปลใต้ร่มไม้ที่ครึ้มเขียว

ตอนนี้กำลังตัดสินใจเรื่องการปลูกบ้านอยู่กลางทุ่ง ...

เป็นความฝันที่อยากให้เป็นจริงมาก ๆ เลยครับ

 

ตอบ พันคำ, คุณขจิต, คุณมะปรางเปรี้ยว  ขอบคุณที่ให้กำลังใจเขียนครับ  ผมมีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้พอควรครับ  ลองตามไปอ่านได้ครับ  ถ้ามีคนสนใจก็จะเขียนให้อีกครับ

ตอบ คุณแผ่นดิน กลางทุ่งนา เป็นที่ที่อากาศถ่ายเทดีครับ บ้านของผมหันหน้าไปทิศตะวันตก หันหลังพิงเขา ผลก็คือในฤดูร้อน ลมตะวันออกโดนภูเขาบัง เชื่อว่าถ้าคุณแผนดินสร้างกลางทุ่งลมโกรกสบายครับ ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดและประสบการณ์จากการสร้างบ้านไว้ จากหลังที่ 1 ผิดพลาดอย่างไร  หลังที่ 2 ผิดพลาดอีก จนมาสร้างหลังที่ 3 จึงแก้ข้อผิดพลาดก่อนหน้านั้นได้  แม้ไม่หมดแต่ก็ดีกว่าเดิมเยอะครับ ลองเข้าไปดูนะครับ เผื่อเก็บประโยชน์เอาไปใช้ได้บ้างครับ

อยากทราบว่าบ้านมีขนาดเท่าไรคะ เพราะดิฉันกำลังจะสร้างบ้าน ตอนนี้ให้สถาปนิกออกแบบอยู่ขนาดเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 230 ตารางเมตร คุณคิดว่าจะสร้างได้ในราคาเท่าไร

ตอบคนอยากมีบ้าน ขออภัยที่มาตอบช้าครับ  บางทีไม่ได้มาดูนานๆเลยช้าไปหน่อย  วิธีการคำนวณราคาหากทราบพื้นที่ใช้สอย  ปัจจุบันราคาน่าจะอยู่ที่ ตรม.ละ 10,000 บาท 230 ตรม. = 230 X 10,000 =  2,300,000 บาท ครับ  ลองถามช่างที่กำลังเขียนแบบนะครับ ว่าขณะนี้การก่อสร้างบ้าน ตรม. ละกี่บาทแล้ว  ขึ้นอยู่กับคุณภาพวัสดุ ฝีมือความละเอียดละออของช่างและของแบบด้วยครับ  ค่าแรงก่อสร้างของช่างแถวปัตตานีเขาจะคิดประมาณ ตรม. ละ 1,700 - 2,000บาทครับ  ที่อื่นอาจถูกหรือแพงกว่า  หาข้อมูลเองนะครับ   สำหรับบ้านผมพื้นที่กี่ตารางเมตรแล้วไม่ทราบ  จำไม่ได้แล้วครับ  ตอนนั้นผู้รับเหมาค่าแรงเขาเหมาค่าแรงต่ออีกช่วงในราคาประมาณ 400,000 บาท ดังนั้น ค่าวัสดุจึงประมาณ 950,000 บาท + ค่าทำไฟฟ้าอีกประมาณ 100,000 บาท ครับ  เบ็ดเสร็จไม่เกิน 1,500,000 บาทครับ

สวัสดีคร้าฟฟฟฟ คุณชนันท์

แอบเข้ามาหาความรู้ครับ...

เยี่ยมมากเลย ผมกำลังอยากมีบ้านใหม่สักหลังอยู่พอดี

รู้สึกว่าคุณชนันท์จะเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่มาก...

ยังไงผมขอศึกษา และขอปรึกษาท่านด้วยนะคร้าฟฟฟ

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ...

เข้ามาเยี่ยมชมไว้ก่อน

แล้วจะกลับมาอ่านโดยละเอียดอีกครั้งนะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท