เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (5) : OM Workshop - 1


วันนี้ (1 เมย. 52) เป็นวันแรกของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อสนับสนุนชุมชน บุคคล และระบบบริการลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อ ด้วยแผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping)” หนึ่งในกิจกรรมของ "โครงการการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้แบบบูรณาการฯ ระยะที่ 1" ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง แพทย์หญิงฉายศรี สุพรศิลป์ชัย ที่ปรึกษาฯ กรมควบคุมโรค กับ สำนักโรคไม่ติดต่อ

 

workshop ครั้งนี้กำหนดจัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2552 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น มีผู้เข้าร่วมประชุม 42 คน จาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน และกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองโภชนาการ กรมอนามัย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ครึ่งวันเช้า เริ่มด้วยการปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ Outcome Mapping หรือ OM โดย "ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด" ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่อาจารย์บอกว่า “ผมมีหน้าที่พาท่านเดินชมสวน..."

   

 

กติกาของการเรียนรู้ร่วมกัน คือ ปล่อยวาง เพื่อที่จะได้เรียนรู้อย่างเป็นปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบัน ฟังอย่างเป็นปัจจุบัน ฟังทั้งหมด ฟังให้ครบถ้วน ฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วยให้จับแขวนลอยไว้ก่อน ไม่ตัดสิน ไม่คิดวิเคราะห์ ไม่เปรียบเทียบ วางความรู้เดิมไว้ก่อน

 

อาจารย์บอกว่า OM เหมาะกับการวางแผนร่วมกันหลายหน่วย และเล่าว่าที่ผ่านมามีผู้นำไปใช้ด้วยความ “เข้าใจผิดหรือติดรูปแบบ” OM จึงกลายเป็น “อ่วม” อาจารย์จึงย้ำว่าเราต้องเข้าใจแก่น จับแก่นให้ได้ ส่วนรูปแบบนั้นสามารถทำได้หลากหลาย และการใช้ OM ต้องใช้สมองทั้งฝั่ง "ซ้าย" และ "ขวา" อย่างสมดุล เพราะในการทำ OM ต้องใช้ทั้ง Science และ Art คนที่จะเข้าใจ OM ได้ดีสมองฝั่งขวาต้องทำงานเต็มที่ด้วย และถ้านำไปใช้โดยใช้สมองฝั่งซ้ายอย่างเดียวก็จะขาดแก่นแท้ของ OM คือ การมองแบบเชื่อมโยง อาจารย์สรุปจากประสบการณ์ของตัวเองว่า OM เป็น

  • เทคนิคเพื่อเปลี่ยนแรงบันดาลใจให้ออกมาเป็นจริง
  • เทคนิคการสร้างสิ่งที่ปรารถนาด้วยการพัฒนาเหตุปัจจัย
  • ศิลปะในการบริหารโครงการ

OM เป็นการวางแผนแบบยั่งยืน เป็นการบริหารโครงการที่ทำให้โครงการเดินต่อไปได้โดย "เจ้าของ" ที่แท้จริงคือผู้ที่จะผลักดันโครงการนี้ต่อไป ถ้าเราทำโครงการแบบเดิมๆ เมื่อโครงการจบทุกอย่างหยุดหมด พอนำเทคนิค OM เข้ามาใช้ก็จะสามารถช่วยทำให้โครงการยังอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 

สิ่งที่อาจารย์เน้นอีกอย่างหนึ่ง คือ OM เชื่อมั่นในกระบวนการ "มีส่วนร่วม" เชื่อมั่นในพลังของ "ภาคีเครือข่าย" และพยายามอธิบายให้พวกเราเข้าใจชัดเจนมากขึ้นโดยการเปรียบเทียบว่า คล้ายกับ "สายงาน (Downline)" ในระบบขายตรง (MLM - Multi Level Marketing) ที่เราไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วยลำพังตัวคนเดียว ต้องหาเครือข่าย ต้องมองเห็นตัวละครต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นตัวละครที่ร่วมใจร่วมแรงกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะเมื่อมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำแล้วจะทำให้เกิดพลังมากมาย

จากนั้นจึงนำสู่การเรียนรู้กระบวนการ OM ทั้ง 8 ขั้นตอน ก่อนส่งไม้ต่อให้กับ “คุณธวัช หมัดเต๊ะ” และ “คุณนภินทร ศิริไทย” นำเข้าสู่กระบวนการฝึกปฏิบัติในช่วงบ่ายของวันนี้ กับอีก 2 วันที่เหลือ

 

ช่วงบ่ายวันนี้เราเริ่มต้นด้วย “เกมเป็ด” ที่วิทยากรต้องการสื่อให้ผู้เข้าร่วม ws เห็นความสำคัญของการวางแผนกลยุทธ์

   

ต่อด้วยกิจกรรม BAR – Before Action Review ซึ่งกิจกรรม BAR ครั้งนี้ นอกจากให้ผู้เข้าร่วม ws บอกถึงความคาดหวัง และสิ่งที่ตนเองจะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุความคาดหวังของการเข้าร่วม ws ครั้งนี้แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วม ws ได้ทักทายทำความรู้จัก และสร้างความคุ้นเคยกันมากขึ้นด้วย

  

ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการฝึกปฏิบัติเขียน OM วิทยากรให้ผู้เข้าร่วม ws แบ่งกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม เพื่อฝึกใช้เครื่องมือ KM คือ SST- Success Story Telling โดยให้แต่ละคนแบ่งปัน “เรื่องเล่าความสำเร็จ” ที่เป็นความสำเร็จเล็กๆ หรือความประทับใจที่ผ่านมาเกี่ยวกับงาน "ลดเสี่ยง ลดโรค ชุมชนจัดการตนเอง" ที่เป็นกิจกรรม เหตุการณ์จากประสบการณ์จริงในพื้นที่ เล่าด้วยว่าทำไมจึงทำ ทำอย่างไร สำเร็จอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วให้เขียน “หัวใจของความสำเร็จ” หรือ “คุณค่า” จากเรื่องเล่าทุกเรื่องที่ได้ฟังในกลุ่ม จากนั้นนำมาร่วมกัน “วาดฝัน” ว่า อยากเห็นภาพงานสนับสนุน “ลดเสี่ยง ลดโรค ชุมชนจัดการตนเอง” ของคนไทยเป็นอย่างไร โดยนำประเด็นที่ได้จากเรื่องเล่ามาต่อยอดด้วยภาพในมโนคติของสมาชิกกลุ่มทุกคน

  

  

บรรยากาศช่วงกิจกรรมกลุ่มย่อยอบอวลไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจของผู้เข้าร่วม ws ทั้งในการเป็น "ผู้เล่าเรื่อง"  "ผู้ฟัง" และช่วยกันระดมความคิดเห็นถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จจากเรื่องเล่าทั้งหมดของกลุ่ม โดยเฉพาะช่วงที่ร่วมกัน "วาดฝัน" ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับบรรยากาศของความร่วมมือ ร่วมใจกัน ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อแต่งเติมภาพแห่งความฝัน ซึ่งเป็นฝันร่วมกันของหลายคนจากหลายหน่วยงานที่อยากจะเห็นชุมชนไทยเข้มแข็งและจัดการดูแลสุขภาพของตนเองได้

    

  

 

เมื่อสมาชิกแต่ละกลุ่มช่วยการแต่งแต้มภาพฝัน "ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรค จัดการตนเองได้" เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งตัวแทนกลุ่มมานำเสนอในวงใหญ่

 

กิจกรรมสุดท้ายของวันนี้ วิทยากรเชื่อมโยงประสบการณ์จาก "เรื่องเล่าความสำเร็จ" และ "ภาพฝัน" ของทุกๆ กลุ่ม นำเข้าสู่กระบวนการฝึกปฏิบัติ OM ซึ่งโจทย์ของพวกเราทุกคนที่มารวมตัวกันใน workshop 3 วันนี้ คือ "การพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อ" หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า KM-NCD Network โดยผู้เข้าร่วม ws ครั้งนี้ที่ต่างมาจากหลากหลายหน่วยงานจะต้องถอดวาง "หมวก" ของตนเองออก แล้วมาหลอมรวมกันเป็น "เรา" ที่หมายถึงทุกคนเป็น "เครือข่าย" ที่จะมาร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อ และจัดการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

วิทยากรพาพวกเราลงมือทำ OM ตั้งแต่ ขั้นตอนที่ 1 คือ เขียน "วิสัยทัศน์" ของ "เรา" ซึ่ง อ.ประพนธ์ได้ย้ำไว้ตั้งแต่การบรรยายในช่วงเช้าแล้วว่า "วิสัยทัศน์" ในแบบของ OM แตกต่างจากการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างที่หลายๆ คนเคยคุ้นชิน ที่มักจะมุ่งผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักว่าองค์กรของตนเองจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่วิสัยทัศน์ในแบบของ OM อาจารย์บอกว่า คือ การวาด "ภาพที่ปรารถนา" ว่า "เราอยากเห็น... ชุมชน ... เป็นอย่างไร?" และที่สำคัญคือ มุ่งที่ "ผู้รับประโยชน์" คือ อยากให้เขาได้อะไร? มีภาพที่พึงปรารถนาเกี่ยวกับเขาอย่างไร? และ เป็นฝันที่มีความเป็นไปได้ "เรา" ต้องการ "ทำให้" มันเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ไปฝันให้ "คนอื่น" ทำ "เรา" ต้องเป็น "แกนนำ"

 

ช่วงนี้วิทยากรให้ผู้เข้าร่วม ws ล้อมวงเพื่อให้แต่ละคนนำเสนอ "ภาพที่ปราถนา" ของตนเอง ปรากฏว่า ทุกคนช่วยกันนำเสนอ ช่วยกันต่อ ช่วยกันเติม ทีมวิทยากรก็ช่วยบันทึกทุก "ความฝัน" ลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ทุกคนร่วมกันรวบรวม เชื่อมโยง ร้อยเรียงเพื่อให้เป็นภาพปรารถนาเดียวกัน และช่วยกันขัดเกลาให้เป็นข้อความที่สละสลวยสวยงาม 

 

ต่อจากนั้นก็นำสู่ ขั้นตอนที่ 2 คือ กำหนดพันธกิจหลักๆ ของ "เรา" โดย อ.ประพนธ์ได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงเช้าแล้วว่า ถ้า "วิสัยทัศน์" คือ ผลแอปเปิล "ทั้งผล" "พันธกิจ" คือ การบอกว่า "เราจะเลือกกัด" ตรงไหน ? โจทย์ของผู้เข้าร่วม ws คือ ถ้าอยากบรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้ช่วยกันกำหนดไว้แล้วนั้น "เรา" จะต้องมีพันธกิจหลักๆ อะไรร่วมกันบ้าง ช่วงนี้วิทยากรแจกกระดาษให้แต่ละคนเขียนพันธกิจแล้วรวบรวมทั้งหมดมาเพื่อให้ "ทีมอาสาสมัคร" คือ "คุณหมอฉายศรีฯ" และ "พี่นก-ฐิติมา โกศัลวิตร จาก สคร.7" ช่วยกันเรียบเรียง เพื่อนำเสนอในเช้าวันที่ 2 ของ ws
 

ปลาทูแม่กลอง

4 เมษายน 2552

หมายเลขบันทึก: 253209เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 05:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีมากเลย อยากไปบ้าง

คราวหน้าชวนหน่อยนะคะ

สวัสดีค่ะ  ได้รับการอัพเดทข้อมูลแล้ว  ขอชมค่ะว่ามีความรวดเร็วดีมาก  ทันยุคสมัยที่สุดเลยค่ะ

ยกนิ้วให้  ยกนิ้วให้  ยกนิ้วให้

ขอบคุณคุณถนัดที่forwardมาให้ ก๊อปไว้แย้วค๊า

สุภาพร สคร.3 ชลบุรี

เยี่ยมค่ะ..ได้ประโยชน์ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน ชื่นชม ชื่นชม (วิทยากร และสำนักโรค รวมภาคีเครือข่ายด้วยจ้า)

เสาวลักษณ์ สคร.12 สงขลา

บอกได้คำเดียว "เยี่ยม"

อยากจะใช้กระบวนการ ที่จะช่วยให้ ประชาชน ตระหนัก การลดเสี่ยง เลี่ยงโรค ในการดูแลสุขภาพ อยู่พอดีเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท