งานและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับงาน : “Blog”


เมื่อผู้เขียนรับปากมาช่วยเรื่อง KM ของสำนักฯ ได้ใช้เวลาสังเกตการณ์ ศึกษาและประเมินสถานการณ์ภายในสำนักฯ อยู่นานพอสมควร และคิดว่ามีเครื่องมือ KM 2-3 ตัวที่น่าจะทดลองนำร่องมาใช้กับการดำเนินงานของสำนักฯ ในเบื้องต้น ได้แก่ Blog, AAR และเครื่องมือชุดธารปัญญา

 

ผู้เขียนติดตามศึกษาเรียนรู้เรื่อง Blog ใน gotoknow มาประมาณเกือบ 3 ปี โดยมี คุณหญิง-นภินทร แห่ง สคส. เป็นที่ปรึกษาถาวร ตามเรียนรู้เรื่อง KM จาก blog ของ อ.วิจารณ์ และ อ.ประพนธ์ มาอย่างสม่ำเสมอ ได้เรียนรู้วิธีการใช้ blog เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานประจำของทีม KM ม.นเรศวร ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์ของ Blog ที่ไม่ใช่แค่การเขียนบันทึกประจำวันธรรมดาๆ เท่านั้น

 

ผู้เขียนเปิด Blog ครั้งแรกเมื่อประมาณต้นปี 2549 เขียนได้แค่ 3 เรื่อง ก็มีอันต้องหยุดชะงักไปด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ 1) รู้สึกว่าตัวเองเขียน Blog ไม่เป็น และ 2) ด้วยเหตุผลยอดฮิตคือ ไม่มีเวลา งานยุ่ง

 

แต่เมื่อต้องมาช่วยทำ KM ก็คิดว่าจำเป็นต้องรื้อฟื้น Blog ขึ้นมาใหม่ จึงเริ่มเขียน Blog อย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อประมาณกลางปี 2551 เพื่อ 1) บันทึกเรื่องราวการทำ KM ของสำนักฯ อย่างต่อเนื่อง  2) ทำตัวเองให้เป็น ตัวอย่าง เพราะตั้งใจว่าจะแนะนำให้คนอื่นๆ ในสำนักฯเขียน Blog ด้วย ถ้าตัวเองไม่เขียน ก็ไม่รู้ว่าจะไปบอกให้คนอื่นเขียนได้อย่างไร 3) ฝันไว้ว่าถ้าหลายๆ คนในสำนักฯสนใจเขียน Blog เราก็จะมีชุมชน ลปรร. เรื่องการดำเนินงานป้องกันควบคุม NCD ที่ active เข้าถึงกันได้ง่ายทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องเห็นหน้ากันก็สามารถสื่อสาร แบ่งปัน เรียนรู้จากกันและกันได้

 

ถึงวันนี้ในสำนักฯ ก็มีผู้เปิด Blog แล้ว 2-3 คน แต่ยังไม่เห็นมีใครลงมือเขียน ผู้เขียนสร้าง planet KM-NCD ไว้รอสมาชิกนานแล้ว ถึงวันนี้ก็ยังรออยู่ และเชื่อมั่นว่าซักวันต้องมีคนเห็นประโยชน์ของการเขียน Blog ว่าสามารถปรับใช้เพื่อเสริมแรงการทำงานประจำได้จริงๆ

 

เมื่อผู้เขียนตั้งใจเขียน Blog อย่างจริงจัง ระยะหลังๆ เป้าหมายในการเขียน Blog เริ่มจะเปลี่ยนไป เดิมตั้งใจเขียนเพื่อประโยชน์ 3 ข้อข้างต้น แต่พอเขียนมาเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์จากเขียน Blog ในแง่ที่ช่วยพัฒนาทักษะของตัวเองเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทักษะด้านการเขียน แต่รวมถึงทักษะด้านการอ่าน ฟัง คิด วิเคราะห์ และยังได้มีโอกาสไตร่ตรอง และทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพราะการเขียน Blog ด้วย

 

สำหรับผู้เขียน การลงมือเขียนอะไรซักเรื่องหนึ่งต้องผ่านการอ่าน การฟัง การดู ฯลฯ อะไรมาซักอย่าง จากนั้นก็นำมาขบคิด กลั่นกรอง เรียบเรียงออกมาเป็นตัวอักษรที่จะสื่อสารออกไป การเขียนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยการฝึกฝนถึงจะทำได้ดี ถ้าไม่ฝึกฝนก็จะรู้สึกว่าไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอะไร อย่างไร

 

ตอนเริ่มเขียน Blog ใหม่ๆ ผู้เขียนกำหนดว่าตัวเองจะต้องเขียนให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เรื่อง ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกว่าต้องฝืน ต้องบังคับตัวเอง และใช้เวลานานกว่าจะเขียนได้ซัก 1 เรื่อง แต่พอมาช่วงหลังๆ กลับมีประเด็นที่อยากจะเขียนมากมาย ใช้เวลาคิดและเขียนได้เร็วขึ้น รื่นไหลมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของผู้เขียนโดยตรง เพราะงานส่วนใหญ่ที่ต้องทำคือค้น คิด และเขียน ดังนั้น การฝึกเขียน Blog อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ผู้เขียนสามารถเขียนงานในรูปแบบอื่นๆ ได้ดีขึ้น

 

ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้พี่ๆ น้องๆ ในสำนักฯ สละเวลาซักวันละนิดในการเขียน Blog ง่ายที่สุดเลยคือ วันไหนไปประชุมเรื่องอะไรได้อะไรมาบ้าง ก็นำมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน คนที่ไม่ได้ไปก็ได้เรียนรู้ด้วย หรือทุกครั้งที่มีการประชุมทั้งในระดับกลุ่มงาน หรือสำนักฯ ก็ต้องมีการสรุปรายงานการประชุมอยู่แล้ว ลองใช้วิธีเขียนแลกเปลี่ยนกันใน Blog ด้วย ก็น่าจะสื่อสารกันได้กว้างขวางขึ้น

 

ผู้เขียนยังจำได้ว่าเมื่อคราวประชุมคณะทำงาน KM ของสำนักฯ ครั้งแรกๆ ผอ.- นพ.ภานุวัฒน์ฯ ฝันว่าอยากจะเห็นนักวิชาการของสำนักฯ มีผลงานเขียนบทความวิชาการกันมากๆ ซึ่งถ้าฝันของ ผอ.เป็นจริง ก็เท่ากับว่า ช่วยสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ของสำนักฯที่ต้องการจะเป็น องค์การชั้นนำด้านวิชาการฯ ได้ส่วนหนึ่ง

 

ในการทำงานวิชาการหรือสนับสนุนวิชาการ ผู้เขียนคิดว่าทักษะการเขียนมีความสำคัญ เพราะทุกคนต้องเขียน ไม่ว่าจะเป็นรายงานการประชุม รายงานผลการปฏิบัติงาน สรุปบทเรียนการดำเนินงาน บทความทั่วไป บทความทางวิชาการ รายงานการวิจัย ฯลฯ ผลงานเขียนเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงถึงผลการปฏิบัติงานของแต่ละคนได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม และผู้เขียนเชื่อว่า การเขียน Blog เพื่อบันทึกการปฏิบัติงานของตัวเองสะสมไว้อย่างสม่ำเสมอจะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปปรับใช้ หรือพัฒนาต่อยอดสู่การเขียนผลงานด้านอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นด้วย

 

ถ้าไม่ทดลองลงมือเขียนก็คงยากที่จะเข้าใจถึงประโยชน์ของ Blog ว่าจะขยายผลไปสู่การพัฒนางานได้อย่างไร ต่อเมื่อลงมือเขียนอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ไม่มีใครมาบอก เราก็สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเขียน Blog ได้อย่างไร

 

ปลาทูแม่กลอง

20 ธันวาคม 2551

คำสำคัญ (Tags): #km#ประโยชน์ของ blog
หมายเลขบันทึก: 230975เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2008 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยินดีต้อนรับด้วยความอบอุ่นนะคะ  จะอ่านบันทึกของท่านอย่างตั้งใจค่ะ

ด้วยความรักและปรารถนาดี

Ma44

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท