ชีวิตจิตอาสา (๑)


" ... ถึงแม้อีกหลายคน
ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทิศทางอื่น
แต่เชื่อเถอะว่าจิตใจของเพื่อนเรา
ยังคงมีความเป็น คนจิตอาสา
อยู่ไม่เสื่อมคลาย ...
"

               เมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน (พ.ศ.๒๕๓๕) ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ในกรุงเทพมหานคร หรือเรียกย่อๆ ว่า "โครงการ บอก." สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก AIDSCAP ในสมัยที่เอดส์เริ่มเข้ามาในเมืองไทย .. บัณฑิตอาสาฯ กลุ่มนี้ อาสาเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา การป้องกันการติดเชื้อ HIV/AIDS ในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ให้กับหนุ่ม สาวในโรงงานอุตสาหกรรม เขตกรุงเทพมหานคร ในระยะที่ ๑  แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS เพิ่มมากขึ้น มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก HIV/AIDS ทั้งโดยตรง และทางอ้อม ทำให้เกิด โครงการระยะที่ ๒  การสร้างทัศนคติที่ดี ทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ  การช่วยเหลือดูแลกัน ...

               สำหรับโครงการ บอก. นี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตัวเองเพราะไม่ใช่นักกิจกรรมนักขณะที่เรียนในมหาวิทยาลัย และด้วยการบ้าน งานที่อาจารย์สั่งในแต่ละสัปดาห์ของสาขาที่เรียนอยู่มีเยอะแยะเสียจริงๆ นี่ไม่รู้ว่า เป็นเหตุผลจริงๆ หรือเป็นเพียงข้ออ้าง กันแน่ แต่อย่างไรก็ตามทำให้ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม หรือชมรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ... จนได้มาเข้าร่วมโครงการ บอก. นี้ซึ่งถือว่าเป็น การเปลี่ยนฉากชีวิตแบบฉับพลันให้กับตัวเอง เพราะฉากชีวิตของตัวเองในขณะนั้นมีเพียงบ้านกับสถานศึกษา มาตั้งแต่เด็ก ... จากเด็กที่ใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไป ยังหาสาระให้กับตัวเองไม่ค่อยได้ การได้เข้าร่วมทำกิจกรรมในโครงการ บอก. ทำให้ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และวิธีคิด ต่างๆ มากมาย ...

               การคัดเลือกจาก ๕๐๐ กว่าคน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และฝึกทักษะปฏิบัติจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านสาธารณสุข งานส่งเสริม งานวิจัย ฝึกกระบวนการคิด กระบวนการทำงานร่วมกัน ๑-๒ เดือน จนเหลือบัณฑิตอาสาฯ ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เพียง ๓๕ คน .. ผ่านไปเกือบ ๒๐ ปี ยังคงมีเพื่อนเราทำงานอาสาลักษณะนี้อยู่อีกไม่น้อย  ถึงแม้อีกหลายคนได้เปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทิศทางอื่น แต่เชื่อเถอะว่าจิตใจของเพื่อนเรายังคงมีความเป็น คนจิตอาสา อยู่ไม่เสื่อมคลาย ..

               เมื่อ ๒-๓ อาทิตย์ก่อนเพื่อนเรา คนจิตอาสา ท่านนึงได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนกันถึงถิ่นเดิม สถาบัน'อาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พบป่ะครูบาอาจารย์ พูดคุยฟื้นความหลังกันอย่างมีความสุข .. ผ่านไปไม่กี่วันก็ได้รับ e-mail ฉบับนึง >>>

               วันนี้ได้รับข้อความจากอีเมล์ฉบับหนึ่ง แรกเริ่มเข้าใจว่า คงเป็นอีเมล์ขยะ ประเภทส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักหรืออาหารเสริมที่หลายคนคงจะเคยได้รับ ซึ่งคงไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายอย่างเราเท่าใดนัก ถ้าจะให้คนหุ่นเพรียวลมอย่างผมต้องมาหาเรื่องทรมานตัวเอง แต่ด้วยความเป็นคนที่สนใจในรายละเอียด...ในความหมายของคำว่า อดไม่ได้  ก็เลยลองดูว่าเมล์ฉบับนี้คืออะไร และใครส่งมา ไม่แน่ว่า อาจจะได้เพื่อน (สาว) มา Add ใน Hi 5 หรือ facebook ก็ได้ แต่….

               มันน่าผิดหวังในสิ่งที่ตนเองคิด มันไม่ใช่จากสาวสวยคนไหนเลย  แต่สิ่งหนึ่งที่ได้อ่านทำให้ผมได้พบเกลอเก่าที่ห่างหายหน้าตากันไประยะหนึ่ง และมาทราบภายหลังว่า  หล่อน … คือ ซือเจ๊ใหญ่อดีตบัณฑิตอาสาสมัครป้องกันและควบคุมโรคเอดส์โรงงาน รุ่นที่หนึ่ง หรือบางคนจะรู้จักคนกลุ่มนี้ในนามของ ”บอก.” แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ติดต่อมา

               ความทรงจำของผมต่อโครงการบอก. หรือโครงการบัณฑิตอาสาสมัครป้องกันและควบคุมโรคเอดส์โรงงาน นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 โดยประมาณ โดยมีอาสาสมัครวัยรุ่นหนุ่มสาว (ในขณะนั้น) เข้าไปทำงานในโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ พวกเราจะเข้าไปทำการรณรงค์ให้ความรู้แก่พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรู้เรื่องโรคเอดส์ ซึ่งในขณะนั้นความรู้เรื่องเอดส์ยังเป็นของใหม่ของคนยุคนั้น ซึ่งหมายรวมถึงพวกเราเช่นกัน และถ้าไม่เข้าสู่กระบวนการการเรียนรู้ด้านเอดส์จากโครงการฯนี้ คาดว่าพวกเราเองคงมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติต่อเรื่องเอดส์และผู้ติดเชื้อเอช ไอ วีไม่ต่างจากคนอื่นๆ เช่นกัน

               จำได้ว่าเรามีสภาพไม่ต่างจากนักเรียน คือเมื่อเรียนจบในหลักสูตรต่างๆ ที่ทางคณาจารย์ในโครงการบอก. ได้มอบให้กับเรา  พวกบอก. อย่างเราก็จะนำความรู้ไปถ่ายทอดกับคนอื่นๆ ซึ่งก็คือ พนักงานในโรงงานที่เราได้รับผิดชอบกันอยู่ .... นี่คือหน้าที่ของเรา งานนี้ถือไดว่าคือการจับผลัดจับผลูมาทำ เนื่องด้วยการหางานในขณะนั้น มีคนมากกว่างาน เดินเตะฝุ่นและเกาะแม่กินอยู่ซักพัก (ไม่อยากใช้คำว่าตกงานเพราะจะทำให้เสียเหลี่ยม) ก็ได้เห็นข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในคอลัมน์ งานคือเงิน เค้าบอกว่าสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมในโรงงาน แต่ไม่บอกว่าฝึกอบรมเรื่องอะไร ในภาวะนั้น ต้องบอกว่าน่าสนใจ อีกอย่างเรียนครูมาคงได้ใช้ประโยชน์ ... ถึงแม้จะเป็นครูเกษตรก็ตาม และเราก็มาอบรมเรื่อง … เอดส์

               การเป็นบอก. ก็คือพวกเราต้องเรียนก่อน ก่อนจะเอาความรู้ไปบอกคนอื่น และเรื่องเอดส์ ตอนนั้นถือว่าทุกคนในสังคมยังใหม่ และพวกเราหลายคนรวมถึงตัวผมมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราแน่ แต่ทำไงได้ในเมื่อจะมีงานที่ไหนที่มานั่งเรียน แล้วยังแถมมีเงินเดือนให้เราด้วย คือวิธีคิดในเวลานั้น ซึ่งพวกเรา (หลายคน) ในกลุ่มบอก. เองก็มองว่าคงไม่มีที่ไหนที่ให้กับเราได้นอกจากที่นี่ พวกเราหลายคนในกลุ่มบอก. ไม่ได้จบด้านสาธารณสุข บางคนจบศิลปะ บางคนจบเกษตร บางคนเรียนช่าง  แต่ก็เข้ามาทำ …

               พวกเราตั้งหน้าตั้งตาทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งเรียนรู้จากอาจารย์ที่เข้ามาสอนพวกเรา และนำความรู้ไปถ่ายทอดกับพนักงานในโรงงาน  วิธีคิดของตนเองในขณะนั้นก็เลยเป็นว่างานบอก. เป็นการทำงานที่เราได้ทั้งเงินทั้งกล่องก็เท่านั้น

               แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่ต้องบอกว่าพลิกผันกังหันนรก เหตุการณ์ที่เป็นการหักคอบอก. อย่างพวกเราก็คือ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนในขณะนั้น ได้พาพวกเราชาวคณะบอก. ซึ่งตอนนั้นก็มีประมาณร่วม 40 คน เข้าฟังการบรรยายและกิจกรรมต่างๆ ของวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านพักเพื่อดูแลผู้ป่วยเอดส์ของพระอาจารย์อลงกต ติกขปญโญ หรือเจ้าคุณอาทรประชานารถ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุในปัจจุบัน ได้ให้ความรู้แก่พวกเรา  ข้อสรุปที่ได้ ทางผู้ใหญ่ทั้งสองท่านทั้งพระและฆราวาสก็เห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จะพาบรรดาบอก. ทุกคนเข้ามาศึกษาชีวิตเพื่อการเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่แตกต่างๆ จากสิ่งที่พวกเราได้รับจากทางสถาบันฯ ที่สอนให้เรียนรู้ โดยไม่มีประสบการณ์การดูแลหรืออยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี  ดังนั้นวัดพระบาทน้ำพุแห่งนี้จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ในเวลานั้นบอก. หลายคนในขณะนั้นมีความรู้สึกว่า … เราต้องมาดูแลคนติดเอดส์หรือนี่  ยอมรับว่าหลายคนในเวลานั้นความรู้ที่เรียนมาจากสถาบันฯ หายไปหมด มองการณ์เบื้องหน้าว่า ... เสร็จแน่งานนี้

               เพราะเรื่องเอดส์ในขณะนั้นที่เราได้รับเป็นการสร้างความรู้ให้กับคนอื่น เราบอกเพียงให้ความรู้ ให้ทุกคนป้องกันไม่ให้เอดส์เกิดขึ้นกับตนเอง  แต่แก่นแท้การเรียนรู้จริงเพื่อต้องการที่บอกกับทุกคนในสังคมเข้าใจว่าเอดส์อยู่ร่วมกันได้นั้น มันยังคงเป็นคำถามในใจขณะนั้น ไม่เพียงเฉพาะคนอื่นแต่ยังรวมถึงพวกเราหลายคนเหมือนกัน แต่ในเมื่อเป็นบอก. ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอยู่ในถ้ำเสือเสียแล้ว ยังไงก็ต้องได้ลูกเสือ ทุกคนก็ต้องบอกอย่าง (ไม่) มั่นใจนักว่า .... เอาไงก็เอาวะ

               การมาอยู่ที่นี่ (วัดพระบาทน้ำพุ) เพื่อมาศึกษาและเรียนรู้จากสถานที่จริง ประสบการณ์จริง  นั้นจะมีการแบ่งเป็นรุ่นๆ ละ 3 คน ตัวผมเองจำไม่ได้ว่าอยู่รุ่นหรือรอบที่เท่าไหร่ แต่จำได้ว่า ตอนที่มาเป็นเดือนมิถุนายน โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้หญิงอีก 2 คน ร่วมกันเดินทางในทริปนี้  ซึ่งภารกิจก็ทำหน้าที่ตามที่สถาบันฯมอบหมาย ซึ่งไม่ต่างจากเพื่อนบอก. คนอื่นๆที่เข้ามาเรียนรู้จากที่นี่มาก่อน แต่ละรอบจะใช้เวลา 1 เดือน เสร็จแล้วก็จะมีบอก. ในรอบใหม่เข้ามาแทนที่ต่อจนครบทุกคน

               จำได้ว่า วันแรกที่มากระเป๋ายังไม่ทันเก็บเข้าที่พัก พวกเรา 3 คนก็เข้าไปหาเพื่อนบอก. รุ่นก่อนด้วยความคิดถึง และจะสอบถามว่า .... อยู่ที่นี่อยู่ดีหรือไร รวมถึงให้พวก ”รุ่นพี่” ได้ถ่ายทอดว่ามาอยู่ที่นี่ ต้องทำอะไรบ้าง แต่ยังไม่ทันได้คุยก็พบว่า วันแรกของการมา เราถูกรับน้องด้วย การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี รายหนึ่ง  แว่บแรกทำให้เราคิดว่า กว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจในรอบของเรา จะมีคนตายเพิ่มกี่คนเนี่ยะ โรคนี้มันทำให้คนเราตายได้ง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ

               แต่สิ่งที่สังเกตกลับเป็นว่า ทำไมเพื่อนบอก.ที่อยู่ก่อนเรา พวกเขาถึงร้องไห้ต่อการจากไปของผู้ติดเชื้อรายนี้ เราได้รับคำตอบว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้มีความสนิทสนมกับเพื่อนบอก. กลุ่มนี้อยู่มากพอสมควร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างที่เพื่อนๆ บอก. กลุ่มนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวัด  และภายหลังก็ล้มป่วยลง  รวมถึงเคยให้สัญญาระหว่างกันว่า ตัวเค้า (ผู้ติดเชื้อ) จะเสียชีวิตลงก็ต่อเมื่อเพื่อนบอก. กลุ่มนี้ได้กลับมาเยี่ยมเขาที่นี่ และในวันที่เพื่อนบอก. กลุ่มนี้กลับมาที่วัดฯ ผู้ติดเชื้อรายนี้ก็ทำตามสัญญา  เขาเสียชีวิตลงในวันที่พวกเขามาพบกัน  ฟังดูเหมือนเหลือเชื่อ แต่มันก็เป็นไปแล้ว….

               พวกเราชายหนึ่งหญิงสองชาวบอก.ได้เก็บความสงสัยนั้นไว้ แต่ยอมรับว่าในระยะแรกของการมาอยู่ที่นี่ วันเวลา คงมีมากกว่า 24 ชั่วโมงต่อวันเป็นแน่ บรรยากาศที่อึมครึม อีกทั้งยังไม่คุ้นเคยกับผู้คนที่อยู่ที่นี่ เราเริ่มกังวลแต่ก็พยายามปฏิบัติงานเพื่อศึกษา รวมถึงเรียนรู้วิถีชีวิตในวัดพระบาทน้ำพุให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไล่ตั้งแต่คอยดูแลผู้ป่วย พูดคุยกับผู้ติดเชื้อ บรรยายให้ข้อมูลเรื่องเอดส์แก่ผู้เข้ามาดูงานของทางวัด รวมถึงอื่นๆ เท่าที่จะช่วยได้ ในขณะนั้น ความรู้สึกหนึ่งมันเกิดขึ้นแก่พวกเรา …… หลังจากนั้นไม่นาน

               เราเห็นบรรยากาศของคนที่เข้ามาดูงานที่วัด ที่ยังไม่กล้าแม้กระทั่งพูดคุยผู้ติดเชื้อ หรือถึงแม้จะคุยก็มีระยะห่าง หลายหน่วยงานเข้ามา แต่ก็ทำประหนึ่งว่าเข้ามาในสวนสัตว์ หรือดูคนที่ผิดปกติที่พบเห็นตามงานวัด  หลายครั้งที่เราสอบถามพูดคุยกับคนที่มาดูงาน หลายคนกลัวจะติดเอดส์ ถ้าเข้าไปใกล้ ซึ่งรวมถึงผู้ติดเชื้อบางรายที่บอกเราว่า หลายครั้งรู้สึกรำคาญหรือ โกรธเคือง ที่มีคนมาถามว่า ติดมาอย่างไรหรืออะไรก็ตามที่เป็นคำพูดที่มีนัยยะแห่งความเหยียดหยาม ชิงชัง ต้องยอมรับว่าเอดส์เป็นโรคที่หลายคน (ในเวลานั้น) มองว่าเกิดจากพฤติกรรมทางเพศที่เรียกว่าส่ำส่อน มากรัก  การประทับตราเพื่อสร้างสำเนาถูกต้องกับผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี คือบุคคลน่ารังเกียจ  แต่ทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ติดเชื้อ และคนที่มาดูงานก็ยังมีความเหมือนแม้แตกต่างกันก็คือ .... ไม่เข้าใจกันและกันเหมือนกัน

               แต่ระยะเวลาแห่งการเรียนรู้ทำให้พวกเราบอก. ฝึกงานอย่างพวกเราก็มารับรู้ในเวลาไม่นานว่า สิ่งเหล่านี้ที่พวกเขาได้พบเจอ ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับพวกเขาผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกายอย่างที่มิอาจหาสิ่งใดมาลบล้างได้

               ตามประสาคนเจ๊าะแจ๊ะทำให้ได้เรียนรู้ถึงความคิดคนหลายกลุ่ม หลายคนที่มีทั้งเพศ วัย อาชีพ ฐานะที่แตกต่างกัน ไม่ว่ายากดีมีจน แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือเป็นเอดส์เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มีค่ามากต่อการเรียนรู้สำหรับตัวเรา  คือทุกคนที่นี่มีความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ของเรา  แม้ว่าเราทุกคนจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สังคมที่เรามาอยู่ร่วมกับพวกเขามันสอนให้เรานึกถึงคำว่า ครอบครัวแห่งความเข้าใจนั้นเป็นอย่างไร ความรักความเข้าใจที่มีให้กันมีหน้าตาเป็นอย่างไร โรคเอดส์เป็นเพียงเรื่องขี้เล็บที่ไม่อาจบงการชีวิตระหว่างเรากับพวกเขาได้

               ทุกเย็นเราจะมาคุยกัน ทำกับข้าวกินกัน เล่นดนตรี เล่นกีฬาร่วมกัน  โดยไม่เคยนึกเลยว่าเราจะติดเชื้อเอช ไอ วีจากพวกเขาหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้ผมนึกถึงวันแรกที่มาที่นี่ และเข้าใจในทันทีว่าทำไมการจากไปของเพื่อนผู้ติดเชื้อคนหนึ่งถึงมีคุณค่ามากสำหรับเพื่อนบอก.กลุ่มนั้น การล้มตายของพวกเขานอกเหนือจากภาวะความเจ็บป่วย แต่ส่วนหนึ่งก็คือตายเพราะความ ไม่รัก ของคนในครอบครัวของพวกเขา โรคนี้ไม่ทำให้คนตายได้ง่าย ถ้าไม่มีตัวเร่งที่เรียกว่า ความไม่เข้าใจ มาทำปฎิกิริยา แต่ความเจ็บป่วยล้มตายของเพื่อนผู้ติดเชื้อทุกคน กลับไม่อาจลบความเป็นเพื่อนจากใจของพวกเราได้

               สังคมนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เป็นคำถามในเมล์ฉบับนี้ได้ฝากมาให้พูดถึงคำว่า จิตอาสา ของเราในเวลาต่อมาก็เป็นได้ ...

               หลังจากนั้นถึงแม้โครงการบอก. จำต้องยุติลง ตามเงื่อนไขโครงการ พวกเราศิษย์เก่าบอก. หลายคนก็ยังคงแวะเวียนกลับไปเยี่ยมสถานที่ที่พวกเราเคยร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับเพื่อนที่สังคมส่วนหนึ่งแยกส่วนของพวกเขาออกจากสังคมปกติ หลายครั้งในหลายปี ตัวผมเองก็มักจะกลับไปที่นั่นเพื่อไปเยี่ยมเพื่อน พี่ น้อง ที่หลายคนยังคงมีชีวิตอยู่ รวมถึงคนใหม่ที่ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกของวัดแห่งนี้  เรายังคงพบความเชื่อ ความคิดเดิม พบการถูกทอดทิ้ง ที่ยังคงอยู่ ซึ่งพวกเราที่ทำงานต่อเรื่องนี้ก็คงต้องทำให้เกิดความกระจ่างต่อไป โดยสิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือในทุกๆ ครั้งของวันเกิดของตนเอง ภารกิจหนึ่งที่จะไม่ลืมคือ กลับไปที่วัด ไปเยี่ยมผู้ติดเชื้อ ไปนั่งที่เชิงบันไดโบสถ์ในยามเย็น  ดูบรรยากาศรอบๆ ของวัดทุกปี และกลับบ้าน ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปคือชีวิตของผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆ ที่แวะเวียนมาที่นั่นและจากไป

               เหล่านี้น่าจะเป็นการเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ของคำว่า จิตอาสา ก็เป็นได้ เพราะจวบจนปัจจุบัน การทำงานของตนเองก็ยังคงวนเวียนแต่เรื่องเหล่านี้ เปลี่ยนบทบาทไปบ้าง หลายครั้งที่พยายามไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนในสังคม แต่เหมือนว่าเบื้องบนได้ลิขิตมาแล้วว่า ทำอย่างอื่นก็ไปไม่รอดเท่ากับทำงานอย่างนี้  ทำจนเสพติดเป็นนิสัย เกิดเป็นสันดานที่สามารถบอกได้ว่า ชีวิตที่เกิดมาช่างคุ้มค่า เริ่มต้นจากความไม่รู้ จากความกลัว ความไม่เข้าใจ คิดเอง เออเอง เปลี่ยนเป็นความเข้าใจในการเรียนรู้ชีวิตแถมยังได้ให้และได้รัก นี่คือประสบการณ์ที่มีค่าที่เกิดจากจุดเริ่มของปฏิบัติการหักคอระหว่าง ผอ. สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน อาจารย์สมอาจ วงศ์ขมทอง และพระอาจารย์อลงกต ติกขปญโญ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ที่มีให้กับพวกเราได้สร้างคำว่าจิตอาสาให้พวกเราได้เรียนรู้ และทำให้หลายคนยังคงชินกับมันเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งที่เกิดมาอยู่กับเรา …

หมายเลขบันทึก: 354634เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2010 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
  • เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทรงคุณค่ามากเลยครับ
  • ว่ากันว่า
  • ใครชอบเล่าเรื่องเก่าๆ
  • สมัยก่อนมักเป็น....
  • ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ขจิต :

  • ใช่เลยค่ะ เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่ามากมาย และมีความสุขมากๆ ค่ะ
  • อาจารย์พูดถึงอะไรเหรอค่ะ??? (ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจค่ะ) ^^"

 

สวัสดีค่ะ ครูป้อม คนล่าฝัน (ราชิต สุพร) : เป็นภาพที่สวย พระอาทิตย์งามมากๆ ค่ะ แต่ติดใจในประโยคนี้จังค่ะ "อย่าเชื่อหนังสือจนหมด สู้อย่ารู้หนังสือเลยจะดีกว่า" ...

เป็นชนจิตอาสาที่ได้รับประสบการณ์ที่ดีจังครับ.

สวัสดีครับคุณ ณัชพัชฐ์

ขอบคุณบันทึกนี้ที่สร้างจิตอาสา

ทำให้รู้ว่าคนทำงานแบบนี้มีอยู่ทุกที่แต่เรายังขาดการเชื่อมต่อเครือข่ายหรือขาดสื่อสารให้รับรู้งานที่ทำกัน

ขอมาเรียนรู้ครับท่าน

สวัสดีค่ะ คุณ[hkowm : ขอบคุณค่ะ มันเป็นความทรงจำที่นึกถึงกี่ครั้งจะมีแต่ความสุขและทรงคุณค่าจริงๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--  :

  • เห็นด้วยกับท่านวอญ่าเลยค่ะ ยิ่งใน gotoknow มีอีกมากมายหลายท่านที่มีชีวิตจิตอาสาอยู่ในธาตุเลยทีเดียว อย่างเช่น ท่านวอญ่า เป็นต้นค่ะ
  • ขอเรียนรู้จากท่านเช่นกันค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • อ่านเพียงชื่อบันทึกก็รู้สึกดีและมีความสุขมากค่ะ
  • ตอนแรกที่ครูคิมไปวัดพระบาทน้ำพุ  ก็รู้สึกเช่นเดียวกันค่ะ
  • ตอนหลัง ๆ เมื่อไปและได้เห็นคนเพิ่มขึ้นมากหน้าหลายตา คุ้นเคยแล้วก็ลดความหวาดกลัวลง
  • พฤติกรรมของคนที่มีเจตนาไปเที่ยวแบบชมสวนสัตว์ยังมีอยู่นะคะ  ไม่อยากให้เป็นแบบนี้เลย
  • อยากให้คนไทยทุกคนมีจิตใจใสสะอาด โอบอ้อมอารี
  • อยากเห็นสถาบันครอบครัวที่มีความรักให้แก่กัน สร้างวินัยและความรัก ความเมตตาให้แก้สมาชิกในครอบครัว
  • และสอนเรื่อง...การแบ่งปันการรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น...ขอวิงวอนค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณครูคิม

  • บอก. แทบจะทุกคนจะได้รับประสบการณ์ และยังมีความทรงจำอันดี ที่ได้ไปทำงานอาสาให้กับพระอาจารย์อลงกต วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ในฐานะ บันฑิตอาสา ค่ะ ..
  • วิถีของคน ๓๕ คน จาก ๕๐๐ กว่าคนมาเจอกัน ทำให้เราได้รู้ว่าคนที่มี จิตอาสา มีอีกเยอะแยะมากมาย คงไม่ได้เพียงแค่คนทำงานในวงการเอดส์เท่านั้น แทบจะทุกวงการเลยหล่ะค่ะ ..
  • พวกเราได้รับสิ่งที่ครูคิมว่าไว้ และได้พยายามสร้างสิ่งเหล่านั้น หรือบอกต่อ เหมือนอย่างที่ในช่วงนี้กำลังพยายามให้เพื่อนๆ ชาว บอก. หันมาถอดบทเรียนหลังจากที่ผ่านไปแล้วร่วม ๒๐ ปีค่ะ ...

P..อิน้องณัฐพัชร์น้องดร.Pขจิต..บอกหมายความว่า..เป็นคนแก่จ้าอิๆๆๆ

  • ใครชอบเล่าเรื่องเก่าๆ
  • สมัยก่อนมักเป็น....คนแก่จ้า...
  • สวัสดีค่ะ พี่ครูอ้อยเล็ก :

    • อุตสาห์แวะมาบอก มาตอกย้ำนี่นา ฮ่า ฮ่า ..
    • ไปเริ่มสอนที่โรงเรียนใหม่เป็นอย่างไรบ้างค่ะ .. มีอะไรสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะค่ะ ...
    • ระลึกถึงเสมอค่ะ =)
    • เขียนถ่ายทอด สะท้อนทรรศนะ ให้วิธีมองและให้ความคิด ดีมากจริงๆครับ
    • อ่านในแง่การเขียนก็ดีครับ ใช้เป็นโครงเรื่องแล้วพาคนเข้าไปดูชีวิตของอาสมัครในห้วงวิกฤตของสังคม ก่อนที่จะสนทนากับผู้อ่าน ให้หาบทสรุปในใจตนเองต่อการเผชิญกับวิกฤติของสังคมด้วยพลังความมีจิตอาสาว่ามีความสำคัญและมีบทบาทต่อสังคมมากอย่างไรว่า ".....ภารกิจหนึ่งที่จะไม่ลืมคือ กลับไปที่วัด ไปเยี่ยมผู้ติดเชื้อ ไปนั่งที่เชิงบันไดโบสถ์ในยามเย็น  ดูบรรยากาศรอบๆ ของวัดทุกปี และกลับบ้าน ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปคือชีวิตของผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆที่แวะเวียนมาที่นั่นและจากไป...."
    • ผมต้องรู้จักน้องคนที่เขียนนี้อย่างแน่นอน แต่อ่านการเขียนแล้วเดาไม่ออกเลยครับ ในแง่ความมี Critical thinking กับความใกล้ชิดเรื่องราวต่างๆที่มากพอที่จะเขียนได้ขนาดนี้แล้วผมนึกเจ้าใหญ่

    อรุณสวัสดิ์เช้าวันอาทิตย์ค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    •  ใช่เลยค่ะ  ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องนี้คือเจ้า ใหญ่ (สุรเดช เชื้อผู้ดี) บอก. รุ่นที่ ๓
    • ใหญ่ เป็น บอก. คนนึงที่มีมุมมองในการทำงาน การใช้ชีวิตที่ดีและแปลกดีค่ะ .. ในฐานะ บอก. คนหนึ่งที่ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เข้าไปดูแลผู้ติดเชื้อที่วัดพระบาทน้ำพุ เป็นช่วงรอยต่อการผลัดเปลี่ยน บอก. จึงมีหลายเหตุการณ์ที่เป็นประสบการณ์ร่วมค่ะ ..
    • ใหญ่พา บอก. ไปนั่งเล่น และพูดคุยกันที่เชิงบันไดโบสถ์ (บางครั้งคือนั่งพักเหนื่อย เพราะว่าโบสถ์ของวัดพระบาทน้ำพุอยู่บนยอดเขา) 
    • ใหญ่พา บอก. เดินขึ้นเขา แล้วดิฉันลื่นตกเขาจนฝ่าเท้าเป็นบาดแผลใหญ่ ทำให้เดินเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อไม่ได้อยู่พักนึง แต่ยังเดินกระย่องกระแย่งไปชะโงกหน้าทักทายพี่ๆ เค้าทุกวัน วันละหลายเวลา ใหญ่ ต้องหาถุงเท้ามาให้สวมก่อนเดินเข้าโรงพยาบาล (และพี่ผู้ติดเชื้อท่านนึงได้ถามถึงดิฉันกับน้องพยาบาลก่อนเสียชีวิต ๑ วัน ซึ่งในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ บอก. ผลัดต่อไปเข้ามาดูแลต่อ)
    • ใหญ่ เป็นคนแรกที่พาเข้าไปดูแลผู้ติดเชื้อแบบใกล้ชิด คือ เช็ดเนื้อเช็ดตัว เช็ดแผล เปลี่ยนแพมเพิส ทาแป้งให้ ในเช้าวันแรก (ที่สำคัญผู้ติดเชื้อเป็นผู้ชาย)  หลังจากที่คืนแรก มีพี่ผู้ติดเชื้อท่านนึงปวดศีรษะมากจนทำร้ายตัวเองด้วยการเอาศีรษะพุ่งชนกำแพง จนเลือดสาดกระเด็นเต็มห้องปฐมพยาบาล (สมัยนั้น ยังเป็นเพียงห้องพยาบาล ยังไม่มีโรงพยาบาล) ..
    • ใหญ่ พาเดินซื้ออาหารที่ตลาดสดเมืองลพบุรี เพื่อเป็นอาหารของคนทั้งวัด ตลอดจนผู้มาศึกษาดูงานที่วัดพระบาทน้ำพุ เกือบจะทุกเช้า และพามาคลุกอยู่กับแม่ครัว ช่วยทำอาหาร นอกจากนั้นก็ถือว่าช่วย entertain แม่ครัวให้สนุกสนานยามเช้า ก่อนที่สายๆ เตรียมตัวต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ (แม้บางครั้งผู้มาดูงานก็มาแต่เช้า บอก. บางคน (ดิฉัน เป็นต้น) ยังไม่ได้อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันกันเล๊ยย เพราะเพิ่งกลับมาจากตลาดสด)
    • ใหญ่ เป็น มุสลิม ที่ทำงานใกล้ชิดกับพระอาจารย์อลงกต (ในช่วงนั้น) ซึ่งในความคิดนั้นแปลกตามาก กับการทำงานเชิงอุดมคติร่วมกันของ พระภิกษุสงฆ์ กับ ฆราวาสมุสลิม ..
    • ที่สำคัญ อาจารย์วิรัตน์ค่ะ อาจารย์ไปถามบอก. ทุกรุ่นได้เลยค่ะว่า พระอาจารย์อลงกต จะต้องถามถึง อาจารย์ม่อย ด้วยความรำลึกถึงทุกครั้ง ก็เพราะอาจารย์เป็นต้นแบบของสื่อการศึกษาของวัดพระบาทน้ำพุ อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบห้องประชุมให้กับวัดพระบาทน้ำพุในขณะนั้น หรือแม้การวางสคริปในการบรรยายให้กับพระอาจารย์ และพวกเรา บอก. ทุกขั้นตอนด้วยนี่ค่ะ ...
    • นอกจากต้องกล่าวขอบคุณ พระอาจารยอลงกต อาจารย์หมอสมอาจ แล้ว คงต้องกล่าวขอบคุณ พี่ม่อย Mr.Yes (มิสเตอร์เยสส์) ของพวกเรา น้องบอก. สำหรับประสบการณ์ดีๆ ด้วยเช่นกันค่ะ ..

    ขอใช้สิทธิพาดพิง

    ขอบคุณทุกท่านที่ติชม คิดว่าประสบการณ์ในช่วงนั้นมันสุกงอม ถ้าเป็นะม่วง ก็คงต้องเตรียมข้าวเหนียวรอ..ฮิฮิก็เลยเขียนอย่างที่ใจเขียน ถือว่าเป็นตัวแทนของเพื่อนบอก.ทุกคนที่ได้ให้และได้รับสิ่งดีดีนี้ทั้งจากตัวโครงการ รวมถึงทุกผู้คนที่พวกเราชาวบอก.ได้เจอ

    ปล.คนที่นึกถึงอดีตใช่ว่าจะชราเสมอไป แต่เป็นเรื่องความจำที่ค่อนข้างจะยอดเยี่ยมเสียมากกว่า....ขอเถียงๆ5555+

    สวัสดี และยินดีต้อนรับ บอก.ใหญ่ จ้า

              งานเขียนของใหญ่ บอกถึงความเป็นคนลุ่มลึก และสร้างบทสรุปจากประสบการณ์ที่เป็นตัวของตัวเองได้ดีมากเลยนะครับ ผมเห็นแต่บุคลิกความเป็นนักกิจกรรม เปิดเผย คุยสนุกสนาน จริงใจ แต่ความละเอียดลึกซึ้งจากกระแสความคิดและการถ่ายทอดอารมณ์ตัวหนังสือของเขาเป็นอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ค่อยได้เห็นอย่างนี้เลยนะครับ ...

    • พี่ม่อย ยังชื่นชมต่อใน บันทึกของพี่ม่อย [คลิ๊ก] และยังมีอีกหลายท่านฝากชื่นชมมานะชายใหญ่ ..
    • ทราบข่าวว่ากำลังมีงานเขียนที่จะตีพิมพ์เร็วๆ นี้ยังงัยอย่าลืมถือมาฝากกันบ้างเด้อ ..
    • และหวังว่าพวกเรา บอก. คงจะมีกิจกรรมดีๆ และได้ร่วมงานกันเมื่อมีโอกาส ตอนนี้ พี่ม่อย คิดถึงน้องๆ บอก. มากจนอยากพา คืนสู่เหย้า บอก. มาถอดบทเรียนกัน งานนี้ พี่ม่อย ยอมเป็นเจ้าภาพเลยเชียว .. คิดว่าอย่างไร? เป็นไปได้ไหม? ลองปรึกษาเพื่อนๆ ที่ยังพอติดต่อกันได้ดูที ..
    • คิดถึงเสมอจ้า ..
    • ((อ้อ!! ที่แวะมาแซวหน่ะ ท่านเป็นรุ่นน้องของใหญ่ที่ ม.เกษตร กำแพงแสน นะจ๊ะ))

    ที่ประทับใจคือตอนช่วยกันยกโลงศพนี่แหละ....อื่ม

    สวัสดีคะ คุณpp :

    • แวะมานานแล้วนะคะเนี่ยะ หลงหูหลงตาไปได้อย่างไร ทำไมเพิ่งเห็นน้อ ...
    • คุณ pp เป็นบุคคลนึงที่ช่วยเหลืองานพระอาจารย์อลงกตในลักษณะของงานอาสาอีกท่านนึงสินะคะ .. คงมีประสบการณ์มากมายในช่วงนั้น ถึงขนาดช่วยยกโลงศพนี่ถือว่าไม่ธรรมดา หรือยังคงทำงานอาสาที่วัดพระบาทน้ำพุอยู่คะ? อย่างไรแวะมาพูดคุยกันอีกนะคะ ..
    • ขอเป็นกำลังใจให้คุณ pp คะ ...

    ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยในฐานะที่เคยอยู่ในกลุ่ม บอก. แต่ไม่เคยติดตามความเคลื่อนไหว

    ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ที่เพื่อนใหญ่บรรจงเขียนลงไปมันทำใหผู้เกี่ยวข้องอย่างเรา

    และเพื่อนฯ รู้สึกภูมิใจ ถึงจะมาช้าก็อย่าว่ากันนะ

    แต่ผมสงสัยว่าผมเหมือนเคยรู้จักคุณณัฐพัชร์ ยังไงไม่รู้

    • สวัสดีเพื่อน บอก.รุ่นที่ ๓ คุณองอาจ นะค่ะ ดีใจ และตื่นเต้นมากๆ ที่เพื่อนเราชาวจิตอาสาอีกท่านนึง แวะเข้ามาทักทายกัน นี่เป็น บอก.คนที่ ๒ ต่อจาก บอก.ใหญ่ นะครับ ..
    • ประสบการณ์ของพวกเรา แม้ผ่านมานานมากแล้วแต่ยังคงรำลึกถึงกันเสมอ คิดถึงเพื่อนๆ บอก.ทุกรุ่นเช่นกันนะ ..
    • เป็นไปได้ไหมที่จะรวมรุ่น บอก. พบปะสังสรรค์ให้หายคิดถึง และเพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์ออกมาให้คนจิตอาสาได้รู้จักพวกเราในแง่มุมที่บัณฑิตอาสารุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับเอดส์ในช่วงที่เอดส์เข้ามาจนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อประเทศอย่างยิ่ง .. ประสบการณ์ของพวกเราทรงคุณค่ามากๆ น๊าาา
    • แล้วตอนนี้เพื่อนเราทำอะไรอยู่จ๊ะ ยังงัยแวะเข้ามาพูดคุยกันอีกน๊า ..
    • อ้อ! เรารู้จักกันแน่ๆ จ๊า =)

    รู้สึกดีใจมากเลย ที่ได้คุยกัน สวัสดีนะครับ  แต่ก็ขอโทษด้วยที่เปิดเข้ามาดูช้า

    ตอนนี้ผมทำธุรกิจส่วนตัวอยู่เปิดสำนักงานนายหน้าประกันวินาศภัยที่จังหวัดสระบุรี

    มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะรวมกลุ่มพบประสังสรรค์กัน ก้อไม่ได้เจอกันนานแล้วนี่

    แล้วอย่าลืมส่งข่าวบอกกันนะครับ  คิดถึงมากครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ขำสุข และพี่ครูคิมที่ได้มอบดอกไม้ให้เป็นกำลังใจค่ะ =)

    สวัสดีค่ะ คุณองอาจ อุ่นพงษ์

    • วันก่อนได้คุยกับเพื่อนใหญ่เรา ได้บอกเล่าให้เพื่อนใหญ่ฟังว่าเพื่อนบอก.องอาจ แวะมาทักทายกันที่นี่ก็ชักชวนกันเข้ามาพูดคุยกันอีกตามประสาเพื่อนชาวจิตอาสาที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานานมาก แต่ก็นึกขึ้นได้ เอ๊ะ! แล้วเราจะติดต่อกันอย่างไรต่อไปถ้ามีการนัดพบปะกันจริงๆ
    • ถ้ามีโอกาสแวะเข้ามาในบันทึกนี้อีกนะคุณองอาจ ติดต่อมาทาง e-mail ฝากข้อความ ฝากเบอร์โทรฯ กันไว้หน่อยก็จะดีนะคร๊าบบบบ ที่ [email protected] ครับ
    • ขอให้เพื่อนเรามีความสุขในทุกย่างก้าวของชีวิตนะครับ =)

    ถ้าหากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ติดเชื้อเอดส์ คิดว่าเราเป็นที่ปรึกษาท่านและเก็บความลับของท่านได้ ช่วยให้ท่านหายขาดจากโรคนี้แน่นอน เพราะคนใกล้ชิด 4 คนของเรา ได้หายเป็นปกติสุขเรียบร้อยแล้ว และมีชีวิตที่มีความสุขปกติไม่ต้องกังวลต่อสังคม และคนรอบข้าง เพราะค่าของเลือด และอวัยวะภายในดีครบ สมบูรณ์ หากไว้วางใจและอยากหายก็โทรฯ มาได้นะ 085-4111-571 พี่นิภา/พี่ตุ้ย

    เพิ่งมีโอกาสได้เปิดอ่านค่ะ
    เมื่อ COVID-19 เข้ามา ทำให้คิดถึงตอนที่เอดส์เข้ามาในเมืองไทยแรกๆ และสถาบันฯ ของเราก็เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่คิดและยกเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องตอบสนองต่อสังคมในขณะนั้น และเกิดโครงการการให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจ การป้องกันการแพร่กระจายเอดส์ ขึ้นมากมายเพื่อจะหยุดการแพร่กระจายของเอดส์ในประเทศไทยขณะนั้น จำได้ว่าตอนนั้นถ้าใครอยากรู้เรื่องเอดส์ต้องมาที่ สถาบันฯอาเซียน ทำให้เราได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศมากมายและดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จด้วยดี ทำให้ตอนนี้คิดถึง บอก.ทุกคนนะค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังคงเห็นท่านพระอาจารย์อลงกต ออกเดินทางรับบิณฑบาตร รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือวัดพระบาทน้ำพุ ถึงแม้พี่จะมีโอกาสได้ไปเยือนวัดพระบาทน้ำพุเพียงไม่กี่ครั้ง และอยู่ในเหตุการณ์คราวที่ ท่านผู้อำนวยการ(ศ.ดร.นพ.สมอาจ วงษ์ขมทอง) ได้เดินทางไปพูดคุยกับพระอาจารย์ในการที่จะส่ง อาสาสมัคร บอก.ของเรามาช่วยงานพระอาจารย์ที่วัดพระบาทน้ำพุในตอนนั้น เหตุการณ์ในวันนั้นยังจำได้ดีค่ะ และดีใจมากคะที่ อาสาสมัคร บอก.ของเราทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม เห็นทุกคนกระตือรือร้นอยากจะไปช่วยงานพระอาจารย์ ถึงแม้แรกๆ อาจจะกล้าๆกลััวๆไม่แน่ใจ แต่ในที่สุดทุกคนก็ทำได้ดีมากๆ นะค่ะ ทราบว่าโครงการสิ้นสุดแล้วแต่ทุกคนก็ยังแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนที่วัดพระบาทน้ำพุเรื่อยๆ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ทำให้คิดว่าถ้าใช้ Model นี้จัดการกับ Covid 19 จะเป็นไปได้ไหม?

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท