ประสบการณ์ติดตั้งเครื่องสีข้าว


พึ่งลงฐานรากและประกอบเครื่องได้นิดหน่อย ยังไม่ได้วางเสาลูกพร้อ ยังไม่ได้ต่อสายพาน ยังไม่ได้ยังไม่ได้วางตะแกรงแยกข้าว ยังไม่ได้วางหินขัดข้าว ยังไม่ได้ต่อสายพานกำลัง ฯลฯ

 บันทึก ๓ ก.ค. ๔๙ 

             วันนี้รับโทรศัพท์สั่งข้าวสังหยด เป็นครั้งที่ ๒๐ ในรอบปีแล้วมั้งครับ  คือคนที่เขาเคยสั่งข้าวสังหยดกล้องไปหุงข้าวต้มเขาบอกว่าอร่อย เคยซื้อที่อื่นมากินก็อร่อยไม่เท่า  แต่เราทำให้เขาไม่ได้  ตั้งแต่น้ำท่วมเมื่อปลายปี ๔๘ เครื่องสีข้าวเสียหายซ่อมแซมไม่ได้ เลยไม่สามารถทำข้าวกล้องส่งให้คนที่เคยสั่งซื้อได้

            เคยนำข้าวสังหยดไปให้คนอื่นสีให้  เขาขัดจากข้าวแดงกลายเป็นข้าวขาว กินแล้วจืดสนิท ไม่อร่อยครับ   เลยต้องลงทุนลงแรงใหม่ติดตั้งเครื่องสีข้าวขนาดสองเกวียนใหม่อีกเครื่อง  นี่ก็เป็นแรมเดือนแล้วยังไม่เสร็จเลย   พึ่งลงฐานรากและประกอบเครื่องได้นิดหน่อย  ยังไม่ได้วางเสาลูกพร้อ  ยังไม่ได้ต่อสายพาน  ยังไม่ได้ยังไม่ได้วางตะแกรงแยกข้าว  ยังไม่ได้วางหินขัดข้าว  ยังไม่ได้ต่อสายพานกำลัง   ฯลฯ

           เมื่อคืนเลยติดไฟฟ้าทำ/ประกอบกลางคืนเลย  ได้นิดหน่อย  ติดขัดที่ใส่ตลับลูกปืนเข้าไปในแกนไม่ได้ ฝืดเยอะเลย  วันนี้เช้าเลยหาซื้อตะไบ กระดาษทรายและหินเจียร  คืนนี้กลับไปลุยใหม่อีกที

บันทึก ๑๓ ก.ค. ๔๙ 

            หยุดอาสาฬหะบูชา ๔๙ กับเข้าพรรษา ๒ วัน  ลุยติดตั้งเสาลูกพร้อและสายพานลูกพร้อจนเสร็จ  ได้ต่อสายพานดึงลูกพร้อด้วย

            ได้เรียนรู้ว่าการติดแบริ่งให้หันด้านล๊อคออกนอก เพราะเวลาถอดจะปลดสลักง่าย  แต่ใส่เข้าไปแล้วถอดยากครับเลยปล่อยตามเลย  จะเปลี่ยนเมื่อไรคอยเจียรออกเลย

             วันนี้ได้วางตะแกรงหมด  เหลือติดตั้งสายพานกับต่อท่อลำเลียงข้าวและแกลบ

บันทึก ๓ ส.ค. ๔๙

            เมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาขนเครื่องนวดข้าวกลับมา  พร้อมทั้งเอาพูลเลย์ลากเครื่องกระเทาะเมล็ดข้าวเดิมซึ่งมีขนาด๘ นิ้ว ออก  ใส่ตัวใหม่ ๑๔ นิ้วแทน  ขุดหลุมวางแท่นติดตั้งมอเตอร์ ๕ แรงม้า  ไปรื้อแท่นตั้งเครื่องตัวเก่ามาใช้   ปรากฎว่ารูนอตไม่ลง  เลยชะงักไว้ก่อน  วันนี้ต้องออกแรงขอช่วยบราลีคว้านรูนอตให้

  บันทึก ๒ ก.พ. ๕๐

           ช่วงนี้เหลือแต่ระบบไฟฟ้า  ผมต้องการฝังสายใต้ดินเพื่อจะไม่เกะกะต้นไม้  ช่างต่อไฟฟ้า(รับจ้าง) บอกใช้สายธรรมดาเบอร์ 16 ร้อยท่อ  เมื่อไปซื้อเจ้าของร้านบอกว่า กฟภ.ไม่อนุญาตให้ใช้สายธรรมดาฝังดิน  ให้ตรวจสอบกับ กฟภ.ใหม่  เลยรู้ว่าอนุญาตแบบนั้นไม่ได้  สายไฟฟ้าที่ฝังดินต้องเป็นสาย NYY เท่านั้น  เลยไปซื้อสาย NYY มา 55 เมตร  ตกเมตรละ 185 บาท   เมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ลงมือขุด กะว่าฝังดินให้ลึก ประมาณ 2 ฟุตครับ

 

บันทึก ๑๗ พ.ค. ๕๐

       ช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมาติดตั้งระบบไฟฟ้าเสร็จครับ  ใช้ไฟฟ้าเฟสเดียว ๑๕(๔๕ แอมป์)  ฝังสาย NYY ระยะทาง ๕๕ เมตร  (ราคาเมตรละ ๑๙๐ บาท) จากเสาที่ถนนหน้าบ้านเข้าโรงสี  ภายในอาคารใช้สายไฟฟ้าและอุปกรณ์เท่าที่มี(ประหยัดครับ)  แต่ดูดีและใช้งานได้ดี  ทดสอบแล้วมอเตอร์ทำงานได้ หมุนทวนเข็มนาฬิกา   ต้องสลับขั้วให้หมุนตามเข็มนาฬิกาก่อนซึ่งไม่ยากครับ

         เสร็จจากระบบไฟฟ้าก็ต้องต่อท่อส่ง/ลำเลียง  คิดอยู่ตั้งนานว่าจะใช้วัสดุอะไรดี  ท้ายที่สุดลงเอยที่ท่อเอสล่อนประปาครับ ต่อง่าย  ทำหน้าแปลนรับ ตรึงด้วยตะปูเกลียว  เกือบเสร็จแล้วครับ

บันทึก ๒๒ พ.ค. ๕๐

       วันนี้ทดสอบระบบ  วิ่งมอเตอร์เปล่ากินกระแส ๑๖ แอมป์  ทดสอบให้ลากเครื่องสีเปล่าไม่ใส่ข้าว กินกระแส ๑๙.๖ แอมป์  ใส่ข้าวเปลือกสีตามปกติ กินกระแส ๒๒ แอมป์  จัดว่าพลังของมอเตอร์เหลือเฟือ เพราะสามารถรับได้ถึง ๒๙ แอมป์

       ยังมีปัญหาที่ระบบลำเลียงข้าวไม่ส่งจากท่อที่กระเทาะเปลือกแล้ว  แก้ไขโดยคว้านรูท่อทางเข้าให้กว้างอีกหน่อย

 

บันทึก ๒๙ พ.ค. ๕๐

       หลังจากทดลองสีข้าวแล้วพบว่าระบบท่อใช้ไม่ได้  เนื่องจากการเจาะทางเข้าของข้าวที่ด้านหลังเสาพร้อ ไม่ได้ผล ข้าวไม่ลื่นไหล ต้องใช้ไม้เขี่ย ซึ่งเป็นอันว่าใช้ไม่ได้ ต้องทำใหม่

รออีกหน่อยนะครับถ้าหากเสร็จเมื่อไรจะได้กินข้าวอร่อยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 37153เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2006 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

บันทึกสนุกดีครับ ขอให้กำลังใจในการเขียนบันทึกนะครับ

ผมก็ลูกชาวนาครับ แต่เสียดายวันนี้ไม่ได้กลับไปทำนาที่บ้านอีก

ผมยังนึกบรรกากาศท้องทุ่งตอนเด็กๆได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณบันทึกที่ทำให้ผมรู้สึกดีๆอีกครั้งครับผม 

ดีใจครับ ที่เข้าใจ  ผมเพียงจะเล่าว่ามีอะไรๆ หลายอย่างที่กำลังทำอยู่  อาจจะมีคนอื่นไม่มีโอกาสทำสิ่งที่ผมทำ  เผื่อว่าใครจะนำไปใช้ประโชน์ได้บ้างครับ -ขอบคุณครับ  กำลังบันทึกประสบการณ์การไถนาอีกเรื่องครับ

เพิ่งได้เครื่องสีข้าวมาใหม่ แต่มีปัญหาเรื่อง ข้าวเปลือกปนกับข้าวสารเยอะ อยากทราบว่าจะคัดแยกอย่างไรให้ได้รวดเร็ว ใช้มือแยกไม่สะดวกเสียเวลาและแรงงานมากๆๆ

คำถามนี้อาจจะต้องตอบแบบเหวี่ยงแหครับ เพราะไม่มีข้อมูลว่าเครื่องสีข้าวที่ใช้เป็นแบบไหน เช่นแบบใช้ในครัวเรือนหรือแบบอุตสาหกรรม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจหลักการทำงานของเครื่องสีข้าวก่อนครับ

ข้าวเปลือกจะถูกแยกจากสิ่งเจือปนเช่นดิน เศษฟาง ฯลฯ ด้วยตะแกรง ข้าวเปลือกจะถูกส่งไปกระเทาะเปลือกออกเป็นข้าวกล้องและแกลบและบางส่วนที่ถูกกระเทาะเปลือกไม่หมดก็ยังคงเป็นข้าวเปลือก เครื่องจะทำการแยกแกลบออกจากข้าวกล้องและข้าวเปลือกโดยใช้ลมดูดเอาแกลบซึ่งเบากว่าเข้าเปลือกและข้าวกล้องออก ข้าวกล้องจะถูกส่งไปขัดเป็นข้าวสาร จะได้ข้าวสาร ปลายข้าว รำ และแกลบ

แยกรำละเอียดและปลายข้าวด้วยตะแกรงตาถี่ตามความต้องการ

การแยกข้าวเปลือกและข้าวกล้องออกจากกัน ทำงานโดยหลักการร่อน เหมือนกับการ่อนด้วยกระด้งตามภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่มาใช้เครื่องจักรทำงานแทนคน หลักการคือ เมื่อร่อนข้าวกล้องและข้าวเปลือก ข้าวเปลือกจะลอยขึ้นข้างบนและแยกส่วนข้างบนที่มีข้าวเปลือกปนอยมากกว่าข้าวกล้องู่ไปสีซ้ำ ข้าวกล้องซึ่งมีข้าวเปลือกเหลือน้อยก็จะถูกส่งไปขัดเป็นข้าวขาว ในขั้นตอนนี้หากมีข้าวเปลือกปนมาบ้างก็ขะถูกเครื่องขัดข้าวขาวกระเทาะเปลือกออกด้วยทำให้ข้าวเปลือกหมดไป

ปัญหาข้าวเปลือกปนกับข้าวสารจึงต้องพิจารณาถึง

1) เครื่องสีข้าวดังกล่าวมีตะแกรงร่อนข้าวเปลือกจากข้าวกล้องหรือไม่ ถ้าไม่มีอุปกรณ์คัดแยกข้าวเปลือกและข้าวกล้อง โอกาสที่จะเกิดปัญหานี้มีสูงครับ ทางแก้ก็คือ เอามาร่อนกับมือ หรือไม่ก็ต้องคัดด้วยมือ หรือไม่งั้นก็เลือกข้าวเปลือกที่เมล็ดเท่าๆ กันมาสี

2) ก่อนสีข้าวให้ตากข้าวจนแห้งสนิทครับ เพราะเมื่อข้าวแห้งสนิท เปลือกก็จะกระเทาะง่ายขึ้น

3) ถ้ามีเอุปกรณ์คัดแยกข้าวเปลือกกับข้าวกล้อง ต้องปรับความเอียงของอุปกรณ์คัดแยกให้พอดีครับ ถ้าปรับให้เอียงมากข้าวเปลือกก็จะติดมากับข้าวกล้องด้วย ถ้าปรับให้ราบเกินไป ข้าวกล้องก็จะติดไปกับข้าเปลือกมาก ซึ่งทำให้สีข้าวได้ช้าครับ

หวังว่าคงตอบคำถามได้นะครับ ถ้าให้รายละเอียดเกี่ยวกับชนิดของเครื่องสี ก็จะชัดเจนและตรงประเด็นกว่าครับ ยังไงก็ขอข้อมูลเพิ่มเติมด้วยครับ

อยากฟังเรื่องโรงสีต่อครับ ไม่ทราบว่าคิดคั้งเสร็จหรือยัง สามปีแล้วน่าจะเสร็จแล้ว ผมกำลังคิดจะมีโรงสีข้าวสักโรงครับ แต่ว่าไม่มีประสบการณ์เลย ประมาณว่าอยากได้ที่มันสีข้าวกล้องได้ สีเป็นข้าวขาว ร้อยเปอร์เซนต์ได้คือมีความสามารเท่ากับโรงสีใหญ่ แต่มีขนาดเล็ก กำลังผลิตประมาณสัก 2-3 เกวียว แบบนี้มีไหมครับ

เสร็จแล้วครับ ตอนนี้ใช้งานได้แล้วครับ เครื่องที่ผมใช้อยู่ขีดความสามารถประมาณ 2 เกวียนครับ ตอนนี้ทำข้าวกล้องกินเองครับ ขออภัยที่ไม่ได้เขียนต่อ ทำหลายเรื่อง หลายประเด็นเกินไปครับ บางเรื่องไม่แน่ใจว่าจะมีใครสนใจเลยไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้ารู้ว่ามีผู้สนใจจะนำมาเขียนให้ครับ รอสักพัก ผมชอบเขียนด่วยภาพครับ เขียนแบบแห้งอธิบายยากครับ

ขอบคุณมากครับ จะคอยติดตามตรับ โดยที่ผมเองมีอาชีพทำนา+รับราชการ มีความคิดอยากที่จะเพิ่มมูลค่าของข้าว แทนที่จะเป็นขายข้าวเปลือก หากว่าเป็นการขายเป็นข้าวสารได้ก็น่าจะดีจึงสนใจเรื่องของโรงสีข้าวมากครับ

อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มดีครับ ผมมีโอกาศได้โรงสีขนาดครัวเรือน มือสองมา จากญาติข้างๆ บ้านไม่เคยมีประสบการณ์การสีข้าวเลย

แต่พอได้อ่านบทความที่ท่านเขียนทำให้เข้าใจการทำงานของโรงสีได้ดีขึ้นในระดับหนึ่งตอนนี้สีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารได้แล้วแต่ต้องสีถึง สามครั้ง และข้าวที่ได้ก็มีเมล็ดที่หัก ปนมามากด้วย...ข้าวที่นำมาสี เป็นข้าวใหม่ ที่เค้าว่าข้าวใหม่สียากจริงไหมครับ และเคยทดลองสีข้าวหอมมะลิ ปรากฏว่าข้าวก็หักเหมือนกัน มีคำแนะนำมือใหม่หัดสีข้าวอย่างผมบ้างไหมครับ เคยเอาข้าวชนิดเดียวกัน(ข้าวหอมมะลิ)ไปจ้างเค้าสี เพื่อรับประทาน ปรากฏว่าเค้าสีข้าวของเราได้สวยมาก ๆ เทียบกับผมสีเองแล้วต่างกัน...เพราะว่าข้าวที่ผมสีออกมามีเปอร์เซ็นข้าวหัก 50 ต่อ 50 เลย แก้ปํญหาอย่างไรดีครับ...

  • ข้าวแดงกลายเป็นข้าวขาว กินแล้วจืดสนิท
  • จริงด้วยครับท่าน!!!

ตอบคุณเก็บตะวัน ข้าวที่หักเยอะ เนื่องจากการสีข้าวใหม่ครับ เทคนิคลดข้าวหัก คือการนำข้าวใหม่ไปตากแดดก่อนครับ รยิ่งนำมาจากแดดแล้วเข้าเครื่องสีทันที เมล็ดข้าวจะหักน้อยครับ เพราะอุณหภูมิเมล็ดข้าวที่สูงขึ้นทำให้ไม่เปราะ แต่ต้องเช็คดูให้ดีก่อนว่าเมล็ดข้าวไม่ได้แตกหักก่อนสีนะครับ เพราะข้าวบางพันธุ์หากเก็บเกี่ยวช้า คือปล่อยให้สุกเหลืองต้นเหี่ยว คอรวงแห้ง เมล็ดข้าวจะหักอยู่ภายในเปลือก เมื่อกระเทาะเปลือกออกเมล็ดก็หักไงครับ เหมือนกับว่าแกลบเป็นเฝือกดามเล็ดข้าวที่แตกอยู่ข้างในไงครับ ขอบคุณคุณatozorama ที่เสริมความเห็นครับ แต่ข้าวสารที่นำไปขาย หากสีหม่นๆ เพราะขัดน้อย  ชาวบ้านไม่ค่อยซื้อครับ  ผมจึงไม่เน้นสีข้าวขายตามใจผู้ซื้อครับ  ใครต้องการทานข้าวกล้องหรือข้าวขัดน้อยๆ ให้เหลือจมูกข้าว ผมสีให้ครับ  ผมจะอ้างว่าเครื่องผมสีข้าวขาวไม่ได้  แค่นี้ก็จบครับ  อีกอย่างหนึ่ง ข้าวที่ขัดเยอะๆ ปริมาณที่ได้จะลดลง เพราะหานไปกับรำและปลายข้าว มีแต่ขาดทุน ครับ

อยากสอบถามค่ะ คือพึ่งจะซื้อโรงสีขนาดกลางมือใหม่มาได้ประมาณเดือนนึง แต่เวลาสีข้าวแล้วมันมีเศษหินที่ขัดข้าวปนมากับข้าวด้วย ไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหายังไง หรือเป็นที่หินมันยังใหม่อยู่ค่ะ

ปัญหามีเศษหินขัดข้าวปนออกมา เนื่องจากหินที่ขัดข้าวหลุดออกมาจากก้อน อธิบายเพิ่มเติม : คือหินขัดข้าวเป็นส่วนผสมของเกล็ดหินเล็กๆ(มีเรียกเป็นเบอร์) ขนาดประมาณโตกว่าเมล็ดงานิดหน่อย หรือประมาณเมล็ดข้าวสารที่หากนะครับ เมื่อจะใช้งานเขาใช้ส่วนผสมของปูน(ที่มีใช้เฉพาะ)สีขาวๆ และน้ำเกลือ(ที่มีใช้เฉพาะเช่นกัน) ซึ่ต้องมีส่วนผสมที่ถูกต้อง หากส่วนผสมไม่ถูกต้องจะทำให้หินไม่แกร่งพอครับ นอกจากส่วนผสมที่ถูกต้องแล้วขั้นตอนการทำต้องพอดีด้วย โดยเฉพาะระหว่างการผสมปูน+น้ำเกลือ+หินขัด จะต้องผสมให้ดี นวดให้ได้จังหวะ เมื่อได้ระดับที่พอดีแล้วจึงพอกลงบนแก้และแบบ หากไม่พอดีก็จะร่วนครับ

การพอกหินนั้นไม่ใช่ว่าพอกแล้วจะได้ผลทุกคนถึงจะรู้สูตรก็ใช่ว่าพอกแล้วจะใช่ไต้บางครั้งพอกแข็งไปก็จะขัดไม่ออก

ปัญหาสีข้าวแล้วมีหินปะปนมากับข้าว ต้องพิจารณาในสองประเด็นครับ คือเป็นหินที่หลุดมาจากลูกหินหรือไม่ หรือเป็นหินที่มาจากภายนอก วิธีสังเกตหากเป็นหินที่มาจากหินขัดข้าวลักษณะหินจะมีสีดำหรือสีเทาสีคล้ายกับหินที่ใช้ก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นหินที่มาจากภายนอกส่วนมากจะเป็นหินลูกรังหรือบ้านผมเรียกหินแห่ ส่วนมากจะติดมากับรถเกี่ยวข้าวหรือลานตาก

ปัญหาของคุณเก็บตะวันที่บอกว่าสีด้วยเครื่องสีข้าวของตนเองมีข้าวหักมาก แต่เมื่อนำไปจ้างให้เขาสีให้ปรากฎว่าข้าวสวยมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าต้นเหตุเกิดจากคุณภาพเครื่องสีข้าวครับ ถ้าเป็นเครื่องสีข้าวแบบครัวเรือนปัญหาเยอะมากครับ ผมมีประสบการณ์ตรงกับเครื่องสีข้าวชุมชน สองลูกหิน หากจะสีข้าวให้สวนงาม ให้กลึงหินขัดข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนยางโดยกลึ่งให้เรียบสม่ำเสมอตลอดหิน และรอบการหมุนของหินกระเทาะข้าวเปลือกควรจะอยู่ที่ 790 เมตร/นาที รอบการหมุนของหินขัดข้าวควรจะอยู่ที่ 725-750 เมตร/นาที แต่ให่้หาวิธีนำลมเข้าไปช่วยขัดจะทำให้ข้าวขาวและการแตกหักที่น้อยลงจนเป็นที่พึงพอใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท