การจัดการภาครัฐ - ขาดเป้าหมายที่แท้จริง


การบริหารภาครัฐที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ การการทำเพื่อเป้าหมายให้ได้ทำ ไม่ใช่การได้ทำเพื่อเป้าหมายให้เกิดผลความเปลี่ยนแปลงใดๆ

        ลูกเคยตั้งคำถามกับผมว่า เมื่อไรระบบน้ำประปาของ อบต. จะได้ใช้สักที ?    ที่ลูกตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะเขาเห็นว่าถังน้ำประปาของหมู่บ้านก่อสร้างเร็จมาสองปีแล้ว แต่ยังไม่มีน้ำประปาจ่ายออกมา  คำถามของลูกทำให้ผมต้องคิดวิเคราะห์ เพื่อหาคำอธิบายให้ลูกทราบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ช่องทางคำตอบนี้ไม่เฉพาะแต่ระบบน้ำประปาของหมู่บ้านเท่านั้น  แต่รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ภาครัฐมีโครงการเข้ามาในหมู่บ้าน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือผลกระทบจากความแห้งแล้งเมื่อปี ๒๕๔๗  ผลกระทบจากน้ำท่วมหนักในปลายปี ๒๕๔๘    ผมอธิบายให้ลูกฟังอย่างนี้ครับ

         การบริการภาครัฐขาดเป้าหมายที่แท้จริง  เช่นเรื่องระบบน้ำประปา  อบต. ผู้รับผิดชอบตั้งเป้าหมายเพื่อ เจาะบ่อน้ำบาดาลเมื่อปี ๒๕๔๕   สร้างถังประปาเมื่อปี ๒๕๔๗  ก่อสร้างถังกรองน้ำในปี ๒๕๔๘  ทั้งหมดที่ดำเนินการมาเสร็จตามเป้าหมายทุกอย่าง  ขาดอยู่อย่างเดียวคือยังไม่สามารถจ่ายน้ำได้  เหตุผลคือ เมื่อมีบ่อน้ำ  มีถัง  มีเครื่องกรอง  มีปั๊มสูบน้ำ  แต่ยังไม่มีท่อจ่ายน้ำไปยังบ้านต่างๆ   ทราบว่าปี ๒๕๔๙  นี้จะได้งบประมาณมาวางท่อระบายน้ำให้   ผมยกตัวอย่างนี้ให้ลูกเห็นว่าการทำงานแบบขาดเป้าหมายที่แท้จริงย่อมไม่เกิดความสำเร็จที่แท้จริง  กล่าวคือ  การตั้งงบประมาณครั้งหนึ่งก็ตั้งเป้าหมายเพื่อก่อสร้างสิ่งเหล่านั้นให้เสร็จ  หาได้ตั้งเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับน้ำประปา   เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จก็ตรวจรับงานกันไป  บ่อที่ขุดเจาะไว้ยังไม่เคยสูบน้ำแบบใช้งานจริงๆ ว่าน้ำจะเพียงพอหรือไม่  ถังน้ำสร้างมาร่วมสองปีแล้วยังไม่เคยได้รับน้ำหนักของน้ำจริงๆ เลยว่าจะรับน้ำหนักไหวหรือไม่  ถังน้ำไฟเบอร์กลาสขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนหอโครงเหล็กนั้นจะรับน้ำได้หรือเปล่า รั่วหรือเปล่า  และที่ได้มาล่าสุดคือชุดกรองน้ำก็ยังไม่เคยใช้งานจริงๆว่าจะกรองน้ำได้จริงหรือเปล่า  ทุกกิจกรรมทำเพื่อให้เสร็จตามแบบ  ตรวจรับและจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาตามสัญญา  แต่ประชาชนยังไม่ได้รับน้ำประปา

        ตัวอย่างที่เห็นเป็นหนึ่งในหลายร้อยหลายหมื่นโครงการของภาครัฐ   คือการตั้งเป้าหมายเพื่อให้เสร็จเป็นส่วนๆ  แต่ขาดการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดผลแท้จริงต่อประชาชน  การช่วยแหลือผลจากภัยแล้งและน้ำท่วมก็เช่นเดียวกัน  มีการสำรวจความเสียหายไม่รู้กี่รอบในช่วงที่เกิดเหตุการณ์  แต่เป้าหมายของภาครัฐคือการสำรวจไม่ใช่การช่วยเหลือ  ดังนั้นจวบจนวันนี้ การช่วยเหลือใดๆ จึงยังไม่ถึงมือประชาชนเลย  จากตัวอย่างจึงสรุปให้เห็นว่าการบริหารภาครัฐที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ การการทำเพื่อเป้าหมายให้ได้ทำ ไม่ใช่การได้ทำเพื่อเป้าหมายให้เกิดผลความเปลี่ยนแปลงใดๆ

        สงสัยต้องให้ผู้บริหารภาครัฐเข้าอบรมเรื่อง "การคิดอย่างเป็นระบบ"  ให้หมดก่อนประเทศไทยจึงจะก้าวหน้ากว่านี้

หมายเลขบันทึก: 36655เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท